ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
 
ทริปลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยวสุโขทัย โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น ชมทะเลหมอก (แบบไม่มีรถส่วนตัว) จุดชมวิวบ้านนาต้นจั่น
    • โพสต์-1
    แป้งเจอนี่เจอนั่น •  เมษายน 22 , 2564

    ทริปลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยวสุโขทัย โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น ชมทะเลหมอก (แบบไม่มีรถส่วนตัว)

    สวัสดีค่ะ ห่างหายไปจากการท่องเที่ยวและเขียนรีวิวไปนานมาก เพราะชีวิตค่อนข้างยุ่งต่อเนื่องมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ Covid-19 มีความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่เรื่องเที่ยวจะให้ตัดทิ้งคงยาก ยิ่งทำงานหนักยิ่งอยากไปพักสมอง ทริปนี้คิดเยอะเพราะเดินทางคนเดียว ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีคนช่วยหารค่าใช้จ่าย ขับรถไม่เป็น ทุกอย่างล้วนมีข้อจำกัดไม่ว่าจะเป็น งบประมาณ วิธีเดินทาง วันและเวลา ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาทริปนี้จึงไปลงตัวที่ "จังหวัดสุโขทัย"

    ข้อมูลทริปแบบย่อ

    ระยะเวลา: 2 วัน 1 คืน (ไม่รวมคืนเดินทาง)
    วันที่เดินทางเข้าไปยังพื้นที่: 27-28 กันยายน 2563
    สถานที่ท่องเที่ยว: Day 1 - วัดตระพังทองและตลาดเช้า อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย วัดศรีชุม และโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น
    Day 2- จุดชมทะเลหมอกห้วยต้นไฮ
    จำนวนผู้เดินทาง: 1 คน
    พาหนะ: รถทัวร์ และมินิบัส
    ค่าใช้จ่าย: 3,017 บาท 

    * รีวิวนี้เจ้าของรีวิวเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
    ** รูปภาพในกระทู้นี้ประมาณ ถ่ายโดย iPhone SE และ Sony a6000 ใช้ VSCO, LR ในการแต่งรูปค่ะ
     

    สิ่งที่ควรทำก่อนการเดินทาง
    ทริปนี้เราไปนอนโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เมื่อกำหนดวันเดินทางเรียบร้อยแล้ว แนะนำว่าให้รีบจองโฮมสเตย์เป็นอันดับแรก เนื่องจากกลุ่มโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่นมีบ้านพักประมาณ 29 หลังเท่านั้น ขนาดเราจองล่วงหน้าสองสัปดาห์ยังเต็มทุกหลัง จึงทำให้ทริปนี้ต้องลดวันเหลือ 1 คืน 2 วัน สามาถเข้าไปติดต่อจองที่พัก ดูภาพโฮมสเตย์ ระเบียบในการเข้าพักและตารางกิจกรรมได้ที่ Facebook:โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย https://web.facebook.com/HomeStayBannaTonChan?_rdc=1&_rdr


    ในส่วนของรถทัวร์เราใช้บริการของ บขส. เหตุผลที่เลือก บขส. เพราะมีรถผ่านอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย หรือบ้านเมืองเก่า หรือเมืองเก่า (จุดลงรถทัวร์มีหลายที่ต้องตรวจสอบให้ดีนะคะ) ในช่วงเช้าเราจะไปตักบาตรสะพานบุญที่วัดตระพังทอง และปั่นจักรยานเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ฯ รอบรถทัวร์ของ บขส. จึงเหมาะกับแผนที่วางไว้นั้นคือรอบ 22.00 น. ถึงจุดจอดหน้าวัดตระพังทองประมาณ 05.00 น. ข้อดีอีกอย่างคือสามารถจองผ่านเว็บไซต์และชำระเงินได้ที่ 7-11 มีค่าบริการเพิ่ม 20 บาท เราโทรฯ ไปถามทาง Callcenter ของ บขส. ว่าขึ้นที่ขนส่งรังสิตได้ไหม คุณพนักงานแจ้งว่าหากผู้โดยสารต้องการขึ้นรถที่รังสิตให้โทรฯ แจ้งทาง Callcenter หลังชำระเงินเสร็จ ส่วนข้อเสียรอบรถมีไม่เยอะควรจองล่วงหน้า เราเดินทางตรงกับคืนวันเสาร์รถเต็มทุกที่นั่ง สามารถเข้าไปดูรอบรถได้ตามลิงค์เลยค่ะ https://booking.busticket.in.th/index.php

    DAY 1: ตักบาตรสะพานบุญ


    เราขึ้นรถทัวร์ที่สถานีขนส่งหมอชิต ลืมบอกว่าหลังจากชำระเงินค่ารถทัวร์ที่ 7-11 แล้วให้เก็บสลิปไว้ให้ดี เพราะต้องนำมาออกตั๋วที่เคาน์เตอร์ของ บขส. พนักงานจะบอกว่ารถจอดอยู่ที่ชานชาลาไหน ใครที่เพิ่งมาขึ้นรถทัวร์ที่นี่ ควรมาก่อนเวลาสักเล็กน้อยเนื่องจากมีหลายชานชาลา อีกอย่างจะได้มีเวลาตุนอาหารและทำธุระส่วนตัวให้เรียบร้อย แต่ถ้าใครไม่มีเวลาแวะซื้อขนม อย่าได้กังวลข้างบนรถทัวร์มีพนักงานคนสวยแจกกล่องอาหารว่าง กาแฟสำเร็จรูปพร้อมชงกับน้ำดื่มหนึ่งขวด คำเตือน! กรุณาเตรียมน้ำดื่มไว้ในมือขณะกินขนมปัง


    บขส. จอดให้ผู้โดยสารพักทานข้าวที่จุดพักรถ ใช้คูปองที่ติดอยู่กับตั๋วโดยสารแลกทานอาหารได้ แต่เรารู้สึกว่าดึกเกินไปสำหรับการกินหนักๆ จึงนอนอนต่อ มีพนักงานนำเครื่องดื่มขึ้นมาให้ใช้คูปองแลกสำหรับผู้โดยสารที่ไม่ลงจากรถ เครื่องดื่มมีให้เลือกประมาณ 2-3 อย่าง เราเลือกชาเขียวรสองุ่น

    จากนั้นก็หลับๆ ตื่นๆ เพราะมีผู้โดยสารขึ้นลงตลอดทาง จนเวลา 05.00 น. เรามาถึงจุดจอดอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยหรือเมืองเก่าหน้าวัดตระพังทองติดกับตลาดสดวัดตระพังทอง ไม่มืดไม่เปลี่ยว ใกล้ 7-11 มีตลาดเช้า ท้ายตลาดมีห้องน้ำเสียค่าบริการประมาณ 2-3 บาท ห้องน้ำสะอาดมีอ่างสำหรับล้างหน้าแปรงฟันได้

    เราซื้อชุดทำบุญที่ตลาด ราคาชุดละ 35 บาท แม่ค้าใจดีมากให้เราฝากกระเป๋าสัมภาระไว้ที่ร้าน กำชับให้เอาของมีค่าไปให้หมด จากนั้นเราเดินไปรอที่สะพานไม้หน้าวัดตระพังทอง มาคนแรกตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่างเพราะแม่ค้าบอกว่าพระจะบิณฑบาตรประมาณหกโมง ระหว่างรอเราเดินเก็บภาพไปเรื่อยๆ อากาศตอนเช้ากำลังดี บรรยากาศเงียบสงบ วังเวงบ้างเล็กน้อยเพราะยังไม่มีใครมาเลยสักคน ตอนแรกจะหาของกินรองท้องที่ตลาดก่อน แต่กลัวไม่ทันขอมายืนรอเป็นเงาตะคุ่มอยู่หน้าสะพาน ตื่นเต้นที่จะได้ทำบุญคนเดียวกลัวทำผิดแล้วได้บาปแทน

     

    ฟ้าเริ่มสว่างทางวัดได้ปูเสื่อและนำขันโตกมาจัดเรียงไว้สำหรับวางของทำบุญ เลือกที่นั่งได้ตามความพอใจเลยค่ะ ถ้าใครสายถ่ายรูปเราแนะนำทางเข้าต้นสะพาน จะได้มุมแบบภาพด้านล่าง ด้วยความที่วันนั้นเป็นเช้าวันอาทิตย์ คนมารอทำบุญจนล้นสะพานแต่ละคนแต่งตัวจัดเต็มใส่ชุดเหนือ นุ่งผ้าไทย งดงามเป็นอย่างมาก

     


    เวลาประมาณ 06.50 พระเดินลงมารับบิณฑบาตร แม่ค้าที่ตลาดบอกว่าวันนี้สายปกติจะเร็วกว่านี้ ใช่ค่ะ! ดิฉันมารอตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง ฮ่าๆ แต่การไปก่อนก็ดีนะคะได้เลือกที่นั่ง สามารถเดินเก็บภาพสวยๆ บรรยากาศตอนเช้ากับเสียงสวดมนต์พลอยทำให้จิตใจสงบไปด้วย คนส่วนใหญ่มากันเป็นกลุ่ม คุณพี่ที่นั่งข้างเราถามว่ามาคนเดียวหรอ อยากถ่ายรูปไหม? มาจากไหน? และยังเป็นตัวอย่างในการใส่บาตรให้ด้วย การทำบุญเช้านี้จึงผ่านไปได้อย่างสมบูรณ์และตื่นเต้น สมกับเป็นรุ่งอรุณแห่งความสุข...

     

     

    ตักบาตรเสร็จเข้าไปไหว้พระในวัด อิ่มใจแล้วก็ไปทำให้ท้องอิ่มกันบ้าง เรากลับไปหามื้อเช้ากินที่ตลาดและไปรับสัมภาระที่ฝากไว้กับร้านขายชุดทำบุญ

    ตรงข้ามร้านขายชุดทำบุญที่เราฝากกระเป๋าไว้ มีร้านกาแฟโบราณ ปาท่องโก๋ มีที่นั่งกินนิดหน่อยเราเลยดื่มกาแฟรองท้องที่นี่ ขอนั่งพักและชาร์ตแบตมือถือก่อนจะไปต่อ เรากลัวไม่อิ่มเลยไปซื้อข้าวเหนียวมา 1 ห่อ ราคา 10 บาทเท่านั้น มีให้เลือกหลายอย่าง มื้อเช้าเสียเงินไปทั้งหมด 28 บาท ข้าวเหนียว 10 บาท ปาท่องโก๋ตัวละบาท 3 ตัว กาแฟ 15 บาท ชาร้อนฟรี

    และปัญหาแรกของเราก็เกิดขึ้น เพิ่งรู้ตัวว่าลืมพาวเวอร์แบงค์ไว้บนรถทัวร์ตอนนี้แบตมือถือเหลือเลขตัวเดียวแล้วด้วย จึงติดต่อไปที่ บขส. แจ้งว่าลืมของประสานงานอยู่สักพักจนแบตเหลือ 1% ก็ได้ข้อสรุปว่าเราต้องกลับไปรับคืนที่ กทม. กับพนักงานขับรถทัวร์คันที่เราได้ลืมของไว้ จากที่จะหาร้านก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยกินต่อหายหิวขึ้นมาทันที เพราะเราแทบไม่ได้หาข้อมูลอะไรไว้เลย จากที่คิดว่าจะใช้ Google map หาข้อมูลและนำทางสำหรับเช้านี้ต้องให้แผนที่กระดาษจากร้านเช่ารถจักรยาน ป้ายบอกทางและถามไปเรื่อยๆ...

    DAY:1 ปั่นจักรยานเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย


    จากการถามทาง อุทยานประวัติศาสตร์อยู่ไม่ไกลจากตลาด ถ้าหันหน้าเข้าตลาดให้เดินไปทางขวาผ่านวัดตระพังทองประมาณ 450 เมตร ก็จะเห็นป้ายอุทยานประวัติศาสตร์ฯ ฝั่งตรงข้ามเป็นร้านเช่าจักรยานเรียงรายอยู่ริมฝั่งถนน เราเช่าจักรยานร้าน OR Shop มีจักรยานให้เช่าหลายแบบ คุณพี่เจ้าของร้านแนะนำจักรยานคันที่เหมาะสมกับเรา แบบที่เราเช่าเป็นจักรยานทรงแม่บ้าน ราคา 30 บาท พร้อมบัตรประชาชน ปั่นได้เกือบทั้งวันจนร้านปิด ทางร้านให้กระดาษแผนที่พร้อมอธิบายเส้นทาง ถ้ามีจุดแวะในใจแล้วบอกได้เลย ทางร้านจะช่วยแนะนำเส้นทางการปั่นจักยานให้ ส่วนเรายังไงก็ได้แต่ขอไปวัดศรีชุมด้วย ค่อนข้างกังวลใจพอสมควรเวลาที่ไม่มี Google map ใช้ในสถานการณ์แบบนี้ ส่วนกระเป๋าสัมภาระสามารถฝากไว้ที่ร้านเช่าจักรยานได้ค่ะ

    จากนั้นสามารถขี่รถจักรยานไปที่จุดจำหน่ายตั๋วหน้าอุทยานฯ ได้เลย
    อัตราบัตรเช้าชม
    -คนไทย 20 บาท
    -ต่างชาติ 100 บาท
    -จักรยาน 10 บาท

    หน้าตาจักรยานที่เช่ามาเป็นแบบนี้ เรารู้นะว่าในแพลนจะมาปั่นจักรยานแต่ดันใส่เดรสมา ขอบอกเลยว่า "อย่าหาทำ" ต้องขี่จักรยานมือเดียว อีกมือต้องคอยจับกระโปรงไม่ให้โป๊ อันตรายต่อการปั่นและเสียบุคลิกภาพมากๆ

    ส่วนใครที่ไม่อยากปั่นจักรยาน สามารถนั่งชมอุทยานประวัติศาตร์ฯ ได้สบายๆ โดยใช้บริการรถกอล์ฟบริเวณหน้าประตูทางเข้า นั่งได้ 6-8 ท่าน ราคา 450 บาท/ชั่วโมง จะขับเองหรือจะใช้บริการพร้อมคนขับก็ได้ค่ะ

    อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นที่เที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย และยังได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดย UNESCO
    จุดที่แนะนำให้ไปก่อนคืออนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง เนื่องจากต้องนั่งไหว้บนพื้นการไปแต่เช้าจะไม่ค่อยร้อน เป็นคำแนะนำจากพี่เจ้าของร้านเช่ารถจักรยาน บริเวณอนุสาวรีย์ฯ มีดอกไม้ธูปเทียน น้ำมันเติมตะเกียงขาย เครื่องดื่มก็มีขาย การพกน้ำใส่ตะกร้าหน้ารถไปด้วยเป็นสิ่งที่ควรทำมาก

    วัดมหาธาตุเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เจดีย์ประธานของวัดเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งเป็นทรงเจดีย์ที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมสมัยสุโขทัยเป็นศิลปะแบบไทยแท้ วัดอยู่ใจกลางเมืองและเป็นวัดสำคัญของกรุงสุโขทัย เราเดินชมและถ่ายรูปอยู่นานมากตอนแรกแพลนเวลาไว้ว่าจะเดินชมวัดนี้ประมาณ 15 นาที แต่ความจริงใช้เวลาไปมากกว่า 30 นาที จากการสังเกตด้วยตาน่าจะเป็นวัดที่ใหญ่สุด เราอดใจไม่ไหวขอเก็บภาพตัวเองกับที่นี่ไว้เป็นที่ระลึก ปกติจะใช้กล้องติดกับขาตั้งเชื่อมต่อกับมือถือด้วย Wifi เป็นรีโมทเพื่อกดถ่าย แต่หลังจากมือถือแบตหมดเราก็ต้องตั้งเวลาแล้ววิ่ง มีความเขินบ้างถ้าบังเอิญว่ามีคนเดินมาเจอ เที่ยวคนเดียวมันก็ลำบากตรงนี้เนี่ยแหละ ในการเข้าชมโปรดอย่าปีนป่ายโบราณสถานนะคะ

    วัดศรีสวาย อยู่ทางทิศใต้ของวัดมหาธาตุ ประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ เราว่าคล้ายกับพระปรางค์สามยอดที่ลพบุรี ซึ่งก็เหมือนจะเป็นแบบนั้นเพราะรูปแบบศิลปะของปราค์งวัดศรีสวายเป็นแบบลพบุรีที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบขอม

    ทางจักรยานดีมาก แต่ต้องขี่ระวังรถกล์อฟนิดนึง เส้นทางมีความร่มรื่นแต่พอใกล้สิบโมงเช้า แดดจัดอากาศเริ่มร้อนแล้วค่ะ

    วัดตระพังเงิน ตั้งอยู่ทางตะวันตกของวัดมหาธาตุข้างบริเวณสระน้ำ คำว่าตระพังเป็นภาษาขอมหมายถึงสระน้ำหรือหนองน้ำ ตัดสินใจว่าชมโบราณสถานในเขตกำแพงเมืองเก่าเพียงเท่านี้ และจะขี่จักรยานไปวัดศรีชุมซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 1.8 กิโลเมตร


    วัดศรีชุม เราขี่จักรยานออกมาทางประตูศาลหลวง เส้นทางนี้เป็นถนนหมายเลข 12 ต้องระวังรถยนต์อย่างมาก เพราะจะต้องปั่นข้ามถนนเพื่อเลี้ยวเข้าไปในซอยข้างร้านอาหารขวัญสิริ เมื่อถึงวัดศรีชุมต้องซื้อบัตรเข้าชมสถานที่คนละ 20 บาท ที่เราอยากมาวัดนี้เนื่องจากเคยได้ยินตำนานพระพุทธรูปพูดได้ เมื่อได้มาสุโขทับทั้งทีจึงอยากเห็นด้วยตาตัวเอง วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ซึ่งมีนามว่า "พระอจนะ" ส่วนตำนานพระพูดได้มาจากสมเด็จพระนเรศวรวางแผนสร้างขวัญและกำลังใจให้กับทหาร โดยการให้ทหารคนหนึ่งปีนบันไดขึ้นไปทางด้านหลังองค์พระและพูดกับเหล่าทหาร ทำให้ทหารเกิดกำลังใจที่จะต่อสู้ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดตำนานพระพูดได้

    เรากลับจากวัดศรีชุมทางเดิม และเอาจักรยานไปคืนที่ร้านมีห้องน้ำไว้บริการหลายห้อง เราขอเข้าห้องน้ำ ล้างหน้า เปลี่ยนชุด (ชุดที่ใส่ปั่นจักรยานเปียกท่วมไปด้วยเหงื่อ) ซึ่งใช้บริการฟรีแถมยังให้คำแนะนำเราในการเดินทางต่อ ซึ่งข้อมูลที่เรามีไม่อัพเดทคือรถสองแถวคอกหมูที่วิ่งเข้า บขส. ไม่ค่อยมีวิ่งแล้ว ให้เรานั่งรถมินิบัสหรือรถตู้ที่ไปพิษณุโลก ยืนโบกที่หน้าร้านเช่าจักรยานได้เลย พี่เจ้าของร้านใจดีมากรู้ว่าเราไม่เคยมาออกมายืนเป็นเพื่อนจนเราได้ไปบขส. สุโขทัย ราคารถตู้ 20 บาท (เพื่อความแน่ใจเราย้ำกับพนักงานขับรถอีกทีว่าเราจะไปลงรถที่ บขส.สุโขทัย)

    DAY:1 Check-in โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น

    เมื่อถึง บขส. เราซื้อตั๋วไปอำเภอศรีสัชนาลัย บอกพนักงานขายตั๋วว่าจะไปบ้านนาต้นจั่นถึงแล้วให้บอกด้วย พนักงานจะบอกว่ารถจะเข้ามารับที่ชานชาลาไหน ซึ่งของเราเป็นรถแอร์แบบรูปด้านล่าง ราคา 49 บาท ใช้เวลาเดินทางแบบหวานเย็น ประมาณ 1 ชั่วโมงนิดๆ

    พนักงานขับรถให้เราลงตรงวินมอเตอร์ไซค์หาดเสี้ยว แถมเรียกคุณลุงวินมอเตอร์ไซค์ไปนาต้นจั่นให้ด้วย ถ้ามากันหลายคนให้ทางที่พักจัดรถมารับจะสะดวกและประหยัดกว่า แต่เรามาคนเดียวเลยต้องนั่งวินมอเตอร์ไซค์เข้าไป ราคาเที่ยวละ 160 บาท ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร เราขอเบอร์คุณลุงไว้ให้มารับตอนขากลับ ซึ่งจุดขึ้นรถทัวร์ที่ใกล้ที่สุดคือวินทัวร์หาดเสี้ยว ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ตารางการเดินรถอัพเดทใหม่รอบที่เราต้องกลับกรุงเทพฯ คือรอบ 09.30 น. ซึ่งต้อง check out จากที่พักและรีบเดินทางไปขึ้นรถทัวร์ให้ทัน ซึ่งคุณลุงเข้าใจและนัดเวลามารับเราตอน 08.15 น.

    นักท่องเที่ยวที่มาถึงต้องไปยังศูนย์กลางชุมชนบ้านนาต้นจั่น เพื่อให้เจ้าของบ้านมารับเข้าบ้าน ที่ศูนย์กลางชุมชนเป็นจุดขายงานฝีมือที่ทำจากคนในชุมชนและมีร้านอาหารชื่อร้านข้าวเปิ๊บล้มยักษ์ ที่ร้านมีเมนูข้าวเปิ๊บชามโตเท่าหน้า ข้าวเปิ๊บแบบต่างๆ และข้าวพันหลายรสชาติ ข้าวเปิ๊บเป็นเมนูพื้นบ้านของบ้านนาต้นจั่น วิธีการนึ่งแป้งคล้ายข้าวเกรียบปากหม้อพอแป้งสุขใส่วุ่นเส้นและผักต่างๆ ลงไป จากนั้นก็พับแป้งไปมาเพื่อห่อไส้ข้างในเสิร์ฟพร้อมน้ำซุป เราจัดหนักด้วยการสั่งข้าวเปิ๊บล้มยักษ์และข้าวพันผักรวม รสชาติโดยรวมเราว่าคล้ายสุกี้ที่ไม่ใส่น้ำจิ้ม ได้กระดูกหมูติดเนื้อชิ้นใหญ่ ส่วนข้าวพันผักเราชอบข้าวพันพริกที่สุด

    ฝั่งตรงข้ามเป็นร้านขายของมีผ้าถุงและชุดเหนือขาย เผื่อใครไม่ได้เตรียมชุดมาใส่ถ่ายรูปสามารถแวะเข้าไปซื้อได้

    รายละเอียดโปรแกรมทริปของบ้านนาต้นจั่น 2 วัน 1 คืน
    วันที่ 1
    15.00 น. รับนักท่องเที่ยวจากศูนย์กลางชุมชนเข้าที่พัก
    16.30 น. ปั่นจักรยานชมทุ่ง ชมพระอาทิตย์ตก(สะพานเชื่อมทุ่ง)
    18.30 น. รัปประทานอาหารเย็น
    วันที่ 2
    06.30 น. ตักบาตรหน้าบ้านหรือชมทะเลหมอกห้วยต้นไฮ (เลือกอย่างใดอย่างนึงเพราะเวลาทับซ้อนกัน)
    07.30 น. รับประทานอาหารเช้า
    08.30 น. ปั่นจักรยานชมวิธีการทอผ้าใต้ถุนบ้าน
    - ชมวิธีการทำตุ๊กตาบาร์โหน (บ้านตาวงศ์)
    - ชมและชิมผลไม้ตามฤดูกาล
    - ชมการทำผ้าหมักโคลน
    - ชมผลิตภัณฑ์จากผ้าหมักโคลน
    11.30 น. ชมและทดลองการทำข้าวเปิ๊ปอาหารถิ่น
    (กิจกรรมอาจมีการปรับเปลี่ยนได้อย่างเราต้องรีบเดินทางกลับตามรอบรถทัวร์ จึงทำกิจกรรมปั่นจักยานเที่ยวชมในหมู่บ้านเย็นวันแรกที่เข้าพักเลยค่ะ)

    อัตราการเข้าพัก
    ท่านละ 600 บาท, เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ 250 บาท, ชาวต่างชาติท่านละ 700 บาท ราคานี้รวมอาหารเย็นและเช้า นอนพักหนึ่งคืน กิจกรรมชมเที่ยวในหมู่บ้านเจ้าของบ้านหรือน้องไกด์พาชมเที่ยว หากสนใจใช้บริการห้องแอร์ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มห้องละ 300 บาท
    *ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่เพจของโฮมสเตย์
    **ขอขอบคุณข้อมูลข้างต้นจากเพจ โฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย ด้วยนะคะ

    เราได้พักบ้านแม่จันทราที่เรือนเล็กบ้านจันทราเป็นโฮมสเตย์ของพี่ตุ้มและพี่พงษ์ ทริปนี้เราเดินทางมาคนเดียว ทางศูนย์กลางของโฮมสเตย์จัดให้เราเข้าพักที่นี่ ซึ่งก่อนวันเดินทางหลายวันพี่ตุ้มโทรศัพท์มาหาเรา ถามว่าเดินทางมายังไง? มาคนเดียวหรอ? จะไปเที่ยวไหนบ้าง? พร้อมบอกข้อมูลการเดินทางให้ครบเลย

    บ้านแม่จันทรามีโฮมสเตย์ 2 หลัง ถ้ามาหลายคนจะได้นอนหลังใหญ่ ส่วนเรามาคนเดียวได้นอนเรือนเล็ก บ้านแยกออกมามีความเป็นส่วนตัว มีห้องน้ำในตัวพร้อมเครื่องทำน้ำอุ่น ห้องพัดลม มีผ้าเช็ดตัว หมอน ผ้าปูที่นอน มุ้งสะอาดและเครื่องนอนมีกลิ่นหอม ในห้องมีปลั๊กพ่วงให้ โซนนั่งเล่นมีทีวี น้ำดื่ม กาต้มน้ำร้อน กาแฟ น้ำแข็ง เราชอบมุมเปลหน้าบ้านมาช่วงนี้ได้นอนเล่นพร้อมชมวิวสวยๆ ทุ่งนาสีเขียวสบายตาและดีต่อใจ

    DAY:1 ปั่นจักรยานชมวิถีชุมชนบ้านนาต้นจั่น ชมทุ่งนา และพระอาทิตย์ตกดิน
    หลังจากพี่ตุ้มส่งเราเข้าที่พัก ได้นัดน้องไกด์พาเราไปปั่นจักรยานชมหมู่บ้านตอนสี่โมงเย็น โดยมีค่าเช่าจักรยาน 30 บาท ค่าไกด์ฟรีแต่เราซื้อขนมให้น้องเป็นการตอบแทน สถานที่แรกน้องไกด์พาเราไปคือ ชมวิธีการทำตุ๊กตาบาร์โหนบ้านตาวงศ์ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่คุณตาวงษ์คิดค้นขึ้น แต่ปัจจุบันคุณตาวงษ์ได้เสียชีวิตแล้ว ตุ๊กตาบาร์โหนเป็นการแกะสลักไม้ขึ้นมาเป็นรูปคนที่กำลังเล่นกีฬากายกรรม น้องไกด์บอกว่าคนสมัยก่อนไม่ดื่มนมถ้าอยากตัวสูงต้องไปโหนบาร์ ตุ๊กตาบาร์โหนจึงเป็นการจำลองวิถีของผู้คนสมัยก่อนมาเป็นเครื่องเล่น โดยบีบที่ปลายไม้แล้วตุ๊กตาจะขยับเป็นท่าทางต่างๆ มีท่ายากด้วยนะ น้องไกด์บอกต้องฝึกเล่นบ่อยๆ จะสามารถทำได้ ซึ่งประโยชน์ในการเล่นตุ๊กตาบาร์โหนคือสามารถใช้เป็นที่บริหารมือได้ สำหรับผู้ที่สนใจสั่งทำไว้ได้และจะจัดส่งให้ภายหลังทางไปรษณีย์

    เราไปต่อกันที่โฮมสเตย์ตัวอย่าง น้องไกด์พาเรามาดูอชิโฮมสเตย์สามารถถ่ายรูปและเดินชมได้แค่บริเวณหน้าบ้านพักกับใต้ถุนบ้าน ส่วนบนบ้านสงวนไว้เป็นพื้นที่ส่วนตัวสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้าพักบ้านหลังนี้เท่านั้น เราคิดว่าบ้านแต่ละหลังสวยแตกต่างกันนะ บางหลังมีวิวทุ่งนา บางหลังเป็นบ้านต้นไม้ แต่ทุกหลังมีมาตรฐานและได้รับการรับรองเหมือนกัน ความไม่เหมือนกันของที่พักเนี่ยแหละที่ทำให้เราอยากกลับมาพักโฮมสเตย์หลังอื่นอีก ถ้าเคยมาแล้ว...ในการจองที่พักครั้งต่อไปสามารถแจ้งได้ว่าเคยมาพักที่หลังนี้แล้วอยากไปพักหลังอื่น ทางศูนย์ฯ ก็จะจัดสรรให้ค่ะ

    ปั่นไปต่อกันที่การทอผ้าใต้ถุนบ้าน น้องไกด์สาธิตการทอผ้าให้เราชม จริงๆ เราก็สามารถลองทอได้นะคะ มีโค๊ดของลายผ้าเขียนไว้เราก็ทอตามนั้น ดูเหมือนง่ายใช่ไหมล่ะ จริงๆ ยากมากสำหรับการเริ่มฝึกเพราะมือและเท้าไม่ยอมไปด้วยกัน ผ้าที่เพิ่งทอเสร็จสามารถซื้อกลับได้ราคาจะอยู่ที่หนึ่งร้อยต้นๆ แต่ถ้านำไปหมักโคลนซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ทำให้ผ้านิ่มด้วยวิธีธรรมชาติราคาจะสูงถึงหลักพันเลยค่ะ ใครที่สนใจซื้อผ้าหมักโคลนหรือสินค้าอื่นๆ ของชุมชนสามารถซื้อได้ที่ร้านค้าของศูนย์กลางชุมชน

    เราปิดท้ายการปั่นจักรยานเที่ยวชมหมู่บ้านกันที่สะพานเชื่อมทุ่ง ต้องเดินเท้าระยะทางสั้นๆ เข้ามาจะพบกับทุ่งนากว้างสีเขียวและทุ่งดอกคอสมอสสีเหลืองสบายตาสบายใจมีศาลาเล็กเอาไว้หลบแดด เรามาในช่วงพระอาทิตย์ใกล้ตกดินแสงแดดจึงสาดเข้ามาเต็มๆ หากใครจะอยู่นานรอชมพระอาทิตย์ตกควรติดหมวกติดร่มมาป้องกันแดดและเป็นพร๊อพถ่ายรูปไปในตัว ส่วนเราเก็บภาพจนจุใจขอกลับก่อน เนื่องจากเมื่อคืนพักผ่อนน้อยและเที่ยวมาตั้งแต่เช้ามืด คิดถึงหมอนและที่นอนมากๆ

    มื้อเย็นสุดปัง! กลับมาถึงบ้านพักตาโตหายเหนื่อยหายง่วงเลยทีเดียว เรามาคนเดียวแต่อาหารที่พี่ตุ้มเตรียมให้นั้นจัดหนักจัดเต็ม การใช้กระบอกไม้ไผ่แทนจาน การจัดวางผักต่างๆ น่ากินมาก พอเรากินได้สักพักที่ตุ้มเข้ามาถามว่าพอกินได้ไหม รสชาติเป็นไงบ้างและบอกอีกว่าถ้ากินหมดจะดีใจมาก อาหารในขันโตกเป็นอาหารพื้นบ้านอร่อยทุกอย่าง มีลาบคั่วที่ทำรสชาติแบบกลางๆ กินง่ายจนเรากินหมด ปลานึ่งพร้อมน้ำจิ้มรสเด็ดถ้ามากลุ่มใหญ่ขนาดปลาจะใหญ่ตามจำนวนคน ผัดหน่อไม้เมนูนี้เราชอบมากเพราะชอบกินหน่อไม้อยู่แล้วแต่ไม่เคยกินแบบผัดไข่อร่อยจนเกลี้ยงกระบอก อีกเมนูหนึ่งรสชาติเหมือนต้มข่าไก่แต่ใส่หัวปลีหรือขนุนอ่อนสักอย่างเนี่ยแหละ พี่ตุ้มบอกแต่เราจำไม่ได้ ส่วนเมนูสุดท้ายหากินได้ที่นี่เท่านั้นคือน้ำพริกซอกไข่ ฟังที่แรกร้องเอ๊ะ! อยู่ในใจ ฮ่าๆ แต่คำว่าซอกหมายถึงการบด ตำเบาๆ คือวิธีการทำน้ำพริกซอกไข่นั่นเอง รสชาติจัดจ้านเปรี้ยว เค็ม เผ็ด กินกับผักลวกปลอดสารพิษอร่อยมาก ตบท้ายด้วยผลไม้ตามฤดูกาล (ถ้ามาหน้าทุเรียนมีขึ้นขันโตกด้วยนะ) กินจนลุกไม่ขึ้นแต่ก็กินไม่หมดเกือบสองทุ่มได้ เพราะเยอะมากจริงๆ พี่พงษ์บอกว่าน้อยกว่านี้ไม่ได้ มันไม่ตรงปก ขันโตกไม่จัดหนักจัดเต็มจะไม่สวย ในเพจโฮมสเตย์ที่นี่ลงรูปอะไรไป ของจริงต้องได้แบบนั้น ซึ่งก็ตรงปกมากๆ มื้อเดียวเกินคุ้ม 600 บาท แล้วค่ะ

     

    • โพสต์-2
    แป้งเจอนี่เจอนั่น •  เมษายน 22 , 2564

    DAY 2: ชมทะเลหมอกห้วยนาต้นไฮ

    กิจกรรมตอนเช้าของวันที่สอง มีให้เลือกระหว่างตักบาตรตอนเช้า (ถ้าในหมู่บ้านมีงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพระอาจจะไม่บิณฑบาตร) และขึ้นจุดชมวิวห้วยต้นไฮเพื่อชมทะเลหมอก (ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ) ถ้าจะขึ้นจุดชมวิวให้แจ้งเจ้าของบ้านตอนเข้าพักในส่วนนี้มีค่าไกด์และรถรับส่งจุดเริ่มเดิน 450 บาทต่อบ้านหนึ่งหลังแต่ในจำนวนไม่เกิน 8 ท่าน เจ้าของบ้านเตรียมกาแฟหรือโอวัลตินในกระบอกไม้ไผ่และไฟฉายให้ฟรี ซึ่งเรามาคนเดียวต้องจ่ายเต็มๆ ไม่มีการจอยทริประหว่างบ้านหลังอื่น พี่พงษ์เป็นคนพาเราขึ้นเวลาล้อหมุนคือ 04.00 น. เพื่อนั่งรถไปยังจุดเริ่มเดินที่ห่างออกไป 3.5 กิโลเมตรและเดินเท้าอีก 850 เมตร ตอน 04.30 น. เส้นทางค่อนข้างชันใครมีโรคประจำตัวต้องระวังด้วยนะคะ ระหว่างทางมีแผ่นไม้สำหรับนั่งพักเหนื่อยแต่ก่อนนั่งควรฉายไฟดูให้ดีพี่พงษ์ฉายไปจะเอ๋กับน้องแมงป่อง อากาศไม่หนาวเลยเราร้อนจนเสื้อเปียก ใช้เวลาประมาณ 25 นาทีเราก็เป็นผู้พิชิตห้วยต้นไฮค่ะ แต่ฟ้ายังไม่สว่างนั่งลุ้นทะเลหมอก ควรเตรียมยากันยุงมาด้วยนะคะ

    ข้างบนมีมาม่าในกระบอกไม้ไผ่กับขนมปังเสียบไม้ปิ้งเองขายด้วย ขนมปังแผ่นละ 10 บาท ส่วนมาม่าในกระบอกไม้ไผ่แกะสลักน่าจะ 20 บาท วันนี้โชคดีมากที่เจอทะเลหมอก ลุ้นหลายรอบมากตอนแรกเหมือนจะมาสักพักลมผัดเป็นหมอกฟุ้งๆ เป็นแบบนี้หลายรอบรอจนสายก็ได้เห็นทะเลหมอกที่อยู่ห่างๆ แค่นี้ก็สุขใจแล้ว เป็นทะเลหมอกครั้งแรกในปีนี้เลย ประมาณ 07.00 น. เราขอพี่พงษ์ลงเร็วหน่อยเพราะนัดกับลุงวินมอเตอร์ไซค์ให้มารับที่ศูนย์ฯ ประมาณ 08.15 น. กว่าจะกินข้าวเช้า อาบน้ำเก็บของอีกเราต้องทำเวลา

    เก็บรูปทางเดินมาให้ดูนิดหน่อย ของจริงชันกว่าในรูปมาก

    มื้อเช้าดีงามอีกแล้ว ด้วยความที่รีบมากเราเลยกินจนหมด อิอิ เน้นกับไม่เน้นข้าว มีเมนูหมูทอดหนักเค็มไปนิดนึงถ้ากินกับข้าวจะพอดี หมูยอทอด ต้มจืดเต้าหู้หมูสับ มะละกอผัดไข่กับไข่ยางมะตูม และทีเด็ดคือน้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่มจิ้มกับผักสด น้ำพริกทั้งสองอย่างอร่อยมากๆ ปกติเราไม่ค่อยชอบน้ำพริกหนุ่มเพราะเคยกินแล้วเหม็นเขียว แต่พี่ตุ้มทำไม่เหม็นเขียวรสชาติกินง่ายที่แบบกินเปล่าๆ ก็ยังได้ แล้วที่อร่อยแบบเกินคาดเพิ่งเคยกินครั้งแรกคือมะเขือย่าง ไม่ขมและมีกลิ่นหอมของการย่างกินกับน้ำพริกอร่อยล้ำ ปิดท้ายด้วยวุ้นกะทิ อาหารแต่ละเมนูจะพลัดเปลี่ยนไปเรื่อย เพื่อนๆ ที่เคยมาและกำลังแพลนทริปมาที่นี่อาจได้กินเมนูที่ไม่เหมือนเรานะคะ

    จากนั้นเราต้องรีบจัดการตัวเองให้ทันกับเวลานัด ถ้าเราตกรถทัวร์รอบนี้จะมีอีกรอบคือช่วงค่ำ จะถึงกรุงเทพฯ ดึกเกินไป คุณลุงมารับและไปส่งเราขึ้นรถทัวร์ได้ทันเวลา ราคาวินมอเตอร์ไซค์เท่ากับตอนมาคือ 160 บาท คุณลุงอวยพรให้เราเดินทางปลอดภัย เราจองรถทัวร์ไว้ล่วงหน้าแล้วเพราะพี่ตุ้มโทรฯ มาถามว่าเราจะเดินทางมาและกลับยังไง ตอนแรกเราคิดว่าจะมาซื้อตั๋วโดยสารวันที่เดินทางกลับ แต่พี่ตุ้มบอกว่ารอบรถเปลี่ยนแนะนำให้กลับรอบ 09.30 น. เราเห็นว่ารอบรถทัวร์มีน้อยเพื่อความสบายใจถึงโทรฯ ไปจองกับพนักงานจองตั๋วโดยสารของวินทัวร์จุดจอดศรีสัชนาลัย (หาดเสี้ยว) ให้เราโอนเงินไปตามเลขบัญชีที่บอก เมื่อโอนเงินเสร็จให้โทรฯ ไปแจ้งอีกทีพนักงานจะบอกเลขที่นั่ง วันเดินทางกลับเอาสลิปโอนเงินไปรับตั๋วก่อนขึ้นรถ ตั๋วรถทัวร์ (วินทัวร์) หาดเสี้ยว - กทม ราคา 449 บาท

    สรุปการเดินทางและค่าใช้จ่าย
    การเดินทางครั้งนี้จบไปอย่างสมบูรณ์เราได้เที่ยวแบบที่คาดหวังไว้ ในหนึ่งปีเราพยายามจะไปเที่ยวคนเดียวให้ได้หนึ่งครั้ง เพราะรู้สึกว่าการออกไปเที่ยวคนเดียวยังมอบความท้าทายและเปิดโลกให้ตัวเองอยู่ จังหวัดสุโขทัยสำหรับการเที่ยวคนเดียวและไม่มีรถส่วนตัว สามารถเที่ยวได้ง่าย ปลอดภัยและมีกิจกรรมให้ทำแบบแน่นๆ อย่างวันแรกเราไปตักบาตรที่สะพานบุญ ต่อด้วยปั่นจักรยานเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ฯ นั่งรถไปบ้านนาต้นจั่นพอถึงก็ปั่นจักรยานไปเรียนรู้วิถีชุมชน แถมได้กินอิ่มนอนหลับสบายตื่นเช้ามาชมทะเลหมอก กลับถึงกรุงเทพช่วงเย็นมีเวลาพักก่อนไปทำงานอีก โดยใช้งบไม่เยอะ ประทับใจที่สุดคือการเที่ยวโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น ที่พัก 1 คืนพร้อมอาหารเย็นและเช้าราคา 600 บาท มาคนเดียวก็คิดราคานี้ เรารับรู้ถึงการทำงานที่เป็นระบบของชุมชน มีการกระจายรายได้คนมีบ้านพักทำอาหารอร่อยก็เปิดรับนักท่องเที่ยว มีไกด์จากคนในชุมชน ผลิตภัณฑ์ของชุมชนเอามาขายได้ ใครปลูกผัก ทำสวนก็ส่งมาเป็นวัตถุดิบ มีรถก็ใช้รับส่งนักท่องเที่ยว โฮมสเตย์แต่ละหลังตกแต่งอย่างสวยงาม และมีรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ๆ เช่นรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเฉพาะทานอาหารเที่ยงอย่างเดียวไม่ค้างคืน นักท่องเที่ยวจะได้รับความปลอดภัยจากการเข้าพักเพราะโฮมสเตย์ผ่านมาตรฐานการรับรอง ส่วนข้อเสียของการเดินทางคนเดียวคือบางอย่างต้องจ่ายเต็มราคา เสียเวลาในการต่อรถ และการใช้ขนส่งสาธารณะที่มีจำกัด

    ขอขอบคุณพี่ตุ้มและพี่พงษ์ที่ทำอาหารอร่อยๆ ให้กิน ฝีมือทำอาหารอร่อยมากจนกินไม่ไหวและดูแลเเป็นอย่างดีตลอดการเข้าพัก อันที่จริงก่อนที่เราจะมาถึงบ้านนาต้นจั่นด้วยซ้ำ หวังว่าจะได้มีโอกาสกลับมาเที่ยวที่นี่อีก

    ส่วนพาวเวอร์แบงค์เจ้าปัญหาที่ลืมไว้บนรถทัวร์ของ บขส. เราได้คืนโดยนัดรับกับพนักงานขับรถที่ขนส่งฯ หมอชิต ต้องขอขอบคุณพนักงานขับรถและผู้ประสานงานของ บขส.ไว้ ณ ที่นี่ด้วยค่ะ

    ค่าใช้จ่าย
    โฮมสเตย์ 1 คืน พร้อมมื้อเย็นและเช้า 600 บาท
    รถทัวร์บขส กทม - อุทยานฯ สุโขทัย (เมืองเก่า) 337 จองผ่านเว็บฯ จ่ายที่เซเว่น + 20 = 357 บาท
    วินมอเตอร์ไซค์จากบีทีเอสหมอชิตไปขนส่งฯ หมอชิต 60 บาท
    ซื้อของใช้ส่วนตัวที่เซเว่น 75 บาท
    ชุดทำบุญที่ตลาดเช้า 105 บาท
    เข้าห้องน้ำ 3 บาท
    กาแฟ ข้าวเหนียว ปาท่องโก๋ 28 บาท
    เช่าจักยาน 30 บาท
    เข้าอุทยานประวัติศาสตร์ 1 คน +1 คัน 30 บาท
    ทำบุญ 40 บาท
    น้ำอัดลม 15 บาท
    กาแฟสด 40 บาท
    ค่าเข้าชมวัดศรีชุม 20 บาท
    รถมินิบัสเข้าขนส่งสุโขทัย 20 บาท
    รถบัสไปศรีสัชฯ 49 บาท
    รถวินไป-กลับ หาดเสี้ยวและนาต้นจั่น 320 บาท
    ข้าวเปิ๊ป ข้าวพัน น้ำ 95 บาท
    เช่าจักรยานในหมู่บ้าน 30 บาท
    ไกด์ขึ้นจุดชมวิว 450 บาท
    ซื้อขนมให้น้องไกด์และน้องแป้ง 160 บาท
    ขนมปังสร้างภาพที่จุดชมวิว 10 บาท
    กาแฟที่วินทัวร์ 15 บาท
    รถทัวร์ (วินทัวร์) หาดเสี้ยว - กทม 449 บาท
    รถเมล์ 16 บาท
    รวม 3,017 บาท

    ขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการแพลนทริปเพื่อเดินทางท่องเที่ยวของเพื่อนๆ นะคะ

    อ่านรีวิวอื่นๆ ของเราได้ที่ https://www.thetrippacker.com/th/pangjourney

    IG: pangjourneyjournal

    หรือติดตามได้ทางเพจอีกหนึ่งช่องทางค่ะ

    https://www.facebook.com/KeepGoingThailand/