ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
    • โพสต์-1
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 04 , 2556

    กิ่วแม่ปาน ป่าสองมุมบนสันเขา

    นั่งดูรูปของคนอื่นมาก็เยอะ แอบอิจฉาคนที่ได้ไปเที่ยวมาก็มาก แถมปีที่แล้วเรามีโอกาสไปเยือนถึงยอดดอยอินทนนท์ แต่ก็ดันไปไม่ถูกเวลา เลยอดเข้าไปเที่ยว “เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน” ปีนี้เลยตั้งใจใหม่ โทรเช็คช่วงเวลาที่เหมาะสมเรียบร้อยก็จัดแจงขับรถขึ้นดอยอินทนนท์อีกครั้ง ขอไปเดินชมธรรมชาติให้เต็มตา สูดอากาศเย็นๆ ให้เต็มปอดซะหน่อย


    • โพสต์-2
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 04 , 2556

    เราเคยพูดถึงดอยอินทนนท์กันไปแล้ว ดังนั้นคงไม่ต้องทำความรู้จักกันอีกให้มากความ ตั้งซื่อ (ตรงไป) ไปที่ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน” เลยละกัน ก่อนจะก้าวเท้าเหยียบย่างเข้าไปชมป่า เราต้องหาไกด์ท้องถิ่นมานำทางซะก่อน เพราะเป็นกฏเหล็กของทางอุทยานฯ ที่ไม่อนุญาตให้เราเดินเตร็ดเตร่เข้าป่าไปตามลำพังเด็ดขาด ครั้งนี้เราได้ไกด์หนุ่มอารมณ์ดีชาวม้งมาเป็นผู้นำทาง ตลอดเส้นทางไกด์ก็จะชี้ชวนให้ดูนั่นนี่ไปเรื่อยๆ ซึ่งช่วยให้เราลืมเหนื่อยไปได้ชั่วคราว สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานนี้ มีระยะทาง 3.2 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 2,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล และมีสภาพผื่นป่าอันหลากหลายและยังจัดว่าสวยที่สุดของไทยด้วย ในช่วงแรกเราจะได้เดินผ่านเข้าไปในเขตป่าดงดิบ ที่มีเพียงแสงแดดรำไรกลางสายหมอกซึ่งเต็มไปด้วยเฟิร์นยุคโบราณ มอสสีเขียวสด และพันธุ์ไม้นานาชนิดในป่าเมฆ รวมถึงพื้นที่อันเป็นป่าต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตพวกเราทุกคน ความน่าตื่นตาตื่นใจของธรรมชาติที่เราได้พบเห็นในแต่ละย่างก้าว เราก็ได้รู้ว่าสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ต่างต้องอาศัยเกื้อกูลกัน เมื่อต้นไม้ใหญ่ล้ม แดดที่ส่องผ่านลงมาก็ชุบให้ชีวิตเล็กๆ ข้างล่างได้เติบโตและทำหน้าที่ของมัน เป็นวงจรการซ่อมแซมตัวเองของป่า ไม้น้อยใหญ่ผลัดกันทำหน้าที่จนกลับมาเป็นป่าที่สมบูรณ์อีกครั้ง

    • โพสต์-3
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 04, 2556
    • โพสต์-4
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 04 , 2556

    ผ่านจากป่าดงดิบที่มีเมฆหมอกเป็นเพื่อนร่วมทางแล้ว เราก็จะเข้าสู่บริเวณที่เรียกว่า ทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์ ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่เกิดขึ้นบนดอยอินทนนท์ และบนยอดเขาสูง 2,000-2,500 เมตรเท่านั้น บริเวณนี้เราจะเห็นไม้ล้มลุกขึ้นปะปนกับไม้พุ่มขนาดเล็กจากเทือกเขาหิมาลัยจำนวนมาก เราเดินผ่านดงเฟิร์นกูดเกี๊ยะ และไม้ดอกแปลกตาหลายชนิดจนมาถึงจุดชมวิวซึ่งเป็นไฮไลต์สำคัญของกิ่วแม่ปาน บริเวณนี้เป็นที่โล่งริมหน้าผา แค่แว็บแรกที่ได้เห็นเราก็รีบสาวเท้าไปยืนท้าลมหนาว สูดเอาไอหมอกเย็นๆ จนฉ่ำปอด ทิวทัศน์เบื้องล่างจากที่เป็นหมอกหนาทึบก็ค่อยๆ เปิดออกจนเห็นวิวด้านล่างที่ไกด์บอกว่าเป็นอำเภอแม่แจ่มได้อย่างชัดเจน และจากจุดนี้ถ้าใครโชคดีก็อาจจะได้เห็น “กวางผา” ออกมาหากินตามบริเวณหน้าผาในแถบนี้ด้วย และจุดเด่นที่สะดุดตาเราเป็นที่สุดก็คือ “ผาแง่มน้อย” หินแท่งใหญ่ 2 ก้อนที่ตั้งตระหง่านกลางหน้าผา พร้อมด้วยหินรูปหัวใจอีก 1 ด้วยที่อยู่ถูกที่เหมือนมีใครจับมาวางไว้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีเรื่องเล่าปรัมปราเกี่ยวกับความรักให้ได้ฟังแน่ๆ แต่เรื่องจะเป็นอย่างไรต้องลองไปฟังจากปากไกด์กันเองนะครับ

    • โพสต์-5
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 04, 2556
    • โพสต์-6
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 04 , 2556

    พักชมวิวกันจนหายเหนื่อยแล้ว เส้นทางเดินในระยะต่อไปจะเป็นทางเดินไปตามแนวสันเขา ซึ่งไกด์บอกว่ามีหลายคนที่ถอดใจและเดินย้อนกลับกันเสียดื้อๆ ด้วยเหตุผลว่าทางเดินตามสันเขานั้นแลดูน่าหวาดเสียว แต่สำหรับเราแล้วไม่มีทางยอมแพ้กันง่ายๆ อุตส่าห์เดินมาไกลขนาดนี้แล้ว ถึงแม้เส้นทางเดินจะเป็นทางแคบเลียบไปตามสันเขา แถมมีลมพัดแรงชวนหวาดหวั่น แต่ตลอดเส้นทางก็มีแนวรั้วกั้นไว้เรียบร้อย ความสวยงามจากกุหลาบพันปีที่บานอวดดอกสีแดงตามหน้าผาทำให้เราต้องรีบงัดกล้องออกมาถ่ายรูปไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะการจะได้เห็นดอกกุหลาบพันปีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย นอกจากต้นกุหลาบพันปีจะขึ้นเฉพาะในที่หนาวเย็นแล้ว บางปีไฟป่ายังรบกวนจนไม่มีดอกให้เราได้เห็นอีก ตลอดทางเดินบนสันเขาเราเพลิดเพลินกับการถ่ายรูปดอกไม้นานาชนิดมากจนลืมใส่ใจกับหน้าผาสูงที่กลัวในตอนแรกไปเสียสนิท รู้ตัวอีกทีทางเดินก็เริ่มพาเรากลับเข้าสู่ป่าอีกครั้ง ซึ่งป่าแถบนี้มีการแบ่งแยกพันธุ์ไม้ค่อนข้างชัดเจน ลาดเขาด้านล่างเป็นเชิงดอยที่มีอากาศร้อนชื้น จึงมีพันธุ์ไม้ใบกว้างและไม้ยืนต้นโตเร็วเป็นจำนวนมาก ส่วนบนสันดอยมีหมอกปกคลุม แดดส่องน้อยกว่ าจึงเป็นพันธุ์ไม้ใบเล็กพุ่มเตี้ยเสียมากกว่า บริเวณแถบนี้จึงเรียกว่า “ป่าร้อน ป่าหนาว”

    • โพสต์-7
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 04, 2556
    • โพสต์-8
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 04 , 2556

    ลึกเข้าไปอีกหน่อย เราก็จะได้เห็น ป่าเก่าแก่ที่มีต้นไม้เล็กใหญ่อยู่ปะปนกัน รวมถึงซากไม้ที่โค่นลงตามอายุ และแรงธรรมชาติ แล้วซากไม้เหล่านี้ก็กลายเป็นที่อาศัยของเห็ดราหลากสีให้เราได้หยุดถ่ายรูปกันสนุกสนานไปตลอดทาง ช่วงสุดท้ายของเส้นทางเราก็เริ่มได้ยินเสียงน้ำจากลำธารอีกครั้ง สลับกับเสียงนก เสียงลม และเสียงกิ่งไม้เสียดสีที่ไหวเอนไปตามแรงลม ไกด์หนุ่มบอกว่านี่แหละ “เสียงของป่า” ซึ่งเราว่ามันเหมือนเสียงดนตรีจากธรรมชาติ ซึ่งบ่งบอกได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ที่ธรรมชาติเท่านั้นจะสามารถสรรค์สร้างขึ้นมาได้

    • โพสต์-9
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 04 , 2556

    Note

    - เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน เปิดให้เที่ยวได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – เดือนมิถุนายน ของทุกปี

    - การเที่ยวชมตามเส้นทางนี้จะต้องใช้บริการไกด์ท้องถิ่นในการนำชม ซึ่งมีค่าบริการครั้งละ 200 บาท ต่อนักท่องเที่ยวจำนวนไม่เกิน 7 คน

    - เนื่องจากระบบนิเวศในกิ่วแม่ปานมีความเปราะบางมาก ดังนั้นทางอุทยานฯ จึงขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยว ให้เดินตามเส้นทางที่จัดไว้ ไม่เด็ดหรือทำลายพันธุ์ไม้ต่างๆ รวมทั้งไม่อนุญาตให้นำอาหารติดตัวเข้าไปด้วย

    - นักท่องเที่ยวควรแต่งกายด้วย เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และควรใส่รองเท้าหุ้มส้นเพื่อความสะดวกในการเดิน นอกจากนี้ควรนำ เสื้อกันหนาว หมวกกันแดด กล้องถ่ายรูป หรืออุปกรณ์จำเป็นอื่นๆ ติดตัวไปด้วย

    - บริเวณลานจอดรถด้านหน้าทางเข้ากิ่วแม่ปาน มีร้านค้า ร้านอาหาร และห้องน้ำสะอาดไว้คอยบริการ

    • โพสต์-10
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 04, 2556

    Editor's Comment

    • จุดเด่น:
    • ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจมาก ซึ่งช่วงเวลาที่ทางอุทยานฯ เปิดให้เที่ยวได้นั้น นับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของผืนป่าแห่งนี้ ซึ่งเราจะได้พบเห็นต้นไม้ ดอกไม้ และสิ่งมีชีวิตนานาชนิดที่อาศัยอยู่ร่วมกันด้วยความเกื้อกูล
    • จุดด้อย:
    • เส้นทางเดินบางช่วงเป็นทางชัน หรือเป็นทางเดินบนสันเขา ซึ่งรั้วกั้นอาจชำรุดบ้าง ดังนั้นควรใช้ความระมัดระวังในการเดิน และไม่ควรเดินออกนอกเส้นทางที่กำหนด นอกจากนี้อากาศข้างบนยังค่อนข้างเบาบาง เนื่องจากตั้งอยู่ในที่สูง ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรระมัดระวัง และควรเตรียมตัวให้ดี
    • ข้อสรุป:
    • ด้วยอากาศที่หนาวเย็น ทำให้เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน เดินสบายขึ้น ถึงแม้ว่าบางช่วงของทางเดินจะเป็นทางชันขึ้นเขา แต่ทางอุทยานฯ ก็จัดเตรียมทางเดินไว้เรียบร้อยดี รวมถึงไกด์ท้องถิ่นชาวม้ง ซึ่งทำหน้าที่นำทาง พร้อมคำชี้ชวนให้ชมพันธุ์ไม้ต่างๆ ทำให้เราเดินได้เพลินจนลืมเหนื่อย ที่สำคัญยังทำให้เราตระหนักได้ถึงความสำคัญของผืนป่าที่เราควรร่วมมือกันรักษาไว้ ไม่ใช่ยกหน้าที่ให้คนบางกลุ่มเป็นผู้ดูแล
    คะแนน
  1. โหลดเพิ่ม