ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
    • โพสต์-1
    Jerdja •  พฤษภาคม 13, 2559

    ในย่านเมืองเก่าที่อัดแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศ 

    ท่ามกลางเสียงอึกทึกและความวุ่นวาย

    ยังมีความสงบ และเสน่ห์ของเมืองเก่า

    ในบริเวณที่เรียกขานว่า 

    หน้าพระลาน

    • โพสต์-2
    Jerdja •  พฤษภาคม 13 , 2559

    สนามหลวง...ลานกว้างในอ้อมกอดของเมืองเก่า

         ในสมัยรัชกาลที่ ๕ จากลานสี่เหลี่ยมคางหมูเล็กๆ หน้าพระบรมมหาราชวัง นาม ทุ่งพระเมรุ ลานประกอบพระราชพิธีสำคัญมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ขยายใหญ่ให้มีความยาวขึ้น ตัดถนนโดยรอบ และเปลี่ยนนามใหม่ให้เป็นมงคลว่า สนามหลวง

         ลานแห่งนี้ยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี รัฐพิธี พิธีกรรม และกิจกรรมต่างๆ เรื่อยมา ผ่านกาลเวลา และเรื่องราวที่ดีงาม กับความทรงจำอันโหดร้ายสลับกันไป

         สนามหลวงวันนี้ สงวนไว้ใช้เพียงพระราชพิธีเท่านั้น การจัดระเบียบและปรับปรุงภูมิทัศน์ทำให้สนามหลวงสวย สง่า สะอาดยิ่งขึ้น ทว่าภาพว่าวหลากชนิดบนผืนฟ้า ผู้คนที่มาเดินออกกำลังใต้ร่มมะขาม และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจก็มิได้เลือนหายไปแต่อย่างใด...

         คงเสน่ห์ของสนามหลวงไว้...เหมือนเดิม

    พระเมรุ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี เมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๕

    • โพสต์-3
    Jerdja •  พฤษภาคม 13 , 2559

    พระบรมมหาราชวัง...แหล่งรวมสรรพศาสตร์ศิลป์ช่างหลวง

     หากยืนอยู่ ณ สนามหลวง แล้วหันหน้าไปทางทิศใต้ คนที่เคยมาครั้งแรก คงไม่มีใครไม่ตะลึงไปกับความงามของปราสาทราชวังที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้าอย่างแน่นอน

          ภายในรั้วกำแพงสีขาว ประกอบไปด้วยวัดประจำพระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และหมู่พระที่นั่งต่างๆ ที่ลักษณะการวางผังคล้ายกับพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา

         พระบรมมหาราชวังแห่งนี้ เป็นสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และในขณะเดียวกัน ยังเป็นแหล่งรวมงานศิลปะฝีมือเยี่ยมจากช่างสิบหมู่ ช่างหลวงผู้มีฝีมือ และมีความศรัทธา ความตั้งใจในการรังสรรค์ผลงาน ซึ่งปรากฏอยู่ตามอาคารต่างๆ ให้ได้ยลกันถึงทุกวันนี้

         หากมาเยือนสถานที่แห่งนี้ แต่ไม่อยากเบียดเสียดกับคนเยอะๆ ในบริเวณวัดพระแก้ว ส่วนที่ค่อนข้างสงบเงียบคือ พระระเบียง ที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง รามเกียรติ์ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะชมผนังที่ใกล้กับทางเข้า ผนังห้องถัดๆ ไป คนจึงน้อยลง กลุ่มอาคารด้านทิศเหนือ อันประกอบไปด้วย หอพระมณเฑียรธรรม ห้องสมุดแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ พระเศวตกุฏาคารวิหารยอด หอพระพุทธรูปโบราณ และหอพระนาก หอพระอัฐิเชื้อพระวงศ์ฝ่ายวังหน้า 

         ในส่วนของพระบรมมหาราชวัง ยิ่งเดินเข้าไปด้านใน เลยพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทไป คนจะยิ่งน้อย ที่น่าสนใจคือ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระมหาปราสาทที่ประดิษฐานพระราชบัลลังก์ประดับมุกใต้พระมหาเศวตฉัตร พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการบูรณะในโอกาสครบรอบ ๒๐๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์ และโบราณวัตถุล้ำค่าอีกหลายชิ้น อยู่ภายในอาคารศิลปะตะวันตก ชั้นบนติดแอร์เย็นฉ่ำ มีเก้าอี้ให้นั่งอยู่ในบางห้อง เป็นสถานที่ลำดับสุดท้ายก่อนจะออกไปเที่ยวสถานที่ชมอื่นได้

    พระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

    เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. จำหน่ายบัตรถึงเวลา ๑๕.๓๐ น.

    ค่าเข้าชม คนไทย ฟรี / ชาวต่างชาติ ๓๕๐ บาท 

    ตรวจสอบวัน เวลา เปิด - ปิด ได้ที่ เว๊ปไซต์สำนักพระราชวัง (หรือค้นหาด้วย "ปฏิทินการเข้าชมพระบรมมหาราชวัง")

    • โพสต์-4
    Jerdja •  พฤษภาคม 13, 2559
    • โพสต์-5
    Jerdja •  พฤษภาคม 13 , 2559

    วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์...สถานที่สถิตของพระบรมฯ ธาตุ

         คติโบราณว่าไว้ ในนครใหญ่จะมีอย่างน้อย ๓ วัดสำคัญ คือวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐ์

         กรุงเทพมหานคร มี ๓ วัดตามประเพณี

         แม้ว่าในปัจจุบันนี้ บรรยากาศภายในวัดจะค่อนข้างเงียบ ไม่มีนักท่องเที่ยวมากนักเมื่อเทียบกับสถานที่ใกล้ๆ กัน แต่ทว่าในอดีต การเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ สถานที่ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกในสมัยรัชกาลที่ ๑ และสถานที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชหลายพระองค์ ยืนยันถึงความสำคัญของวัดนี้ได้อย่างชัดเจน

         สถาปัตยกรรมในวัดมีเอกลักษณ์แบบสกุลช่างวังหน้า ที่เด่นชัดคือ ใบเสมาที่อยู่บนผนังอาคาร แทนที่จะตั้งอยู่ที่พื้นรอบพระอุโบสถ อยู่ที่มุมทั้ง ๔ ด้านนอก และกึ่งกลางผนังด้านในอีก ๔ การตั้งใบเสมาลักษณะพบอีกแห่งในกรุงเทพมหานคร ที่วัดชนะสงคราม อันมีความเกี่ยวข้องกับวังหน้าด้วยเช่นกัน

     

     

    วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

    • โพสต์-6
    Jerdja •  พฤษภาคม 13, 2559
    • โพสต์-7
    Jerdja •  พฤษภาคม 13 , 2559

    สามท่าน้ำบนถนนมหาราช

         วิถีชีวิตของผู้คนในสมัยโบราณที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของไทย คือความผูกผันกับสายน้ำ ไม่ว่าจะทำอะไร ก็มักจะมีน้ำมาเกี่ยวข้องเสมอ จึงไม่แปลกใจที่ในบริเวณหน้าพระลาน มีท่าน้ำสำคัญเรียงตัวจากเหนือจรดใต้ ๕-๖ ท่า แต่จะกล่าวเพียง ๓ ท่าเท่านั้น

         หากเดินออกจากพระบรมมหาราชวัง เลี้ยวซ้ายมาตามถนนหน้าพระลาน จะพบกับตึกแถวเก่าศิลปะตะวันตกเรียงรายไปจนเกือบสุดถนน ตึกเหล่านี้ได้รับการบูรณะและทาสีใหม่ บางคูหาเป็นที่ทำการไปรษณีย์ บางคูหาเป็นร้านกาแฟ หรือร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว

         และเมื่อเดินมาสุดถนน ก็จะเจอกับ ท่าช้างวังหลวง หรือท่าพระ

         เหตุที่ชื่อท่าช้างวังหลวง ก็เพราะว่าเป็นสถานที่รับช้างเผือก และนำช้างลงไปอาบน้ำ ส่วนชื่อท่าพระ มาจากเหตุการณ์เมื่อครั้งอัญเชิญองค์พระศรีศากยมุนี จากกรุงสุโขทัย มาประดิษฐานที่วัดสุทัศน์ ก็ได้นำองค์พระขึ้นจากแพที่ท่าน้ำนี้ วังที่อยู่ใกล้กับท่านี้ก็ได้ชื่อ วังท่าพระ ตามไปด้วย

         ปัจจุบัน ท่าช้าง บรรยากาศค่อนข้างจะพลุกพล่าน เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่มากับทัวร์จะมารวมตัวกันที่จุดนี้

         เดินย้อนขึ้นไปด้านทิศเหนือ ตามถนนมหาราช ฝั่งตรงข้ามกับวัดมหาธาตุ มีท่าน้ำอีกท่าที่ได้รับการปรับปรุงจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมไปแล้ว ท่ามหาราช

         ท่ามหาราชในช่วงกลางวันอาจจะค่อนข้างเงียบ ด้วยสภาพอากาศและแสงแดดที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินเท่าไรนัก ส่วนใหญ่จะมาดูอาทิตย์อัสดงกันมากกว่า แต่ร้านอาหาร ร้านกาแฟก็ยังเปิดตามปกติ แวะทานข้าวทานขนมพักที่นี่ก็ได้

         และเหนือขึ้นไปติดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ตั้งของ ท่าพระจันทร์ จากตลาดน้ำสู่ตลาดบก และท่าเรือสำคัญอีกท่าหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นย่านที่อุดมไปด้วยของอร่อยสารพัด...มาถึงแล้วจะรออะไรล่ะ !

    • โพสต์-8
    Jerdja •  พฤษภาคม 13, 2559
    • โพสต์-9
    Jerdja •  พฤษภาคม 13 , 2559

    แหล่งเรียนรู้ในรั้ว "กรมศิลป์"

         บริเวณสนามหลวงที่เต็มไปด้วยเสียงพูดคุยของนักท่องเที่ยว เสียงตะโกนขายของจากพ่อค้าแม่ค้า ออกจะวุ่นวาย ทว่าเมื่อเข้ามาในรั้วของที่ทำการ กรมศิลปากร หน่วยงานพิทักษ์รักษาโบราณสถาน และวัฒนธรรมไทยทรงคุณค่า จะพบกับความเงียบสงบอย่างน่าประหลาด

         ตัวอาคารที่ทำการเป็นอาคารแบบตะวันตกที่มีภาพเขียนปูนเปียก หรือเฟรซโกอยู่เหนือหน้าต่าง รู้หรือไม่ว่า ในรั้วกรมศิลปากร มีแหล่งเรียนรู้ให้เที่ยวชม ๒ แห่งด้วยกัน !

         พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ อาคารหลังเล็กๆ ข้างที่ทำการ สถานที่เคยเป็นห้องทำงานของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้มีคุณูปการต่องานศิลปะไทย ทั้งอนุรักษ์ของเก่า ริเริ่มของใหม่ ผสมผสานเข้าด้วยกัน ปัจจุบันนอกจากจะแสดงข้าวของเครื่องใช้ของท่านแล้ว ยังจัดแสดงผลงานทางศิลปะอีกหลายชิ้น

         หอประติมากรรมต้นแบบ อยู่ถัดเข้ามาด้านในอีกหน่อย ใกล้กับอาคารท้องพระโรงวังหน้าพระลาน ที่แห่งนี้เป็นอดีตโรงปั้นหล่ออนุสาวรีย์สำคัญต่างๆ เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์บุคคลสำคัญในราชวงศ์ อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ท้าวสุรนารี  ฯลฯ ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว เป็นที่จัดแสดงต้นแบบรูปปั้นต่างๆ ที่กรมศิลปากรจัดทำขึ้น มีชื่อ และสถานที่ตั้งจริง ติดอยู่ที่ฐาน

         ทั้งสองพิพิธภัณฑ์นี้ เข้าชม ฟรี แต่เปิดให้เข้าชมในวันและเวลาราชการเท่านั้น (จ. - ศ. ๐๙.๓๐ - ๑๖.๐๐ น.)

     

    กรมศิลปากร ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

     

    • โพสต์-10
    Jerdja •  พฤษภาคม 14, 2559
  1. โหลดเพิ่ม