แจ่มทุกที่...ทุกเวลา ณ แม่แจ่ม

“ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำ พรำ

กบมันก็ร้อง งึมงำ ระงมไปทั่ว ท้องนา…

ฝนตกทีไร คิดถึงขวัญใจ ของข้า

แม่ดอกโสน บ้านนา

น้องเคยเรียกข้า พ่อดอกสะเดา...”

เสียงเพลง “ฝนเดือนหก” แว่วเข้ามาในโสตประสาทของผม นี่ก็เข้าฤดูฝนแล้วซินะ จริงๆ ปีนี้ฤดูฝนมาเร็ว คือเริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมแล้ว เมื่อเข้าฤดูฝน สิ่งแรกที่นึกถึงคือความเขียวขจีของพันธุ์พืช พาลทำให้ผมนึกถึงทุ่งนาขั้นบันไดที่แม่แจ่มขึ้นมาในบัดดล นี่ก็เกือบ 2 ปีแล้วซินะที่ผมห่างหายจากการขึ้นไปเที่ยวทางภาคเหนือ และน่าจะเกือบ 5 ปีแล้วซินะที่ผมได้มีโอกาสไปสัมผัสแม่แจ่มเป็นครั้งแรก ไปแม่แจ่มรอบนั้นมีเวลาน้อยมาก ไปเพื่ออยากรู้ว่าทำไมนักท่องเที่ยวถึงนิยมไปเที่ยวแม่แจ่มกันจัง ไปครั้งนั้นแทบไม่ได้รูปติดไม้ติดมือกลับมาเลย ไปครั้งนั้นทำให้รู้ว่าต้องกลับมาสัมผัสแม่แจ่มแบบเจาะลึก อีกสักรอบ

หลังจากถึงสนามบินเชียงใหม่ ก็เริ่มเดินทางตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ โดยจุดหมายแรกของผมอยู่ที่วัดศรีสุพรรณ ในย่านถนนวัวลาย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสนามบินมากนัก

วัดศรีสุพรรณสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2043 เป็นอีกหนึ่งวัดที่เก่าแก่ในเชียงใหม่ จริงๆ แล้ววัดในเชียงใหม่มีเยอะมาก แต่ละวัดล้วนมีเอกลักษณ์ของตัวเอง แล้ววัดศรีสุพรรณมีอะไรดี ผมถึงต้องมา?

ภายในพระวิหารทรงล้านนา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธประวัติและชาดก มีการวาดลวดลายเป็นพระมหาเจดีย์ที่สำคัญๆ หลายแห่ง ตามเสาประดับด้วยลวดลายสีทอง งดงามมากครับ

ถัดจากพระวิหารทรงล้านนา เป็นที่ตั้งของหอไตร เคียงคู่อยู่กับพระอุโบสถหลังเงิน อุโบสถหลังนี้แหล่ะครับที่ทำให้ผมต้องมาที่วัดศรีสุพรรณ

พระอุโบสถหลังนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อทดแทนพระอุโบสถหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมลงไป โดยได้นำเอาโลหะเงินและดีบุกเข้ามาเป็นวัสดุหลักในการปฏิสังขรณ์ บวกกับฝีมือและภูมิปัญญาของช่างท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงด้านเครื่องเงิน จึงทำให้พระอุโบสถหลังนี้เป็นพระอุโบสถเงินทรงล้านนาหลังแรกของเมืองไทยครับ

ภายนอกพระอุโบสถ รวมถึงหลังคา ประดับด้วยเครื่องเงินที่มีลวดลายวิจิตรอลังการ ด้านหลังเป็นงานดุนลายบอกเล่าเรื่องราวในพุทธประวัติและความเป็นมาของพระเจ้าเจ็ดตื้อ

ซุ้มประตูทางเข้า มีการดุนลวดลายเป็นองค์เทพพนม

ส่วนบนของปีกซ้ายและขวา จำลองเป็นธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท สวยงามมากๆ ครับ

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธปาฏิหาริย์ (พระเจ้าเจ็ดตื้อ) พระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อทองสัมฤทธิ์ ดูอร่ามเรืองรอง โดดเด่นขึ้นมาจากลวดลายของแผ่นเงิน งดงามมากๆ ครับ

และถ้าหากสังเกตดีๆ ที่พระบาทซ้ายของพระเจ้าเจ็ดตื้อ จะเห็นร่องรอยของกระสุนปืนที่มีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลก เนื่องจากบริเวณวัดศรีสุพรรณเคยเป็นฐานที่มั่นของกองทัพญี่ปุ่น โดยใช้หอไตรเป็นหอบัญชาการ เมื่อกองทัพญี่ปุ่นถูกศัตรูบุก กระสุนปืนจึงมาโดนที่พระบาทซ้ายของพระเจ้าเจ็ดตื้อ ปรากฏเป็นร่องรอยให้เห็นจนถึงปัจจุบันครับ

ผนังด้านในของอุโบสถเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของพระหลายองค์มากครับ

ในวันที่ผมไป บริเวณใกล้ๆ พระวิหารทรงล้านนา มีช่างกำลังดุนลายของแผ่นเงินอยู่พอดี เห็นแล้วต้องยอมรับฝีมือของช่างทุกคนที่ร่วมกันสร้างพระอุโบสถเงินหลังนี้จริงๆ ครับ แต่ละลวดลายต้องใช้ความประณีตบรรจงในการลงลายเป็นอย่างมาก ถ้าหากเพื่อนๆ คนไหนมาเที่ยวเชียงใหม่ แนะนำว่าไม่ควรพลาดมาชมพระอุโบสถหลังเงินแห่งนี้นะครับ รับรองเพื่อนๆ ต้องตะลึงในความงดงามแน่ๆ

จากวัดศรีสุพรรณ ผมมุ่งหน้าไปยังอำเภอจอมทอง เพื่อไปยังจุดหมายต่อไปคือ อาศรมพรหมธาดาพุทธาสถานครับ

สำหรับการเดินทางมายังอาศรมพรหมธาดาพุทธาสถานให้ใช้เส้นทางเดียวกับที่มายังวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารเลยครับ เมื่อเลยวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารไปจะเจอสถานีตำรวจจอมทองและสี่แยกไฟแดง ให้เลี้ยวขวา แล้วตรงไปอย่างเดียวเลยครับ ขับไปเรื่อยๆ จนจะเห็นองค์เจดีย์สีขาวๆ ตั้งเด่นอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ เส้นทางอาจจะเปลี่ยวสักหน่อยครับ

จะมองเห็นป้ายบอกชื่ออาศรมให้เลี้ยวขวา ขับรถมาเรื่อยๆ จะผ่านประตูวัดแรก บริเวณนี้จะไม่มีที่จอดรถครับ แนะนำว่าให้ขับรถต่อขึ้นไปอีกหน่อย จะมองเห็นแคมป์ด้านซ้ายมือ สามารถจอดรถได้ ณ บริเวณแคมป์ เนื่องจากว่าภายในวัดไม่มีที่จอดรถครับ หากว่าเราหาที่จอดรถที่ประตูแรก เราจะต้องเดินขึ้นบันไดไปด้านบนอีก เลยแนะนำว่าให้ไปจอดรถที่แคมป์จะสะดวกที่สุดครับ

นับว่าเป็นความโชคดีของผมที่ผมแว๊บเข้าวัดที่ประตูแรก เป็นจังหวะที่มีโยคินี (หญิงผู้มาปฏิบัติธรรม) นั่งอยู่ตรงนั้นพอดี (ถ้าผู้ชายจะเรียก โยคี)  ได้มีการพูดคุยสอบถามกันเล็กน้อยว่าผมมาจากไหน รู้จักอาศรมได้อย่างไร ผมก็เลยเล่าให้โยคินีฟัง โยคินีเลยบอกว่าจะแจ้งพระลูกวัดที่อยู่ด้านบนเพื่อนำผมชมบริเวณรอบๆ อาศรมครับ

จากประตู 1 ผมนำรถมาจอดที่แคมป์ จากนั้นเดินเท้านิดหน่อย ก็มีพระมายืนรอต้อนรับอยู่ด้านหน้าครับ อ้อ ที่นี่มีกฎการเยี่ยมชมอยู่ 1 ข้อ คือ ห้ามนำอาหารที่มีเนื้อสัตว์, อาหารที่มีส่วนผสมของไข่ รวมถึงสิ่งเสพติดและของมึนเมาทุกชนิดเข้ามาในอาศรมครับ

เมื่อปี พ.ศ.2547 กำนันปั๋น พร้อมด้วยชาวบ้านได้อาราธนา “ครูบาตรัยเทพ จันทวัณโณ” ขณะนั้นท่านยังจำพรรษาอยู่ที่อารามห้วยบง ต.ดอยหล่อ กิ่ง อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ มาอยู่ที่อาศรมพรหมธาดาพุทธาสถานแห่งนี้ คณะผู้มีจิตศรัทธาได้มาช่วยกันก่อสร้างกุฏิและสถานที่ปฏิบัติธรรม ตลอดจนสร้างถาวรวัตถุต่างๆ มากมาย จนกระทั่งปัจจุบัน

พระท่านพาผมแวะไหว้พระเป็นจุดแรก ด้านในมีทั้งพระพุทธรูป รูปหล่อของเกจิ รูปปั้นของเจ้าแม่กวนอิม รวมถึงองค์เทพของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูครับ

จุดต่อไป คือสิ่งที่ดึงดูดให้ผมมาที่นี่ นั่นคือ พระมหาธาตุเจดีย์ไตรรัตนพุทธญาณรังสีปฐวีมงคล พระมหาธาตุเจดีย์ที่จำลองสถาปัตยกรรมมาจากเจดีย์โพธินาถ สถูปที่ตั้งอยู่ ณ กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล เจดีย์โพธินาถ หมายถึง “พระพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่ง”

ด้านหน้าองค์มหาเจดีย์มีรูปปั้นองค์มหาเทพตามความเชื่อฮินดูอยู่ด้วยครับ

พระมหาธาตุเจดีย์ไตรรัตนพุทธญาณรังสีปฐวีมงคลสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 องค์พระเจดีย์มีฐานทรงดอกบัวตูม ศิลปะค่อนไปทางธิเบต เห็นได้ชัดจากรูปแบบการก่อสร้างฐานสถูปที่อิงคติปริศนาธรรมมัณฑลา อันเป็นรูปธรรมนิมิตตามคติพุทธศาสนาแบบทิเบต ในความหมายเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ต่างๆ ในขณะรู้แจ้ง

บนพระเจดีย์มีรูปดวงตาเห็นธรรมของพระพุทธเจ้า (Wisdom Eyes) ทั้ง 4 ทิศ อันเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้คนทำความดี

มีตัวมอม 2 ตัว อยู่บริเวณด้านล่างของซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ ตัวมอมแต่ละตัวมีลวดลายและสีสันสวยมากๆ ครับ

บริเวณโดยรอบขององค์เจดีย์ สามารถชมวิวมุมกว้างได้ แต่มุมที่สะดุดตาผมที่สุดเห็นจะเป็นมุมนี้ครับ มองเห็นนาขั้นบันไดด้วย

มาดูด้านในองค์พระมหาธาตุเจดีย์กันบ้างครับ ด้านในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระนามว่า “พระพุทธสัตตนาคะราชาจันทราประภาตถาคต” ปางนาคปรกทรงเครื่องมหาจักพรรดิ์ พระราชาอันยิ่งใหญ่เป็นจอมไตรโลกนาถ นั่งบัลลังก์ดอกบัวบนพญานาค 7 ตน 7 เศียร

นอกจากนี้ยังเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธาตุส่วนสำคัญต่างๆ ได้แก่ ต้นพระหนุ (กรามเบื้องขวา) พระเกศาธาตุ พระผาสุกะ (ซี่โครง) พระเศียร  และพระธาตุส่วนของอ่อน เช่น เนื้อ หนัง ตับ ไต กระเพาะ และสัณฐานต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังบรรจุพระอรหันตธาตุของพระอรหันต์สาวกในครั้งสมัยพุทธกาล ได้แก่ พระโมคคัลลาน พระสารีบุตร พระอานนท์ พระราหุล พระสีวลีครับ

ที่ผนังมีจิตกรรมฝาผนังเป็นภาพทางพระพุทธศาสนา ศิลปะทิเบต เช่น ภาพพระพุทธเจ้า และพระมหาโพธิสัตว์องค์ต่างๆ งดงามมากๆ ครับ

ด้านข้างของพระมหาธาตุเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระไตรโลกนาถ หน้าตาดูอิ่มเอิบเชียวครับ

จากนั้นพระได้นำผมเข้ามาไหว้พระอีกหนึ่งจุด ด้านในมีทั้งรูปปั้นองค์เทพตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อย่างเช่น พระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์ และยังมีรูปปั้นของพระโพธิสัตว์หรือองค์เทพตามความเชื่อของจีน ศาสดาของศาสนาคริสต์  ซึ่งครูบาเจ้าตรัยเทพ ให้เหตุผลของการสร้างสิ่งเหล่านี้ว่า ไม่ต้องการให้ยึดติดเฉพาะนักบวชหรือนักปฏิบัติในพุทธศาสนาเท่านั้นครับ

นอกจากนี้ยังมีสรีระสังขารของ หลวงปู่จันทา อนากุโล อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าเกษมสุข อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วทำไมสรีระสังขารของท่านถึงไม่อยู่ที่วัดป่าเกษมสุข แต่มาอยู่ที่อาศรมแห่งนี้ได้อย่างไร เหตุเพราะหลวงปู่จันทาได้พบเห็นอาจารย์ของท่านซึ่งมรณภาพไปแล้วมาเกิดใหม่เป็นครูบาที่มีอายุน้อยทางภาคเหนือ เมื่อหลวงปู่จันทาเห็นรูปถ่ายของครูบาเจ้าตรัยเทพ ก็ทราบโดยญาณบอกว่านี่คืออาจารย์เบื้องบนของท่าน ต่อมาภายหลังหลวงปู่จันทาอาพาธหนัก ท่านได้สั่งเสียคนใกล้ชิดว่าหากท่านมรณภาพ ให้นำสรีระสังขารของท่านมาไว้ที่อาศรมแห่งนี้ เพียงเพราะว่าจะได้มาอยู่อาศรมเดียวกับครูบาเจ้าตรัยเทพครับ

จริงๆ แล้ว ภายในอาศรมยังมีจุดที่น่าสนใจอีกเยอะเลยครับ แต่เนื่องจากผมมีเวลาน้อย พระท่านเลยพาไปชมอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นก็คือถ้ำจำลอง ด้านในเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุเช่นกัน

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่น่าสนใจของอำเภอจอมทอง นอกเหนือจากพระธาตุจอมทอง หากเพื่อนคนใดผ่านไปผ่านมาแถวจอมทองลองแวะเข้าไปสัมผัสศิลปะแปลกๆ ที่ไม่ค่อยได้เห็นในเมืองไทยดูครับ

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เห็นทีผมคงต้องเดินทางกันต่อแล้ว เพราะปลายทางของวันนี้อยู่ที่แม่แจ่ม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาเดินทางกันอีกพอสมควร

สำหรับการเดินทางไปแม่แจ่ม ผมเลือกใช้เส้นทางเดียวกับการขึ้นดอยอินทนนท์ โดยเมื่อถึงด่านเก็บเงิน ให้บอกเจ้าหน้าที่ว่าจะเดินทางไปแม่แจ่ม เจ้าหน้าที่จะให้ผ่านได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม จากนั้นขับรถไปเรื่อยๆ จนถึงด่านตรวจที่ 2 เลยด่านตรวจที่ 2 จะมีแยกซ้ายมือไปแม่แจ่ม ถนนช่วงต่อจากนี้ไปอีกประมาณ 22 กิโลเมตรจะแคบ บางช่วงสูงชัน คงต้องขับด้วยความระมัดระวัง ระยะทางช่วงต้นๆ ที่แยกจากด่านที่ 2 ตลอดสองข้างทางเต็มไปด้วยป่าทึบ หากใครอยากจะสัมผัสธรรมชาติให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ลองเปิดกระจกหน้าต่างลงซิครับ แล้วเพื่อนๆ จะได้กลิ่นป่า ลมเย็นๆ จากธรรมชาติมันสดชื่นกว่าความเย็นของแอร์รถเรา เสียงหรีดหริ่งเรไรของแมลงต่างๆ  มันฟังไพเราะกว่าเสียงเพลงที่เปิดดังอยู่ในรถอีกครับ

จากทางแยกด่านตรวจที่ 2 เหมือนเราจะผ่านแค่ 2 โค้งเท่านั้นเอง แต่เป็นโค้งแล้วโค้งเล่า จากสองข้างทางที่เป็นป่าทึบ กลับกลายสภาพเป็นภูเขาหัวโล้นไปเสียเยอะ เห็นแล้วก็อดหดหู่ใจอยู่เหมือนกันครับ

สำหรับการท่องเที่ยวในแม่แจ่ม ผมวางแผนไว้ว่าในวันแรกจะขอเริ่มสำรวจทางโซนเหนือของแม่แจ่มก่อน แล้วไปชมแสงเย็นสวยๆ ที่นาขั้นบันไดบ้านกองกาน (อันนี้ก็ต้องอยู่ที่ดวงแล้ว ว่าจะเจอฝนหรือจะเจอแสงสวยๆ) จากนั้นวันที่สอง เช้าไปชมทะเลหมอกที่จุดชมวิวบ้านบนนา จากนั้นค่อยมาสำรวจทางทิศใต้ของแม่แจ่ม และมาปิดท้ายที่น้ำออกฮู ซึ่งน้ำออกฮูจะอยู่นอกวงโคจรที่ผมวางแผนไว้ครับ

แม่แจ่ม หรือ เมืองแจ๋ม เมืองในหุบเขา เมืองเล็กๆ ที่ยังคงใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เมืองที่มีนาขั้นบันไดที่สวยไม่แพ้ซาปาหรือ หยวนหยาง เมืองที่นักท่องเที่ยวหลายคนอยากจะมาสัมผัส และอีกหลายสิ่งอย่างที่รอให้นักท่องเที่ยวได้มาค้นหาครับ

ผมเลือกปักหมุดที่วัดพุทธเอ้นเป็นจุดแรก วัดพุทธเอ้นมีตำนานในการสร้างวัดว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับฉันภัตตาหารที่บริเวณทิศเหนือของเมืองแม่แจ่ม เมื่อพระองค์ฉันภัตตาหารเสร็จก็ได้บ้วนปากลงบนพื้นดิน เกิดเป็นบ่อน้ำทิพย์ จึงได้ตะโกนเรียกชาวบ้านมาดู วัดนี้จึงถูกเรียกว่าวัดพุทธเอ้น (เอ้น หรือ เอิ้น ภาษาเหนือแปลว่าตะโกน) ปัจจุบันบ่อน้ำทิพย์บ่อนี้เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของชาวแม่แจ่มใช้รองเพื่อไปดื่มกิน บ่อน้ำทิพย์ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของวัดเลยครับ จากภาพด้านหลังป้ายชื่อวัด จะเห็นชาวบ้านกำลังรองน้ำทิพย์กลับไปใช้ที่บ้าน ผมเห็นชาวบ้านมารองน้ำไม่ขาดสายเลยและชาวบ้านยังเล่าอีกว่าบ่อน้ำทิพย์นี้มีน้ำผุดขึ้นมาให้ใช้ตลอดทั้งปีเลยทีเดียว

นอกจากบ่อน้ำทิพย์แล้ว ที่วัดพุทธเอ้นยังมีโบสถ์ไม้กลางน้ำ ตั้งอยู่กลางสระน้ำสี่เหลี่ยมล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง รายล้อมไปด้วยดอกบัว ตัวโบสถ์เป็นไม้ทั้งหลัง หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ดไม้ขนาดไม่ใหญ่นัก หน้าบันแกะสลักไม้เป็นลายพรรณพฤกษา เชิงชายเป็นรูปมกรคายนาคทั้งสี่ด้าน บริเวณรอบโบสถ์จนถึงกำแพงเรียกว่า “อุทกสีมา” มีความหมายเหมือนกับ “ขันทสีมา” ของโบสถ์บนบก ปัจจุบันโบสถ์ไม้โบราณหลังนี้หลงเหลืออยู่เพียงหลังเดียวในประเทศไทย แต่ก่อนเคยมีประเพณีการบวชพระสงฆ์กลางน้ำ คติการบวชในโบสถ์กลางน้ำนั้นถือว่าเป็นการบวชพระภิกษุสงฆ์ที่มีความบริสุทธิ์มากที่สุด ได้รับอิทธิพลมาจากฝ่ายลังกา แต่ปัจจุบันการบวชกลางน้ำได้ถูกยกเลิกแล้ว

ด้านในของโบสถ์ไม้กลางน้ำครับ

และสิ่งที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งคือวิหารไม้สักเก่าแก่ ด้านหลังวิหารเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์องค์ใหญ่ ภายในวิหารมีพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้ หลายสิ่งอย่างดูแปลกตาไปจากวัดทางภาคกลางมาก ไม่ว่าจะเป็นเชิงเทียนที่ตั้งอยู่ที่หน้าพระประธาน ถ้าเป็นภาคกลางจะใช้ประมาณโต๊ะหมู่บูชา และยังมี ธรรมมาส ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตั้งอยู่ด้านข้างของพระประธานด้วยครับ

จากวัดพุทธเอ้น ผมไปต่อที่วัดกองกาน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดพุทธเอ้นมากนัก

เดิมวัดกองกานมีชื่อว่า วัดศรีเมืองมา มีเรื่องเล่าว่าราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 ในช่วงที่พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามามีบทบาทในดินแดนล้านนา เจ้าผู้ครองเมืองต่างๆ ในล้านนา เช่น เชียงราย เชียงแสน เชียงใหม่ ได้ร่วมกันสร้างวัดนี้ขึ้นมา พร้อมๆ กับสร้างพระพุทธรูป ในเวลานั้นช่างก็สร้างไปตั้งแต่องค์พระไล่ขึ้นมาถึงพระเศียร แต่มีปัญหาว่าไม่สามารถปั้นแต่งพระพักตร์ให้สวยงามได้ ไม่ว่าจะทำไปกี่ครั้งแล้วก็ตาม จนในที่สุดได้มีการบวงสรวงเทวดาเพื่ออธิษฐานขอให้การสร้างพระสำเร็จ ช่างก็ได้ลงมือทำต่อไป ในขณะนั้นได้มีสามเณรรูปหนึ่งมาช่วยปั้นพระพักตร์ให้มีความสวยงามอิ่มเอิบ แล้วสามเณรน้อยองค์นั้นก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย จึงเป็นที่โจษจันว่าสามเณรน้อยนั้นจะต้องเป็นพระอินทร์มาช่วยสร้างพระพุทธรูปจนสำเร็จ พระพุทธรูปองค์นั้นมีชื่อว่าพระเจ้าตนหลวงครับ

ในกาลต่อมาเมื่อบ้านเมืองเกิดกลียุค วัดหลายแห่งถูกปล่อยให้รกร้าง รวมถึงวัดศรีเมืองมาด้วย ช่วงปลายปี พ.ศ.2380-2390 มีชาวบ้านมาแผ้วถางพื้นที่ทำไร่ทำนา จึงได้พบกับพระเจ้าตนหลวงที่มีเถาวัลย์ขึ้นปกคลุม แม้ว่าสิ่งอื่นๆ ในวัดจะพังทลายลง แต่องค์พระยังคงความงดงามอยู่ดังเดิม ชาวบ้านจึงช่วยกันปรับพื้นที่ ลงรักปิดทององค์พระเสียใหม่แล้วสร้างวัดขึ้นมาอีกครั้ง ในการสร้างวัดนี้มีผู้มีจิตศรัทธามากมายที่หาบเอาข้าวของมาเข้าร่วม เมื่อหาบของมาก็เอาไม้คานมากองไว้ จึงเป็นที่มาของชื่อวัดว่า “วัดกองกาน” นั่นเองครับ

เลยจากวัดกองกานไปสัก 500 เมตร จะเป็นจุดชมนาขั้นบันไดที่มีชื่อเสียงอีกจุดหนึ่งของแม่แจ่ม ถึงแม้ความอลังการอาจจะไม่เท่านาขั้นบันไดบ้านป่าบงเปียง แต่ความสวยงามของนาขั้นบันไดบ้านกองกานก็ไม่ได้น้อยหน้าเลย แถมยังเดินทางได้สะดวกกว่าการไปที่บ้านป่าบงเปียงด้วย แต่ !!! เบื้องหน้าผม ณ ตอนนี้ มองไม่เห็นผืนแปลงนาเลยสักผืน อะไรกันเนี่ย นี่ผ่านหน้าฝนมาแล้ว 1 เดือน ทำไมที่นี่ยังไม่เริ่มปลูกนาข้าวกันเลยเหรอเนี่ย ภาพของนาขั้นบันไดที่วาดไว้ในฝัน กลับกลายเป็นแปลกผักแบบขั้นบันไดไปเสียนี่ แต่ไม่เป็นไร ถึงจะเป็นแปลงผัก แต่ก็ยังพอเห็นขั้นบันไดอยู่บ้าง ถือว่าหยวนๆ ไปครับ

พระอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้าแล้ว คงเป็นเวลาอันสมควรที่จะต้องกลับไปพักผ่อนแล้ว ระหว่างทางนึกขึ้นมาได้ว่า ยังมีอีกหนึ่งวัดที่ผมสังเกตเห็นตั้งแต่ขามาว่ามีวัดสวยๆ อยู่วัดหนึ่งก่อนที่จะถึงวัดพุทธเอ้น แต่ตอนนั้นจำเป็นต้องข้ามไปก่อนเนื่องจากว่ากลัวจะเสียเวลาและไปชมแสงสุดท้ายที่สาดส่องมายังนาขั้นบันไดบ้านกองกานไม่ทัน ขากลับนี่จึงไม่พลาดที่จะแวะเข้าไปชมครับ

วัดที่ผมตั้งใจจะแวะคือวัดพร้าวหนุ่ม ผมไปถึงวัดค่อนข้างเย็น ปรากฏว่าโบสถ์ปิดแล้ว พอดีมีพระรูปหนึ่งกำลังกวาดลานวัดอยู่ ผมจึงขออนุญาตท่านเดินชมบริเวณโดยรอบวัด พระท่านกล่าวเชื้อเชิญพร้อมกับเดินเอากุญแจไปไขโบสถ์เพื่อให้ผมเข้าไปชมด้านในพร้อมกับเปิดไฟและแนะนำจุดที่น่าสนใจต่างๆ ให้ผมฟังอย่างลึกซึ้งครับ

มาทราบภายหลังว่าท่านคือเจ้าอาวาส ท่านเล่าให้ฟังถึงที่มาของชื่อวัดพร้าวหนุ่ม แต่เดิมวัดแห่งนี้มีต้นมะพร้าวที่กำลังโตได้ที่อยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านแถวนั้นเลยเรียกว่าวัดพร้าวหนุ่มกันจนติดปาก ปัจจุบันต้นมะพร้าวตายหมดแล้วครับ ถึงแม้ว่าวัดพร้าวหนุ่มจะเป็นวัดใหม่ แต่วัดแห่งนี้ก็มีความงดงามที่ไม่แพ้วัดใดๆ ในแม่แจ่มเหมือนกันครับ

ด้านในงดงามมากๆ ครับ

มีการนำภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ามาใช้ในการก่อสร้างวัดด้วย อย่างเช่นกลอนที่ประตูหน้าต่าง ภาพซ้ายเป็นประตูเสือหมอบ เวลาจะเปิดปิดประตู ใช้การขยับหางของเสือเพื่อเป็นการปลดกลอนประตู หรืออย่างภาพขวา เรียกว่าพญาลืมงาย เมื่อเวลาจะปลดล๊อกกลอนจะต้องใช้ไม้มาแหย่ในสลักครับ

บริเวณตรงกลางของหน้าต่างจะมีการสลักเป็นลวดลาย ท่านเจ้าอาวาสเล่าให้ฟังว่าลายที่เห็นเป็นลายของยันต์ ในสมัยก่อนเวลาที่ชาวบ้านจะออกรบ จะนำผ้ามานาบไปกับลวดลายนี้แล้วใช้หมึกมาฝน ลายจากบานหน้าต่างจะติดออกมาบนผ้า ผ้าจะกลายเป็นผ้ายันต์ครับ

จากนั้นท่านเจ้าอาวาสนำผมมาชมที่หอพระไตรปิฎก ซึ่งงดงามไม่แพ้กัน ลวดลายตามซุ้มประตูหน้าต่างมีการนำแผ่นเงินดุนลายเข้ามาร่วมด้วย คล้ายๆ กับที่วัดศรีสุพรรณเลย นอกจากนั้นท่านยังเปิดให้ผมได้ชมภายในหอพระไตรปิฎกอีกด้วย

จบจากโปรแกรมนาขั้นบันไดที่บ้านกองกาน ผมตรงกลับที่พักที่ได้ตะเวนหาไว้แล้วก่อนที่จะไปยังวัดพุทธเอ้น การเข้าพักที่นี่ ก็ตามมาจากรีวิวในพันทิปนี่แหล่ะครับ หลายคนแนะนำที่พักราคาถูกที่แพมวิว ผมเลยเลือกที่จะมาสำรวจดูก่อน แต่เหมือนจะไม่มีตัวเลือกอะไรให้ผมเลย เนื่องจากมีห้องว่างเหลืออยู่เพียงห้องเดียว ช่วงที่มาติดต่อที่พัก ตอนนั้นทั้งร้อนทั้งเพลีย ไม่อยากไปตะเวนหาที่พักที่ไหนแล้ว เลยตกลงที่จะพักที่แพมวิวครับ

ผมแอบนึกในใจ ไม่รู้ว่าทางที่พักโกหกผมหรือเปล่าที่บอกว่ามีห้องเหลือเพียงห้องเดียว เพราะวันที่ผมไปเป็นวันธรรมดา ไม่น่าเชื่อว่าที่พักจะเต็มได้ แต่พอหลังกลับมาจากดูนาขั้นบันไดที่บ้านกองกาน ปรากฏว่าลานจอดรถด้านหน้าเต็มครับ ดูจากสภาพรถแล้ว แขกที่เข้าพักน่าจะเป็นพวกเซลล์ครับ

ห้องพักที่แพมวิวจะมี 2 แบบ คือแบบเป็นตึก แบบที่ผมจะพักในคืนนี้ครับ สภาพห้องพักตามมาตรฐานแบบบ้านๆ ประมาณว่ามีอะไรก็จับใส่ห้องไป อย่างรูปแบบเตียง 2 เตียงยังไม่เหมือนกันเลย เตียงหนึ่งเป็นเตียงไม้ เตียงหนึ่งเป็นเตียงโครงเหล็ก แต่ก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับการนอนของผมครับ นอกจากนี้ยังมีเครื่องปรับอากาศ ทีวี เครื่องทำน้ำอุ่น ที่สำคัญมี Free wifi ให้ด้วยนะเออ สนนราคาห้องพักอยู่ที่ 500 บาทครับ

ที่พักไม่รวมอาหารเช้านะครับ แต่จะมีมุมกาแฟเตรียมไว้ให้ที่ชั้นล่างของตัวตึกครับ

ห้องพักอีกแบบหนึ่งจะเป็นหลังส่วนตัวครับ

สำหรับคืนนี้ขอนอนพักผ่อนเอาแรงก่อนละครับ เพราะเพลียมาทั้งวันเลย

โปรแกรมสำหรับเช้าวันใหม่ของผมอยู่ที่การชมทะเลหมอกที่บ้านบนนาครับ แต่สภาพอากาศที่ปลอดฝนในช่วงที่ผมมานี่ ไม่รู้ว่าจะได้เห็นทะเลหมอกหนาๆ หรือเปล่า คงต้องไปลุ้นกันอีกทีครับ

สำหรับจุดชมวิวบ้านบนนา อยู่ทางด้านเหนือของแม่แจ่ม เส้นทางเดียวกับการไปวัดพร้าวหนุ่มครับ แต่ก่อนถึงวัดพร้าวหนุ่มให้สังเกตจะมีแยกซ้ายมือไปทางวัดน้อย ให้เราใช้เส้นทางนี้เลยครับ ขับไปเรื่อยๆ จะมองเห็นอ่างเก็บน้ำสันหนอง เลยขอแว๊บเข้าไปเก็บบรรยากาศสักเล็กน้อยครับ

อ่างเก็บน้ำสันหนองเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จากสันอ่างเก็บน้ำพอจะมองเห็นวิวของเมืองแม่แจ่มได้เหมือนกัน ช่วงเช้าน้ำนิ่งมาก นิ่งจนสามารถเห็นเงาสะท้อนน้ำได้ด้วยครับ

หลังจากแวะเก็บบรรยากาศที่อ่างเก็บน้ำสันหนองแล้ว เรามุ่งหน้าต่อสู่จุดชมวิวบ้านบนนา

สถานที่ท่องเที่ยวของแม่แจ่มบางจุด เช่น จุดชมนาขั้นบันได หรือจุดชมทะเลหมอก ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้ทำเป็นสัญลักษณ์หรือป้ายบอกทางที่ชัดเจนว่าจุดนั้นๆ คือจุดชมวิว นักท่องเที่ยวคงต้องหามุมงามๆ กันเอาเองครับ ผมเองก็ต้องคอยสอบถามเส้นทางจากชาวบ้านไปตลอดทางเหมือนกัน การอ่านป้ายชื่อหมู่บ้านก็สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง จุดชมวิวบ้านบนดอยจะอยู่เลยจากหมู่บ้านบนดอยออกมาไกลพอสมควร แนะนำว่าขับรถมาเรื่อยๆ แล้วจะมองเห็นมุมที่เปิดโล่งเองครับ

เช้านี้ถึงแม้จะไม่ได้ทะเลหมอกหนาๆ อย่างที่ตั้งใจแต่ก็ยังพอมองเห็นสายหมอกบางๆ ที่โลมเลียทิวเขา เบื้องล่างของผืนหมอกมองเห็นตัวเมืองแม่แจ่ม สมกับเป็นเมืองเล็กๆ ที่แทรกตัวอยู่ท่ามกลางขุนเขาเสียจริงๆ ครับ

ไหนๆ ก็ออกมาตะเวนกันแต่เช้าแล้ว ผมเลยวางแผนว่าจะสำรวจสถานที่ที่น่าสนใจของแม่แจ่มให้หมดในช่วงเช้าเลย และค่อยกลับไปอาบน้ำก่อนที่จะ check out ในตอนเที่ยงครับ

เริ่มกันที่วัดบ้านทัพครับ

จากถนนใหญ่มองเห็นวัดบ้านทัพอยู่ท่ามกลางไร่ข้าวโพด จริงๆ จะเป็นนาข้าว แต่เนื่องจากช่วงนี้ยังไม่ถึงฤดูปลูกข้าวกัน เลยเปลี่ยนมาเป็นปลูกข้าวโพดแทนไปก่อนครับ

วัดบ้านทัพ เดิมชื่อวัดศรีหนองเมือง ซึ่งที่ตั้งของวัดเดิมนั้นประสบกับปัญหาน้ำท่วมอยู่เป็นประจำทุกปี ชาวบ้านและพระภิกษุจึงลงความเห็นว่าจะย้ายที่ตั้งของวัดให้อยู่ในทำเลที่สูงกว่าตำแหน่งเดิม จากนั้นได้นิมนต์องค์พระประธานล่องแพมาตามลำน้ำแม่แจ่ม แล้วนำองค์พระประธานมาประดิษฐาน ณ สถานที่ตั้งวัดแห่งใหม่ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ของวัดแห่งหนึ่งที่กลายสภาพเป็นวัดล้างไปนานแล้ว เมื่อทำการย้ายวัดศรีหนองเมืองมาที่ตั้งแห่งใหม่แล้ว ก็ตั้งชื่อใหม่ว่า วัดบ้านทัพ ซึ่งครั้งหนึ่ง ณ บ้านทัพเคยมีทหารมาตั้งกองทัพอยู่ จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ รวมถึงวัดแห่งนี้ด้วย

ด้านหลังของวัดบ้านทัพจะเป็นทุ่งนา ทำให้เป็นที่นิยมจากนักท่องเที่ยวต่างพากันมาถ่ายรูปวัดบ้านทัพในบรรยากาศทุ่งนาสีเขียว และครั้งนี้ผมเองก็ต้องการจะมาถ่ายบรรยากาศแบบนั้นเหมือนกัน แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะช่วงนี้ยังไม่ใช่ฤดูปลูกข้าวครับ

จากนั้นมุ่งหน้าต่อสู่วัดป่าแดด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดบ้านทัพครับ

มองเห็นองค์เจดีย์สีขาวแต่ไกลครับ

วัดป่าแดดสร้างขึ้นราวๆ ปี พ.ศ.2400 โดยพญาเขื่อนแก้ว เจ้าเมืองแจ๋ม ตัววิหารก่อด้วยอิฐถือปูน มีโครงสร้างด้านบนเป็นไม้ แวดล้อมไปด้วยไม้ใหญ่ ดูร่มรื่นมากๆ ครับ

ตอนที่ผมไป ประตูด้านหน้าของวิหารถูกปิดอยู่ แต่ผมได้ขออนุญาตพระเพื่อเข้าชมด้านใน ซึ่งจะมีประตูเล็กๆ ด้านหลังวิหารเปิดแง้มอยู่ ภายในวิหารดูน่ากลัวดีเหมือนกัน ทั้งมืดและมีเศษฝุ่นอยู่เต็มไปหมด ดูเหมือนจะถูกปิดร้างไว้นานโดยที่ไม่มีการใช้งานเลย ด้านในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย งดงามแบบฝีมือช่างพื้นบ้าน พระพักตร์ดูอิ่มเอิบ เหมือนท่านยิ้มให้กับเราตลอดเวลา รวมถึงธรรมมาสที่ดูเก่ามากๆ ครับ

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมผมถึงอยากเข้ามาชมด้านในของวิหารหลังนี้ เฉลยครับ ด้านในของวิหารหลังนี้จะมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังโบราณ ที่เล่าเรื่องราวพระพุทธประวัติ นิทานพื้นบ้าน ที่ยังคงความสมบูรณ์ของช่างสกุลไทยใหญ่ จำนวน 8 ภาพ บางภาพค่อนข้างสมบูรณ์ บางภาพก็หลุดร่อนไปตามกาลเวลา

นอกจากนี้ยังมีหอไตรที่อายุมากกว่าร้อยปี ก่ออิฐถือปูนมุงด้วยกระเบื้องดินขอและรูปปั้นเทวดาสององค์คอยอารักขาพระไตรปิฎกอยู่ด้านหน้าครับ

ถึงแม้วัดป่าแดดจะเป็นวัดขนาดเล็ก แต่ที่นี่ก็มากมีด้วยคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม แนะนำว่าไม่ควรพลาดในการไปเที่ยวชมครับ

จากวัดป่าแดด ไปต่อกันที่วัดยางหลวง อีกหนึ่งวัดที่มีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร วัดยางหลวงเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2038  คำว่า “ยาง” เป็นคำเรียกชาวกระเหรี่ยงซึ่งเป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้นมา ส่วนคำว่า “หลวง” แปลว่า ใหญ่ ครับ

จุดที่น่าสนใจของวัดยางหลวงอยู่ที่พระอุโบสถ เป็นพระอุโบสถที่มีแท่นหน้าประตู ซึ่งปกติจะมีรูปนาคราช แต่ที่วัดยางหลวงไม่มี ฐานโดยรอบของพระอุโบสถไม่เสมอกัน ซึ่งมาจากการสร้างที่ต้องใช้คนมากมายสร้างพร้อมกัน ผนังด้านหลังของพระอุโบสถมีภาพที่งดงามของพระ 3 องค์ เป็นภาพพระพุทธองค์และพุทธสาวก ในแบบฉบับของล้านนาครับ

บรรยากาศภายในวิหารดูเหมือนถูกปล่อยร้าง ขาดการทำความสะอาดมานานครับ ด้านในถูกปิดมิดชิดจนค่อนข้างมืด กลางวิหารเป็นที่ประดิษฐานของพระประธาน ด้านหลังของพระประธานเป็นกู่ปราสาท ซึ่งไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นแบบนี้กันสักเท่าไรครับ

กู่ปราสาท จำลองจากเขาคิชกูฎ ซึ่งมีประวัติเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธมากมาย เช่น พระคันธกุฏิบนยอดเขาคิชกูฎ คุกขังพระเจ้าพิมพิสาร โรงพยาบาลหมอชีวกและวัดเวฬุวัน ถ้ำพระสาธิบุตร ด้านข้างของกู่ปราสาททั้งสองข้างเป็นพระพุทธรูปยืนสมัยโบราณ ลายปูนปั้นของกู่ปราสาท ได้รับอิทธิพลทางด้านสถาปัตยกรรมแบบพุกามมาจากพม่า ผสมกับล้านนาสกุลช่างเชียงแสน ดูเก่าแก่ ทรงคุณค่ามากๆ ครับ

ที่แท่นยืนของพระพุทธรูปทั้งสององค์มีการจารึกเป็นตัวอักษรด้วย โดยองค์ขวามือของพระประธานจารึกบนแท่นด้านหน้าพระบาท ส่วนองค์ซ้ายมือมีจารึกรอยนูนอักษรครับ

ถ้าหันหน้าให้พระประธาน หากสังเกตที่พื้นด้านขวามือบริเวณหน้าต่างแต่ละบาน จะเห็นพื้นของพระอุโบสถถูกทาด้วยสีขาว หากปิดหน้าต่างจนเกือบสนิท พอให้แสงรอดผ่านได้ จะปรากฏภาพเงาสะท้อนวิหารที่ลอดผ่านช่องของหน้าต่าง ซึ่งจะเห็นชัดมากในช่วงที่ฟ้าใส ภาพจะมีให้เห็น 2 ภาพครับ

วิหารหลังนี้แหล่ะครับ ที่เป็นต้นกำเนิดของภาพเงาสะท้อนภายในพระอุโบสถ

ด้านในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน ซึ่งพระประธานของวัดยางหลวงประกอบขึ้นมาจากไม้สักทั้งองค์ และน่าจะเป็นพระพุทธรูปไม้สักองค์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศด้วยครับ

จบจากวัดยางหลวง ก็เกือบจะจบโปรแกรมในแม่แจ่มแล้ว ก่อนที่จะออกจากตัวเมืองแม่แจ่มเพื่อไปยังน้ำออกฮู ซึ่งเป็นจุดหมายสุดท้ายที่อยู่ห่างออกจากตัวแม่แจ่มพอสมควร ผมได้ตะเวนหาซื้อของฝากเล็กๆ น้อยๆ ติดไม้ติดมือเพื่อไปฝากคนที่บ้านสักหน่อยครับ โดยเลือกที่จะไปดูปิ่นปักผม สินค้า OTOP ชิ้นดังของแม่แจ่มครับ

ถ้าพูดถึงปิ่นปักผม คงต้องนึกถึงปิ่นปักผมฝีมือของพ่ออุ้ยกอนแก้ว อินตะก๋อน เมื่อหลายปีก่อนที่ผมได้มาเที่ยวแม่แจ่มในครั้งแรก ผมอยากมาดูฝีมือปิ่นปักผมของพ่ออุ้ยกอนแก้วเป็นอย่างมาก แล้วรอบนี้ผมจึงไม่ขอพลาด ตรงมายังบ้านของพ่ออุ้ยกอนแก้วในทันที แต่เมื่อมาถึงบ้านของพ่ออุ้ย ถึงได้ทราบว่าพ่ออุ้ยกอนแก้วได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2556 แล้วครับ

พ่ออุ้ยกอนแก้ว เป็นช่างทำปิ่นปักผมทองเหลืองโบราณที่มีชื่อเสียงของแม่แจ่ม ถึงแม้พ่ออุ้ยจะไม่อยู่แล้ว แต่ท่านก็ได้ถ่ายทอดวิชาให้กับลูกหลานได้สานต่อการทำปิ่นปักผมโบราณให้อยู่คู่แม่แจ่มตลอดไป

ปิ่นปักผมที่มีจำหน่าย มีทั้งปิ่นปักผมทองเหลืองหัวแก้วพม่า หรือถ้าใครชอบแบบเนื้อเงิน ก็มีทั้งปิ่นแบบธรรมดาและปิ่นดอกไม้ไหว เลือกซื้อหาได้ตามใจชอบเลยครับ

หลังจากได้ปิ่นติดไม้ติดมือกลับบ้านมาแล้ว ผมตรงกลับไปยังที่พัก เพื่อเตรียมอาบน้ำอาบท่าและเดินทางกันต่อยังจุดหมายต่อไป ระหว่างเส้นทางกลับได้ผ่านหมู่บ้านทอผ้าซิ่นตีนตกด้วย เลยขอแวะชมสักหน่อย

ผ้าซิ่นตีนตกเป็นงานหัตถกรรมผ้าทอพื้นบ้านของผู้หญิงในอำเภอแม่แจ่มที่คงเอกลักษณ์ดั้งเดิมที่สืบทอดจากรุ่นต่อรุ่นมาจนถึงปัจจุบัน แต่ละบ้านจะมีเครื่องทอผ้าอยู่ที่ใต้ถุนบ้าน

“กระสวย” อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ช่วยสร้างสรรค์ผ้าซิ่นสวยๆ ให้เป็นที่ปรากฏต่อสายตาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติครับ

ลวดลายของผ้าจะสะท้อนถึงคติความเชื่อและความศรัทธาผูกพันอยู่กับพระพุทธศาสนา จึงมีลักษณะพิเศษเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น โคม ขัน นาค หงส์น้ำต้น สะเปา ครับ

มีทั้งแบบเป็นผืนและถุงสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีเสื้อผ้าที่ตัดเย็บรอการจำหน่ายด้วยครับ

หลังจากกลับมาอาบน้ำอาบท่าที่รีสอร์ทเรียบร้อยแล้ว ก็มุ่งหน้าสู่น้ำออกฮู จุดหมายสุดท้ายในอำเภอแม่แจ่มครับ

น้ำออกฮูจะอยู่ห่างจากตัวเมืองแม่แจ่มประมาณ 8 กิโลเมตร อยู่ติดถนนเลย มีป้ายบอกชัดเจนครับ

ชื่อ “น้ำออกฮู”  ก็พอจะเดาลักษณะของสถานที่ว่าเป็นน้ำออกรู และก็เป็นจริงดังที่ผมคาดเดา ลักษณะจะเป็นบ่อน้ำผุดตลอดทั้งปีจากซอกหินครับ

น้ำที่ผุดจะผุดที่บ่อนี้ โดยจะผุดอยู่ตลอดปีไม่มีวันเหือดแห้ง

จากบ่อน้ำที่ผุดตามธรรมชาติ น้ำจะไหลลงบ่อขนาดเล็กที่ได้สร้างขึ้นลักษณะเป็นฝายเล็กๆ จากนั้นน้ำจะไหลลงเป็นลำธาร น้ำใสเลยทีเดียวครับ

บริเวณโดยรอบร่มรื่นด้วยกลุ่มไม้ใหญ่ มีการทำเพิงเล็กๆ ให้นักท่องเที่ยวได้นั่งพักผ่อนด้วย ผมว่าช่วงวันเสาร์อาทิตย์ นักท่องเที่ยวน่าจะมาพักผ่อนที่นี่กันเยอะแน่ๆ เลยครับ

ถึงแม้ว่าการมาแม่แจ่มของผมในครั้งนี้ อาจไม่ได้สมหวังตามที่ตั้งใจ เพียงเพราะไม่ได้เห็นความสวยงามของนาขั้นบันได เนื่องจากยังไม่ถึงช่วงฤดูปลูกข้าว แต่ผมว่าผมไม่เสียใจเลยนะที่มาที่แม่แจ่มในรอบนี้ จริงๆ แล้วแม่แจ่มไม่ได้มีดีแค่นาขั้นบันได แต่แม่แจ่มมากมีด้วยคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม ความงดงามที่เกิดขึ้นในจิตใจ ทำให้ผมตั้งใจกลับมาที่แม่แจ่มอีกครั้งในเร็ววัน

สำหรับเพื่อนๆ ที่ต้องการมาชมความงามของนาขั้นบันได คงต้องวางแผนมาในช่วงกันยายน-พฤศจิกายนครับ ที่นี่จะปลูกข้าวกันปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

คงถึงเวลาต้องอำลาแม่แจ่มแล้ว ผมเดินทางกลับทางเดิม มุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จริงๆ แล้วคืนนี้ผมวางแผนไว้ว่าจะมานอนที่บ้านแม่กลางหลวง เพื่อตอนเช้าจะไปชมทะเลหมอก แต่จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ด่านตรวจที่ 2 เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีทะเลหมอกให้เห็น แถมอากาศในช่วงเช้าปิดด้วย เป็นอันต้องพับโปรแกรมที่จะนอนที่บ้านแม่กลางหลวง แล้วเปลี่ยนไปนอนในตัวเมืองเชียงใหม่แทน เพื่อที่ช่วงเช้าผมจะได้ไม่ต้องรีบร้อนมากนัก เพราะผมต้องบินกลับในตอนเที่ยงครับ

ไหนๆ ก็ขับรถผ่านตลาดม้งแล้ว ซึ่งใกล้ๆ กับตลาดม้งจะมีทางเข้าไปยังพระตำหนักผาตั้ง ผมเองก็ผ่านทางเข้านี้มาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เข้ามาชมพระตำหนักเสียที พระตำหนักผาตั้งเป็นจุดชมดอกนางพญาเสือโคร่งที่สวยงามอีกจุดหนึ่งบนดอยอินทนนท์ จากปากทางขับรถเข้าไปอีกประมาณ 8 กม เส้นทางค่อนข้างแคบและสูงชัน ก่อนถึงพระตำหนักประมาณ 2 กิโลเมตร จะเห็นทางแยกรูปตัว Y ให้ใช้เส้นทางที่ไปทางซ้ายนะครับ บริเวณนี้จะไม่มีป้ายบอกเส้นทางที่ชัดเจนครับ

บรรยากาศภายในพระตำหนักผาตั้ง ถึงแม้ไม่มีดอกนางพญาเสือโคร่งให้เห็น แต่ก็เห็นถึงความเขียวขจี ดูแล้วสดชื่นมากๆ ผมแวะยืดเส้นยืดสายที่พระตำหนักสักครู่ แล้วเดินทางต่อครับ

ช่วงที่กำลังออกจากพระตำหนัก พลันสายตาผมก็มองเห็นจุดสีขาวๆ กลางทุ่งหญ้าสีเขียว ความคิดผมก็แว๊บขึ้นมาในทันทีว่าคงต้องเป็นแกะแน่ๆ เพราะเคยติดตามข่าวช่วงดอกนางพญาเสือโคร่งที่พระตำหนักผาตั้งบาน ว่าจะมีฝูงแกะเข้ามาหาเล็มหญ้าที่พระตำหนักด้วย พอขับรถลงมาจากพระตำหนักได้ไม่ถึง 100 เมตร ก็มองเห็นทางแยกเล็กๆ ที่สองข้างทางทำเป็นรั้วสีขาวๆ ยิ่งทำให้มั่นใจว่าคงต้องเป็นฟาร์มแกะอย่างแน่นอน

จุดที่ผมแวะเป็นพื้นที่เลี้ยงแกะของหน่วยวิจัยโครงการหลวงดอยอินทนนท์ เรียกว่า “ม่อนน้องแกะ”  ถือเป็นฟาร์มแกะที่สวยที่สุดในความรู้สึกของผม เท่าที่ผมเคยไปฟาร์มแกะมา ความรู้สึกเหมือนฟาร์มแกะลอยฟ้า บรรยากาศเหมือนอยู่เมืองนอกเลยครับ แกะที่นี่ไม่ได้ถูกเลี้ยงเพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าเยี่ยมชม แต่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นแกะเศรษฐกิจ ใช้ประโยชน์จากขน เพื่อนำมาถักทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงพรมครับ บางตัวขนก็เกรียน เพราะเพิ่งจะโดนตัดขนมา บางตัวก็ขนยาว ดูไม่ต่างจากผมทรงเดทร็อค ขนออกสีตุ่นๆ ปนสีน้ำตาล ดูเปรอะๆ แต่ก็น่ารักดี เจ้าหน้าที่บอกว่าช่วงนี้ฝนตก ขนแกะเลยเปรอะจนเป็นสีน้ำตาล หากมีการอาบน้ำก็จะทำให้ขนกลับขาวได้เหมือนเดิม แกะที่นี่จะมี 4 สายพันธุ์ มีแกะพันธุ์คอร์ริเดล, บอนด์, ดอร์เซท และแกะพันธุ์พื้นเมือง ใน 1 ปี แกะหนึ่งตัวจะถูกตัดขน 1 ครั้งครับ

จากม่อนน้องแกะ ผมแวะหาอะไรรองท้องที่น้ำตกวชิรธาร บริเวณลานจอดรถจะมีร้านอาหารตามสั่งไว้บริการครับ หลังอิ่มท้องแล้ว เลยแวะชมน้ำตกสักนิดเผื่อจะเห็นสายรุ้งบริเวณน้ำตกบ้าง แต่พยายามส่องอยู่นานก็ไม่เห็นรุ้ง เลยเดินทางกลับเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ดีกว่า

ระหว่างทางจากดอยอินทนนท์เพื่อมุ่งหน้าสู่เชียงใหม่ ฝนดำทะมึนไล่มาตลอดทาง เมื่อมาถึงตัวเมืองเชียงใหม่ รู้เลยว่ามีฝนตกหนักไปก่อนหน้านั้นแล้ว เพราะมีน้ำท่วมขังอยู่หลายจุด แอบนึกโชคดีที่ตั้งแต่เท้าผมได้เหยียบเมืองเชียงใหม่ จนถึง ณ ตอนนี้ ยังไม่เจอฝนจนเป็นอุปสรรคต่อการเที่ยวของผมในครั้งนี้เลย

สำหรับค่ำนี้ ผมเลือกเข้าพักที่ B2 คำเที่ยงครับ

B2 คำเที่ยง อยู่เลยโรงพยาบาลลานนามาประมาณ 600 เมตร และอยู่ตรงข้ามกับห้างโลตัสคำเที่ยง ด้านหน้าโรงแรมมีที่จอดรถได้ประมาณ 8 คัน นอกเหนือจากนั้นต้องไปจอดที่พื้นที่ที่ทางโรงแรมจัดเตรียมไว้ ซึ่งห่างจากโรงแรมประมาณ 300 เมตร ทางโรงแรมจัดเตรียมรถสามล้อพ่วงข้างบริการรับส่งระหว่างโรงแรมและลานจอดรถเสริมครับ สำหรับลานจอดรถเสริมดูไม่ค่อยปลอดภัยสักเท่าไรในเวลากลางคืน ผมไม่แน่ใจว่าจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลรถให้หรือเปล่านะครับ

เดินเข้ามาจะเห็นพื้นที่ให้แขกได้นั่งพักผ่อน และ Lobby จะอยู่ติดกับประตูที่จะเข้าไปยังห้องพัก ราคาห้องพักจ่ายแบบเบาๆ ที่ 490 บาท/คืน ราคานี้ไม่รวมอาหารเช้าครับ

ถึงแม้ห้องจะไม่ได้ใหม่กิ๊ก แต่โดยรวมถือว่าโอเค สมราคา ห้องก็ไม่ได้คับแคบอะไรมากมาย

ประตูห้องน้ำจะเป็นกระจกบานสไลด์ ถ้าเลื่อนบานกระจกมาปิดห้องน้ำ ด้านหลังกระจกจะเป็นตู้เสื้อผ้าครับ

ห้องน้ำก็ไม่ได้คับแคบจนเกินไป มีสายฉีดชำระให้พร้อม ถึงแม้จะมีคราบดำตามสายฉีดหรือผนังกระเบื้อง แต่ก็ถือว่าโอเคสำหรับ 490 บาทครับ

ทุกห้องจะมีระเบียงให้ออกมานั่งสูดอากาศด้านนอกได้ด้วย รวมถึงมีเก้าอี้ให้นั่งเล่นเย็นๆ ใจครับ

หลังจากเก็บของเข้าที่ นั่งพักจนหายเหนื่อยแล้ว ไม่รู้จะทำอะไร เลยออกไปวัดเพื่อถ่ายบรรยากาศยามเย็นครับ

วัดพระสิงห์วรมหาวิหารเป็นวัดแรกที่ผมนึกถึงเวลาที่ผมมาเที่ยวในตัวเมืองเชียงใหม่ และรอบนี้ก็เช่นกัน ผมนั่งรถไปก็ลุ้นไปว่าจะเก็บแสงเย็นที่วัดทันหรือไม่ เพราะเวลานี้ก็จวนเจียนเกือบจะ 1 ทุ่มแล้ว แต่การจราจรหลังฝนตกทำให้ทุกอย่างติดขัดไปหมด

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ถือเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดปีมะโรง หากได้มานมัสการจะเป็นมงคลสูงสุดทำให้อายุมั่นขวัญยืน มีความเจริญรุ่งเรืองตลอดไปครับ

เหมือนแสงสุดท้ายจะรอผม เมื่อผมมาถึงวัดพระสิงห์ แสงยังไม่ลาลับขอบฟ้าครับ ผมเลยมีเวลาเดินสำรวจรอบๆ อุโบสถรวมถึงเจดีย์ที่เพิ่งจะได้รับการบูรณะไป ทำให้พระอุโบสถและเจดีย์ดูเปล่งปลั่งมลังเมลือง งดงามมากครับ

ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน ภายในวิหารโดดเด่นด้วยจิตกรรมฝาผนังเรื่องสุพรรณหงส์และสังข์ทอง ซึ่งพบเพียงที่นี่แห่งเดียวครับ

ด้านข้างของพระอุโบสถแลเห็นหน้าต่างขนาดใหญ่ตีเป็นช่องแบบไม้ระแนง แต่ภายในเป็นหน้าต่างจริง มีลวดลายจิตกรรมฝาผนังที่ละเอียดอ่อนงดงาม

บานประตูหน้าต่างลงลักปิดทอง ดูงดงามมากๆ ครับ

วลี “ฟ้าหลังฝน งดงามเสมอ” เห็นจะจริงครับ หลังฝนตก ฟ้ากลับสดใสขึ้นมาอีกครั้ง ธรรมชาติเริ่มบรรเลงสีสันทั่วทั้งผืนฟ้าเลยทีเดียว

จากวัดพระสิงห์ผมไปต่อที่วัดเจดีย์หลวงครับ

วัดเจดีย์หลวงเป็นอารามหลวงแบบโบราณ มีการบูรณะมาหลายสมัยโดยเฉพาะเจดีย์ นับว่าเป็นพระเจดีย์ที่มีความสำคัญที่สุดองค์หนึ่งในเชียงใหม่เลยครับ วัดเจดีย์หลวงมีสิ่งสักการะหลายอย่าง ได้แก่ เจดีย์หลวง อินทขีล ต้นยางกุมภัณฑ์ พระฤาษี แต่เนื่องจากผมมาถึงดึกแล้ว จึงทำได้เพียงเดินชมโดยรอบองค์พระเจดีย์เท่านั้น

พระเจดีย์หลวงสร้างเมื่อปี พ.ศ.1934 โดยมีความสูง 80 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 56 เมตร ปรับรูปทรงเป็นแบบโลหะปราสาทของลังกา รูปลักษณ์ทรงเจดีย์แบบพุกาม ดัดแปลงซุ้มตรงสี่มุมของมหาเจดีย์ มีรูปปั้นช้างค้ำรายล้อมรอบองค์เจดีย์ รวม 28 เชือกครับ

เป็นอันว่าสมควรแก่เวลาแล้ว คงต้องกลับไปพักผ่อนเอาแรงแล้วครับ

เช้าวันสุดท้ายในเชียงใหม่ ผมเลือกไปไหว้พระที่วัดอุโมงค์ ผมเคยมาที่นี่ครั้งหนึ่ง แต่เป็นการเยี่ยมชมแบบรีบๆ ครั้งนี้จึงไม่พลาดที่จะมาซึมซับบรรยากาศความเงียบสงบของที่นี่แบบค่อยเป็นค่อยไปครับ

วัดอุโมงค์เป็นอีกหนึ่งวัดที่สำคัญของเชียงใหม่ ออกแบบเป็นไปตามแบบพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ต่อมามีการสร้างอุโมงค์ขึ้นในบริเวณวัด จึงเป็นที่มาของชื่อวัดอุโมงค์ครับ

เนื่องจากวัดอุโมงค์เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมด้วย ทำให้ที่นี่ค่อนข้างสงบ และร่มรื่นจากต้นไม้ใหญ่ ดูสดชื่นมากๆ ครับ

มุมบันไดตรงนี้ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ที่บาหลีเลย

จุดที่น่าสนใจในวัดอุโมงค์ ผมว่าน่าจะเป็นอุโมงค์ใต้พระเจดีย์ 700 ปี ที่ไม่สามารถพบเห็นได้จากวัดทั่วไปครับ

ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน ทำให้แนวกำแพงของอุโมงค์ถูกปกคลุมไปด้วยมอส ดูไม่ต่างกับกำแพงที่ถูกปูพรมเลยครับ

ภายใต้พระเจดีย์จะมีอุโมงค์ที่เชื่อมต่อกันถึง 4 อุโมงค์ แต่ที่ด้านหน้ากำแพงเราจะเห็นเพียง 3 อุโมงค์ เมื่อเดินเข้าไปในอุโมงค์เหมือนได้เดินย้อนกลับเข้าไปในอดีต เพดานอุโมงค์ปรากฏร่องรอยของภาพเขียนสีน้ำมัน ที่ดูชำรุดลบเลือนเป็นอย่างมาก

ด้านบนของอุโมงค์เป็นที่ตั้งของเจดีย์ที่มีอายุเก่าแก่ของล้านนา รูปแบบของเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม ลักษณะเหมือนกลีบบัวซ้อนกันอยู่ ด้านบนมีปลียอด ซึ่งการสร้างเจดีย์ลักษณะนี้ได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบพุกามครับ

ผมว่าวัดอุโมงค์เป็นอีกหนึ่งวัดที่ไม่ควรพลาดชมหากมาเที่ยวเชียงใหม่ เพราะวัดในลักษณะนี้หาไม่ได้ที่ไหนอีกแล้ว การเดินทางมาที่นี่ก็ไม่ยาก เพราะวัดอุโมงค์อยู่ด้านหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครับ

ถึงเวลาต้องอำลาเชียงใหม่แล้ว หากเพื่อนท่านใดที่ชอบแนวศิลปวัฒนธรรม ผมเชียร์ให้ลองมาเที่ยวที่แม่แจ่มดูนะครับ ไปใช้ชีวิตช้าๆ ที่นี่ แล้วจะรู้ว่าแม่แจ่มไม่ได้มีดีแค่นาขั้นบันได แม่แจ่ม แจ่มทุกที่ ทุกเวลาจริงๆ ครับ

ท้ายสุดนี้ เพื่อนๆ สามารถเข้าไปให้กำลังใจและติดตามผลงานของผมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/unclegreenshirt นะครับ