กาฬสินธุ์เป็นถิ่นของคนน่ารัก น่ารักทั้งภาษา การสืบสานวัฒนธรรม  วันนี้ลองมามองกาฬสินธุ์ในอีกมุมหนึ่งที่คุณยังไม่รู้จัก ไปเที่ยว ไปกิน ไปเห็นถิ่นของคนน่ารักด้วยกันโดยวันนี้เราจะเริ่มกันที่อำเภอเมือง โบว์อยากจะรู้เหมือนกันค่ะ ว่าจังหวัดนี้ที่หลายคนต่างบอกว่าเป็นเมืองเงียบเหงา จะซ่อนความสนุกไว้ที่ไหนบ้าง ไปค้นหาคำตอบพร้อมโบว์กันเลยค่ะ

         ซึ่งในวันแรกนี้โบว์ขอเริ่มต้นการเดินทางที่อำเภอเมืองค่ะ หาร้านกาแฟน่ารักๆเข้าไปนั่งชิลล์ก่อนดีกว่า… คาเฟ่เดอสุภัค คาเฟ่ชิคๆในเมืองกาฬสินธุ์ บรรยากาศของที่นี่เหมาะแก่การนั่งพักผ่อน จิบน้ำเย็นๆ การตกแต่งเป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นตึกเก่า ความสมัยใหม่ ท่ามกลางความสวยงามของจังหวัดกาฬสินธุ์ ใครที่ชอบนั่งชิลล์ ผ่อนคลายอารมณ์โบว์แนะนำให้ลองมาที่นี่ดูค่ะ

             มาถึงกาฬสินธุ์ทั้งทีแน่นอนว่าโบว์ต้องนึกถึงไดโนเสาร์เป็นอย่างแรกเลยค่ะ ก็กาฬสินธุ์เป็นถิ่นไดโนเสาร์นี่คะ … จะเห็นได้ว่ารอบๆตัวมีแต่รูปปั้นไดโนเสาร์ และมีสวนสาธารณะต่างๆ ที่มีรูปปั้นไดโนเสาร์ให้นักท่องเที่ยวอย่างโบว์ ได้แวะมาถ่ายรูป อย่างตรงนี้ที่โบว์เดินอยู่ คือแก่งดอนกลาง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

ดูสิคะ มีไดโนเสาร์เต็มไปหมดเลยค่ะ โบว์แนะนำให้ลองเล่นเกมส์ทายชนิดได้โนเสาร์กันดู คงสนุกและได้ขำขัน  ร่วมกันทั้งครอบครัวอย่างแน่นอน

                    สถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับไดโนเสาร์นั้นยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ เพราะเรายังสามารถเดินทางไปยังอำเภออื่นอีกได้ อย่าง อ.สหัสขันธ์ ที่มีสวนไดโนเสาร์ พิพิธภัณฑ์สิริธร และพิพิธภัณฑ์แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์  ภูกุ้มข้าว โบว์อยากให้ทุกคนลองมาเที่ยว และชมไดโนเสาร์ด้วยตัวเอง แล้วจะรู้ว่าพิพิธภัณฑ์ที่นี่จัดแสดงได้อย่างดี ไม่แพ้พิพิธภัณฑ์เมืองนอกเลยนะคะ แล้วเราจะพบว่าประสบการณ์จากการเดินทางยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องออกมาพิสูจน์ด้วยตาของตัวเองค่ะ

พิพิธภัณฑ์สิรินธร เปิดให้บริการวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 9.00-17.00 น. 
ค่าเข้าชม  คนไทย เด็ก 10 บาท ผู้ใหญ่ 40 บาท  ชาวต่างประเทศ เด็ก 50 บาท ผู้ใหญ่ 100 บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : โทร 043-871 014

อีกหนึ่งสถานที่ที่ไม่ควรพลาดเมื่อมากาฬสินธุ์ คือ สวนดอนธรรม เรือนไม้หลังน้อยใหญ่หลายหลัง ถูกสร้างขึ้นตามแบบวัฒนธรรมอีสานบ้านเรา รายล้อมไปด้วยทุ่งนาเขียวขจี ให้เรารู้สึกเหมือนได้มาสัมผัสใกล้ชิดธรรมชาติ  โดยแท้ ทราบมาว่าที่นี่เป็นหนึ่งในโลเกชั่นของละครเรื่องนาคีอีกด้วยค่ะ ไปค่ะ ไปตามหาบ้านคำแก้วกัน..!

โบว์ได้เดินชมรอบๆ ตัวบ้านและบริเวณสวน บรรยากาศดี ร่มรื่นมากค่ะ นอกจากบ้านพักแบบอีสานโบราณแล้ว       ที่นี่ยังมีร้านอาหารบริการด้วยนะคะ

สวนดอนธรรม อยู่ที่ตำบลเหนือ อำเภอเมือง จ.กาฬสินธุ์                                                                          อยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง หลวงหมายเลข 12 ถนนเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก                                              โทร. 082 801 8885

                       

   นอกจากโบว์จะมากาฬสินธุ์ เพื่อมาเห็นการท่องเที่ยวในมุมที่เท่ ต่างไปจากเดิม สิ่งสำคัญเลยก็คือ โบว์ตั้งใจจะมาดูงานประเพณีและวัฒนธรรมที่ชาวบ้านตั้งใจสืบสานกันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่าเขาเรียกกันว่างานบุญคูนลานสู่ขวัญข้าว ประเพณีที่ชาวกาฬสินธุ์ให้ความสำคัญมากอีกงานหนึ่ง ซึ่งถ้าเราจะทำความรู้จักให้ลึกซึ้งก็ต้องลงไปสัมผัสด้วยตาและหัวใจของตัวเราเอง

           ภาคอีสานนอกจากจะเป็นแหล่งข้าวชั้นดีของไทยแล้ว ยังเป็นแหล่งสืบสานวัฒนธรรมประเพณีเกี่ยวกับข้าวอันหลากหลาย เช่นเดียวกับจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่วันนี้โบว์ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานบุญคูนลาน หรือการสู่ขวัญข้าวของชาวอีสาน ที่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์

      มาแบบนี้เราก็จะได้มาสัมผัสบรรยากาศที่ชาวบ้านช่วยกันลงไม้ลงมือมัดรวงข้าว ตกแต่งปราสาทน้อย เพื่อใช้ในการประกอบพิธีบุญบายศรีสู่ขวัญข้าวอีกด้วยค่ะ งานนี้ต้องอาศัยแรงศรัทธาและพลังสามัคคีจากชาวชุมชนในการร่วมกันขึ้นโครงปราสาท

ชาวบ้านจะคัดและมัดรวงข้าวที่สมบูรณ์ซึ่งได้จากศรัทธาของชาวบ้านที่นำมารวบรวมกันไว้ที่วัด นำมาประดับตกแต่งปราสาทรวงข้าวขนาดใหญ่ที่ประณีตงดงาม ในการจัดสร้างปราสาทน้อย นับจากวันเริ่มต้นจนสำเร็จสมบูรณ์พร้อมสำหรับ ประกอบพิธีบุญบายศรีสู่ขวัญข้าวคูนลานจึงเป็นงานศิลปะที่สะท้อนถึงพลังแห่งศรัทธาและความสามัคคีของชาวชุมชนได้เป็นอย่างดีโบว์ว่าเดี๋ยวเราเข้าไปคุยกับแม่ๆ กันดีกว่าค่ะ     ว่าปราสาทน้อยมีขั้นตอนทำอย่างไร ไหนๆ เราก็มาถึงถิ่นประเพณีงานบุญทั้งที ต้องได้รู้ในสิ่งที่นานทีปีหนจะมีโอกาสได้มาร่วมงานบุญที่เต็มไปด้วยความสามัคคีและศรัทธาของชาวบ้าน  

          แม่ๆเล่าให้ฟังแบบเข้าใจง่ายว่า จะต้องมีการเริ่มโครงเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อน แล้วมัดรวงข้าวให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมามัดรวมกัน พอได้เป็นมัดใหญ่ จึงนำมามัดและตัดให้เป็นรวงข้าว ซึ่งข้าวที่นำมาร่วมประเพณีงานบุญนั้น        แม่ๆ แอบกระซิบบอกว่าข้าวต้องนำมาจากบ้านใครบ้านมันก่อนที่จะทำการเก็บเกี่ยว จะนำมาร่วมบุญมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับกำลัง และตามที่เราจะสามารถบริจาคได้

        คำว่า "คูณ"หมายถึง เพิ่ม หรือทำให้มากขึ้น ส่วนคำว่า "ลาน"คือ สถานที่กว้างๆ สำหรับนวดข้าว                ซึ่งการนำข้าวที่นวดแล้วกองขึ้นให้สูง เรียกว่า "คูณลาน" 

        มองไปมองมา แอบสังเกตเห็นแม่ๆ ใส่หมวกสวยงามกันด้วยค่ะ ถามไถ่ได้ความว่า คือ หมวกที่ทำกันขึ้นมาเอง ทำจากกกที่ปลูกกันเองภายในหมู่บ้าน และนำมาย้อมสีทำเป็นหมวก นอกจากทำเป็นหมวกแล้วยังนำมาทำเป็นเสื่อด้วย โบว์อยากให้ทุกคนลองมาเรียนรู้วิถีชีวิตมาดูงานบุญงานประเพณี แล้วมาช่วยกันอุดหนุนแม่ๆ แถมยังได้ของใช้สวยๆงามๆ และสินค้าแฮนด์เมดติดไม้ติดมือกลับบ้านด้วยนะคะ

       เห็นการร่วมแรงร่วมใจกันเต็มที่ของชาวบ้านแบบนี้ก็รู้สึกดีใจนะคะ ที่วิถีและวัฒนธรรมยังคงเกาะเกี่ยวกันด้วยความสามัคคีเหนียวแน่นยิ่งได้ลงมาพูคุย ลองมาสัมผัส ก็ยิ่งหลงรักพื้นถิ่นความเป็นอีสานบ้านเราค่ะ ได้รู้จักงานนี้จากผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้คนในหมู่บ้าน ก็เข้าใจเลยค่ะว่าคนที่ทำนาปลูกข้าว เขามีความเคารพ ความผูกพันต่อข้าว ต่อพระแม่โพสพมากมายขนาดไหน

         ถึงเวลาพักเที่ยงพอดี แม่ๆ เตรียมเมนูแซ่บไว้เพียบเลยค่ะ มาเยือนถิ่นอีสานทั้งที จานนี้จะขาดได้ไงล่ะคะ    นั่งล้อมลงกินไป คุยไป รู้สึกสนิทกันมากขึ้นอีกนิดแล้วค่ะ…

           รู้ไหมคะ ว่าที่กาฬสินธุ์ยังมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติอีกหนึ่งแหล่ง ที่เป็นอีกหนึ่งมุมมอง หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้จัก นั่นก็คือ อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนลำปาว

และมีสะพานเทพสุดา เป็นสะพานข้ามน้ำจืดที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ยาวมากถึง 2 กิโลเมตรด้วยกันค่ะ

        มาที่นี่แนะนำให้มาตอนเย็นแดดร่ม ลมตก เพราะจะได้เห็นวิวของพระอาทิตย์ตกดิน น้ำเป็นแสงสีทองสวยมาก แนะนำว่าให้ติดต่อแพของชาวบ้านเพื่อล่องแพ และกินอาหารกันบนแพ อาหารที่โบว์แนะนำว่าห้ามพลาด 

นั่นคือ! ปลาเผา กุ้งก้ามกรามเผา รับรองว่าเด็ดมาก เอ๊ะๆ…อย่าพึ่งหิวค่ะ ดูวิวของพระอาทิตย์ที่กำลังจะตกน้ำกันก่อนดีกว่า สวยงามมาก

         ไปทำความรู้จักกับกาฬสินธุ์ในอีกรูปแบบหนึ่ง หลายคนคงจะคิดว่าเมืองนี้เป็นเมืองเงียบ เมืองนิ่งๆ  แต่จริงๆแล้วกาฬสินธุ์มีอะไรดีมากกว่านั้น เมื่อขับรถวนในตัวเมืองเที่ยวไปมา ก็จะพบกับ ร้านของขวัญเฮ้าส์  ที่มีอาหาร เครื่องดื่ม ตกแต่งได้น่ารัก อินเทรนด์มากๆ แถมบรรยากาศร้านก็น่ารัก สบายๆ ไม่แพ้กันเลยค่ะ 

     

     การเดินทางของค่ำคืนนี้ยังไม่หมดนะคะ ยังมีที่ให้เราได้เต็มอิ่มกับของอร่อยกันอีก โดยที่เที่ยวใหม่ของกาฬสินธุ์ คือ ตลาดโรงสี แหล่งชิลล์เอ้าท์แห่งใหม่ที่เลื่องลือกันว่า มีสีสันมากๆ แอบกระซิบบอกก่อนค่ะว่ามาที่นี่อย่าพลาดกับ ข้าวจี่ไดโนเสาร์ โรตีไดโนเสาร์ อย่างเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นเหมือนมาไม่ถึงกาฬสินธุ์จริงๆค่ะ

                   

      เช้ามาอากาศดี มีความสุข เพราะได้มาเดินในบรรยากาศงานบุญที่แสนอบอุ่น ทุกคนมีสีหน้าที่แจ่มใส ยิ่งได้เห็นชาวบ้านและผู้เฒ่าผู้แก่มารวมตัวกันที่วัดเศวตวันวนาราม  ก็ยิ่งทำให้งานนี้เป็นงานที่มีเรื่องราวและควรค่าแก่การสืบสานเป็นอย่างยิ่ง

        วันนี้เป็นเช้าที่เราจะเริ่มงาน บุญคูนงานสู่ขวัญข้าว ชาวบ้านเตรียมอาหารมาใส่บาตรพระแต่เช้า และที่น่ารัก คือ ชาวบ้านใส่ผ้าซิ่นหรือผ้าพื้นเมืองมาร่วมงานบุญกันด้วยค่ะ      หลังจากที่ทำพิธีเสร็จเราจะเห็นว่าแม่ๆ นำสายสิญจน์มาผูกที่รวงข้าวก็เพื่อให้ข้าวอุดมสมบูรณ์ ไม่มีนก ไม่มีหนู มารบกวนให้ได้ผลผลิตเยอะๆ ปีหน้าก็ให้ได้เยอะกว่าเดิม           นอกจากปราสาทรวงข้าวสวยๆ แล้ว บริเวณงานก็จัดซุ้ม OTOP ของดี ของเด่นแต่ละชุมชน ให้นักท่องเที่ยวอย่างโบว์ได้ไปเดินเล่น มีทั้งอาหาร สินค้า ผ้าไหมแพรวาสวยๆ ทั้งนั้นเลยค่ะ        ช่วงค่ำหลังเสร็จพิธีสู่วัญข้าว ชาวบ้านได้จัดงานพาแลง ให้นักท่องเที่ยวและชาวบ้านที่มาร่วมงานได้รับประทานอาหารกันที่หน้าปราสาทรวงหน้า แถมมีการแสดงให้ชมด้วยค่ะ              ปราสาทรวงข้าวในช่วงกลางวันที่ว่าสวยแล้ว พอชาวบ้านเปิดไฟที่ประดับตกแต่งในยามค่ำคืน                 ยิ่งสวยงามเข้าไปใหญ่ค่ะ .. ได้มานั่งมองใกล้ๆ ตรงนี้ถึงกับตะลึงไปเลย…    

หากถามว่าเราจะเห็นอะไรจากงานบุญประเพณีบายศรีสู่ขวัญข้าวครั้งนี้                                                        โบว์คิดว่าคุณผู้ชมน่าจะเห็นการเดินทางที่ผ่านการเล่าเรื่อง ผ่านสายตา ผ่านความรู้สึกของชาวบ้านทุกคน            มันเป็นความสุขอย่างหนึ่งของคนที่ได้มาร่วมงานอย่างโบว์ และจะเป็นความประทับใจที่น่าจดจำอีกครั้งหนึ่ง ในการมารู้จักเมืองกาฬสินธุ์อย่างแน่นอนค่ะ …

 

ชมรายการเที่ยวไทยไม่ตกยุค ตอน จากรวงข้าวสู่ศรัทธา งานบุญคูนลาน จ.กาฬสินธุ์

ได้ที่นี่ค่ะ https://youtu.be/A0m-RmtH47U

ติดตามชมรายการเที่ยวไทยไม่ตกยุค

ทุกวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 15.30 – 16.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส