ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
 
ช่องเขาขาด อนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำ ช่องเขาขาด (Chongkhao Khat) จ.กาญจนบุรี
    • โพสต์-1
    theTripPacker •  ธันวาคม 10 , 2556

    ช่องเขาขาด อนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำ

    ความทรงจำหนึ่งในช่วงชีวิตของคนในวัยคราวปู่ย่าของพวกเรา จะต้องมีคำบอกเล่าหนึ่งถึงความยากลำบากของการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จะมากบ้างน้อยบ้างก็คงแล้วแต่เหตุการณ์ที่ได้ประสบพบเจอมา แต่สำหรับเราแล้ว จากคำบอกเล่าอย่างเดียวอาจยังไม่เห็นภาพได้มากพอเท่ากับการได้เดินทางมาเยี่ยมเยือนดินแดนแห่งประวัติศาสตร์สงคราม อย่างจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเราเลือกไปเที่ยวยัง “พิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำ ช่องเขาขาด” หรือที่ใครๆ มักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า “ช่องเขาขาด”นั่นเอง

    • โพสต์-2
    theTripPacker •  ธันวาคม 10, 2556
    • โพสต์-3
    theTripPacker •  ธันวาคม 10 , 2556

    “ช่องเขาขาด” เป็นส่วนหนึ่งของ “เส้นทางรถไฟสายมรณะ” ซึ่งใช้เป็นเส้นทางขนส่งเสบียงจากประเทศไทยไปยังประเทศพม่าในช่วงสงครามโลก ที่แห่งนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวอันโหดร้ายของความทุกข์ทรมานของเชลยศึกและกรรมกรที่ต้องมาใช้แรงงานในการก่อสร้างทางรถไฟ และหลายรายถึงกับต้องจบชีวิตลงที่นี่เพราะไม่อาจทนต่อการทารุณอย่างหนักเยี่ยงทาสที่เกินกว่าใครจะคาดคิดได้

    เรื่องราวในอดีตถูกรวบรวมและบอกเล่าผ่านนิทรรศการภายใน“พิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำ ช่องเขาขาด” ที่ออกแบบและสร้างไว้อย่างเป็นสัดส่วนโดยความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับรัฐบาลออสเตรเลีย พิพิธภัณฑ์ฯได้รวบรวมภาพถ่าย ข้อมูล และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เกิดในระหว่างการสร้างทางรถไฟสายมรณะ นอกจากตัวอักษรและภาพประกอบที่อธิบายถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในแต่ละช่วงแล้ว จุดเด่นหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ฯก็คือ ห้องมินิเธียร์เตอร์ ที่ฉายภาพยนตร์เงียบขาว-ดำ ซึ่งถ่ายทำจากเหตุการณ์จริงในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และแน่นอนว่าในภาพยนตร์เรื่องนี้เราจะได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ ความทุรกันดารและความโหดร้ายของการตกเป็นเชลยศึกสงคราม กว่า 12,000 ชีวิตของเชลยชาวออสเตรเลีย อังกฤษ เยอรมัน อเมริกัน และกว่า 60,000 ชีวิตของแรงงานชาวเอเชียที่ถูกบังคับให้ทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ เพื่อตัดช่องหินผ่านภูเขา และสร้างทางรถไฟเป็นระยะทางรวมกว่า 415 กิโลเมตรทั้งๆ ที่แทบจะไม่มีเครื่องมือทุ่นแรงใดๆ เลย เชลยศึกและแรงงานส่วนใหญ่ต้องทำงานอย่างน้อยวันละ 18 ชั่วโมง และมีอาหารเพียง 2 มื้อ คือ ข้าวกับผักดองประทังชีวิตเท่านั้น ทั้งความอดอยาก การโดนทารุณทุบตี และโรคระบาดต่างๆ ที่รุมเร้า จึงทำให้ใครต่อใครขนานนามหุบเขาแห่งนี้ว่า “ช่องไฟนรก”

    ออกจากห้องจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ฯแล้ว ทีนี้เราจะได้เดินผ่านเส้นทางอันคดเคี้ยวลงไปสู่ช่องเขาที่มีขนาดความกว้างเพียง 17 เมตร ซึ่งยังคงเหลือร่องรอยของทางรถไฟ รวมถึงร่องรอยของการระเบิดหินเพื่อเปิดเป็นช่องให้รถไฟผ่านได้ ยิ่งเดินเข้าไปในช่องเขาลึกมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งรู้สึกได้ถึงความโหดร้ายของสงครามโลก ที่แม้กระทั่งภูเขาหินทั้งลูกยังสามารถถูกตัดให้ขาดออกจากกันด้วยฝีมือมนุษย์ที่ใช้ทุกวิธีการบังคับทารุณมนุษย์ด้วยกันให้ต้องกรำงานเกินขีดจำกัดร่างกาย เพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการของกองทัพประเทศผู้ชนะสงคราม และใครจะคาดคิดได้เลยว่าระยะทางไม่กี่ร้อยเมตรที่ตัดผ่านภูเขาลูกนี้จะต้องสังเวยไปด้วยชีวิตนับแสน นอกจากจุดสำคัญในบริเวณที่เรียกว่าช่องเขาขาดแล้ว เลยออกไปอีกหน่อยยังมี อนุสรณ์สถาน และ จุดพักชมวิวที่สวยงาม ซึ่งว่ากันว่า ณ จุดนี้เองที่เป็นเหมือนกำลังแรงใจให้กับเชลยหลายๆ คนยึดเหนี่ยวให้พอมีความหวังในการมีชีวิตอยู่ต่อไปท่ามกลางความโหดร้ายที่ต้องเผชิญ ถึงแม้ว่าปัจจุบันร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ จะมีไว้เพียงเพื่อเตือนความทรงจำให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงช่วงเวลาอันยากเข็ญยามศึกสงคราม แต่สำหรับครอบครัวของเหล่าอดีตเชลยศึกและแรงงานที่ต้องมาจบชีวิตลงที่นี่ คงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกว่าที่พวกเขาจะต้องทำใจลืมช่วงเวลาอันเลวร้ายที่เกิดขึ้น แต่ท่ามกลางความโหดร้ายนี้ สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้ก็คือ มิตรภาพ น้ำใจ และความช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างเชลยศึกและแรงงานต่างเชื่อชาติที่ยังคอยหยิบยื่นให้กัน แม้ในยามที่แทบจะไม่เหลือความหวังอยู่อีกเลย

    • โพสต์-4
    theTripPacker •  ธันวาคม 10 , 2556

    Note

    - มีเครื่องมือบรรยายและหูฟังบริการฟรี โดยเสียค่ามัดจำ 200 บาทต่อเครื่อง โดยมีให้เลือก 4 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น และ เยอรมัน

    - ปกติถ้าเดินชมเพียงอย่างเดียวจะใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง แต่ถ้าอ่าน และฟังตามเครื่องบรรยายด้วยจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง

    - เส้นทางเดินในช่องเขาขาด มีหินแหลมคม บางช่วงเป็นทางแคบและค่อนข้างชัน การเดินควรใช้ความระมัดระวัง นักท่องเที่ยวควรสวมใส่รองเท้าให้เหมาะสม

    - ถ้าเป็นไปได้ขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวให้ช่วยบริจาคเงินบำรุงรักษาสถานที่ และอย่านำเครื่องดื่ม อาหาร สัตว์เลี้ยง หรือสูบบุหรี่ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ

    • โพสต์-5
    theTripPacker •  ธันวาคม 10, 2556

    Editor's Comment

    • จุดเด่น:
    • การเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำช่องเขาขาดสามารถเดินทางได้สะดวกมาก เนื่องจากตั้งอยู่ริมถนนสายหลัก นอกจากนี้ยังไม่มีค่าบริการในการเข้าชม นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ฟรีตลอดเวลา พร้อมทั้งยังมีบริการเครื่องบรรยายหลายภาษาให้หยิบยืมฟรีๆ
    • จุดด้อย:
    • เส้นทางเดินค่อนข้างลำบาก เนื่องจากเส้นทางทั้งหมดมีระยะทางไกล มีความลาดชัน และมีหินแหลมคมมากพอสมควร นักท่องเที่ยวควรสำรวจร่างกายตัวเอง และเตรียมตัวให้พร้อมก่อน
    • ข้อสรุป:
    • ช่องเขาขาด เป็นอนุสรณ์สถานที่รวบรวมเรื่องราวของการสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไว้อย่างมากมาย จนแทบจะเรียกไว้ว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดเลยทีเดียว ทั้งร่องรอยการระเบิด ร่องรอยทางรถไฟ รวมถึงคำบรรยายต่างๆ ที่ได้จากเชลยศึก แรงงาน และญาติ ของผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ เมื่อได้ฟังคำบรรยายไปพร้อมๆ กับการเดินชมแล้ว เราก็จะยิ่งสัมผัสและเข้าใจเหตุการณ์ในช่วงนั้นชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก
    คะแนน
    • โพสต์-6
    theTripPacker •  ธันวาคม 10 , 2556

    ข้อมูลทั่วไป

    ที่อยู่ : กองการเกษตรและสหกรณ์กองกำลังทหารพัฒนา อ.ไทรโยค ถนนแสงชูโต อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

    GPS : 14.354457, 98.957526

    เบอร์ติดต่อ : 0 3453 1347

    เวลาทำการ : 9.00-16.00 น. ปิดวันคริสมาสต์

    ค่าธรรมเนียม : ไม่มีค่าธรรมเนียม

    ช่วงเวลาแนะนำ : ตลอดทั้งปี

    ไฮไลท์ : เส้นทางช่องเขาขาดที่เกิดจากแรงงานฝีมือเชลยเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามและความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในช่วงสงคราม

    กิจกรรม : เดินชมพิพิธภัณฑ์ และเส้นทางช่องเขาขาด

    • โพสต์-7
    theTripPacker •  ธันวาคม 10 , 2556

    วิธีการเดินทาง

    จากตัวเมืองกาญจนบุรีมุ่งหน้าสู่อำเภอไทรโยคโดยเส้นทางหลวงหมายเลข 323 (กาญจนบุรี-ไทรโยค-ทองผาภูมิ) เมื่อมาถึงหลักกิโลเมตรที่ 64-65 จะเห็นกองการเกษตรและสหกรณ์กองกำลังทหารพัฒนาอำเภอไทรโยคทางด้านซ้ายมือ ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำ ช่องเขาขาดจะตั้งอยู่ภายในนั่นเอง


    • โพสต์-8
    theTripPacker •  ธันวาคม 10, 2556
    • โพสต์-9
    theTripPacker •  ธันวาคม 10 , 2556

    แกลลอรี่รูปภาพ

    • โพสต์-10
    theTripPacker •  ธันวาคม 11, 2556
  1. โหลดเพิ่ม