เก๋ไก๋ สไตล์ไทย...ในอ่างทอง

“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ประโยคคุ้นชิน ติดหู ติดปาก คนไทยแต่ไรมา ที่ภาคกลางของเมืองไทยนี่แหละค่ะ ที่ได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ

วันนี้โบว์ ออกเดินทางอีกครั้ง เพื่อ “ท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋สไตล์ไทยในจังหวัดอ่างทอง”  จังหวัดที่ห่างจากกรุงเทพเพียง 105 กิโลเมตร

การเดินทางจากกรุงเทพ – อ่างทอง ก็ไม่ยากเลยค่ะ

โบว์ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านอำเภอบางปะอิน อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปจนถึงจังหวัดอ่างทอง

ก่อนออกเดินทางก็ต้องศึกษาจังหวัดที่เราจะไปเที่ยวกันเล็กน้อย จังหวัดอ่างทองมี 7 อำเภอ  กับระยะเวลา 2 วัน 1 คืน เห็นทีคงเที่ยวไม่หมดเป็นแน่ 

งั้นเที่ยวทั้งที ต้องให้เจ้าถิ่นเป็นผู้พาเที่ยวดีกว่า เอาที่เป็นไฮไลท์ๆ เลยก็แล้วกัน 

โบว์จึงติดต่อไปที่ท่านนี้ค่ะ …“ป้าเกษ” กนกพร สุภมาส บล็อกเกอร์รุ่นใหญ่สุดแซ่บ

เจ้าของรีวิวท่องเที่ยวที่มีคนตามอ่านมากมาย ในนาม “ป้าเกษ in house ท่องไปตามใจฝัน” 

ถึงป้าเกษจะไม่ใช่คนอ่างทอง แต่ก็มาใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดอ่างทองนานกว่า 10 ปีแล้วค่ะ

ทริปนี้โบว์เลยโชคดีได้ป้าเกษมาพาโบว์เที่ยวจนทั่วค่ะ 

อ่างทองในมุมมอง ป้าเกษและโบว์ จะเป็นอย่างไร ตามเราไปกันเลย..

โบว์นัดเจอกับป้าเกษ ที่ตลาดศาลเจ้าโรงทอง ตลาดจีน-ไทย สายใยร้อยปี วิถีวัฒนธรรม อำเภอวิเศษชัยชาญ เป็นการเปิดทริปค่ะ

“ตลาดศาลเจ้าโรงทอง”

มีประวัติยาวนานนับร้อยปี ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ครานั้นจังหวัดอ่างทองยังเป็นแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองที่เป็นทั้งสนามรบ ทางเดินทัพและแหล่งเสบียงอาหาร เป็นเมืองริมแม่น้ำที่สำคัญ และการคมนาคมทางน้ำนี้แหละ นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่แขวง กระทั่งก่อเกิดชุมชนและย่านการค้าขึ้นที่นี่ค่ะ 

อาคารบ้านเรือนทรงเก่า โบราณสถานและโบราณวัตถุ ตลอดจนวิถีที่สืบต่อกันมาของชุมชนดั้งเดิมแห่งนี้ คือเสน่ห์ ที่ยังคงไว้ในวิถีวันวาน โดยเฉพาะย่านตลาดเก่า อดีตศูนย์กลางธุรกิจการค้า ทุกวันนี้ ยังคงมีบางร้านค้าเปิดขายของตามปกติ เวลาเราเดินเข้าไปในตลาดศาลเจ้าโรงทอง เลยเหมือนได้เดินชมบรรยากาศของวันวานได้เป็นอย่างดี 

ที่แห่งตลาดนี้ สายวินเทจไม่ควรพลาด มีข้าวของให้ดูและซื้อหามากมาย ส่วนสายกิน เชิญมากินขนมไทยที่หาได้ยากแล้วหลายอย่าง ทั้งขนมไข่ปลา บ้าบิ่น เกสรลำเจียก ดอกลำเจียก

รับรอง อร่อย อิ่มท้อง และก็โดนใจค่ะ  

ตบด้วย ชากาแฟทั้งร้อนทั้งเย็น ได้ที่ “ร้านกาแฟกาเจ๊า” กาแฟโบราณที่อยู่คู่ตำนานตลาดศาลเจ้าโรงทองค่ะ เดินไปข้างตลาดอีกนิด ไปสักการะศาลเจ้าพ่อกวนอู  สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนที่นี่กันค่ะ   จากนั้น ป้าเกษก็พาโบว์ไปอำเภอโพธิ์ทอง แวะชมพระตำหนักคำหยาด โบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดอ่างทองค่ะ

“พระตำหนักคำหยาด”

กรมศิลปากรได้บูรณะ และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอ่างทอง ปัจจุบันมีเพียงแค่ผนัง 4 ด้าน ก่อด้วยอิฐโบกปูนขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร ยังคงเห็นเค้าความสวยงามทางด้านศิลปกรรมเช่น ลวดลายประดับซุ้มจรนำหน้าต่าง มีมุขเด็จด้านหน้าและด้านหลัง ภายในทาดินแดง ปูพื้นกระดาน 

ขอบอกเลยว่า  ผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพไม่ควรพลาด ป้าเกษแนะนำว่ามาช่วงเช้าจะถ่ายสวยกว่าค่ะ   ไปต่อกันด้วยการปั้นตุ๊กตาชาววังในแบบวิถีไทย ในอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง

“ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ”

เป็นเรือนไทยทรงสูง อยู่บริเวณวัดท่าสุทธาวาส ในพื้นที่ตำบลบ้านบางเสด็จ ตำบลนี้เดิมชื่อ บ้านวัดตาล ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อบ้านบางเสด็จเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในปี พ.ศ.2518  ซึ่งสร้างความปลื้มปิติให้แก่ราษฎรเป็นอันมาก เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณจึงได้เปลี่ยนชื่อบ้านวัดตาลเป็น บ้านบางเสด็จ 

มาที่นี่ป้าเกษพาโบว์มาพบกับคุณป้าป้อม (สุกัญยา  ศรด้วง) หนึ่งในราษฎรที่ได้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ กับเรื่องราวที่สร้างพลังใจให้กับผู้คนในหมู่บ้านบางเสด็จ ได้มีอาชีพจนถึงทุกวันนี้

มาทั้งทีเราก็ต้องลงมือแต่งแต้มสีสันให้ตุ๊กตาชาววังกันสักหน่อยค่ะ เห็นอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยนะคะ ต้องอาศัยสมาธิ และฝีมือในการระบายสีจริงๆ  

เที่ยวตลาดวิถีไทย ชมโบราณสถานแบบไทยไทย ปั้นตุ๊กตาชาววังของไทย ต่อจากนี้ก็ได้เวลากินอยู่แบบไทย พักบ้านเรือนไทย ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์กันต่อค่ะ

บ้านเพื่อนป้าเกษ อำเภอวิเศษชัยชาญ เปิดเป็นโฮมสเตย์เล็กๆ ต้อนรับแขกบ้านแขกเรือนอย่างโบว์ค่ะ
ลืมบอกไปว่า เอกลักษณ์หนึ่งของจังหวัดอ่างทองก็คือ บ้านเรือนทรงไทยนี่เองค่ะ

เอกลักษณ์ของภาคกลาง ที่มีลักษณะเป็นเรือนยกพื้นใต้ถุนสูง จะนอนเล่นใต้ถุนบ้าน หรือบนเรือนก็รับลมเย็นๆ ได้ดีจริงๆ เลยค่ะ 

ตกเย็น ป้าเกษก็ชวนโบว์ไปดักกุ้งกับชาวบ้าน พร้อมชมทุ่งนากันอย่างเพลินใจ  เมื่อได้กุ้งฝอยมาแล้ว เราก็เอามาทำเป็นหนึ่งในเมนูอาหารเย็นของเรากัน

โบว์ว่า... ความสนุกอีกอย่างหนึ่งเมื่อมานอนโฮมเสตย์ก็คือ การได้มาทำอาหารท้องถิ่นกับเจ้าบ้านนี่แหละค่ะ มื้อเย็นของเราวันนี้เลยมีกับข้าวไทยๆ หลายอย่าง ส่วนโบว์เองก็ได้โชว์ฝีมือตำน้ำพริกกะปิด้วยค่ะ 

และจบท้ายของค่ำคืนด้วยการนอนมุ้ง… กินอยู่หลับนอนแบบไทย เรียบง่ายและมีความสุขค่ะ   ตื่นเช้ามา เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศบ้านสวนสไตล์ไทยๆ ป้าเกษเลยชวนโบว์ให้ใส่ชุดไทย เพื่อไปใส่บาตรหน้าบ้าน   และไปเดินเล่นถ่ายรูปในหมู่บ้าน ชมวิถีชีวิตสโลว์ไลฟ์ของชาวบ้านที่นี่ค่ะ และออกเดินทางไปสักการะวัดไทย ในจังหวัดอ่างทอง

วัดม่วง อำเภอวิเศษชัยชาญ  จังหวัดอ่างทอง

สถานที่สุดท้ายที่ไม่มาไม่ได้ของทริปนี้ นั่นก็คือ ที่ที่เขาเล่าว่า... มาจังหวัดอ่างทองต้องมาสักการะองค์พระที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ “วัดม่วง” ที่ยังไม่ทันเข้าตัววัดก็จะเห็นองค์พระเด่นแต่ไกล 

“วัดม่วง”  ได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะสมัยสุโขทัยซึ่งเป็นยุคที่มีความสวยงามมากที่สุด ผู้คนต่างเข้ามาสักการะ “พระพุทธมหานวมินทร์ศากยะมุนีศรีวิเศษชัยชาญ”  ขนาดหน้าตักกว้างถึง 63 เมตร สูง 93 เมตร

เขาเล่าว่า... ใครที่ได้มากราบไหว้สัมผัสที่ปลายนิ้วของพระองค์ใหญ่ ท่านจะประทานพรให้เจริญรุ่งเรืองเป็นใหญ่เป็นโตในหน้าที่การงานค่ะ  

ก่อนจะเก็บภาพประทับใจ และลาป้าเกษเพื่อแยกย้ายกลับพระนคร เอ้ย!! กลับกรุงเทพมหานคร

เที่ยวเก๋ไก๋ สไตล์ไทยไปกับป้าเกษในครั้งนี้  โบว์ได้พบมุมมองใหม่ในการถ่ายภาพ และพบว่าจังหวัดอ่างทองยังมีเสน่ห์ ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของผู้คน และธรรมชาติบนพื้นที่นาใกล้กรุงเทพฯ 

โบว์รู้สึกสดชื่น และสดใสตลอดเวลา เมื่อได้อยู่ใกล้ป้าเกษผู้หญิงอย่าหยุดเที่ยว เปรี้ยวได้ในทุกที่คนนี้ค่ะ

ว่างๆ ลองหยิบกล้อง สะพายเป้ เที่ยวไทยเก๋ๆ แบบโบว์และป้าเกษกันดูนะคะ

ชมรายการเที่ยวไทยไม่ตกยุค ตอน เก๋ไก๋ สไตล์ไทย...ในอ่างทอง

ได้ที่นี่ค่ะ https://www.youtube.com/watch?v=LgMra9xUBks

 

ติดตามชมรายการเที่ยวไทยไม่ตกยุค

ทุกวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30 – 09.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส