ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
 
ซูตองเป้ สะพานไม้แห่งศรัทธา ณ เมืองสามหมอก สะพานซูตองเป้ (Zutongpae Bridge) จ.แม่ฮ่องสอน
    • โพสต์-1
    theTripPacker •  ตุลาคม 21 , 2556

    ซูตองเป้ สะพานไม้แห่งศรัทธา ณ เมืองสามหมอก

    ไม่รู้ว่าด้วยโชคชะตา พรหมลิขิต หรือความบังเอิญกันแน่ ระหว่างที่เราเดินเลือกซื้อของอยู่บนถนนคนเดินแม่ฮ่องสอน “พี่ขวัญ” พี่สาวใจดีจากร้านเสื้อปาด็องจึงเอ่ยปากทักทายพร้อมกับชี้ชวนให้เราไปทำความ รู้จักกับสถานที่น่าสนใจใหม่ๆ ในแม่ฮ่องสอน ซึ่งมาพร้อมชื่อสุดสะดุดหูว่า “ซูตองเป้” หลังจากนั่งฟังคำบอกเล่าและดูภาพถ่ายของพี่ขวัญแล้ว มีหรือที่เราจะปล่อยให้พลาด เพราะต่อมความอยากเริ่มร่ำร้องให้ออกเดินทาง ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าตารางของทริปนี้แน่นเอี๊ยดขนาดไหน แต่ถึงจะต้องสลับสับเปลี่ยนตารางการเดินทางกันใหม่ทั้งหมด งานนี้เราก็ยอม เพียงเพื่อที่จะได้ไปชื่นชมความงามของ “สะพานซูตองเป้” ที่เค้าว่าสวยนักสวยหนาด้วยตาตัวเองซักครั้ง หลังจากสอบถามเส้นทางการเดินทางกันเรียบร้อยแล้ว เราก็จัดแจงโยกย้ายตารางกันอุตลุดพร้อมๆ กับการเก็บข้าวของเตรียมเข้านอน


    • โพสต์-2
    theTripPacker •  ตุลาคม 21 , 2556

    ฟ้ายังไม่ทันสาง เราก็รีบลุกจากที่นอนอุ่นๆ เร่งออกเดินทางไปให้ทันแสงแรกที่สะพานซูตองเป้ ด้วยระยะทางเพียง 15 กิโลเมตรจากตัวเมือง จริงๆ แล้วไม่ได้ใช้เวลาในการเดินทางมากนัก แต่ด้วยความที่เราไม่ค่อยชินกับเส้นทางแถมยังต้องขับรถผ่านเข้าไปบนถนนแคบๆ ของหมู่บ้านกุงไม้สัก เราจึงขับรถเลยทางเข้าสะพานไปตั้ง 2 รอบ โชคดีที่ได้คุณป้าใจดีชี้บอกทางให้ก่อนที่จะต้องวนเป็นรอบที่ 3!! หลังจากเดินผ่านตรอกเล็กๆ ผ่านบ้านของชาวบ้านมาแล้ว เราก็เห็นสะพานซูตองเป้ทอดตัวยาวผ่านทุ่งนาสีทองไปจรดเนินเขาอีกฝั่ง ทั้งแสงสีทองที่ทาทาบลงมาบนทุ่งนา ไอหมอกจางๆ เหนือทิวเขาที่สลับซับซ้อน และสะพานไม้ไผ่สานยาวสุดสายตา ก็ทำเอาเราเกือบลืมหายใจ

    • โพสต์-3
    theTripPacker •  ตุลาคม 21, 2556
    • โพสต์-4
    theTripPacker •  ตุลาคม 21 , 2556

    “ซูตองเป้” เป็นภาษาไทยใหญ่ หมายถึง “ความสำเร็จ”  ดังนั้นสะพานแห่งนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “สะพานแห่งความสำเร็จ” ความน่าสนใจของสะพานแห่งนี้ไม่ได้อยู่แค่เพียงเป็นเส้นทางสัญจรของพระสงฆ์ ที่จำวัดอยู่บนสวนธรรมภูสมะเท่านั้น หากแต่สะพานนี้เกิดจากพลังแห่งศรัทธา และการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านกุงไม้สัก ที่ต่างก็ช่วยกันลงแรงสานพื้นสะพานด้วยไม้ไผ่จนมีความยาวกว่า 500 เมตร ทอดตัวไปบนที่นาของชาวบ้านผู้อุทิศที่นาถวายเพื่อการสร้างสะพานนี้ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์และชาวบ้านที่อยู่อีกฝั่งแม่น้ำสะงาได้ใช้สัญจรไป มาระหว่างหมู่บ้านได้สะดวกยิ่งขึ้น ตลอดระยะทางที่เราค่อยๆ ย่างเท้าก้าวไปบนสะพานที่มีความกว้างเพียง 2 เมตรนี้ เราสัมผัสได้ถึงแรงศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อพระพุทธศาสนาผ่านเสาไม้แต่ละต้น ซึ่งได้มาจากการบริจาคเสาบ้านเก่าหรือเสาไม้ที่ไม่ใช้แล้ว บ้านละต้นสองต้น นำมาตอกลงเป็นเสาสะพาน ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจถ้ารูปทรงของเสาแต่ละต้นจะมีทั้งสูงบ้าง เตี้ยบ้าง รวมถึงร่องรอยขีดเขียน รอยตะปู หรือรอยบากบนเสา ที่แสดงให้เห็นว่าเสาทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดมาจากการซื้อหาตามร้านวัสดุก่อ สร้างแต่อย่างใด และเมื่อได้รู้ว่า สะพานซูตองเป้นี้สามารถสร้างเสร็จภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือนเศษเท่านั้น ก็ยิ่งทำให้เราทึ่งในพลังศรัทธาของชาวบ้านกุงไม้สักมากขึ้นไปอีกหลายเท่า

    • โพสต์-5
    theTripPacker •  ตุลาคม 21, 2556
    • โพสต์-6
    theTripPacker •  ตุลาคม 21 , 2556

    หลังจากข้ามผ่านแม่น้ำสะงามาแล้ว เสียงสวดมนต์ทำวัดเช้าก็ค่อยๆ แว่วมาเข้าหู เดินขึ้นเนินเขาไปอีกเล็กน้อยพอให้ได้หอบหน่อยๆ เราก็มาถึงสวนธรรมภูสมะ ด้านบนไม่ได้มีสิ่งปลูกสร้างโอ่อ่าอลังการ จะมีก็เพียงลานกว้าง ซึ่งมี “เจ้าพาราซูตองเป้” หรือ “พระพุทธสามัคคีอธิฐานมหาจักรพรรดิ์” ประดิษฐานอยู่กลางลาน และซุ้มเล็กๆ 2-3 หลังเท่านั้น เลยไปที่ด้านหลังของดอยจะเป็นเขตสังฆาวาส จัดแบ่งเป็นกุฏิที่พัก โรงครัวและหอฉัน หลังจากที่เราสักการะขอพรจากเจ้าพาราซูตองเป้แล้ว เราหยุดยืนชื่นชมความงดงามของทิวทัศน์เบื้องล่างอยู่พักใหญ่  ก่อนจะได้เวลาออกเดินทางอีกครั้ง โดยไม่ลืมที่จะซึมซับบรรยากาศรอบตัวไว้ให้ได้มากที่สุด และทิ้งคำถามสุดท้ายไว้ในใจว่า “ในฐานะพุทธศาสนิกชนคนหนึ่ง เราได้ทำอะไรเพื่อพระพุทธศาสนาแล้วหรือยัง”

    • โพสต์-7
    theTripPacker •  ตุลาคม 21, 2556

    ความคิดเห็นของผู้เขียน

    • จุดเด่น:
    • สะพานไม้ไผ่สานความยาวกว่า 500 เมตร ที่เกิดจากแรงศรัทธาของชาวบ้าน ที่ร่วมแรงรวมใจกันสร้างสะพานไม้เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ใช้เป็นเส้นทางสัญจรลงมาบิณฑบาตรในหมู่บ้าน วัสดุที่ใช้ในการสร้างสะพานนี้ ได้จากการบริจาคเสาบ้านเก่าของคนในหมู่บ้าน แล้วนำมาตอกลงเป็นเสาสะพานทีละต้นๆ จนได้สะพานไม้ที่เปี่ยมไปด้วยพลังศรัทธาแห่งนี้
    • จุดด้อย:
    • ทางเข้าหมู่บ้านเป็นถนนแคบไม่มีที่จอดรถมากนัก สำหรับนักท่องเที่ยวที่นำรถมาเอง สามารถจอดรถไว้ที่วัดกุงไม้สัก แล้วค่อยเดินมายังทางเข้าสะพานซูตองเป้อีกเล็กน้อย
    • ข้อสรุป:
    • ถึงแม้สวนธรรมภูสมะจะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมเล็กๆ ในหมู่บ้านกุงไม้สัก แต่ด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อพระพุทธศาสนา ก็สามารถทำให้เกิดสิ่งปลูกสร้างที่ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นสะพานไม้ธรรมดา แต่ด้วยความเป็นมานั้นยิ่งใหญ่เกินจะบรรยาย หากมีโอกาส แนะนำให้มาเที่ยวชมกันตั้งแต่เช้าตรู่ หรือจะเตรียมอาหารสด อาหารแห้งมาทำบุญใส่บาตรด้วยก็จะดีไม่น้อย
    คะแนน
    • โพสต์-8
    theTripPacker •  ตุลาคม 21 , 2556

    ข้อมูลทั่วไป

    ที่อยู่ : บ้านกุงไม้สัก หมู่ 2 ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

    GPS : 19.388013, 97.951970

    ไฮไลท์ : สะพานไม้ไผ่สานความยาวกว่า 500 เมตร ที่ชาวบ้านร่วมแรงใจกันสร้างเพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้เป็นเส้นทางบิณฑบาตรเข้ามาที่หมู่บ้าน

    กิจกรรม : ทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า / ถ่ายภาพสะพานซูตองเป้ / สักการะเจ้าพาราซูตองเป้พระพุทธรูปบนสวนธรรมภูสมะ

    • โพสต์-9
    theTripPacker •  ตุลาคม 21 , 2556

    วิธีการเดินทาง

    จากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนให้ใช้เส้นทางแม่ฮ่องสอน-ปางมะผ้า (ทางหลวงหมายเลข1095) ขับมาประมาณ 10 กิโลเมตรจะถึงแยกบ้านกุงไม้สัก เลี้ยวซ้ายไปทางบ้านกุงไม้สักอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะถึงทางแยกเข้าหมู่บ้าน ตรงเข้าไปทางขวามือตามถนนในหมู่บ้าน ทางเข้าสะพานซูตองเป้จะเป็นทางเดินเล็กๆ ระหว่างบ้านในหมู่บ้าน นักท่องเที่ยวสามารถจอดรถไว้ที่วัดกุงไม้สัก แล้วเดินย้อนออกมาอีกเล็กน้อย ก็จะถึงทางเดินเข้าสะพานซูตองเป้


    • โพสต์-10
    theTripPacker •  ตุลาคม 21, 2556
  1. โหลดเพิ่ม