ภูเมี่ยง 8 เนิน 4 ผา แตะขอบฟ้าอุตรดิตถ์

“รอไม่ไหวแล้ว ไปเลย เดือนนี้แหละ” ผมนี่แหละที่บอกกับเพื่อนระหว่างคุยเรื่องทริปเที่ยวป่าช่วงหน้าฝนนี้ ซึ่งสถานที่ที่ผมบอกว่ารอไม่ไหวคือ ภูเมี่ยง ขุนเขาเจ้าของฉายา “เดี้ยงทุกราย” แห่งอุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ อำเภอน้ำปาด อุตรดิตถ์ อยากจะไปพิสูจน์ความหฤโหดสักหน่อยว่าจะแค่ไหน

บอกแล้วไปเลยจริงๆ ไม่รอช้า โทรหาอุทยานฯ สอบถามข้อมูลและค่าใช้จ่ายเรียบร้อยแล้วจองทริปทันที หาสมาชิกชักชวนเพื่อนฝูง ส่วนสภาพอากาศเป็นอย่างไรไปวัดกันดาบหน้า

อธิบายข้อมูลคร่าวๆ สักนิด เมื่อก่อนพื้นที่ภูเมี่ยงตรงนี้คืออุทยานแห่งชาติคลองตรอน (อักษรย่อ คต.) ที่ทำการอยู่ตรงทางขึ้นนี่แหละ แต่ต่อมามีการผนวก อช.คลองตรอน เข้ากับ วนอุทยานต้นสักใหญ่ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นอุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ (อักษรย่อ สญ.) ให้ที่ทำการฯ อยู่ตรงต้นสักใหญ่ ส่วนที่ทำการฯ เดิมตรงคลองตรอน ปรับเป็นหน่วยพิทักษ์ฯ ที่ สญ.1 (ต้นขนุน) แทน

ดังนั้นปัจจุบันถ้าจะไปภูเมี่ยง เราต้องเดินทางไปหน่วยพิทักษ์ฯ ที่ สญ.1 บ้านต้นขนุน ตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำปาด ไม่จำเป็นต้องเข้าไปที่ทำการอุทยานฯ นะครับ

อีกสิ่งสำคัญที่ต้องบอกไว้คืออุทยานฯ กำหนดให้นักท่องเที่ยวนอนเต็นท์เท่านั้น ไม่ให้ผูกเปล เพื่อความปลอดภัย และความเป็นระเบียบเรียบร้อยหลายอย่าง

(1)

ถึงวันเดินทาง หกโมงเช้าทีมออลสตาร์ของเราจาก กทม. ชลบุรี และโคราช หกคนก็รวมตัวกันที่ บขส.อุตรดิตถ์ แต่ยังมีที่ไม่มาตามนัดคือรถเหมารับ-ส่งของเจ้าหน้าที่ โทรถามกันไปกันมา สรุปได้ความว่าเกิดสื่อสารกันคลาดเคลื่อน ไม่มีรถมารับพวกเราในวันนี้ซะงั้น

เมื่อไม่มีรถมารับก็ต้องเข้าไปเองสิครับ ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร ถามสองแถวที่ บขส. เรียกราคาเหมา 2,000 บาท แพงกว่าราคาจ้างผ่านอุทยานฯ 500 บาท แต่ช่วยอะไรไม่ได้แล้วล่ะ

สองแถวพาเราไป หน่วยพิทักษ์ฯ ต้นขนุน หรือน้ำตกคลองตรอน ระหว่างทางแวะตลาดน้ำปาดซื้อเสบียงและสิ่งของจำเป็นเสียหน่อย ตรงนี้ถือเป็นจุดสุดท้ายของการเตรียมตัว มีทุกอย่างพร้อมเลยล่ะ

เหมา 2,000 บาท ถือว่าแพงไหม ตอนแรกก็ว่าแพงแต่พอเจอเส้นทางกว่าจะถึงหน่วยฯ ต้องยอมให้ราคานี้แหละครับ คนขับสองแถวเองเพิ่งเคยมาครั้งแรกก็บ่นอุบเหมือนกันว่าไม่คุ้มเลยน่าจะเรียกสัก 2,500 บาท เท่ากับไปภูสอยดาว ซึ่งแน่นอนครับเราทำหูทวนลมกันไป ตกลงกันตั้งแต่แรกแล้วนี่นา (ฮา...)

ถึงหน่วยพิทักษ์ฯ เก้าโมงครึ่ง พื้นที่ดูดีมากเลย มีลานกางเต็นท์ บ้านพัก ห้องน้ำใหม่เอี่ยม อาคารอเนกประสงค์ พวกเราเตรียมความพร้อมทันที นักท่องเที่ยวหก เจ้าหน้าที่หนึ่ง ลูกหาบหนึ่ง พิชิตภูเมี่ยงกับสโลแกนเท่ๆ 8 เนิน 4 ผา 13 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่บอกว่าเราเป็นกรุ๊ปที่สามของฤดูกาลนี้ หลังเพิ่งเปิดให้เที่ยวตั้งแต่ต้นกรกฎาคม

เส้นทางวันนี้เราจะเดินเลียบทางเข้าน้ำตกคลองตรอน 2 กิโลเมตร จากนั้นตัดขึ้นเขาผ่านเนินต่างๆ สี่เนิน อีก 6 กิโลเมตร จนถึงที่ตั้งแคมป์ชื่อว่าลานดงลูกพลับป่า

อย่างที่บอกว่าช่วง 2 กิโลเมตรแรกเป็นทางเดินเลาะลำธารน้ำตกคลองตรอนไปเรื่อยๆ ทางค่อนข้างราบเดินไม่ยาก มีเนินไม่ชันมากบางช่วง แต่ลูกหาบบอกว่า 2 กิโลเมตรนี้ถือเป็นของแถมเท่านั้น เจ้าหน้าที่จึงอธิบายเพิ่มว่าเมื่อก่อนเส้นทางตรงนี้เป็นถนนรถกระบะเข้าได้จนถึงที่ทำการฯ เดิม แต่หลังจากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากครั้งใหญ่ปี 2549 อาคารที่ทำการฯ ก็เสียหาย ถนนทางเข้าก็หาบวับ จึงต้องย้ายไปสร้างอาคารกันใหม่ด้านนอกตามที่เห็นทุกวันนี้

ลำธารน้ำไม่เยอะเท่าไหร่ครับ หลายช่วงมีกองหินระเกะระกะไปหมด เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังได้ความเพิ่มอีกว่าตรงนี้เป็นผลมาจากดินโคลนถล่มครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 แสดงให้เห็นว่าแถวนี้โดนภัยพิบัติบ่อยจริงๆ

ราวหนึ่งชั่วโมงเรามาถึงสามแยก ตรงไปเป็นน้ำตกคลองตรอน แต่เราเลี้ยวขวาไปตรงที่ทำการฯ เดิม ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นจริงๆ ของการขึ้นยอดภูเมี่ยงครับ... นี่แหละสภาพพื้นที่ที่ทำการอุทยานฯ เก่า ฝนตกลงมาพอดี พวกเราถือโอกาสนั่งพักเตรียมใจกันสักหน่อย สิบเอ็ดโมงครึ่ง ฮึบๆ ขึ้นเป้แล้วลุยต่อ เปิดด้วยเนินเบาๆ เดินประมาณสิบนาทีจึงถึงเนินที่ 1 เนินหยั่งเชิง (ขอแก้จากที่ป้ายสะกดผิดหน่อยนะ) ชื่อบอกแล้วว่านี่แค่หยั่งเชิงเท่านั้น

ของแท้ต้องนี่สิ เนินที่ 2 เนินท้าพิสูจน์ ทางยาว 1.3 กิโลเมตร ซึ่งในบรรดา 8 เนินของภูเมี่ยง ผมว่านี่คือหนึ่งในสองเนินโหดสุด ยังโชคดีว่ามีช่วงทางราบสั้นๆ สลับกับลงสั้นๆ ให้ผ่อนคลายขานิดหน่อย แต่สรุปแล้วคือโหดครับ (ฮา...)

เส้นทางขึ้นเนินตอนนี้เป็นทางเลียบไปตามน้ำตกห้วยทราย พอมีน้ำแบบนี้อะไรมันก็รู้สึกดีขึ้นทันตา ถึงเนินที่ 3 เนินรอคอย ชันโหดทีเดียว แต่ระยะไม่ยาวเท่าเนินที่ 2 ระหว่างทางผ่านน้ำตกชั้นสูงๆ ด้วย สวยใช้ได้ถึงน้ำจะน้อยไปสักนิดก็เถอะ พอสุดเนินที่สามต้องไต่น้ำตกกันทุลักทุเลนิดหน่อย พื้นลื่นมากครับเหยียบพลาดนิดเดียวมีหงายหลังแน่นอน สักบ่ายสองห้าสิบ เนินที่ 4 เนินสุดท้ายของวันนี้ เนินชุ่มฉ่ำ (อาจารย์แม่มาเห็นเขียนแบบนี้คงบ่นยับ) ฉ่ำแน่นอนเพราะไต่ไปเรื่อยๆ ตามชั้นน้ำตก สดชื่นดี

ผ่านเนินมาแล้วจะขึ้นมาอยู่เหนือน้ำตก หน้าผาสูงเสียวเหลือเกิน อย่าได้ลื่นเชียวล่ะ

นั่นแหละครับ เดินขึ้นอีกนิดพ้นหน้าผาไม่ไกลก็พบกับลานดงลูกพลับป่า ที่กางเต็นท์ของเราวันนี้ ลานกว้างพอประมาณ มีจุดก่อกองไฟ มีธารน้ำทั้งสำหรับใช้และอาบได้สบายๆ

ที่ต้องระวังหน่อยหนีไม่พ้นเพื่อนซี้ตัวน้อยซึ่งมาคู่กับป่าชื้นๆ หน้าฝนล่ะนะ ทากดูดเลือดนั่นเอง

เรามาถึงลานดงลูกพลับป่า 15.50 น. เริ่มเดินจากหน่วยฯ 10.15 น. เท่ากับใช้เวลาห้าชั่วโมงครึ่ง เป็นการเดินแบบไม่รีบเดิน พักเรื่อยๆ นั่งกินข้าวกลางวันกันด้วย หากทีมไหนแข็งๆ คงเดินเร็วกว่าเราเป็นชั่วโมง สรุปการเดินวันแรกถือว่าไม่ยากเท่าไหร่สำหรับการเดินป่าโดยทั่วไป

กิจกรรมที่ลานกางเต็นท์เป็นไปตามเรื่องของมัน ตั้งแคมป์ กางเต็นท์ ก่อไฟ ช่วยกันทำกับข้าวกับปลา เป็นบรรยากาศที่ไม่เคยเบื่อเลย เจ้าหน้าที่และลูกหาบดีมากๆ พร้อมช่วยเหลือเราทุกอย่างครับ

เพิ่มเติมที่นี่คือได้อาบน้ำเย็นฉ่ำ เลาะลำธารขึ้นไปสัก 50 เมตร มีแอ่งให้แช่เล่นสบายใจ มื้อเย็นวันนี้ พอกินเสร็จเราก็นั่งสนทนาสักพักใหญ่ ฝนตกลงมาแบบไม่ลืมหูลืมตา พอเริ่มซาต่างคนต่างหนีมุดเข้าเต็นท์ นอนเอาแรงเก็บพลังไว้พรุ่งนี้

(2)

ตื่นเช้าหุงหาอาหารตามปกติ วันนี้เรายังคงไม่ต้องเร่งอะไรเพราะระยะทางเหลือไม่ไกล เพียง 4 กิโลเมตร ก็จะถึงจุดตั้งแคมป์ที่สอง เพียงทว่าวันนี้เป็นการเดินแบบอัพแอนด์อัพ ทางราบและทางลงแบบเมื่อวานไม่มีแล้ว

เราสตาร์ตกันประมาณ 9.20 น. เดินมาสักพักก็เจอป้ายเนินที่ 5 อีกหนึ่งเนินโหดที่สุดของทริป ชื่อก็บอกแล้วว่าโหด เนินสยบเซียน

ไม่เพียงแค่โหดเพราะทางชัน เนินนี้ยังโหดเพราะเป็นดงทากด้วยครับ ก้าวช้าๆ ขึ้นเนินทีละนิด หยุดพักหอบหายใจทีละหน่อย เวลาเสี้ยวนาทีแป๊บๆ นี่แหละเป็นโอกาสทองให้ทากน้อยกลอยใจหาช่องทางมาตีสนิทกับเราแล้ว สุดเนินที่ 5 คือแนวสันเขา เป็นครั้งแรกที่เราพ้นแนวป่าขึ้นมา และเป็นจุดแรกที่มีสัญญาณโทรศัพท์ครับ ของทรู กับเอไอเอส เล่นเน็ตได้เลยล่ะ เจ้าหน้าที่บอกว่าถ้าฟ้าเปิดจะมองเห็นยอดภูเมี่ยงอยู่ข้างหน้า น่าเสียดายตอนนี้หมอกยังขาวโพลนมองไม่เห็นอะไร ผมพักเหนื่อยรอเพื่อนสักแป๊บ เอ๊ะรู้สึกคันพุงยิบๆ อีหร็อบนี้ไม่ต้องสงสัยเลยเพราะเป็นไปได้อย่างเดียว สวัสดีทากน้อย ตัวกำลังเป้งกินอิ่มอร่อยเชียวนะ แถมเป็นทากตอง (ทากลายสีเขียว) ที่ว่ากันว่ากัดคันกว่าทากดินตัวดำๆ เสียด้วย หลังชำระแค้นทากเรียบร้อยก็ไปต่อครับ (ผมเองก็ใช่เป็นคนจิตใจอ่อนโยนขนาดจะปล่อยมันไปเฉยๆ ด้วยสิ ฮา...) เนินที่ 6 ดงกระทือ ฟ้าเริ่มเปิดนิดๆ พอมองเห็นวิวให้ชื่นใจเล็กน้อย ขึ้นมาบนสันเขาแล้วอากาศเย็นๆ สบายตัวกว่าอยู่ในป่าเยอะเลย และเนินที่ 7 เหินเวหา เหนื่อยถึงตรงนี้ต้องขอแสดงความยินดีแล้วล่ะ เพราะขึ้นเนินอีกไม่เกินสิบนาทีก็ถึงจุดกางเต็นท์ เท่ากับว่าจากแคมป์แรกมาแคมป์สอง ใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงเท่านั้น

จุดกางเต็นท์ของเราเป็นอย่างที่เห็นครับ ที่ราบสันเขาขนาดกำลังดี ถึงตรงนี้เจ้าหน้าที่กับลูกหาบจะไปเอาน้ำมาให้ซึ่งต้องเดินลงไปสองกิโลแล้วขึ้นอีกสองกิโล ไกลโขขนาดนี้คงตามไปด้วยไม่ไหว (ฮา...) คงทำได้เพียงช่วยกันตั้งแคมป์กางเต็นท์ ต้มมาม่ากินเป็นมื้อกลางวันตามเรื่องตามราวของเราไป

บ่ายๆ ฟ้าเปิดมากขึ้นทำให้มองเห็นข้างล่างบ้างแล้ว และบางช่วงเห็นยอดภูเมี่ยงทั้งสองยอดคู่ข้างบนด้วย เจ้าหน้าที่กลับมาพร้อมน้ำสองถังใหญ่ประมาณบ่ายสองโมง พักสักแป๊บก็เรียกพวกเรารวมพลเพื่อขึ้นไปพิชิตยอดภูเมี่ยง พร้อมกับสภาพอากาศที่เริ่มเปิดมากขึ้นตามลำดับ เห็นป่าเขียวๆ แบบนี้คลอเคลียกับสายหมอกแล้วชื่นใจนัก เนินที่ 8 วิหคถลาลม (ป้ายเขียนผิดอีกแล้ว) ความสูงตรงนี้ 1,479 เมตร เราจะขึ้นไปที่ 1,656 เมตร เพราะฉะนั้นเหลืออีกไม่ไกลหรอก แค่เท่ากับที่ตาเห็นนั่นไง พอพ้นจาก 8 เนิน ก็มาต่อกันด้วย 4 ผา ผาที่ 1 ผาเริงรมย์ สบโอกาสฟ้าเปิดพอดี ไต่ระดับขึ้นกันต่อ ผาที่ 2 ผาแดง หากอยู่ตรงจุดกางเต็นท์จะมองเห็นผานี้ชัดเจนทีเดียว หมอกมาๆ ไปๆ ตามลม มีช่วงที่บางลงเลยได้เห็นยอดที่สองของภูเมี่ยงด้วย ต้องบอกว่าตลอดการเดินขึ้นยอดภูเมี่ยง มีหน้าผาและชะง่อนหินต่างๆ สวยมากครับ แต่ละจุดเหมาะกับการแอ็คท่าถ่ายรูปเหลือเกิน หมอกลอยเปิดบ้างปิดบ้างได้ภาพหลากหลายดีเหมือนกัน ผาที่ 3 ผาชมหมอก โชคดีได้ภาพยอดเขาคู่ของภูเมี่ยงมาเป็นรางวัลความพยายาม ผาที่ 4 ผาวัดใจ ผาสุดท้ายก่อนถึงยอดแล้ว

และในที่สุดก็มาถึงจนได้ ป้ายผู้พิชิตยอดภูเมี่ยงซึ่งอยู่ยอดแรก แนวยอดเขาตรงนี้เป็นรอยต่อสองจังหวัดอุตรดิตถ์ – พิษณุโลก เจ้าหน้าที่บอกว่าแต่ก่อนจะดันยาวเดินหนึ่งวันมาตั้งแคมป์ตรงนี้เลย พอวันที่สองค่อยเดินไปชมวิวอีกยอดแล้วลงอีกทาง เพราะความโหดหินตอนนั้นแหละเลยเป็นที่มาของฉายาภูเมี่ยงเดี้ยงทุกราย

ทว่าหลังจากเหตุการณ์ดินถล่มปี 54 ซึ่งทำให้ภูเมี่ยงต้องปิดไปพักใหญ่ กลับมาเปิดอีกครั้งก็ได้กำหนดทางเดินใหม่ให้มาสุดที่ยอดแรกเท่านั้น และกำหนดทริป 3 วัน 2 คืน ทำให้การเดินง่ายขึ้น ซึ่งไม่เพียงนักท่องเที่ยวไม่เหนื่อยมาก ลูกหาบก็ไม่ต้องเจ็บหนักเจียนตายเหมือนสมัยก่อน

เข้าใจตรงกันแล้วกันว่าทริปภูเมี่ยงปัจจุบันกำหนดแบบนี้ เมื่อก่อนคือเรื่องของเมื่อก่อนครับ

ว่าแต่ว่าพอถึงยอดแล้ว ฟ้ากลับโดนหมอกคลุมเกือบตลอดเสียอย่างนั้น พวกเราอุตส่าห์เอ้อระเหยรอไปเรื่อย รอกระทั่งฝนตั้งเค้าจะเทลงมาเลยต้องรีบเผ่นก่อน ได้แค่ไหนก็แค่นั้นแล้วกัน

ขาลงอย่างไว ผ่านผาที่ 4 3 2 กลับมาถึง ผา 1 เจอของดีเข้าเต็มๆ อธิบายไม่ถูกให้ภาพบรรยายแล้วกันนะ ตอนอยู่บนยอดเหมือนฝนจะกระหน่ำ แต่พอลงมาข้างล่างปรากฏว่าไม่มีฝนเลย แม้ลมจะโหมเป็นระยะสักหน่อยแต่ก็ยังดีกว่าเจอฝนสาดล่ะนะ พวกเราก็ทำกับข้าวกินข้าวกันไป ถึงเวลาก็แยกย้ายเข้านอนเต็นท์ใครเต็นท์มัน

(3)

เช้าวันรุ่งขึ้น ลมแรงขนาดนี้ไม่มีหมอกอะไรให้ต้องลุ้น หมอกที่ปกคลุมยอดเขาเองก็น้อยลงด้วยครับ ทำให้มองเห็นสองยอดคู่ของภูเมี่ยง (ผาที่เห็นอยู่ข้างหน้ายอดแรกคือผาแดง หรือผาที่ 2) เช่นเดียววิวทิวทัศน์โดยรอบ แต่ไม่มีใครในกลุ่มเราคิดจะกลับขึ้นไปพิชิตยอดอีกครั้งแล้วล่ะ (ฮา...)

ฟ้าเปิดทำให้เรามองอีกฝั่งเห็นไกลถึงเขื่อนสิริกิติ์อยู่ลิบๆ เลยเชียวล่ะ ส่วนด้านล่างภูเขาจะเห็นหลังคาแดงๆ เล็กๆ นั่นคือวัดต้นขนุน ใกล้กับจุดเริ่มต้น หน่วยพิทักษ์ฯ ที่เราเดินมานั่นไง

หลังกินข้าว เก็บของ เคลียร์พื้นที่กางเต็นท์เรียบร้อย พวกเรายิงยาวรวดเดียวลงข้างล่างกันเลย ผ่านแต่ละเนินลงมาเรื่อยๆ ใช้เวลาเร็วกว่าขาขึ้นแบบคนละเรื่อง

ถึงที่ทำการฯ เก่า ผมขอแยกตัวไปดูน้ำตกคลองตรอนสักหน่อยโดยมีเจ้าหน้าที่นำทางไปด้วย พอมีน้ำอยู่บ้าง ไม่สวยมากแต่ก็สดชื่นดีพอสมควร

หลังจากนั้นจึงตรงดิ่งกลับหน่วยฯ ถึงเป็นคนสุดท้ายของกลุ่ม กินข้าวกินน้ำเย็นๆ ให้ชื่นใจ อาบน้ำอาบท่าเรียกความเป็นมนุษย์สะอาดสะอ้านกลับคืนมา

แต่ทริปของเรายังไม่จบเท่านี้ครับมีแถมนิดหน่อย รถที่พาเราไปส่ง บขส. (ซึ่งจริงๆ คือรถที่ควรไปรับเราวันแรกด้วย) พาแวะชมต้นสักใหญ่ตรงที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งอยู่ระหว่างทาง เป็นต้นสักใหญ่สุดในโลกที่ยังเหลืออยู่ อายุมากกว่าพันปี จัดการถ่ายภาพเป็นที่ระลึกสักหน่อย

เรากลับถึง บขส. อุตรดิตถ์ประมาณสี่โมงเย็น ต่างคนก็แยกย้ายกันกลับเหมือนขามา จบทริปภูเมี่ยงไว้แต่เพียงเท่านี้

ยอมรับเลยครับว่าภูเมี่ยงเป็นป่าที่เดินสนุกมากจริงๆ อีกทั้งกำหนดการเดินในปัจจุบันก็ถือว่าลงตัวพอเหมาะ ไม่หนักจนเกินไป แต่ก็ใช่ว่าจะง่ายแบบสบายตัวปลิว สมญานามภูเมี่ยงเดี้ยงทุกรายอาจจะไม่ใช่เช่นนั้นอีกแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นก็เล่นเอาหมดพลังไปไม่ใช่น้อย

เป็นอีกป่าแนะนำสำหรับน่าฝนครับ ภูเมี่ยงสักครั้งควรค่าแก่การมาลองจริงๆ

ข้อมูลเล็กน้อยและค่าใช้จ่ายพิชิตภูเมี่ยง

  • ทริป 3 วัน 2 คืน เปิดให้จองขึ้นได้ทุกวัน ทั้งวันธรรมดาและวันหยุด ควรจองล่วงหน้าอย่างน้อยสองสัปดาห์ และจำกัดนักท่องเที่ยวไม่เกิน 30 คน ต่อวัน ติดต่อ อช.ต้นสักใหญ่ โทร. 0895100070, 0640830886
  • ค่าใช้จ่าย เจ้าหน้าที่นำทาง วันละ 500 บาท ต่อคน สามวันรวม 1,500 บาท (หากนักท่องเที่ยวเกิน 10 คน ต้องใช้เจ้าหน้าที่ 2 คน) ลูกหาบ วันละ 600 บาท ต่อคน สามวันรวม 1,800 บาท แบกน้ำหนัก 20 กิโลกรัม
  • ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ คนละ 20 บาท ค่าค้างแรมคืนละ 30 บาท ต่อคืน ต่อคน
  • อุทยานฯ กำหนดให้นักท่องเที่ยวกางเต็นท์นอนเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ผูกเปลนอน
  • หากต้องการรถรับ-ส่ง จาก บขส.อุตรดิตถ์ ติดต่ออุทยานฯ ล่วงหน้า หรือติดต่อคุณเปี๊ยก 0941659391 ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ ไป-กลับ 3,000 บาท
  • เส้นทางเดินจากหน่วยฯ ถึงยอดประมาณ 13 กิโลเมตร วันแรก 8 กิโลเมตร วันที่สอง 5 กิโลเมตร
  • มีน้ำใช้ตลอดทั้งทริป วันแรกจะเดินเส้นทางเลียบลำธารและมีธารน้ำตรงจุดตั้งแคมป์ วันที่สองเจ้าหน้าที่และลูกหาบจะดูแลนำน้ำไปให้ใช้ตรงจุดตั้งแคมป์
  • สัญญาณโทรศัพท์ของทรู และเอไอเอส มีตลอดตั้งแต่ขึ้นแนวสันเขาของการเดินวันที่สอง
  • มีโอกาสเจอทากพอสมควรตลอดการเดินบริเวณธารน้ำ และจุดตั้งแคมป์ในวันแรก

-------------------------------------------------------------------

ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยวเดินทางของผมได้อีกช่องทาง
http://www.facebook.com/alifeatraveller