ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
 
ปราสาทศีขรภูมิ ทับหลังงาม นางอัปสราเด่น มีให้เห็นแห่งเดียวในสยาม ปราสาทศีขรภูมิ (Prasat Si Khoraphum) จ.สุรินทร์
    • โพสต์-1
    theTripPacker •  ธันวาคม 02 , 2556

    ปราสาทศีขรภูมิ ทับหลังงาม นางอัปสราเด่น มีให้เห็นแห่งเดียวในสยาม

    จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่มากด้วยปราสาทหิน ซึ่งหลายๆ แห่งก็เป็นที่รู้จักและมีชื่อคุ้นหูกันดีอยู่แล้วอย่าง “ปราสาทตาเมือนธม” ที่ขึ้นชื่อในด้านขนาดของปราสาทที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มปราสาทตาเมือน แต่ถ้าพูดถึงความโดดเด่นในด้านของความงดงามนั้นต้องยกให้กับ “ปราสาทศีขรภูมิ” ที่เราจะพาไปเที่ยวกันในครั้งนี้

    • โพสต์-2
    theTripPacker •  ธันวาคม 02, 2556
    • โพสต์-3
    theTripPacker •  ธันวาคม 02 , 2556

    การเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แบบนี้ ถ้าจะให้ได้อรรถรสครบเครื่อง เราควรที่จะทำความรู้จักและเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของสถานที่กันบ้างไม่มากก็น้อย จะได้เดินชมได้อย่างตรงจุด แถมยังจะรู้สึกตื่นเต้นไปกับทุกๆ สิ่งที่ได้เห็น เริ่มกันจาก เดิมปราสาทศีขรภูมิมีชื่อว่า “ปราสาทระแงง” ซึ่งตั้งตามชื่อตำบล เชื่อกันว่าสร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 ด้วยสถาปัตยกรรมขอมโบราณแบบนครวัด จากหลักฐานที่ปรากฏทำให้สันนิษฐานได้ว่า สถานที่แห่งนี้เดิมเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูที่บูชาพระศิวะผู้สร้างโลก เมื่อมาถึงบริเวณปราสาทศีขรภูมิ เราจะเห็นปราสาทหินสีแดงถูกล้อมด้วยคูน้ำตั้งเด่นตระหง่านชวนให้สะดุดตามาก บนฐานหินศิลาแลงสูงหนึ่งเมตรประกอบด้วยปรางค์ 5 องค์ ปรางค์ประธานตั้งอยู่ตรงกลางก่อด้วยอิฐขัดมันไม่สอปูน มีปรางค์บริวารล้อมรอบ 4 มุม เราค่อยๆ เดินตรงไปชมองค์ปรางค์ประธานก่อนเป็นอันดับแรก เพราะต้องการจะชมความงดงามของทับหลังที่อยู่บนหน้าบรรณซึ่งได้ชื่อว่ามีความสมบูรณ์และสวยงามมากที่สุดในประเทศไทย

    แล้วเราก็ได้เห็นหินทรายสลักลวดลายวิจิตร ซึ่งแทบจะไม่น่าเชื่อว่าทับหลังแผ่นที่ได้ผ่านกาลเวลามาหลายร้อยปีแล้ว ลวดลายที่ปรากฏนั้นเป็นรูป “ศิวะนาฎราช” ในท่วงท่าร่ายรำอ่อนช้อยโดยมีเทพอีก 4 องค์ร่วมบรรเลงอันได้แก่ พระคเณศ พระพรหม พระวิษณุ และนางปารพตี (นางอุมา) ซึ่งเป็นมเหสีของพระศิวะ รวมถึงเหล่าเทวดา ฤษี หงษ์ และสัตว์อีกหลายชนิด สำหรับคนทั่วๆ ไปอาจไม่ทราบว่าทับหลังศิวะนาฏราชชิ้นนี้มีความสมบูรณ์และสวยงามที่สุด อาจเป็นเพราะส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับชื่อ “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” ที่ปราสาทพนมรุ้งมากกว่า นอกจากทับหลังศิวะนาฎราชที่สวยงามแล้ว ปราสาทศีขรภูมิยังมีทับหลังอีก 3 แผ่น ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ 2 แผ่น และที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายอีก 1 แผ่น ถัดจากหน้าบรรณลงมาที่ซุ้มประตูเราจะได้เห็นเสาหินทรายจำหลักสลักเป็นรูป “นางอัปสราถือดอกบัว” หันหน้าทักทายผู้มาเยือนอยู่ทั้งสองด้าน ส่วนด้านข้างเป็นจำหลักสลักลายรูป “ทวารบาลยืนกุมกระบอง” ที่สำคัญรูปสลักนางอัปสรานี้หลงเหลือให้พบเห็นที่ปราสาทศีขรภูมิเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยเท่านั้น จึงจัดได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความพิเศษที่ทำให้เราตื่นเต้นจนแทบจะเก็บอาการไว้ไม่ได้ ก็ใครจะคิดว่าจะได้มาเห็นโบราณสถานอันสวยงาม และยังได้ยลทับหลัง กับรูปสลักนางอัปสราที่เป็นที่สุดของประเทศด้วยตาตัวเองแบบนี้

    • โพสต์-4
    theTripPacker •  ธันวาคม 02, 2556
    • โพสต์-5
    theTripPacker •  ธันวาคม 02 , 2556

    นอกจากลวดลายสลักเสลาบนทับหลังและซุ้มประตูที่บอกกันไปแล้วนั้น ปราสาทศีขรภูมิยังมีเครื่องประดับปราสาทอื่นๆ ที่สวยงามอีกมากมาย เช่น “กลีบขนุน” หินสลักลวดลายที่ใช้ประดับตามยอดของปรางค์ปราสาท แต่ถ้าอยากจะชมโบราณวัตถุชิ้นอื่นๆ ที่ขุดค้นพบในบริเวณปราสาทศีขรภูมิ แนะนำให้ไปชมกันต่อที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ ซึ่งที่นั่นจะจัดแสดงโบราณวัตถุสำคัญๆ ไว้มากมายหลายชิ้น ให้เราได้เดินศึกษาและได้ชมทุกชิ้นอย่างใกล้ชิด ถึงแม้ปราสาทศีขรภูมิจะมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ความงดงามและรายละเอียดต่างๆ ก็น่าสนใจพอที่จะดึงดูดให้เราประทับภาพที่เห็นไว้เป็นอีกหนึ่งในความทรงจำของเรา

    • โพสต์-6
    theTripPacker •  ธันวาคม 02 , 2556

    Note

    - ปราสาทศีขรภูมิ เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสุรินทร์ ดังที่ปรากฏในตราประจำจังหวัด

    - ในช่วงเดือนพฤศจิกายน จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองปราสาทศีขรภูมิเป็นประจำทุกปี

    - ปราสาทศีขรภูมิได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามหนังสือทะเบียนโบราณวัตถุทั่วราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๑๖ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ เมื่อวันที่ ๘ มี.ค. ๒๔๗๘

    • โพสต์-7
    theTripPacker •  ธันวาคม 02, 2556

    Editor's Comment

    • จุดเด่น:
    • ปราสาทศีขรภูมิ มีความโดดเด่นให้ด้านความสวยงาม ซึ่งตัวปราสาทนี้ยังคงความสมบูรณ์ไว้เป็นอย่างดี สังเกตุได้จากลวดลายหินแกะสลักต่างๆ โดยเฉพาะทับหลังที่อยู่บริเวณหน้าบรรณของปรางค์ประธานที่ถือว่าเป็นหน้าบรรณที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ที่เสาด้านข้างของซุ้มประตูยังมีรูปสลักนางอัสรา 2 ตน ที่พบเห็นได้เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยอีกด้วย
    • จุดด้อย:
    • ที่ปราสาทศีขรภูมิไม่มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำบรรยาย หรือให้ความรู้ในการชมปราสาทในส่วนต่างๆ รวมถึงป้ายที่บอกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวปราสาทก็ค่อนข้างเลือนลางอ่านได้ยาก ซึ่งทั้งหมดนี้อาจทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าใจถึงความเป็นมาของสถานที่ และไม่ค่อยได้รับความรู้จากการเที่ยวชม หากไม่ได้หาข้อมูลมาก่อน
    • ข้อสรุป:
    • ถ้าหากมาเที่ยวถึงจังหวัดสุรินทร์แล้ว น่าจะหาโอกาสแวะมาเที่ยวชมปราสาทศีขรภูมิด้วย เนื่องด้วยความสวยงาม ความสมบูรณ์ของตัวปราสาทที่ยังหลงเหลืออยู่นั้น ชวนให้เราทึ่งกับอารยะ วัฒนธรรมของขอมโบราณ ที่มีช่างฝีมือดีแกะสลักหินเป็นลวดลายวิจิตรบรรจง ซึ่งปราสาทศีชรภูมิแห่งนี้ไดรับการยอมรับว่ามีทับหลังที่สวย และสมบูรณ์ที่สุด และยังมีรูปสลักนางอัปสราเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย จึงอยากจะแนะนำให้มาชมด้วยตาตัวเองซักครั้ง
    คะแนน
    • โพสต์-8
    theTripPacker •  ธันวาคม 02 , 2556

    ข้อมูลทั่วไป

    ที่อยู่ : ถนนเทศบาล 5 อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

    GPS : 14.944525, 103.799078

    เวลาทำการ : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 7.30-18.00 น.

    ค่าธรรมเนียม : คนไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท

    ช่วงเวลาแนะนำ : ตลอดทั้งปี

    ไฮไลท์ : ปราสาทหินศีขรภูมิ เป็นศิลปะขอมในสมัยนครวัด ซึ่งโดดเด่นด้วยภาพทับหลังหินแกะสลักที่ถือว่ามีความสวยงามและสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีซุ้มประตูองค์กลางที่เสาทั้ง 2 ด้านมีรูปสลักนางอัปสราที่หลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยเช่นกัน

    กิจกรรม : เดินชมศิลปะขอม และความสวยงามของหินแกะสลัก ที่อยู่ตามตัวปราสาท รวมถึงศึกษาประวัติศาสตร์ของอารยธรรมความรุ่งเรืองในสมัยที่ขอมเรืองอำนาจ และสักการะพระพุทธรูปและพระพุทธบาทจำลองที่ประดิษฐานอยู่ด้านในปรางค์ประธาน

    • โพสต์-9
    theTripPacker •  ธันวาคม 02 , 2556

    วิธีการเดินทาง

    จากตัวเมืองจังหวัดสุรินทร์ มุ่งหน้าสู่อำเภอศีขรภูมิโดยเส้นทางหลวงหมายเลข 226 เป็นระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร จะเจอทางแยกเข้าถนนเทศบาล 5 ให้เลี้ยวขวาตรงไปอีกประมาณ 500 เมตร จะเห็นปราสาทศีขรภูมิอยู่ทางซ้ายมือ หรือสามารถไปตามป้ายบอกทางซึ่งมีให้เห็นอยู่เป็นระยะตลอดทาง


    • โพสต์-10
    theTripPacker •  ธันวาคม 02, 2556
  1. โหลดเพิ่ม