หนึ่งวันฉันเป็นชาวไร่ @ ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง & ฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ

เคยไปอ่างทองหรือเปล่าครับ อ่านคำถามให้ดีนะเพราะคำว่าเคยไปกับเคยผ่านนั้นความหมายแตกต่างกัน และเชื่อว่าคำตอบส่วนใหญ่น่าจะเป็นเคยผ่านมากกว่าเคยไป เพราะขนาดผมยังเป็นคนหนึ่งที่เคยแค่ผ่านๆ เท่านั้นเอง

หนึ่งในเหตุผลที่เรามักมองข้ามอ่างทอง บางทีคงเพราะที่นี่เป็นจังหวัดขนาดใหญ่... ใหญ่กว่าแค่ สมุทรสาคร สิงห์บุรี นนทบุรี ภูเก็ต และ สมุทรสงคราม หรือหมายถึงเป็นจังหวัดเล็กสุดอันดับหกของประเทศนั่นแหละ พื้นที่ไม่ถึงล้านตารางกิโลเมตร น้อยกว่ากรุงเทพด้วยซ้ำ

ความจริงผมเคยมีประสบการณ์ดีๆ ที่อ่างทองครับ โดนตรวจจับความเร็วบนถนนสายเอเชีย (ทล.32) ถูกปรับสี่ร้อยบาท แต่ว่ากลับไม่เคยเที่ยวอ่างทองสักครั้ง ดังนั้นพอได้รับคำเชิญให้ร่วมเยี่ยมชมกิจกรรมท่องเที่ยวภายในศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง และโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริบ้านยางกลาง จังหวัดอ่างทอง เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เลยตอบตกลงเซย์เยสแทบทันที

ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง และโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ตั้งอยู่ที่อำเภอแสวงหา ห่างจากตัวเมืองอ่างทองราว 40 กิโลเมตร และห่างจากถนนราชดำเนิน กทม. สัก 150 กิโลเมตร ขับรถสองชั่วโมงเศษๆ เท่านั้น ตั้งจีพีเอสไปก็ได้ หรือถ้าเข้าเมืองอ่างทองแล้วก็จะมีป้ายบอกเป็นระยะ ขับไปเรื่อยๆ ถ้าเจอป้ายบอกว่าเรากำลังจะเข้าสิงห์บุรี หรือสุพรรณบุรี ก็ไม่ต้องตกใจไป พื้นที่ตรงนี้เป็นรอยต่อสามจังหวัดเลยเชียว

ขอเล่าที่มาที่ไปสักเล็กน้อย ความเป็นมาของที่นี่คือเมื่อ พ.ศ. 2549 หลังเกิดอุทกภัยใหญ่ในจังหวัดอ่างทอง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชดำริให้จัดตั้งพื้นที่ฟาร์มเกษตรตัวอย่างเพื่อเป็นที่พักพิงแก่ราษฎรที่เดือดร้อน ตอนแรกจัดตั้งที่เมืองอ่างทอง ทว่าด้วยพื้นที่คับแคบจึงมีการย้ายมาตั้งกันใหม่ที่อำเภอแสวงหา ปัจจุบันทั้งศูนย์ศิลปาชีพฯ และโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ราว 700 ไร่ เป็นทั้งที่ทำกินให้ชาวบ้าน เป็นแหล่งกระจายความรู้ด้านการเกษตร ฝึกฝีมือด้านวิชาชีพ และล่าสุดคือการต่อยอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่ของอ่างทองยังไงล่ะ

การสำรวจกิจกรรมของที่นี่เริ่มต้นด้วยการบรรยายที่มาที่ไปของโครงการซึ่งผมเกริ่นไปแล้ว จากนั้นค่อยนั่งรถรางชมโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ซึ่งจะได้เห็นแปลงเกษตรต่างๆ ทั้งพืชถาวร พืชตามฤดูกาล มีทั้งผักและผลไม้ ผู้ดูแลคือชาวบ้านในท้องถิ่นนั่นเอง รถผ่านตรงไหนก็โบกมือทักทายด้วยรอยยิ้มกันไป

ช่วงที่ผมไปเป็นช่วงมะม่วงเบากำลังติดดอกออกผล จะว่าไปแล้วสวนมะม่วงนี่บรรยากาศดีเหมือนกันแฮะ

วนรอบฟาร์มเสร็จสรรพแล้วก็เดินเที่ยวชมแปลงเกษตรสาธิตกัน กิจกรรมเพียบครับ เริ่มโดยการปลูกผักสลัดในกระถางด้วยดินปุ๋ยมูลไส้เดือน ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีวิธีการทำปุ๋ยมูลไส้เดือนให้เราชมกันด้วย ไม่น่าเชื่อว่าไส้เดือนหน้าตาดึ๊กดึ๋ยเหล่านี้คือตัวชี้วัดคุณภาพของดินอย่างแท้จริง

ปลูกผักเสร็จแล้วเราก็มาเก็บ (เอ๊ะ...ยังไงนะ) ทางฟาร์มมีแปลงผักปลอดสารพิษให้เราเก็บกันสดๆ ผักสลัด ผักกวางตุ้ง ผักโน่นผักนี่ ต้นไหนอวบอั๋นใบสะพรั่งน่าทานสามารถตัดใส่ตะกร้าตามใจชอบ สนนราคาต้นละสิบบาทเท่านั้น เสร็จแล้วนำไปล้างใส่ถุงสำหรับเอากลับบ้านได้เลย

ฟาร์มผักย่อมต้องอยู่คู่กับบ่อเลี้ยงปลาและเลี้ยงกบ เลี้ยงแบบกินดีอยู่ดีตั้งแต่เป็นลูกอ๊อดจนตัวเป้งขนาดล้นมือ เห็นตาแบ๊วๆ แล้วรู้สึกสงสารอยากจับหักขามาผัดเผ็ดเสียจริง (ฮา…) ว่าแต่ว่า ณ ตอนนี้ผ่านมาก็หลายวัน ไม่รู้พวกมันจะไปสู่สุคติในท้องใครแล้วหรือยังหนอ

ด้านนี้น้องๆ กำลังสาธิตการสร้างสรรค์ศิลปะจากวัตถุดิบธรรมชาติ ก้านบัวเปรียบเสมือนพู่กัน สีต่างๆ นำมาจากพืชผล เช่น ดอกอัญชัน ฟักข้าว มะเขือ มัลเบอร์รี่ (ชาวบ้านเรียกว่าหม่อนทานผล) ดาวเรือง หากเด็กๆ มาเที่ยวคงสนุกน่าดู

ของกินตามวิถี ขนมครกกับไอติมหลอด ชวนให้นึกย้อนวัยวาน ใครเป็นวัยรุ่นยุค 90 รายงานตัวด่วน (ฮา...) แต่ที่นี่ไม่ได้ใช้น้ำอัดลมครับ ต้องเป็นน้ำผักผลไม้หรือพืชสมุนไพรต่างๆ นั่นไง การันตีว่าเรื่องรสชาติอร่อยไม่แพ้กัน

เดินวนจากแปลงผักสู่โรงเพาะเห็ด สาธิตขั้นตอนตั้งแต่การเพาะเชื้อ เห็ดนางฟ้าภูฎาน เห็ดนางรมฮังการี เห็ดหลินจือ ซึ่งสองชนิดแรกเราสามารถเลือกเก็บดอกที่ชอบตามที่ใจบอกว่าใช่ใส่ตะกร้าได้เอง แต่ละดอกบานน่าทาน ราคาถูกมาก

เก็บผักแล้ว เก็บเห็ดแล้ว เชือดกบ...!!! (ไม่ใช่สิ เราปล่อยมันกลับลงบ่อต่างหาก) ต่อมาเปลี่ยนบรรยากาศไปฟาร์มปศุสัตว์ให้อาหารแพะแบบสนุกๆ ที่นี่เขาเลี้ยงสัตว์สองชนิดครับคือแพะกับหมูจินหัว ซึ่งเป็นสายพันธุ์นำเข้าจากเมืองจีน แต่เลี้ยงหมูคงสภาพไม่โสภาเท่าไหร่ เราแค่เลี้ยงแพะก็พอครับ

ถึงเวลาเที่ยงได้เวลาทานข้าว อาหารทุกอย่างเป็นผลิตผลจากฟาร์มเกือบทั้งสิ้น (ยังดีว่าไม่มีกบตาแป๋วสองตัวนั้น ไม่งั้นคงกินแบบสำนึกผิด) ชุดจัดใส่ปิ่นโตน่ารักแบบไทยๆ ทว่าบอกก่อนว่าเขาไม่ได้เตรียมแบบนี้ให้ทุกคนที่มาเที่ยวนะ มาเป็นกรุ๊ป คณะดูงาน ต้องติดต่อบอกกล่าวกันล่วงหน้า เขาถึงตระเตรียมให้ได้ และมีค่าใช้จ่ายพิเศษว่ากันไป

อิ่มแล้วมาสำรวจฟาร์มกันต่อ อีกหนึ่งผลิตผลเด่นของโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ คือกล้วยไม้ ภายในโรงเลี้ยงบรรยากาศดีร่มรื่น นอกจากเดินเล่นถ่ายรูป ใครอยากซื้อต้นไหนดอกไหนแจ้งเจ้าหน้าที่ได้เลย

แต่อย่าซื้อกล้วยไม้เสียจนตังค์หมดล่ะ เหลือติดกระเป๋าไว้อุดหนุนพืชผักกันด้วย ราคาแบบนี้หาที่ไหนไม่ได้แล้ว วันที่เราไปมีมะม่วงเบากิโลละห้าสิบ เห็ดถุงโตๆ ยี่สิบ ผักต่างๆ กำละสิบบาทยี่สิบบาท ช็อปกันจุใจเพลินเลยครับ ที่สำคัญคือปลอดสารพิษแน่นอน

นั่นคือกิจกรรมทั้งหมดที่เรามีโอกาสร่วมกับทางโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริบ้านยางกลาง ซึ่งจริงๆ ยังมีอะไรให้ชมและท่องเที่ยวมากกว่านั้นอีก จะเดินเล่นแปลงเกษตรหรือตามสวนตามไร่พืชผลต่างๆ ก็ได้ เลือกหาซื้อต้นไม้ต่างๆ ที่ทางฟาร์มจัดไว้สำหรับขายนักท่องเที่ยวก็ได้ และยังมีพื้นที่ส่วนปลูกป่าที่เราจะเข้าไปเดินศึกษาธรรมชาติก็ได้เช่นกัน

ถึงเวเลาเยี่ยมชมศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองกันบ้าง อย่างที่บอกคืออยู่ในพื้นที่เดียวกัน เป็นอาคารหลังใหญ่ ด้านหน้ามีรูปปั้นช้างสามเศียรเด่นตระหง่าน

เอ๊ะ… เขาทำอะไรกันนะ นั่นเป็นคำถามของแทบทุกคนที่เดินเข้ามา ภายในศูนย์มีแผนกอาชีพทั้งหมดสี่จุดใหญ่ ส่วนแรกคืองานผลิตกระดาษข่อยและหัวโขน ต่อมาคือทอผ้ายก จากนั้นเป็นปักผ้าชุดเครื่องโขน สุดท้ายคือทำเครื่องเคลือบเซรามิก

นอกจากสร้างอาชีพ ที่นี่ถือเป็นแหล่งฝึกช่างฝีมือชั้นดี ช่างหลายคนเป็นหนึ่งในทีมสร้างพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีการจำลองแบบมาจัดแสดงในศูนย์ด้วย

สำหรับการทำหัวโขน ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองเน้นวิธีดั้งเดิมตั้งแต่ขั้นตอนแรกคือการผลิตกระดาษข่อยแบบโบราณ นำต้นข่อยมาฉีก หมัก ทุบ ใส่น้ำยา ตากแห้ง จนได้เป็นกระดาษ นำไปวาดลายแกะสลัก ขึ้นรูป ทุกขั้นตอนประณีตและต้องใช้ฝีมืออย่างมาก

การปักผ้าชุดเครื่องโขนก็ไม่ต่างกัน กว่าจะกลายเป็นลายสวยๆ ที่เราเห็น คนทำต้องละเอียดละออ อดทน ทำกันวันละนิดวันละหน่อยแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริง

ส่วนการทอผ้ายกมีขั้นตอนและกรรมวิธีที่ต้องใช้ฝีมือไม่น้อยกว่าจะได้ผ้าไหมทองไหมเงินเนื้อละเอียดมาทอยกลวดลายกลายเป็นผ้าผืนสวย ซึ่งทางศูนย์กำลังพยายามถ่ายทอดภูมิความรู้เหล่านี้ต่อไปสู่คนรุ่นใหม่ๆ ให้มากขึ้น

ด้านการผลิตเครื่องเคลือบเซรามิกเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้กับที่นี่ได้พอสมควรเชียว ทั้งอุปกรณ์และช่างฝีมือมีความพร้อมน่าจะต่อยอดในอนาคตได้มากขึ้นอีก

กิจกรรมที่เรามีส่วนร่วมได้จริงจังคือการเพนท์ลายเครื่องเซรามิก สร้างถ้วยกาแฟและจานรองแก้วลายเฉพาะตัวเฉพาะฝีมือ เห็นการลงลวดลายของชาวบ้านแล้วผมต้องขอยกมือยอมแพ้ เพราะฝีมือทางด้านศิลปะสอบตกอย่างไร้ข้อกังขา (ฮา...)

จุดนี้มีค่าใช้จ่าย 400 บาท หลังจากเราเพนท์เสร็จ ทางศูนย์จะนำเข้าเตาอบตามกระบวนการต่อไป ก่อนจัดส่งทางไปรษณีย์ให้เราถึงบ้านภายหลัง

ใช้เวลาตั้งแต่ราวเก้าโมงเช้าจนถึงใกล้สี่โมงเป็นอันเสร็จสิ้นการเที่ยวชมศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง และโครงการฟาร์มตัวอย่างในพระราชดำริบ้านยางกลาง บอกเลยว่าเป็นหนึ่งในวันที่ได้เห็นและเรียนรู้อะไรมากมาย ที่สำคัญคือทำให้เรารู้ว่าการเที่ยวชมงานศิลปาชีพและท่องเที่ยวเชิงเกษตรไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อเลย หนำซ้ำกลับสนุกกับทุกกิจกรรมที่มีส่วนร่วมด้วยซ้ำ

ย้ำสักนิดครับว่าปัจจุบันศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองและโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ยังอยู่ระหว่างการตั้งไข่ด้านการท่องเที่ยว ความพร้อมยังไม่เต็มที่นัก เป็นการดูแลโดยอาจารย์และชาวบ้านกันเอง หากเป็นการเข้าชมพื้นทั่วไปสามารถทำได้ทุกวัน แต่ถ้าต้องการเที่ยวทำกิจกรรมเต็มรูปแบบเหมือนที่เราทำต้องแจ้งล่วงหน้า ซึ่งตอนนี้สามารถติดต่อและอัพเดตข้อมูลที่หน้าแฟนเพจเฟซบุ๊กของทางศูนย์ >>> www.facebook.com/sibuathongth อีกไม่นานคงมีโปรแกรมต่างๆ อย่างเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

อยากให้ช่วยกันทำให้ที่นี่เติบโตขึ้นอย่างช้าๆ แต่ยั่งยืน และเติบโตด้วยความเข้าใจของทั้งผู้มาเที่ยวและผู้ต้อนรับครับ

อ้อ... ขอแนะนำอีกหน่อยว่าในจังหวัดอ่างทองยังมีที่เที่ยวเป็นวัดวาอารามสวยงามให้ลองจัดทริปเที่ยวสักสองวันหนึ่งคืนช่วงสุดสัปดาห์กันได้นะ ผมเองมีโอกาสเที่ยว วัดสังข์กระต่าย (อุโบสถโบราณต้นโพธิ์ปกคลุก) วัดขุนอินทประมูล (พระนอนองค์ใหญ่) วัดท่าอิฐ (เจดีย์สีทอง) และวัดม่วง (พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศ) เป็นเวลาหนึ่งวัน ค้างคืนรีสอร์ทที่พักแถววัดม่วง อำเภอวิเศษชัยชาญ ก่อนเช้าอีกวันค่อยขับรถมาที่ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง และฟาร์มตัวอย่างฯ แบบสบายๆ

อ่างทองอาจเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่ได้มาเที่ยวแล้วก็รู้สึกประทับใจและมีอะไรน่าสนใจกว่าที่คิดเยอะเชียวครับ

--------------------------------------------------------

ใครอยากคุยกับผมเรื่อยเปื่อยเรื่องท่องเที่ยว สอบถามข้อมูล (ถ้าผมมีให้นะ) หรือชวนเที่ยว ยินดียิ่งนะครับ
www.facebook.com/alifeatraveller

--------------------------------------------------------