นานๆ จะมีโอกาสได้เข้ากรุงเทพสักที ทริปนี้ผมจึงวางแผนสำรวจเมืองกรุง ในอีกมุมมองที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า มีที่แบบนี้ในกรุงเทพด้วยเหรอ บวกกับการเข้าพักผ่อน กินนอน แบบหรูหรา (กันสักเล็กน้อย) เพราะต่างจังหวัดบ้านผมไม่มี 555 ไม่ต้องเกริ่นนำกันมากมาย ไปสัมผัสเมืองกรุงฯ พร้อมกับผมกันครับ สำหรับทริปนี้ ผมเน้นเที่ยวในเส้นทางของรถไฟ MRT หลักๆ จะใช้การเดินเท้าเป็นหลัก เดินกันจนพื้นรองเท้าหลุดกันเลยทีเดียว 555 โดยสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละที่ก็ไม่ได้ไกลกันนักครับ

ขอเปิดทริปด้วยที่พักของผมในทริปนี้ โรงแรมเก๋ๆ ย่านสุขุมวิท Aloft Bangkok Sukhumvit 11 ครับ

Aloft Bangkok Sukhumvit 11 เป็นหนึ่งในแบรนด์โรงแรมและรีสอร์ทของแมริออท อินเตอร์เนชันแนล ซึ่ง Aloft จะเน้นเอาใจนักเดินทางรุ่นใหม่ด้วยการออกแบบจากดีไซน์ที่โฉบเฉี่ยว โดยได้รับแรงบันดาลใจจากวิถีชีวิตคนเมืองอันทันสมัยครับ

ตุ๊กตุ๊กคันนี้ เห็นว่าอิมพอตมาจากโอซาก้ากันเลยทีเดียว คันนี้มีไว้โชว์นะครับ ส่วนคันที่บริการรับส่งแขก จะเป็นอีกคันครับ Aloft Bangkok Sukhumvit 11 เป็นแบรนด์อลอฟท์แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เน้นการออกแบบให้ดูโปร่งโล่งสบาย ที่สำคัญคือการเล่นสีสันที่สดใส จึงไม่แปลกใจเลยว่าที่นี่จะเต็มไปด้วยภาพกราฟิตี้และสตรีทอาร์ตอยู่โดยรอบ มีให้เห็นทั้งด้านในและด้านนอกโรงแรม

เพียงก้าวแรกก็ให้ความรู้สึกถึงความโปร่งโล่งสบาย บริเวณลอบบี้เล่นสีสันอย่างสะดุดตา การออกแบบเป็นแนวลอฟท์ ให้เห็นโครงสร้างภายในแบบชัดเจน

ภาพกราฟิตี้ต่างๆ หากถูกใจ สามารถซื้อกลับไปติดตั้งที่บ้านก็ได้นะครับ

Check in เสร็จแล้ว ขึ้นไปชมห้องพักกัน โดยห้องพักของผมอยู่บนชั้น 20 ครับ

ทางเดินในแต่ละชั้น มีการเล่นสีสัน เพิ่มความเจิดจ้าด้วยแสงไฟครับ

ห้องที่ผมพักมีพื้นที่ 32 ตารางเมตร โดยแบ่งพื้นที่หลักๆ เป็น 2 ส่วนชัดเจน เมื่อเปิดประตูห้องเข้าไป ส่วนแรกจะพบกับส่วนห้องน้ำ ถัดไปจะเป็นห้องนอนครับ ภายในห้องพักเองก็ถูกออกแบบให้ดูสูงโปร่งโล่งสบาย กับเพดานที่สูงถึง 9 ฟุต พร้อมด้วยเตียงนอนขนาดใหญ่ และหมอนที่หนานุ่มหนุนสบาย นอนแล้วไม่อยากลุกไปไหนเลย ความใหญ่ของเตียงนั้น ผมว่านอนกัน 3 คน ยังไม่อึดอัดเลยครับ Concept ของ Aloft คือ ปลายเตียงจะหันไปทางกระจก ทำให้เราสามารถมองเห็นวิวด้านนอกได้แบบเต็มๆ ตา มีมุมโซฟาให้ได้นั่งพักผ่อนชมวิวด้านนอก รวมถึงมีโทรทัศน์ LCD HD ขนาด 42 นิ้ว พร้อมอุปกรณ์เชื่อมต่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยครับ มุมโต๊ะทำงานนี้ ผมอยากจะเก็บวิวที่อยู่ตรงหน้าไปตั้งไว้ที่ทำงานผมจัง คือมองออกไปเห็นวิวกรุงเทพแบบพาโนรามาเลยครับ ในความโฉบเฉี่ยวที่เต็มไปด้วยสีสัน ก็ไม่ทิ้งความเป็นไทย มีการนำลวดลายไทยมาตกแต่งด้วยครับ ในส่วนของห้องน้ำ จะแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือส่วนอ่างล้างหน้า และตู้เสื้อผ้า สามารถแต่งตัวตรงส่วนนี้ได้เลย ส่วนที่ 2 จะอยู่หลังกระจกบานเลื่อน คือเป็นส่วนของโถสุขภัณฑ์พร้อมสายฉีดชำระ และ พื้นที่สำหรับอาบน้ำ ซึ่งแยกส่วนเปียกส่วนแห้งอย่างชัดเจนครับ วิวจากห้องพักผม กลางวันว่าสวยแล้ว ช่วงค่ำยิ่งสวยเข้าไปใหญ่ เพราะเห็นแสงไฟระยิบระยับเลยครับ สำรวจห้องพักกันไปแล้ว ต่อไป ไปดูบรรยากาศรอบๆ โรงแรมกันบ้างครับ

จุดแรกอยู่ถัดจากลอบบี้  มีชื่อเรียกว่า รี:ฟิล บายอลอฟท์ (re:fuel by Aloft) เป็นคาเฟ่ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เน้นรูปแบบการบริการตัวเองแบบสบาย ๆ ด้วยอาหารเบาๆ เช่น สลัด แซนด์วิช ขนมทานเล่นนานาชนิด และของหวาน รวมถึงกาแฟสดที่มีให้เลือกหลากหลายชนิดครับ

ถัดจาก รี:ฟิล เป็น รี:มิกซ์ เลาน์จ (re:mix lounge) เป็นพื้นที่สำหรับพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง นั่งพูดคุย พักผ่อน ผ่อนคลาย มีโต๊ะพูลให้ได้เล่นร่วมกันครับ ทางโรงแรมยังมีกิจกรรมให้แขกได้เลือกผ่อนคลาย สำหรับคนที่ชอบออกกำลังกายก็มี รี:ชาร์จ” (re:charge) ฟิตเนสที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง  ซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 10 ครับ ติดกับฟิตเนสเป็นสระว่ายน้ำกลางแจ้งสแปลช (Splash) ที่มีทั้งสระเด็กและสระผู้ใหญ่ เปิดให้บริการตั้งแต่ 06.00-23.00 น. เรียกได้ว่าว่ายน้ำไปพร้อมกับชมวิวพาโนรามาของกรุงเทพ สวยงามมากๆ ครับ ใครไม่อยากว่ายน้ำ ก็สามารถมานอนชมวิวได้นะครับ ช่วงเย็นๆ บรรยากาศดีทีเดียว นั่งชมวิวไป จิบเครื่องดื่มเย็นๆ ไป ฟินมากครับ บรรยากาศยามค่ำครับ

ทุกเย็นวันศุกร์ และเสาร์ ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. บนชั้น 8 ที่ Crave restaurant ซึ่งเป็นห้องอาหารซิกเนเจอร์ของ Aloft Bangkok Sukhumvit 11 จะให้บริการ Seafood Dinner Buffet ซึ่งนับว่าเป็นไฮไลท์ของ Crave Restaurant เลยก็ว่าได้ อาหารทะเลที่นี่สดจริงๆ ครับ แถมยังมีหลากหลายอย่างให้เลือกชิม เช่น กุ้งขาว กุ้งแม่น้ำ กั้ง ปูม้า หอยนางรม หอยแมลงภู่นิวซีแลนด์ ปลาหมึก ปลากะพง ปลาแซลมอน มาเผาให้ทานกันแบบร้อนๆ หรือใครอยากทานแบบ On ice ก็มีนะครับ 

มีเนื้อ หมู ไก่ มาเสริมทัพด้วยครับ ใครอยากจะทานอะไรเผา สามารถแจ้งเชฟได้เลย โดยจะมีแผ่นกระดาษเล็กๆ ให้เราติ๊กเลือกเมนูที่เราอยากจะทาน จากนั้นก็ไปนั่งรอสวยๆ ที่โต๊ะได้เลย สักพักจะมีน้องพนักงานเดินไปเสิร์ฟให้ที่โต๊ะเลยครับ อาหารทะเลสดๆ รสชาติมันก็จะหวานเนอะ ยิ่งจิ้มน้ำจิ้มที่รสชาติจี๊ดจ๊าดด้วยแล้ว พูดได้คำเดียว ฟินน์.. นอกจากจะมีอาหารทะเลแล้ว ยังมีเมนูอื่นๆ อีกมากมายกว่า 20 เมนู ไม่ว่าจะเป็น แกะ พาสต้าเส้นสด สปาเกตตี้ พิซซ่า ซูชิ มีแม้กระทั่งข้าวซอยกุ้งครับ Pizza, Roasted lamb leg with rosemary sauce, Crunchy pork belly Lemon baked salmon filet, Smoked salmon, Smoked duck, Smoked chicken Chicken salad, Grilled pork salad, Grilled beef salad Parma ham, Roasted pork with black pepper sauce, Pan seared chicken breast with sautéed mushroom ala cream, Baked fish filet on a bed of balsamic lentils Khao Soi, Pasta, Cheese platter, Sushi ส่วนเมนูของหวานก็ไม่น้อยหน้า มีให้เลือกทั้งแบบไทยและแบบเทศมากกว่า 10 เมนู เรียกว่าอิ่มตัวแตกกันไปเลย Thai dessert, Sago butterfly pea, Chocolate praline Tiramisu, Blueberry cheese cake, Éclair, Dark chocolate mousse Green tea mousse, Japanese Crepe, Dark chocolate mousse & mango mousse, Homemade Ice cream รสมะพร้าว ต้องห้ามพลาดครับ Lemon tart, Raspberry mousse, Fruit tart

ที่ผมบอกว่า Crave restaurant เป็นห้องอาหารซิกเนเจอร์ของ Aloft Bangkok Sukhumvit 11 เพราะจากห้องอาหารเราสามารถชมวิวเมืองกรุงเทพแสนสวย และยิ่งช่วงค่ำๆ จะมองเห็นแสงไฟระยิบระยับที่อยู่ตามตึกรามสูงใหญ่ดูไม่ต่างกับดาวบนดินเลยครับ

นับว่าคุ้มค่าคุ้มราคาครับ อิ่มเอมทั้งใจที่ได้ทานอาหารท่ามกลางบรรยากาศดีๆ อิ่มทั้งท้องกับอาหารทะเลสดๆ ค่าเสียหายสุทธิเพียงคนละ 999 บาท จากราคาปกติ 1,599 บาท ราคานี้รวมเครื่องดื่มประเภทน้ำเปล่า น้ำอัดลม น้ำสมุนไพร ชา กาแฟ แต่ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นะครับ และที่สำคัญ บุฟเฟต์ที่นี่ “ไม่จำกัดเวลา” ใครสายแข็ง ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงครับ

Seafood Dinner Buffet ให้บริการเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ ตั้งแต่เวลา 18.00 – 22.00 น. หากใครสนใจสามารถสำรองที่นั่งได้ที่ 02-2077000 Line MyShop https://shop.line.me/@aloftbangkok แชทผ่านไลน์ https://lin.ee/ZE9eT ครับ

Crave restaurant เป็นห้องอาหารที่ให้บริการทั้งมื้อเช้า กลางวัน และมื้อค่ำ สำหรับมื้อเช้า ให้บริการตั้งแต่ 06.00–10.30 น. ภายในห้องอาหารมีการรักษาระยะห่างระหว่างโต๊ะตามมาตรฐาน เมื่อเข้าไปใช้บริการจะมีน้องพนักงานนำถุงมือพลาสติกมาให้ สำหรับใส่ตอนไปตักอาหารครับ

ไลน์บุฟเฟต์เป็นแบบนานาชาติ ทั้งไทย ฝรั่ง อินเดีย มีให้เลือกหลายเมนูอยู่เหมือนกันครับ สำหรับใครที่อยากจะหา Snack ไว้ทานเล่นบนห้อง หรือสั่งกลับไปทานระหว่างเดินทาง ทางโรงแรมสามารถจัด Live@Aloft-Home Edition เป็น Gourmet Snack box ให้ได้นะครับ มีหลายขนาดให้เลือก อย่าง Set ที่เห็นในภาพสำหรับทาน 2-3 คน โดยจะมีของขบเคี้ยวอย่างป๊อบคอร์นคาราเมลและอัลมอนด์ ถั่วเคี้ยวเล่น ถั่วรวมและลูกเกดผสมเบคอนกรอบ ขนมปังแท่งเนยกระเทียม เพรตเซลขนาดเล็ก แครกเกอร์ พร้อมสเปรดต่างๆ รวมถึงสแน็กผักสดครับ

เรียกได้ว่ามาพักที่นี่ อิ่มอกอิ่มใจจริงๆ แถมทำเลที่ตั้งยังอยู่ใจกลางเมือง เดินทางไปไหนมาไหนก็สะดวกสบาย อยู่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้า BTS นานาเพียง 5 นาทีเท่านั้นครับ โดยทางโรงแรมมีตุ๊กตุ๊กไว้บริการรับส่งสถานี BTS นานา , สถานี MRT สุขุมวิทและจุดท่องเที่ยวสำคัญอย่าง Terminal 21 ฟรีด้วยครับ

เอาละ ถึงเวลาออกไปสำรวจเมืองกรุงในอีกมุมมองหนึ่งกันแล้ว ผมให้ตุ๊กตุ๊กของโรงแรมไปส่งที่สถานี MRT สุขุมวิท แล้วต่อรถ MRT ไปยังสถานีสามยอด ออกที่ทางออกที่ 1 จากนั้นก็ตรงสู่จุดหมายแรก นั่นคือ สวนรมณีนาถ

เดิม สวนรมณีนาถ คือคุกเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่เอาไว้จองจำผู้กระทำความผิดต้องควบคู่ไปกับศาลสถิตยุติธรรม โดยคุกนี้ได้นำรูปแบบเรือนจำบริกซ์ตัน อันเป็นเรือนจำที่มีระดับความมั่นคงสูงสุดของสิงคโปร์มาใช้ เมื่อสร้างเสร็จก็ได้ย้ายนักโทษเข้าไปอยู่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ.109 โดยได้รับการขนานนามว่า “คุกกองมหันต์โทษ” และได้มีการเปลี่ยนชื่อกันหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายได้ชื่อว่า “เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร” จนเมื่อ พ.ศ.2534 ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมาเป็นสวนสาธารณะ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา เมื่อ พ.ศ.2535 และได้พระราชทานนามว่า “รมณีนาถ” ซึ่งมีความหมายว่า “นางผู้เป็นที่พึ่ง” ครับ บรรยากาศภายในสวนรมณีนาถร่มรื่นเลยทีเดียว ด้านในนอกจากจะมีสวนสาธารณะแล้วยังมีพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ด้วยครับ ถึงแม้จะเปลี่ยน “คุก” ให้เป็น “สวนสาธารณะ” แล้ว แต่ผมก็ยังรับรู้ถึงกลิ่นไอของความเป็นคุกได้อยู่บ้าง ได้เห็นแนวรั้วกำแพงสูง ป้อมยาม ซุ้มประตูทางเข้า ทำให้สัมผัสได้ถึงความปวดร้าวของผู้ถูกกุมขัง เมื่อก่อนในนี้คงหดหู่มากๆ แต่ปัจจุบันที่นี่ก็กลายเป็นปอดเล็กๆ เป็นที่พักผ่อนของคนกรุงไปแล้วครับ ป้อมยามตั้งอยู่กลางบ่อน้ำพุ ดูแล้วคลาสสิคดีครับ อาคารแดน 9 ซึ่งเป็นเรือนนอนของผู้ต้องขังครับ

ช่วงที่ผมเปลี่ยนเลนส์เพื่อจะถ่ายภาพกำแพงเก่านั้น ผมใช้การนั่งเหยียบส้นเท้าแทนการนั่งทิ้งก้นลงกับพื้นเพื่อเปลี่ยนเลนส์ และเมื่อเปลี่ยนเลนส์เสร็จ ก็ลุกขึ้นตามปกติ แต่สิ่งที่ผิดปกติคือตอนก้าวเท้าเดินนี่แหล่ะครับ รู้สึกเหมือนมีพลังบางอย่างที่เท้า เพราะเวลาก้าวเดิน รู้สึกเดินลำบากขึ้น เลยก้มสังเกตรองเท้าตัวเอง ถึงได้รู้ว่าพื้นรองเท้าหลุดเอาซะดื้อๆ ครับ ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าโชคดีหรือโชคร้าย พื้นรองเท้าไม่ได้หลุดออกจากรองเท้าทั้งหมด คือหลุดตรงช่วงส้นเท้า ไล่ยาวมาจนเกือบถึงปลายนิ้วเลย ผมจะดึงพื้นรองเท้าทิ้ง ก็ดึงไม่ได้ เพราะติดรอยเย็บที่ช่างเย็บรองเท้าได้ซ่อมให้ผมตั้งแต่ทริปก่อนหน้านั้น สรุปคือต้องเดินลากพื้นรองเท้ากันยาวไป....

สวนรมณีนาถ ในส่วนที่เป็นสวนสาธารณะ เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 05.00-21.00 น. สำหรับพิพิธภัณฑ์ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันอังคาร-วันเสาร์ เวลา 08.30-16.30 น. ครับ

การเดินลากพื้นรองเท้า เป็นอุปสรรคต่อการเดินมาก เดินลำบาก  แถมเวลาเดินก็จะมีเสียงดัง จนหลายคนต้องหันมามอง ผมพยายามมองหา 7-11 เพื่อจะหาซื้อกาวตราช้าง แต่พื้นที่ละแวกนั้นไม่มี 7-11 ให้เห็นเลย อาจเพราะพื้นที่แถวนั้นเป็นพื้นที่อนุรักษ์หรือไงไม่ทราบได้ นึกในใจ ทีเวลาผมไม่ต้องการซื้ออะไร จะมีร้าน 7-11 แทบจะทุกๆ มุมตึกเลย

จากสวนรมณีนาถ เดินเท้าต่อไปตามถนนหลวง ข้ามสะพานระพีพัฒนภาค และตัดเข้าถนนบริพัตร เพื่อมุ่งหน้าไปยังชุมชนบ้านบาตร แหล่งทำบาตรมือแหล่งสุดท้ายในเมืองกรุงครับ

ชุมชนบ้านบาตรมีอายุยาวนานกว่า 200 ปี ตั้งอยู่ด้านหลังวัดสระเกศ เล่าขานกันมาว่าชุมชนนี้เป็นชุมชนของชาวกรุงศรีอยุธยาที่อพยพเข้ามาหลังจากเสียกรุงครั้งที่ 2 เข้ามาตั้งบ้านเรือนที่นี่ หลังจากสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีพร้อมการขุดคลองรอบกรุง ในปี พ.ศ.2326 สิ่งที่โดดเด่นและสืบทอดกันมาอย่างชัดเจนนั่นคือฝีมือการทำบาตรของชาวชุมชน จนชุมชนแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า”บ้านบาตร”  โดยคำว่า “บ้าน” หมายถึง “ย่าน” ที่ทำบาตร เช่นเดียวกับตลาดบ้านบาตรในสมัยอยุธยา

บาตรที่ทำมือที่บ้านบาตรเป็นลักษณะบาตรที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย คือ เป็นบาตรเหล็กรมดำ ทำขึ้นด้วยมือ มีรอยตะเข็บเหมือนดังจีวรพระ ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมในการทำบาตร บาตรหนึ่งใบต้องผ่านขั้นตอนถึง 21 ขั้นตอน และอาศัยทั้งช่างตีขอบ ช่างต่อบาตร ช่างแล่น ช่างลาย ช่างตี จนถึงช่างตะไบมาร่วมกันทำครับ

บาตรมี 5 ทรง คือ

1.ทรงไทยเดิม ทรงโบราณ มีมานับร้อยปี มีฐานป้านก้นแหลม จึงไม่สามารถวางบนพื้นได้ ต้องวางบนฐานรองบาตร

2.ทรงหัวเสือ มีอายุประมาณ 30 ปี รูปทรงคล้ายกับทรงไทยเดิม แต่ส่วนฐานตัดเล็กน้อย สามารถวางบนพื้นได้ เป็นทรงที่พระสายธรรมยุดนิยมใช้  

3.ทรงมะนาว มีอายุประมาณ 80-90 ปี รูปร่างมนๆ คล้ายกับผลมะนาวแป้น

4.ทรงลูกจัน มีอายุประมาณ 80-90 ปี เป็นบาตรทรงเตี้ย ลักษณะคล้ายทรงมะนาว แต่จะเตี้ยกว่า

 5.ทรงตะโก ทรงโบราณ มีมานับร้อยปี ฐานมีลักษณะคล้ายทรงไทยเดิม แต่ก้นมนย้อย สามารถวางบนพื้นได้ เป็นทรงที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

สำหรับขั้นตอนการทำบาตรมือ มี 8 ขั้นตอนครับ

1.การตีขอบ ต้องสร้างขอบขึ้นมาจากเหล็กเส้นตรงๆ แล้วนำมาโค้งให้เป็นวงรูปพระจันทร์ ขอบนับเป็นหัวใจของบาตรเลยเพราะเป็นตัวยึด

2.การประกอบกง  เป็นการนำแผ่นเหล็กรูปกากบาทมาดัดงอขึ้นรูป ตามทรงที่ลูกค้าต้องการ แล้วนำมาติดกับขอบบาตร เมื่อขึ้นรูปเสร็จจะเหลือช่องว่างรูปสามเหลี่ยมใบโพ 4 ช่อง ช่างจะวัดและตัดแผ่นเหล็กรูปร่างเหมือนใบหน้าวัว 4 ชิ้น  ที่เรียกว่า “หน้าวัว” หรือ “กลีบบัว” จักฟันโดยรอบเพื่อใช้เป็นตะเข็บเชื่อมกับส่วนต่างๆ ตีให้งอเล็กน้อยตามรูปทรงของบาตร ซึ่งเมื่อประกอบเสร็จก็จะได้บาตรที่มีตะเข็บ 8 ชิ้น ตรงตามลักษณะบาตรที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย ชิ้นส่วนทั้ง 8 ชิ้นนั้นมีความหมายมาจาก มรรค 8 หนทางสู่ทางดับทุกข์ สมัยก่อน แผ่นเหล็กที่ใช้จะใช้ถังยางมะตอยสำหรับการราดยางถนน นำมาตัดเป็นแผ่นก่อนจะใช้เท้าช้างตีให้เรียบและใช้ประกอบบาตร ซึ่งบาตรที่ทำด้วยเหล็กถังยางมะตอยจะตีได้ง่าย สะดวก เนื้อบาง แถมราคาไม่สูงด้วย ปัจจุบันได้พัฒนาจากถังยางมะตอยมาเป็นแผ่นเหล็กหนาที่แข็งแรงกว่าเดิม และให้เสียงดังกังวานครับ

3.การแล่นบาตร คือการเชื่อมประสานรอยตะเข็บให้เหล็กเป็นเนื้อเดียวกัน โดยใช้ผงทองแดงกับน้ำประสานทองทาให้ทั่วบาตรก่อน เพื่อให้น้ำประสานทองเชื่อมโลหะไม่ให้มีรูรั่ว ปัจจุบันใช้การเชื่อมแทนการแล่นบาตรครับ 4.การลาย หรือการออกแบบรูปทรง เป็นการนำบาตรที่แล่นแล้วมาเคาะให้ได้รูปทรงที่ต้องการ โดยจะใช้ค้อนลาย ซึ่งเป็นค้อนรูปโค้งงอ หัวค้อนมีลักษณะแหลม เคาะด้านในของบาตร 5.การตี ช่างจะใช้ค้อนเหล็กตีผิวด้านนอกของบาตรให้รอบ เพื่อให้ส่วนที่นูนออกมาจากการลายรวมทั้งตีให้รอยตะเข็บที่ยังขรุขระเรียบเสมอกัน จากนั้นต้องนำไปตีลายบนทั่งไม้ เพื่อให้ได้รูปทรงตามต้องการ 6. การเจียร โดยใช้เครื่องเจียรไฟฟ้าแล้วจึงตะไบตกแต่งให้สวยงามอีกครั้ง

7.การสุมหรือระบมบาตร เพื่อป้องกันการเกิดสนิม โดยในสมัยก่อนจะใช้กำมะถันทา จากนั้นจึงนำบาตรมากองรวมๆ กัน แล้วใช้หม้อครอบสุม บาตรที่ได้จะมีสีดำ จากนั้นจึงใช้น้ำมะพร้าวทาทับอีกครั้ง แต่ปัจจุบันนิยมใช้น้ำมันกันสนิมชโลมให้ทั่วตัวบาตรแทนครับ

8.การทาสี เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ทำให้บาตรเป็นสีต่างๆ เช่น สีเขียว สีดำสนิท ถือเป็นเทคนิคเฉพาะของช่างแต่ละคน บ้างก็มีการแกะสลักลวดลายไทย การตีตรา ไปในบาตรด้วยครับ

ราวๆ ปี พ.ศ.2513 หลังกรมศาสนาอนุญาตให้ภิกษุใช้บาตรที่ผลิตด้วยเครื่องจักรได้ จึงมีการตั้งโรงงานผลิตบาตรพระแบบอุตสาหกรรมขึ้น บาตรปั้มเข้ามาตีตลาดแทนที่บาตรทำมือ เพราะการผลิตรวดเร็วกว่า ได้ปริมาณผลิตต่อครั้งสูงกว่า และราคาต้นทุนถูกกว่ามาก การผลิตบาตรของบ้านบาตรจึงต้องชะงักลง ช่างฝีมือหลายคนต้องเลิกอาชีพการทำบาตรมือไป ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียง 7 บ้านเท่านั้น ช่างฝีมือที่ลดจำนวนลง ทำให้บาตรใบหนึ่งใช้เวลาทำกว่าหนึ่งอาทิตย์เลยครับ นึกแล้วก็น่าใจหายนะครับ ถ้าหากอาชีพตีบาตรที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจะหายไปในยุคสมัยนี้ สำหรับราคาบาตรทำมือจะอยู่ที่ราคาประมาณ 2,000++ บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของบาตรครับ

ผมไม่เชื่อสายตาตัวเองเลยว่า ตึกรามบ้านช่องในละแวกชุมชนบ้านบาตร จะดูเก่าและคลาสิคแบบนี้ ไม่คิดเลยว่าจะได้เห็นภาพบรรยากาศแบบนี้ในกรุงเทพ เมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้า

จากชุมชนบ้านบาตร ผมเดินลัดเลาะมาตามถนนบำรุงเมือง ช่วงใกล้ๆ วัดสุทัศน์ จะมีร้านค้าพระพุทธรูปและวัตถุมงคลมากมาย นับเป็นโชคดีของผมที่เห็นช่างกำลังประดับพลอยบนองค์พระพุทธรูปอยู่พอดีครับ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร หรือนิยมเรียกสั้นๆ กันว่า วัดสุทัศน์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร (วัดที่พระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ทรงสร้างหรือทรงบูรณปฏิสังขรณ์) และถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8 ครับ หากจะบอกว่าวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นวัดที่ใช้เวลาสร้างถึง 3 แผ่นดินก็คงไม่ผิดนัก เพราะเริ่มสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ในชื่อ วัดมหาสุทธาวาส จากนั้นรัชกาลที่ 2 ทรงสานต่อ และทรงจำหลักบานประตูพระวิหารด้วยพระองค์เอง แต่ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อนที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ จนวัดมาแล้วเสร็จในรัชกาลที่ 3 และพระราชทานนามว่า วัดสุทัศน์เทพวรารามครับ ภายในพระวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 3 วา 1 คืบ นับเป็นพระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บริเวณใต้ฐานที่ผ้าทิพย์บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ 8 ครับ ภายในวัดมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 8 ประดิษฐานอยู่ครับ สำหรับพระวิหารคดสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ล้อมพระวิหาร มีเสารายรับหลังคาเฉลียงลดเป็นห้องๆ เสาทุกต้นเป็นสี่เหลี่ยม เพดานทาสีแดง มีลายกรอบแว่นประดับดาวทองล้อมเดือนทุกห้อง ขื่อทาสีเขียวปิดทองประดับลายกรวยเชิง มีพระพุทธรูปปางสมาธิเรียงกันอยู่โดยรอบพระวิหารคดครับ พระอุโบสถของวัดสุทัศน์ เป็นพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในประเทศไทยเลยครับ ด้วยความยาวถึง 72.25 เมตร ภายนอกพระอุโบสถมีซุ้มเสมา 8 ซุ้ม ตั้งอยู่บนกำแพงแก้ว เป็นใบเสมาคู่ที่ทำจากหินอ่อนสีเทา สลักเป็นภาพช้าง 3 เศียร  บนกำแพงแก้วด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีเกยโปรยทานอยู่ด้านละ 4 เกย ใช้เป็นที่สำหรับประทับโปรยทานแก่ประชาชนในงานพระราชพิธี โบสถ์นี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ครับ ภายในประดิษฐานพระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ปางมารวิชัย ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นกัน ต่อมารัชกาลที่ 4 ทรงโปรดสร้างพระอสีติมหาสาวกจำนวน 80 องค์ นั่งพนมมือฟังพระบรมพุทโธวาทเบื้องพระพักตร์องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ ที่ผนังพระอุโบสถยังมีภาพจิตกรรมฝาผนังฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3 ที่งดงามมากๆ ครับ

เยื้องๆ กับวัดสุทัศน์ เป็นที่ตั้งของเทวสถาน หรือที่เรียกกันติดปากว่า โบสถ์พราหมณ์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีของศาสนาพราหมณ์ เช่น พิธีโล้ชิงช้า พิธีตรียัมปวาย พิธีตรีปวาย และพิธีโกนจุกครับ

ภายในเทวสถานประกอบด้วยอาคารก่ออิฐถือปูนทรงไทย 3 หลัง ประกอบด้วย เทวสถานพระอิศวร ภายในมีเทวรูปพระอิศวรประทับยืนตั้งเป็นประธานอยู่กลางแท่น ส่วนแท่นที่ลดต่ำลงมา ประดิษฐานเทวรูปประทับนั่งของพระอุมาเทวี พระพรหมและพระอิศวรครับ

อาคารหลังถัดไปคือเทวสถานพระมหาวิฆเณศวร โดยมีเทวลัยพระศิวลึงค์ ตั้งอยู่ระหว่างเทวสถานพระอิศวร และเทวสถานพระมหาวิฆเนศวร ส่วนอาคารหลังสุดท้ายซึ่งอยู่ติดกับเทวสถานพระมหาวิฆเนศวร คือเทวสถานพระนารายณ์ โดยด้านหน้าเทวสถานทั้ง 3 มีซุ้มเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระพรหม เทวสถาน เป็นสถานที่แสดงให้เห็นถึงลัทธิศาสนาพราหมณ์ในประเทศไทย ซึ่งพิธีหลายอย่างได้เข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิตของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันครับ หลายคนที่ได้ดูข่าวในพระราชสำนัก ที่เกี่ยวกับงานพระราชพิธีที่เป็นมงคล อย่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พิธีพืชมงคลแรกนาขวัญ คงเคยเห็นภาพรัชกาลที่ 9 หรือในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงทัดใบมะตูมให้พระยาแรกนา หรือแม้กระทั่งตอนที่เอกอัครราชทูตไทยกราบถวายบังคมลาไปปฏิบัติราชการในต่างประเทศ เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมต้องเป็นใบมะตูม เพราะมะตูมเป็นต้นไม้ที่ชาวฮินดูนิยมใช้บูชาพระศิวะ ซึ่งถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ลักษณะของใบมะตูมมีลักษณะคล้ายกับตรีศูลที่พระศิวะทรงในพระหัตถ์ขวา ซึ่งเปรียบเสมือนอาวุธอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งสามของพระองค์ พราหมณ์ถือว่าใบมะตูมเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะและเป็นมงคล และใบมะตูมที่ใช้ประกอบพิธีสำคัญๆ ต่างๆ นำมาจากต้นมะตูมในโบสถ์พราหมณ์แห่งนี้แหละครับ ปัจจุบันเหลืออยู่ 3 ต้น

จากโบสถ์พราหมณ์ เดินเท้าต่อตามถนนตีทอง ตัดเข้าถนนราชบพิธ และถนนเฟื่องนคร เพื่อมายังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารครับ

หลังจากได้ไหว้พระเป็นที่เรียบร้อย เหมือนสวรรค์มาโปรดผมแล้วครับ ระหว่างเส้นทาง มีร้าน 7-11 แล้ว ผมไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดมือ จัดแจงซื้อกาวตราช้าง มาติดพื้นรองเท้า ให้พอเดินได้ไปจนจบทริป

แล้วก็มาถึง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อปี 2412 มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก โดยลักษณะภายนอกจะเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบและตกแต่งแนวตะวันตก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง วัดนี้นับเป็นพระอารามหลวงสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาลครับ

สิ่งที่สะดุดตาผมมากๆ เห็นจะเป็นความงดงามของกระเบื้องลายเบญจรงค์ที่ประดับอยู่โดยรอบพระเจดีย์และพระวิหารคด ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของพระอารามแห่งนี้ โดยกระเบื้องออกแบบโดยพระอาจารย์แดง วัดหงส์รัตนาราม ที่เขียนลายต้นแบบและส่งไปผลิตที่เมืองจีนครับ อย่างที่เล่าไปในตอนต้นว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามมีการผสมผสานของสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตกเข้าด้วยกัน โดยภายในพระอุโบสถตกแต่งแนวตะวันตก จึงทำให้บรรยากาศด้านในดูหรูหรา ไม่ไทยจ๋าเหมือนอุโบสถวัดที่เราเห็นกันทั่วไป บอกเลยว่าเมื่อผมก้าวเท้าเข้าไปในพระอุโบสถ ถึงกับตะลึงในความหรูหรางดงามเป็นอย่างมาก ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธอังคีรส ซึ่งเป็นพระประธานที่ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนจากประเทศอิตาลี หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อต้นรัชกาลที่ 5 กะไหล่ทองคำเนื้อแปดหนัก 180 บาท เป็นทองที่รัชกาลที่ 5 ทรงใช้เมื่อยังทรงพระเยาว์ ที่ฐานบัลลังก์กะไหล่ทองเนื้อหกหนัก 48 บาท ภายในบรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 2 ,3, 4, 5, 7 และรัชกาลที่ 9 ครับ ภายในวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามยังมีสุสานหลวง ซึ่งตั้งอยู่นอกเขตกำแพงมหาสีมาธรรมจักรของวัด รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่บรรจุพระอัฐิ และพระสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ไว้เพื่อเป็นพระบรมราชูทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา พระราชโอรส และพระราชธิดาในพระองค์ รวม 34 องค์ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ ทั้งพระเจดีย์ พระปรางค์ วิหารแบบไทย แบบขอม และแบบโกธิค  โดยรอบปลูกต้นลั่นทมและไม้พุ่มพรรณต่างๆ ดูแล้วสวยงาม ไม่ได้น่ากลัวตามวลีว่า “สุสาน” เลยครับ จากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เดินเท้าต่อตามถนนเจริญกรุง เพื่อมายังคลองโอ่งอ่าง ระหว่างทางก็จะมีอาคารสวยๆ อยู่ตลอดเส้นทาง เห็นแล้วก็แว๊บเห็นภาพถนนรมณีย์ ในจังหวัดภูเก็ตขึ้นมาในทันทีครับ

เดินมาสักพัก ก็มาถึงคลองโอ่งอ่างแล้วครับ คือเมื่อเห็นทัศนียภาพของคลองโอ่งอ่างแล้วต้องร้องว้าวในใจ เฮ้ย!!! สภาพตอนนี้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยจริงๆ

คลองโอ่งอ่างเป็นส่วนหนึ่งของคลองรอบกรุง ที่ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งสร้างพระบรมมหาราชวัง ปลายคลองไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร และยังเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างเขตพระนครกับเขตสัมพันธวงศ์ ในอดีตคลองโอ่งอ่างเป็นคลองที่ใช้สัญจรที่สำคัญของฝั่งพระนคร มีชุมชนตลอดช่วงสองฝั่งคลอง และยังเป็นแหล่งขายเครื่องปั้นดินเผาของชาวจีนและมอญที่สำคัญ จึงเป็นข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่มาของชื่อคลองโอ่งอ่าง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการสร้างสะพานที่ถอดรูปแบบสะพานริอัลโต เมืองเวนิช ซึ่งนับว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญในยุคนั้น จนเมื่อเมืองได้ขยายตัวมากขึ้น ความสำคัญของคลองก็ได้ลดลง การสัญจรทางบกจึงมีบทบาทมากขึ้น ทำให้เกิดชุมชนแออัดโดยรอบคลองและแปรเปลี่ยนสภาพเป็นคลองระบายน้ำทิ้งไปตั้งแต่บัดนั้น

จนเมื่อเดือนตุลาคม 2558 กทม.โดยมติของรัฐบาลได้ทำการรื้อถอนอาคารร้านค้าต่างๆ บริเวณริมคลองโอ่งอ่างที่ถูกบดบังทัศนียภาพมานานกว่า 40 ปี เพื่อทำการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้กลายเป็นถนนคนเดิน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกรุงเทพตั้งแต่นั้นมาครับ

ช่วงเวลาประมาณ 16.30 น. เป็นต้นไป ผมว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าเดินที่สุดแล้วครับ ร้านรวงต่างๆ เริ่มทยอยเปิดขาย หากใครอยากสัมผัสกับคลองโอ่งอ่างแบบใกล้ชิด สามารถใช้บริการเรือคายัคได้ มี Street Art แนวสะท้อนวิถีชีวิต รวมถึงย่านสำคัญๆ ของกรุงเทพ รวมทั้งภาพแนวสดใส น่ารักๆ ให้นักท่องเที่ยวได้แชะ ได้แชร์ อยู่โดยตลอดสองฟากคลองครับ

วันนี้ยังเดินไม่หนำใจ ขอไปเดินต่อที่สวนเบญจกิติครับ

จากคลองโอ่งอ่าง ผมเดินย้อนกลับมาที่สถานี MRT สามยอด และนั่งรถ MRT ไปลงที่สถานีศูนย์ประชุมสิริกิติ์ครับ แต่.... ตอนนี้ศูนย์ประชุมสิริกิติ์อยู่ระหว่างการซ่อมแซม ประตูทางเข้าสวนเบญจกิติตรงศูนย์ประชุมสิริกิติ์ เดินเข้าออกไม่ได้ครับ เศร้าเลย... ผมต้องเดินต่ออีกประมาณ 1.5 กม. เพื่อไปเข้าอีกประตูหนึ่ง โอ้ว..ให้ตายซิโรบิน นี่ถ้าเดินต่ออีกนิดหน่อย ก็จะถึงสถานี MRT สุขุมวิทแล้ว สำหรับใครที่ต้องการมาเที่ยวสวนเบญจกิติ แล้วใช้การเดินทางด้วย MRT แนะนำให้มาลงที่สถานีสุขุมวิทนะครับ จะเดินใกล้กว่าสถานีศูนย์ประชุมสิริกิติ์ครับ

ที่ผมเลือกมาปิดทริปที่สวนเบญจกิติเพราะทราบมาว่าสวนเบญจกิติเพิ่งเปิดตัวพื้นที่เฟสใหม่ไปไม่นาน เป็นสวนป่า มีไฮไลท์อยู่ที่ Sky walk ไหนๆ ได้เข้ากรุงเทพทั้งที ขอมาเปิดหูเปิดตา รับรู้สิ่งใหม่ๆ สักหน่อย เพราะเดี๋ยวจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง

การเดินทางมายังสวนป่าเบญจกิติเฟสใหม่ ให้เดินเข้ามาจากประตูหลัก เดินตรงมาเรื่อยๆ จนจะเห็นประตูเล็กๆ เพื่อไปยังลานจอดรถ เดินผ่านประตูเล็กเข้าไปแล้วเลี้ยวซ้าย เดินต่ออีกนิดก็ถึงทางเข้าเฟสใหม่แล้วครับ ถ้าเห็นป้ายนี้แปลว่าเดินมาถูกทางแล้ว

สวนเบญจกิติตั้งอยู่ในที่ดินของการยาสูบแห่งประเทศไทย กินพื้นที่รวม 450 ไร่ หลังจากที่ย้ายโรงงานยาสูบเดิมออก จึงพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ต่อมาในปี 2557 ได้มีการพัฒนาเฟสต่อมาเพื่อเป็นสวนป่ากลางใจเมือง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับสวนเบญจกิติเดิมได้ โดยโครงการนี้ต้องการเป็นต้นแบบของสวนสาธารณะเชิงนิเวศ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยใน 450 ไร่ แบ่งเป็นสวนป่าเบญจกิติ 259 ไร่ และ สวนน้ำอีก 130 ไร่ ครับ

สวนป่าเบญจกิติ จะแบ่งเป็น 3 เฟส โดยเฟสแรกเน้นปลูกต้นไม้หายาก จะมีเส้นทางเดิน ทางวิ่ง ทางปั่นจักรยานให้ออกกำลังกายกัน

สำหรับเฟส 2 และ 3 ถูกออกแบบให้เป็นสวนป่าธรรมชาติ มีบึงน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ และเขตป่าที่มีต้นไม้นานาพันธุ์ มีเนื้อที่รวมกันทั้ง 3 เฟสประมาณ 259 ไร่ โดยประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ พื้นที่ทางธรรมชาติ พื้นที่อาคาร และเส้นทางสัญจร จะเน้นให้มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้นกว่าเดิม เป็นป่าที่เกิดจากการคงต้นไม้เดิมกว่า 1,700 ต้นเอาไว้ และปลูกเสริมใหม่อีกกว่า 7,100 ต้น นอกจากนี้ยังมีบึงน้ำ 4 บึง สามารถรองรับน้ำได้ถึง 1.28 แสนลูกบาศก์เมตรเลยทีเดียว

สำหรับเส้นทางสัญจรภายในสวนป่านั้น ประกอบด้วยเส้นทางเดินลัดเลาะธรรมชาติ 5.8 กิโลเมตร เส้นทางวิ่ง 2.8 กิโลเมตร และเส้นทางจักรยาน 3.4 กิโลเมตร และไฮไลท์ที่ผมกล่าวไว้ในตอนต้น นั่นก็คือ Sky walk ที่จะเชื่อมต่อไปยังแต่ละโซน แต่ละบึงต่างๆ นอกจากนี้ยังมีทางเดินกลางสวน เป็นเส้นทางคดเคี้ยวที่แทรกตัวไปตามโซนต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้ที่มาใช้บริการสามารถสัมผัสกับความเป็นธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิดครับ

บึงน้ำ 4 บึง จะมีการแบ่งปลูกพรรณไม้ที่แตกต่างกัน มีทั้งไม้ป่าชายเลน ไม้บึงน้ำจืด ไม้ป่าดิบลุ่มน้ำ-ป่าดิบแล้ง และวนเกษตรสวนบ้าน ปัจจุบันเปิดให้เข้าชมเพียง 2 บึง คือ บึงพรรณไม้ป่าดิบลุ่มน้ำ-ป่าดิบแล้ง และบึงพรรณไม้น้ำจืด ส่วนที่เหลือ 2 บึง ยังไม่เปิดให้เข้าชมครับ

ส่วนพื้นที่ที่เป็นอาคาร จะมีอาคารกีฬาในร่ม ซึ่งรีโนเวดมาจากโกดังเก็บใบยาสูบ มีอาคารพิพิธภัณฑ์ รวมถึงอัฒจันทร์รองรับกิจกรรมของผู้ใช้งานได้ราว 15,000 คนเลยครับ

ช่วงพลบค่ำ จะมีการเปิดไฟบน Sky walk ด้วย เพิ่มความมีเสน่ห์เข้าไปอีกครับ

สวนป่าเบญจกิติ ถือว่าเป็นปอดแห่งใหม่และแห่งใหญ่ของกรุงเทพเลยครับ หากใครว่างๆ ลองไปซึมซับกับธรรมชาติแบบนี้ดูนะครับ วันหยุดเสาร์ อาทิตย์ คนอาจจะเยอะสักหน่อย แต่ถ้าใครไม่ชอบบรรยากาศพลุกพล่าน อาจเลือกมาเดินในวันธรรมดา หรือว่าช่วงเช้าเลยก็ได้ สวนป่าเบญจกิติเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00 – 21.00 น. ครับ

ทริปนี้เป็นอีกหนึ่งทริปที่ทำให้ผมได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์ของตัวเองให้กว้างขึ้น ได้เห็นกรุงเทพในอีกมุมมองหนึ่ง มุมมองที่ไม่คิดเลยว่าจะมีแบบนี้ในเมืองกรุง หยุดเสาร์อาทิตย์นี้ ถ้าหากเพื่อนๆ ไม่รู้ว่าจะไปเที่ยวไหน สามารถตามรอยเส้นทางเที่ยวของผมได้นะครับ อาจจะทำให้วันธรรมดาๆ ของคุณ กลายเป็นวันที่ทำให้คุณได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ อย่างผมก็เป็นได้ครับ

ปล.เข้าไปให้กำลังใจและติดตามผลงานของผมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/unclegreenshirt นะครับ