เกาะพยาม… สี่ปีผ่านมา สถานการณ์ (ยัง) ไม่เปลี่ยนแปลง

ปลายปี ’53 ผมย่างเท้าขึ้นฝั่งเกาะพยาม เกาะกลางทะเลระนอง พร้อมหัวใจลิงโลด ด้วยแว่วได้ยินมาว่านี่คือเกาะแสนสงบ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แม้ไม่ใช่เกาะน้ำทะเลสวยใสเหมือนอย่างสิมิลัน พีพี หรือ หลีเป๊ะ และเมื่อได้สัมผัสพวกมันราวสามวัน ผมต้องตกหลุมรักหมดหัวใจในความสวย ดิบ และความเท่ในแบบที่มันเป็น

หลายปีผ่าน ชื่อของเกาะพยามโด่งดังขึ้น และชักคุ้นหูคนไทย มองในแง่ดีมันก็ย่อมดี แต่มองอีกแง่ก็น่าหวาดวิตกว่ามันจะผันแปรเป็นเกาะรกรุงรังเหมือนเกาะอื่นๆ อีกมากมายในทะเลไทยหรือเปล่า

สี่ปีกว่า นับเป็นเวลาอันสมควรแล้วครับ สำหรับการตีตั๋วเรือเพื่อกลับไปดูว่าเกาะพยามที่ผมเคยรักจะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด พอเข้าหน้าร้อน แดดดี ปลายเดือนมีนาคม จึงจัดทริปคัมแบ็กสู่เกาะพยาม  และนี่คือสิ่งที่ผมพบเจอเมื่อเทียบกับคราวที่ต้องตกหลุมรัก...

แบกเป้เดินทาง

หนึ่งสิ่งที่ผมจำได้ชัดเจนตอนมาเที่ยวครั้งแรกคือมีเรือเมล์มาเกาะพยามแค่วันละรอบ กับสปีดโบ๊ทอีกสองสามรอบ แตกต่างกับคราวนี้ชัดเจนเพราะเรือเมล์เพิ่มเป็นวันละสองรอบทั้งไป-กลับ ขาไป 9.30 น. 14.00 น. ขากลับ 8.30 น. 14.00 น. แถมมีเรือเมล์อีกหนึ่งเจ้าวิ่งวันละรอบแต่ขึ้นที่ระนองคนละท่าเรือ และยิ่งกว่านั้นคือมีสปีดโบ๊ทหลายคิวออกแทบทุกชั่วโมงตั้งแต่เช้าจรดเย็นในฤดูท่องเที่ยว (แล้วจึงค่อยลดรอบลงเรื่อยๆ กระทั่งหยุดวิ่งประมาณเดือนพฤษภาคม)

งวดนี้ผมเดินทางกับคุณผู้หญิง จับรถทัวร์มาจากสายใต้ กทม. รถออกสองทุ่มมาถึงระนองตีห้ากว่า แล้วนั่งรถรับจ้างมาท่าเรือเทศบาลตำบลปากน้ำ ขึ้นสปีดโบ๊ทเที่ยวแรกเจ็ดโมงเช้าราคา 350 บาท แพงกว่าเรือเมล์อีก 150 บาท ถือว่าซื้อเวลาเพราะวิ่งเพียงห้าสิบนาที (เรือเมล์เดินทางสองชั่วโมง) เลยขึ้นเกาะพยามตั้งแต่ยังไม่แปดโมงด้วยซ้ำ ได้เวลาเที่ยวมาอีกเหลือเฟือเชียวล่ะ

ขากลับ ไม่ต้องรีบเลยใช้บริการเรือเมล์รอบบ่ายสอง แล่นเอื่อยรับลมถึงฝั่งระนองประมาณสี่โมงเย็น ต่อรถรับจ้างไปสถานีขนส่ง เตร็ดเตร่รอเวลาขึ้นรถกลับรอบสองทุ่มเหมือนกับมาเที่ยวรอบก่อนเป๊ะ การเดินทางมาเที่ยวเกาะพยามถือว่าสะดวกสบายพอตัวนะ

แวดล้อมรอบเกาะ

เรื่องโดดเด่นของเกาะพยามที่ผมเล่าให้ใครต่อใครฟังเสมอคือบนเกาะไม่มีรถยนต์ เพราะไม่มีถนนให้พวกมัน  ถนนคอนกรีตบนเกาะมีขนาดเล็กเพียงพอแค่ให้มอเตอร์ไซค์สวนทาง และทุกวันนี้ก็ยังไม่มีรถยนต์ทั่วไป มีเพียงรถสำหรับขนของ

พาหนะหลักคือมอเตอร์ไซค์ สิ่งสะท้อนการเติบโตคือจำนวนร้านเช่ามอเตอร์ไซค์ไงล่ะ จากเคยมีร้านเดียว ตอนนี้เรียงรายกันหลายร้าน ร้านดั้งเดิมแห่งแรกคือร้านสวัสดี เคยมีรถราวสี่สิบคัน ตอนนี้มีมากกว่าร้อย (พี่เจ้าของบอกเอง) ราคาเช่าอยู่ที่ 200-250 บาท ต่อวัน ตามสภาพรถและฤดูกาล

ร้านอาหารริมทางมากขึ้น พื้นที่ร้านค้ามากขึ้น บังกะโลสร้างใหม่กลางเกาะแบบไม่ติดทะเลมากขึ้นเช่นกัน แต่ยังไม่เจริญแบบผิดหูผิดตาและยังโล่งสบายอยู่มาก หนึ่งในอาชีพหลักของผู้คนก็ยังคงเป็นการทำสวนกาหยู หรือมะม่วงหิมพานต์ ขณะที่นกแก๊ก (นกเงือกพันธุ์เล็ก) และเหยี่ยวแดง ก็ยังเป็นนกที่พบได้ไม่ยากบนเกาะแสดงให้เห็นถึงความสงบเงียบอยู่ มองแนวทางเติบโตขึ้นอีกของเกาะพยามก็คงเป็นไปอย่างไม่ปุบปับมากนัก เหตุผลหลักเพราะฤดูท่องเที่ยวมีแค่ครึ่งปี และนักท่องเที่ยวส่วนมากยังเป็นฝรั่งแบ็กแพ็กเกอร์

อ่าวเขาควาย (ใต้)

ขึ้นชื่อเรื่องความสวยใสที่สุดบนเกาะ การมาเยือนแบบชั่วครู่เมื่อสี่ปีก่อนทำให้ผมประทับใจมากมาย ขนาดตอนนั้นน้ำขึ้นสูงลงสูงยังงามขนาด หาดขาวพอตัว น้ำใส ทรายละเอียด สงบเงียบ เหมือนชายหาดที่ทอดตัวยาวเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลซึ่งแบ่งกันใช้ไม่กี่คน

กลับมาคราวนี้กลางเดือนมีนาคมตอนน้ำทะเลไม่หนุนสูง และโชคดีเพราะเป็นช่วงน้ำตาย คือระดับน้ำขึ้นลงแต่ละวันต่างกันไม่มาก ตอนน้ำลงน้ำเลยไม่ได้หายไปจนหมดหาดเหมือนครั้งก่อน อีกทั้งคลื่นลมสงบ อ่าวเขาควายจึงระยิบระยับเหมือนหาดสวรรค์ตลอดทั้งวัน

น่าชื่นใจมากคือสภาพของอ่าวเขาควายทางใต้แทบไม่เปลี่ยนแปลง รีสอร์ทบังกะโลที่เคยมีอย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้น มีระดับที่สุดคือ พยาม คอทเทจ และนั่นคือที่พักของผม จองผ่านอะโกด้า บ้านเดี่ยวพัดลมคืนละ 1,300 บาท มีสระว่ายน้ำ ไฟฟ้า 24 ชั่วโมง ราคาถือว่าแพงมากสำหรับเกาะที่มีบังกะโลราคาถูกเยอะแยะ แต่เหตุผลของการเลือกคือคุณหญิงชี้นิ้วบอกว่าทริปนี้ต้องที่นี่เท่านั้น... เด็ดขาดตามระบอบประชาธิปไตยในครอบครัว (ฮา...)

คราวก่อนว่าประทับใจแล้ว คราวนี้เล่นเอาหลงรักหัวปักหัวปำเลยแหละ หน้าหาดอ่าวเขาควายตรง พยาม คอทเทจ และวิจิตร บังกะโล ซึ่งอยู่ติดกันคือช่วงสวยที่สุด (เพราะรู้แบบนี้จึงมาพัก) สุดหาดตอนใต้ใกล้ปากคลอง ต้นโกงกางกับไม้ชายเลนเติบใหญ่ ชายหาดเริ่มเปลี่ยนเป็นเลน หากข้ามคลองไปจะพบหมู่บ้านชาวมอแกน ครั้งนี้ผมก็ยังไม่ได้ไปเหมือนเคย ถือว่าติดค้างไว้แล้วกัน

กองหินทะลุ

หนึ่งในภาพยอดฮิตของเกาะพยามคือกองหินทะลุซึ่งตั้งอยู่ริมชายหาดกลางโค้งอ่าวเขาควาย เรียกว่าเป็นจุดแบ่งตอนเหนือกับตอนใต้ของอ่าวก็ได้ คราวก่อนผมแวะมาสองหน น้ำขึ้นหนึ่งครั้ง น้ำลงหนึ่งครั้ง ไม่ได้ภาพสมใจเลย ไม่ใช่เพราะมันไม่สวยแต่เพราะฝีมือถ่ายภาพอ่อนด๋อยต่างหาก

มาเที่ยวนี้แก้ตัวได้สมใจ ถ่ายรูปเพลิดเพลินสบายใจ นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเยือนเรื่อยๆ เพราะเป็นแลนด์มาร์คของเกาะไปแล้ว บนเนินเขาตรงกองหินทะลุมีบังกะโลชื่อ เขาควาย ฮิลล์ เหมาะกับแบ็กแพ็กเกอร์เหมือนกันนะ

อ่าวเขาควาย (เหนือ)

อีกซีกหนึ่งของอ่าวเขาควาย เงียบสงบเหมือนกันแต่ไม่สวยเท่า เพราะทรายบริเวณนี้สีออกน้ำตาล ชายหาดมีเลนผสมนิดหน่อย หากมาตอนน้ำขึ้นคงเห็นไม่ชัดแต่พอน้ำไม่สูงมากเลยค่อนข้างชัดเจน จากความทรงจำเดิมที่นี่เคยดูดิบกว่านี้มาก แต่ตอนนี้มีรีสอร์ทเพิ่มเติม หรือที่มีอยู่แล้วก็รีโนเวทใหม่ บรรยากาศเก่าๆ จึงเปลี่ยนไป

เลยขึ้นไปทางตอนเหนือของหาดมีบาร์แบบชาวฮิปสำหรับใครที่ต้องการสีสันหอมปากหอมคอยามค่ำคืน และนั่นทำให้กลางคืนเมื่อมองจากฝั่งอ่าวตอนใต้มาทางนี้เห็นแสงไฟสว่างเรียงราย แม้โดยส่วนตัวผมไม่ถือว่ามากเกินไป แต่ก็ขอฟันธงว่าที่นี่เป็นตัวเลือกที่ไม่ดีเท่าอ่าวเขาควายทางทิศใต้ครับ มาครั้งนี้ไม่รู้สึกประทับใจเท่ากับคราวที่แล้ว

อ้อ... สุดปลายอ่าวทางใต้ของอ่าวเขาควายทางเหนือ มีแนวหินให้ลัดเลาะไปหาดทางใต้ได้นะ ระหว่างทางผ่านหาดเล็กๆ สวยใส ปลีกวิเวกดีไม่หยอก

อ่าวใหญ่

ตอนเที่ยวเกาะพยามรอบแรก ผมพักอ่าวนี้ครับ บ้านสวนกาหยู บังกะโลราคาประหยัดสุดหาดทางตอนเหนือ หนนี้แวะกลับไปนั่งกินข้าวมื้อนึงด้วย บรรยากาศเรียบง่ายดังเดิม พัฒนาขึ้นเล็กน้อยเพราะมีถนนคอนกรีตเล็กๆ ถึงทางเข้าหน้าบังกะโลแล้ว หนก่อนต้องลุยทางทรายมาเกือบกิโลเลยเชียว

อ่าวใหญ่ไม่เคยพลุกพล่านเพราะมันใหญ่มาก..ก..ก และด้วยแคแรคเตอร์ไม่สวยใสคือทรายเป็นสีน้ำตาล แถมหาดช่วงที่น้ำทะเลขึ้นถึงจะมีเลนสีเทาผสมอยู่มากจึงแลดูน้ำไม่ใสหรือขุ่นมัว แต่ในความไม่สวยใสกลับพลิกเป็นจุดเด่นเพราะเลนผสมทรายเหล่านี้ยามโดนคลื่นพัดไปมาจะสร้างริ้วลายให้ชายหาดเหมือนศิลปะธรรมชาติ รูปูลมนับพันนับหมื่นกระจุกอยู่บนหาดผสมเลนเหล่านี้ กิ๊บเก๋ไปอีกแบบ

ใครไม่แคร์น้ำใสทรายขาว ชอบความสงบเงียบ ที่พักราคาประหยัดราคาครี่งพัน อ่าวใหญ่ค่อนข้างเหมาะ และมีตัวเลือกหลากหลายตลอดแนวหาดทอดยาวสุดตา

อ่าวกวางปีป

อ่าวแรกของผมในการตะลอนเที่ยวเกาะพยามครั้งก่อน ไม่ใช่เพราะอยากไปที่สุด แต่หลงทางต่างหาก (ฮา...) เป็นการหลงที่โชคดีเพราะถ้าจะมีอ่าวใดสะท้อนตัวตนของเกาะพยามชัดเจนที่สุด อาจเป็นอ่าวกวางปีปนี่แหละ

กวางปีปเป็นอ่าวเล็กๆ ชายหาดไม่ยาวแถมทรายสีน้ำตาลแดง แต่พอน้ำใสๆ มาเจอทรายสีเข้มๆ เลยผสมกันได้สีน้ำทะเลจัดจ้านมาก บรรยากาศร่มรื่นด้วยทิวไม้และค่อนข้างรักษาความดิบได้ดีพอสมควร มีบังกะโลเพียงแห่งเดียว ไม่หรูหรามาก

สำหรับผมที่นี่เป็นหนึ่งหาดต้องแวะเมื่อมาเกาะพยาม ถึงถนนหนทางจะลำบากสักหน่อยและอันตรายกับคนขี่มอเตอร์ไซค์ไม่แข็ง ขี่ไม่ได้ก็เดินเอาครับ เดี๋ยวถึงเหมือนกัน!

อ่าวแม่หม้าย

สี่ปีผ่าน ภาพคุ้นตา แทบไม่มีอะไรเปลี่ยน แม้กระทั่งป้ายยินดีต้อนรับสู่เกาะพยาม อ่าวแม่หม้ายเป็นศูนย์กลางของเกาะ ท่าเรือ ชุมชน เรื่องความงามเลยต้องละไว้ ปลายอ่าวด้านหนึ่งคือที่ตั้งของรีสอร์ทไฮโซโก้หรูที่สุดของเกาะ ราคาไต่ระดับคืนละเฉียดครึ่งหมื่น แต่บอกเลยใครพักที่นี่จะไม่ได้ฟีลเกาะพยามของแท้ และความสวยของรีสอร์ทแห่งนี้ไม่ได้มีเสมอไปนะ เพราะจะงามเฉพาะตอนน้ำขึ้นสูงเท่านั้น

อีกฝั่งของอ่าวคือวัดเกาะพยาม โดดเด่นด้วยพระอุโบสถกลางน้ำ มีท่าเรือใหม่ที่สร้างขึ้นแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เหมือนเอางบประมาณมาเททิ้ง ใครรอเรือขากลับลองหาร้านอาหารราคาบ้านๆ นั่งชิลชมวิวทะเล (ที่อาจจะไม่สวยเท่าไหร่) แถวนี้กันได้ครับ

อ่าวมุก

ถ้ามีอะไรแปลกตาที่สุดระหว่างทริปงวดนี้กับงวดที่แล้วก็ต้องที่นี่เลย บนอ่าวมุกมีที่พักแห่งเดียวคือ เกาะพยาม รีสอร์ท ซึ่งผ่านการรีโนเวทจนเหมือนเป็นคนละแห่งกับแต่ก่อน ดูดีมีระดับ ลบภาพเดิมที่เป็นรีสอร์ทเรียบง่ายริมชายหาดจนหมดสิ้น และการรีโนเวททำให้บรรยากาศหน้าหาดเปลี่ยนไป มีการถมพื้นยกสูง ไม่ใช่แนวชายหาดดั้งเดิมอีกแล้ว

แต่เพราะอ่าวมุกไม่ได้เป็นอ่าวน่าเที่ยวอันดับต้นๆ และการเดินทางก็อันตรายสำหรับคนขี่มอเตอร์ไซค์ไม่แข็ง ผมเลยไม่ค่อยรู้สึกรู้สากับการเปลี่ยนแปลงสักเท่าไหร่ ใครจะแวะไปเที่ยวก็ได้ เพราะสงบส่วนตัวดี (รีสอร์ทไม่ค่อยมีคนพักมากนักหรอก) หรือจะไม่ไปก็ไม่เสียหายอะไร

ทริปนี้มีเพียงแห่งเดียวที่ผมไม่ได้ย้อนกลับไปคืออ่าวคอกิ่ว อ่าวที่ผมอยากเรียกว่าอ่าวลับแลอยู่ทางทิศใต้ของเกาะ เพราะว่าหนทางลูกรังลำบาก บางทีไปพักผ่อนสบายๆ ก็ขี้เกียจลุยเหมือนกันนะ (ฮา...) ซึ่งจากภาพรวมทั้งหมดหลังผ่านมาสี่ปีกับอีกนิดหน่อย ถือว่าเกาะพยามเปลี่ยนแปลงไปค่อยข้างน้อย หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้เปลี่ยนไปมากอย่างที่เคยกังวล แต่ทว่าน่าจับตาคือจากนี้ไปต่างหาก เพราะนักท่องเที่ยวคนไทยเริ่มเยอะขึ้น คำว่าคนไทยรักสบายและรักเฮฮานี่แหละจะเป็นจุดสำคัญในการชี้ชะตาความเป็นไปของเกาะพยาม

เกาะพยามจะเปลี่ยนไปในแบบที่แย่ลงอย่างที่กลัวจริงหรือไม่ ใครจะรู้ได้ล่ะ? เอาเป็นว่าอีกสักสี่ปีผมจะกลับมาหาคำตอบเองอีกหนก็แล้วกัน...

อยากคุยเรื่อยเปื่อยเรื่องท่องเที่ยว สอบถามข้อมูล (ถ้าผมมีให้นะ) หรือชวนเที่ยว ยินดียิ่งนะครับ

www.facebook.com/alifeatraveller

หรือ

alifeatraveller.wordpress.com