ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
 
ลุยป่าไผ่ เลาะชายทุ่ง มุ่งสู่วิถีล้านนา ความสุขเกิดขึ้นที่ "ชุมชนผาปัง" ชุมชนผาปัง อำเภอแม่พริก
    • โพสต์-1
    theTripPacker •  กันยายน 08 , 2560

    ลุยป่าไผ่ เลาะชายทุ่ง มุ่งสู่วิถีล้านนา ความสุขเกิดขึ้นที่ ... ชุมชนผาปัง

    ในขณะที่สังคมเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยความวุ่นวาย และในหลาย ๆ ครั้งที่ความเจริญก็ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยที่จะต้องวิ่งตามให้ทัน การลองพาตัวเองออกมาจากเมืองใหญ่ มาพักกายพักใจในชนบท ที่ที่ธรรมชาติ และความเงียบสงบจะช่วยบำบัดเราให้คลายความตึงเครียดที่สะสมมาอย่างยาวนานลงได้บ้าง

    เราได้รับการเชื้อเชิญจากเพื่อนบ้านอย่าง Local Alike ซึ่งบอกเราว่าจะพาไปสัมผัสวิถีชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง ที่นี่มีความน่าสนใจ และมีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนชุมชนไหน รับรองว่าไปแล้ว จะได้รับทั้งความสุขทางกาย ทางใจ และได้ความรู้ใหม่ ๆ กลับมาอีกเพียบ ได้ยินดังนั้นเราก็แทบไม่ต้องตัดสินใจนานกันเลยครับ พร้อมเก็บกระเป๋า แล้วยอมไปกับเขาง่าย ๆ เลย และสำหรับทริปของเราในครั้งนี้ จุดหมายปลายทางคือที่ "ชุมชนผาปัง" อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง โดยทริปนี้มีการร่วมกันสร้างสรรค์เส้นทางขึ้นมาโดย Local Alike และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

    วันแรกของการเดินทาง เรามาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกันตั้งแต่เช้ามืด เพื่อเดินทางไปยังจังหวัดลำปาง โดยสายการบิน Bangkok Airways ถึงจะเช้าขนาดไหนก็ไม่ต้องห่วงเรื่องปากท้องนะครับ เพราะมีเลาจน์ที่ทางสายการบินจัดรับรองให้กับผู้โดยสารทุกท่านไว้คอยบริการ นั่งกินข้าวต้มมัด จิบกาแฟไปพลาง ๆ ก็ได้เวลาขึ้นเครื่อง และพร้อมออกเดินทางกันแล้วครับ

    • โพสต์-2
    theTripPacker •  กันยายน 08 , 2560

    นั่งบนเครื่องยังไม่ทันจะเมื่อยดี รู้ตัวอีกทีเราก็มาถึงจังหวัดลำปางกันแล้ว แต่ด้วยความที่ชุมชนผาปังอยู่ห่างจากตัวเมืองค่อนข้างมาก ต้องใช้เวลาเดินทางราว 1-2 ชั่วโมง เราเลยต้องขอแวะทานมื้อเช้ากันก่อน โดยเราแวะฝากท้องที่ "ร้านข้าวซอยโอมา" ร้านนี้เขาบอกต่อ ๆ กันมาว่าเป็นร้านข้าวซอยต้นตำรับฉบับนครลำปาง ทีเด็ดอยู่ที่น้ำซุปที่หอมมันกลมกล่อมไม่เหมือนใครเพราะว่าที่นี่ใช้กะทิสด ว่าแล้วก็ต้องขอจัดข้าวซอยหมูมาชามใหญ่ ซึ่งคุณป้าอุษาเจ้าของร้านก็ใส่เครื่องเครามาให้อย่างจุใจกันเลยทีเดียว

    แล้วก็ต้องบอกว่ารสชาติเด็ดสมคำร่ำลือ เติมผักกาดดองลงไปนิด ใส่พริก บีบมะนาวอีกหน่อย อร่อยจนเผลอแป๊บเดียวหมดชาม!! เพื่อไม่ให้มื้อนี้ขาดตอนเราเลยสั่งขนมปังหน้าหมูมาลองอีกซักหน่อย ซึ่งขนมปังหน้าหมูของที่นี่ก็ใช้วิธีการอบแทนการทอดในน้ำมัน รถชาติกำลังดี ทานคู่กับน้ำจิ้มอาจาดก็เข้ากันไม่น้อย ร้านข้าวซอยโอมายังมีอีกหลายเมนูที่น่าลอง ไม่ว่าจะเป็น ข้าวซอยน่องไก่ ข้าวซอยเนื้อ หมูสะเต๊ะ และขนมจีบ ใครผ่านมาแถวนี้ก็แนะนำว่าให้ลองแวะมาทานกันดูนะครับ

    • โพสต์-3
    theTripPacker •  กันยายน 08 , 2560

    ผ่านไปเกือบสองชั่วโมงเราก็มาถึงชุมชนผาปังกันแล้ว ตอนที่รถเราเลี้ยวเข้ามาในซอยที่เป็นถนนเส้นเล็ก ๆ เราก็รู้ได้เลยว่าต้องเป็นที่นี่อย่างแน่นอน สองข้างทางเต็มไปด้วยทุ่งนาเขียวขจีที่ช่วงนี้ต้นกล้าเริ่มสูง อีกไม่นานก็คงจะได้เวลาเก็บเกี่ยวกันแล้ว บ้านเรือนของชาวบ้านปลูกติดๆ กันบ้าง เว้นช่วงห่างกันบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นแบบเรือนไม้ยกสูง มีใต้ถุนบ้าน มีแคร่ไว้นั่งพักผ่อน มาถึงจุดนี้เราก็เริ่มตื้นเต้นรู้สึกอยากจะลงจากรถเต็มที่แล้ว

    เรามาถึงจุดนัดพบของชุมชนผาปังที่จัดไว้สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเป็นกลุ่ม เพื่อต้อนรับ และแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชน รวมไปถึงให้ข้อมูลที่น่าสนใจของชุมชนนี้แก่นักท่องเที่ยวด้วย เจ้าบ้านต้อนรับเราด้วยร้อยยิ้ม ภาษากำเมืองเพราะ ๆ  และน้ำอัญชันมะนาวหวานเย็นชื่นใจ แถมยังมีกล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ลองชิมอีกด้วย ตัวแทนชุมชนได้กล่าวแนะนำ และพูดคุยบอกเล่าถึงเรื่องราวของชุมชนมากมาย และทำให้เราได้รู้ว่า "ไผ่" คือไฮไลต์ของที่นี่ครับ ชุมชนผาปังแห่งนี้เป็นชุมชนแห่งต้นไผ่ ซึ่งไผ่จะอยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้านจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นชีวิตจิตใจของชุมชนแห่งนี้กันเลยทีเดียว ด้วยความที่ชุมชนผาปังเป็นพื้นที่เงาฝน เรื่องของน้ำอาจจะมีน้อยไปบ้าง ทำนาได้แค่ปีละครั้ง ซึ่งเพียงพอสำหรับการบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น ต้นไผ่จึงกลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของที่นี่ครับ

    เมื่อเราได้ทำความรู้จักกับชุนชนแห่งนี้มากขึ้นแล้ว ก่อนจะไปทำกิจกรรมต่อ ๆ ไป เรามาถึงนี่แล้วก็ต้องไปไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านชุมชนผาปังนับถือกันก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยที่จุดนัดพบนี้ยังเป็นที่ตั้งของ พระบรมธาตุเจดีย์หลวง 12 นักษัตร และอนุสาวรีย์พระนเรศวรมหาราช ซึ่งในการเข้าไปสักการะในครั้งนี้ ชาวบ้าน และแม่ ๆ ได้สอนให้เราทำสวยดอก (กรวยดอกไม้) ด้วยตัวเอง เพื่อนำไปบูชาองค์พระธาตุ และองค์พระนเรศวร ซึ่งถือเป็นการเริ่มกิจกรรมแรกของเราในวันนี้ครัับ  

    หลังจากนั้นเราก็เดินทางต่อเพื่อไปยังที่พักของเราในครั้งนี้ "บ้านเคียงดอยรีสอร์ท & โฮมสเตย์ ผาปััง" ทางเข้าของรีสอร์ทสังเกตไม่ยาก หากเจอซุ้มอุโมงค์ไผ่ที่ลาดชันขึ้นมาทางซ้ายมือ ก็เลี้ยวเข้ามาได้เลยครับ นี่แค่ทางเข้าก็ทำเราคว้ากล้องขึ้นมาแทบไม่ทัน หลังจากลงจากรถแล้วเราก็ไม่รอช้าขอเข้าไปสำรวจบริเวณที่พัก และห้องพักของเรากันก่อนเลยดีกว่า

    ห้องพักของที่นี่ต้องถือว่าดูดี และสะดวกสบายเกินคาด เป็นอาคาร 2 ชั้น มีทางเดินหน้าห้องโปร่งโล่ง รายล้อมไปด้วยต้นไผ่ และต้นไม้น้อยใหญ่ ทำให้เรารู้สดชื่นมากทีเดียว ห้องที่เราพักเป็นห้องสำหรับ 3 คน เป็นแบบเตียงเดี่ยว มีห้องน้ำในตัว  ห้องกว้างขวาง สะอาดสะอ้าน มีเครื่องปรับอากาศ และสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องก็ถือว่าครบครัน รับรองว่าคืนนี้หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง เราคงได้นอนหลับพักผ่อนกันได้อย่างเต็มที่แน่นอน

    สำรวจห้องพัก เก็บสัมภาระ ยืิดเส้นยืดสาย ล้างหน้าล้างตาเรียกความสดชื่นคืนมาเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาคว้ากล้อง และเตรียมออกไปลุยกิจกรรมอื่น ๆ กันต่อ แต่...กองทัพต้องเดินด้วยท้อง เราต้องขอตุนพลังงานด้วยมื้อกลางวันที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้เราดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกอ่อง ผักลวก และเด็ดสุดที่ถูกใจหลายคนคือ ผัดหน่อไม้ ซึ่งแน่นอนครับว่าเป็นหน่อจากไผ่ที่ปลูกในชุมชนแห่งนี้นี่เอง ซึ่งทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าทั้งกรอบ หวาน และมีกลิ่นหอมที่ไม่เหมือนที่ไหนด้วย ยิ่งทานคู่กับข้าวสวยร้อน ๆ ทำเอาแทบจะวางช้อนไม่ลงกันเลยทีเดียว

    เราเดินทางออกจากที่พักเพื่อไปยัง วัดห้วยไร่ สถานที่ที่เราจะไปทำกิจกรรมต่อไป แต่เจ้าหน้าที่ และไกด์ของเรา "น้องดาด้า" ขออาสาพาเราแวะชม วัดห่าง วัดเก่าแก่ที่ถูกปล่อยร้างมานาน แต่ยังคงเป็นโบราณสถานที่สำคัญของชุมชนแห่งนี้ และเป็นสถานที่จัดงานประเพณีสำคัญในทุก ๆ ปี ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

    กิจกรรมต่อไปที่เราจะไปทำที่วัดห้วยไร่ ก็คือการทำ "ตุง" ซึ่งเป็นธงแขวนแบบหนึ่งของทางภาคเหนือ ใช้ประดับ หรือประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ โดยมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับพิธีกรรมที่ใช้ตุง โดยตุงที่เราจะทำในวันนี้คือ ตุงไส้หมู ซึ่งทำจากกระดาษแก้วสีต่าง ๆ นำมาซ้อนกัน พับ และตัดเป็นรูปร่าง เมื่อคลี่ออกมาจะมีลักษณะยาว และขดย่นเหมือนไส้หมู นำไปผูกแขวนกับไม้คันตุง มักใช้ในงานบุญ งานตานก๋วยสลาก (ทอดกฐินของทางภาคเหนือ) และประเพณีขนทรายเข้าวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งในครั้งนี้แม่ ๆ ก็ได้สอนให้เราทำตุงของเราขึ้นมาเอง เลือกสีกระดาษเอง และนำไปถวายทานแก่วัดอีกด้วย ซึ่งระหว่างที่ทำตุงนั้น เราก็ได้เห็นถึงความสุข และรอยยิ้มของชาวบ้านที่เต็มใจ และพร้อมจะถ่ายทอดเรื่องราว ประเพณี รวมไปถึงวิถีชีวิตของคนล้านนาให้แก่นักท่องเที่ยว พวกเราเองที่ตอนแรกก็ดูจะงง ๆ กับขั้นตอนกันซักนิด แต่พอเริ่มตัด เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ก็เริ่มรู้สึกตื่นเต้น และนำมาประกวดอวดกันดูยกใหญ่ ใครได้เกรด 4 ตอนเรียนศิลปะก็ถือว่าโชคดีไปครับกับกิจกรรมนี้

    ถึงผาปังจะเป็นชุมชนเล็ก ๆ แต่บอกเลยว่ากิจกรรมที่นี่มีให้ทำเพียบ เสร็จจากการทำตุงไส้หมู เราก็เพิ่มพร๊อพกันอีกนิดด้วยการใส่บูท สวมหมวกปีกว้าง เตรียมตัวไปเป็นชาวสวน ชาวนากันต่อที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่เศรษฐกิจพอเพียง เดินเข้ามาเราจะเจอกับคอกวัวที่มีวัวพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ พร้อมทั้งเจ้า "ถุงพลอย" ลูกวัวสมาชิกใหม่ของคอก บริเวณเดียวกันก็จะมีเล้าไก่ที่เลี้ยงแบบธรรมชาติ รวมถึงห่านคู่สีขาวตัวใหญ่ ที่ส่งเสียงร้องต้อนรับพวกเราอยู่เป็นระยะ แวะรับน้ำอ้อยดื่มให้หายร้อน กินขนมเพิ่มน้ำตาลในเลือดอีกซักนิด แล้วเดินต่อไปยังแปลงนาผืนงามที่อยู่ตรงหน้า  เบื้องหลังทุ่งนาเป็นดอยหลวง และดอยอานม้าที่ทอดตัวเข้าหากัน เป็นทิวทัศน์ที่สวยงามน่าประทับใจมาก ๆ แนะนำว่ามาแล้วต้องไม่พลาดมาเก็บภาพสวย ๆ ตรงนี้ให้ได้นะครับ ที่นี่เราจะได้พบกับ ลุง ส.น. วิทยากร และชาวนาตัวจริง ที่จะให้ความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ และเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักของในหลวง ร.9 ทุกอย่างที่นี่ปลอดสารเคมี และยังมีการนำเทคโนโลยีด้านพลังงานอย่างโซล่าเซลล์มาใช้งานจริงอีกด้วย


     

    อยากเป็นชาวนา ก็ต้องดำนาเป็น ... กิจกรรมต่อไป ลุง ส.น. จะพาเราไปเรียนรู้วิธีการดำนาที่บอกเลยว่าดูเหมือนง่าย แต่มันไม่ได้ง่ายเหมือนอย่างที่เห็นเลย เข้าใจแล้วว่ากระดูกสันหลังของชาติ คำ ๆ นี้ มันเป็นแบบนี้จริง ๆ ลุงจะสอนตั้งแต่วิธีการเลือกต้นกล้า การจับ และการดำ ใครที่สนใจก็ใส่ถุงมือแล้วหาตำแหน่งตัวเองได้เลย ดำนากันไปซักพักพอได้เหงื่อ ลุงก็ทำเอาเราตื่นตาตื่นใจกันอีกรอบด้วยการเปิดตัวอย่างอลังการออกมาจากด้านหลังพุ่มไม้พร้อมกับรถปลูกข้าวอัตโนมัติ พร้อมกับคำพูดที่ว่า "ปลูกแบบนี้เมื่อไหร่จะเสร็จ" ทำเอาพวกเราหัวเราะไปตาม ๆ กัน


    หลังจากการดำนาเสร็จ พวกเราก็ถึงกับหมดเรี่ยวหมดแรงไปตาม ๆ กัน ก่อนจะขึ้นรถ น้องดาด้าไกด์หนุ่มน้อยของเรา บอกกับเราว่าเย็นนี้จะพาไปดู เคล็ดลับอายุยืน ของคนในชุมชนผาปังแห่งนี้กัน ซึ่งก็คือการ "รำไม้พลอง" ในทุก ๆ วัน เวลาราวหกโมง คนในชุมชน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ จะมารวมตัวกันที่ลานวัดเพื่อออกกำลังกายโดยการรำไม้พลองประกอบเสียงดนตรี เริ่มจากการอบอุ่นร่างกาย และมีท่าท่างประกอบเพลง ไปจนถึงการใช้ไม้พลองมาประกอบเป็นท่าทางต่าง ๆ ทั้งย่อ เหยียด บิด ยืด ซึ่งแม่ ๆ แข็งแรงกันมาก คนหนุ่มอย่างพวกเราบิดทีก็ร้อง ย่อทีก็โอย นี่แหล่ะคนเมือง ออฟฟิตซินโดรมเป็นแบบนี้นี่เอง เริ่มมืดแล้ว ฝนก็ทำท่าว่าจะตั้งเค้ามา ก็ได้เวลากลับที่พัก ค่ำนี้เรามี "ขันโตก" อาหารในสำรับแบบเหนือรอเราอยู่ ทุกคนมาถึงก็นั่งล้อมวงกันท่ามกลางแสงเทียน และขับกล่อมเราด้วยเสียงเพลงของวงสะล้อ ซอ ซึง สไตล์ล้านนาแท้ ๆ แม่ ๆ ก็นั่งด้วยกันกับเรา ทานข้าวกันไป คุยกันไป แลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ และเรื่องราวซึ่งกันและกัน

    "แม่ทองใบ" บอกกับเราว่า การที่มีนักท่องเที่ยว มีลูก ๆ มาเที่ยวกันแบบนี้ ทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่า และต่อชีวิตแม่ไปได้อีกนาน ทำให้เรารู้สึกว่า ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้เขาต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยใจ และมีความสุขที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนที่ตนเองรักแก่ผู้มาเยือน และหากในประเทศของเราเป็นแบบนี้ทุกชุมชนคงจะดีไม่น้อย เมื่อทานข้าวกันจนอิ่มแล้วแม่ ๆ ก็มีเซอร์ไพรส์โดยการมอบของที่ระลึกให้กับพวกเรา เป็นผ้าพันคอทอมือที่แม่ ๆ ทำขึ้นมาเอง นั่งทำกันจนดึกดื่นเพื่อให้ทันที่จะมอบให้พวกเรา แม่คล้องผ้าให้ แล้วก็ถึงช่วงเวลารำวง ทุกคนมีความสุข เต็มไปด้วยรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ ก่อนที่เราจะแยกย้ายไปพักผ่อนกันในค่ำคืนนี้

    • โพสต์-4
    theTripPacker •  กันยายน 08 , 2560

    เช้าวันใหม่เราตื่นตั้งแต่ไก่โห่ ออกมาดูวิถีชีวิตยามเช้าของชุมชนผาปังแห่งนี้ ต้นไผ่คายน้ำออกมาทางใบ สูดหายใจลึก ๆ แล้วชื่นฉ่ำดีไม่น้อย คุณป้า คุณยาย หอบผัก และขนมมาขายตามทาง บ้างก็กำลังเดินทางไปสวนไปนา นี่คือวิถีชีวิตที่ไม่ได้ปรุงแต่งแต่อย่างใด เป็นภาพที่เราหาไม่ได้จากในเมืองหลวง ไม่มีรถติด ไม่มีเสียงเครื่องจักร มีแต่เสียงแมลงที่ร้องดังกว่าเสียงเดินของเราเสียอีก 

    มื้ือเช้าวันนี้เป็นเมนูง่าย ๆ พวกขนมปังปิ้ง กาแฟ ข้าวต้ม ไข่ลวก วันนี้เรารู้ว่าต้องใช้แรงอีกเยอะเลยจัดไปหลายชุดสะสมพลังงานกันไว้ก่อนที่เราจะเดินทางไปป่าไผ่กันในวันนี้

    เราเดินทางไปยังป่าไผ่โดยรถอีแต๋น สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ถนนหนทางยังเป็นลูกรังบ้าง ดินภูเขาบ้าง ที่นี่ยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่มากพอสมควร เนื่องจากเมื่อคืนฝนเพิ่งตก เช้านี้เลยยังพอมีฝูงผีเสื้อที่บินมีกินดินโป่งให้เราได้เห็นอยู่บ้าง

    เราเดินทางเข้าไปลึกพอสมควรจนถึงจุดที่เราจะทำกิจกรรมปลูกไผ่กันในวันนี้ อาจารย์รังสฤษฎ์ บอกกับเราว่า ที่ตรงนี้ทางชุมชนต้องการจะทำเป็น แบมบู สตรีท เมืองไทย อยากให้เป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญ และเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนผาปัง นับว่าเราโชคดีที่ได้เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่มีโอกาสมาปลูกไผ่ และเป็นส่วนหนึ่งของถนนสายต้นไผ่ในอนาคต ระหว่างที่ทำกิจกรรม อาจารย์รังสฤษฎ์ ก็จะคอยบรรยาย และให้ข้อมูล เกี่ยวกับต้นไผ่แก่เราเป็นระยะ ๆ นับว่าเป็นการมาท่องเที่ยวที่ได้ความรู้ใหม่ ๆ กลับไปแบบเต็มกระเป๋ากันเลยทีเดียว

    จากนั้น ลุงรัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไผ่ ก็ได้สาธิต และสอนให้เราทำอาหารเลี้ยงไผ่ และวิธีชำไผ่อย่างละเอียดทุกขั้นตอน ใครสนใจก็สามารถลงมือทำด้วยตัวเองได้เลย เสร็จแล้วก็ได้เวลาอาหารว่าง เจ้าหน้าที่แจกกระติ๊บที่สานจากไผ่ ในนั้นเต็มไปด้วยข้าวต้มลูกโยน และน้ำกระเจี๊ยบเพิ่มความกระชุ่มกระชวย ก่อนที่เราจะออกเดินทางต่อไปเพื่อดู "ฝายมีชีวิต"

    เราเดินทางมาถึง "ฝายมีชีวิต" อาจารย์รังสฤษฎ์ เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาเป็นไปของฝายแห่งนี้ว่า เพื่อสร้างความตระหนักแก่ประชาชนในพื้นที่ชุมชนให้เห็นถึงความสำคัญของฝาย ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับใช้ช่วยในการกักเก็บชะลอการไหลของน้ำ ลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำธาร บรรเทาปัญหาน้ำหลากในช่วงฤดูฝน และทำให้น้ำซึมซับลงสู่พื้นดินได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า เป็นการสร้างพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ และแหล่งน้ำไปพร้อม ๆ กัน 

    เมื่อจบกิจกรรมที่ป่าไผ่เรียบร้อยแล้ว เราก็เดินทางกลับที่พักเพื่อเก็บของ และสัมภาระ เดินทางไปยังโรงเรียนนวัตกรรมเพื่อทานมื้อเที่ยง พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสำหรับทริปในครั้งนี้ และยังมีกิจกรรมเล็ก ๆ ให้เราได้ทำนั่่นก็คือ การวาดความสุข และความทรงจำของเราลงไปบนกระบอกไม้ไผ่ การขอพรผู้ใหญ่ และผูกข้อมือ ก่อนที่จะกล่าวอำลา และจบทริปชุมชนผาปังในครั้งนี้

    • โพสต์-5
    theTripPacker •  กันยายน 08 , 2560

    เราเดินทางกลับเข้าตัวเมืองลำปาง แต่ก่อนกลับก็ไม่ลืมที่จะแวะสักการะ พระธาตุลำปางหลวง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง ก่อนเดินทางต่อไปยังท่าอากาศยานลำปาง เพื่อกลับมาสู่ชีวิตคนเมืองกรุงฯ อีกครั้ง

    การมาเยือนชุมชนผาปังในครั้งนี้ เราได้รับประสบการณ์ ความรู้ และความสุขกลับมามากมาย เราสัมผัสได้ถึงความเป็นเจ้าบ้านที่ดี ความสำนึกรักบ้านเกิด การเป็นตัวอย่างของเยาวชนที่ดีของน้องดาด้า ไกด์หนุ่มน้อยที่ทำให้เรารู้สึกว่าอยากให้มีเด็กไทยแบบนี้อีกหลาย ๆ คน นอกเหนือจากทิวทัศน์ที่สวยงาม ความเงียบสงบของชุมชนแล้ว ความเป็นธรรมชาติของชาวบ้านที่นี่ถือเป็นหัวใจสำคัญของชุมชนแห่งนี้เลยก็ว่าได้ 

    หากครั้งหน้าใครมีโอกาสได้มาเยือนลำปาง ต้องบอกว่าที่นี่ไม่ได้มีดีที่รถม้า หรือกาดกองต้าเพียงอย่างเดียว ชุมชนเล็ก ๆ ที่แสนสุข อย่าง "ชุมชนผาปัง" แห่งนี้ จะกลายเป็นปลายทางของความสุขแห่งใหม่ของจังหวัดนี้อย่างแน่นอน

    • โพสต์-6
    theTripPacker •  กันยายน 13, 2560

    Editor's Comment

    • จุดเด่น:
    • ที่นี่ยังคงความสงบสุข และมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เป็นธรรมชาติ อากาศก็สะอาดบริสุทธิ์ ผู้คนยิ้มแย้่มใจใส และพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี นับว่าเหมาะกับนักท่องเที่ยวที่อยากลองมาพักผ่อนใช้ชีวิตแบบสโลไลฟ์ในชนบทดูบ้าง
    • จุดด้อย:
    • ด้วยความที่ยังไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว และยังอยู่ในช่วงของการเตรียมความพร้อมของชุมชน เรื่องการเดินทางอาจจะยังไม่สะดวกเท่าไหร่นักหากเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเองโดยไม่มีรถส่วนตัว และการเดินทางไปเที่ยวจุดต่าง ๆ ก็ยังไม่พร้อมด้านข้อมูล และป้ายบอกทาง บอกตำแหน่งสถานที่ต่างๆ ก็ยังไม่ชัดเจนมากพอ
    • ข้อสรุป:
    • ชุมชนผาปังเป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยวิถีชีวิตที่น่าสนใจ และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ด้วยความที่ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขา ทำให้บ้านผาปังมีจุดชมวิวที่สวยงามมากมาย และอีกทั้งในเรื่องของป่าไผ่ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของชุมชนแห่งนี้ และอาจจะเป็นสถานที่ชมป่าไผ่ที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในไทยในอนาคต
    คะแนน
    • โพสต์-7
    theTripPacker •  กันยายน 14 , 2560

    ข้อมูลทั่วไป

    บ้านเคียงดอย รีสอร์ทแอนด์โฮมสเตย์ ผาปัง

    ที่ตั้ง : 33/3 หมู่ 3 ตำบลผาปัง อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง

    GPS : 17.573298, 99.090813

    ประเภทห้องพัก :

    • ห้องเตียงเดี่ยว 2 เตียง จำนวน 4 ห้อง 
    • ห้องเตียงเดี่ยว 3 เตียง จำนวน 8 ห้อง

    ราคาห้องพัก : 

    • ห้องเตียงเดี่ยว 2 เตียง คืนละ 800 บาท (รวมอาหารเช้า)
    • ห้องเตียงเดี่ยว 3 เตียง คืนละ 1,000 บาท (รวมอาหารเช้า)

    เบอร์ติดต่อ : 064 224 5898 (คุณกันต์ระพี)

    Facebook : http://bit.ly/2f72b6s

    ---------------------------------------------------------------------------------------------------

    สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการบริการจัดทริป และบริการพาเที่ยวชุมชนผาปัง

    ติดต่อ : Local Alike

    เบอร์ติดต่อ : 02 115 9861

    เว็บไซต์ : https://www.localalike.com

    Facebook : https://www.facebook.com/LocalAlike

    • โพสต์-8
    theTripPacker •  กันยายน 14, 2560
    • โพสต์-9
    theTripPacker •  กันยายน 14, 2560