". . สตูลเป็นอีกหนึ่งจังหวัดทางภาคใต้ที่น่าสนใจ มีความสวยงามทั้งทางธรรมชาติและวิถีชีวิตมากมาย อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย และยังสามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี . ."

 

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เมื่อทาง UNESCO ได้ประกาศให้ . . .  "อุทยานธรณีสตูล" เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 3 แหล่งอุทยานธรณีโลก

สำหรับพื้นที่อุทยานธรณีสตูล อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอทุ่งหว้า อำเภอละงู อำเภอมะนัง ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติตะรุเตา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และบางส่วนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด และแหล่งท่องท่องเที่ยวภายใต้พื้นที่อุทยานธรณีสตูลที่เราได้ไปสัมผัสมาและจะนำมาเล่าสู่กันฟัง ได้แก่ ถ้ำเลสเตโกดอน ถ้ำภูผาเพชร ปราสาทหินพันยอด(เกาะเขาใหญ่) และนอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ อีกหลายสถานที่เลย . .

 

.......................................................................................................................................................

สถานที่แรกเมื่อเรามาถึงสตูล..
อุทยานแห่งชาติทะเลบัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมากในจังหวัดสตูล ที่นี่มีบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า "บึงทะเลบัน" เป็นไฮไลท์ ซึ่งเกิดจากการยุบตัวของแผ่นดินกลางหุบเขาของเทือกเขาจีนและเขาวังประ

อุทยานแห่งชาติทะเลบัน จะเปิดเวลาประมาณ 08.00 - 17.00 น. โทร. 083 533 1710

การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ ขับรถตามทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษมจนถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ขับไปต่อตามทางหลวงหมายเลข 4 ถนนสายเอเชีย จนถึงอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 406 จนถึงอำเภอควนโดน ให้แยกไปต่อตามทางหลวงหมายเลข 4184 ถนนสายชายแดนไทย-มาเลเซีย จนถึงทางแยกเข้าตำบลวังประจัน อีกไม่ไกลก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติทะเลบัน

บรรยากาศโดยรอบมีต้นไม้ และพืชพรรณต่างๆ ขึ้นอยู่มากมาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของที่นี่เป็นอย่างดี ภายในบึงก็จะมีปลาน้ำจืดและสัตว์น้ำอื่นๆ อาศัยอยู่ อากาศที่นี่จะเย็นสบาย ร่มรื่น เหมาะแก่การมาพักผ่อน และมาสูดอาการบริสุทธิ์

นอกจากนี้ที่นี่ยังมีเส้นทางสำหรับเดินศึกษาธรรมชาติ ซึ่งจะมีรอยสัตว์ต่างๆ ให้เห็น เช่น หมูป่า เลียงผา ลิง ฯลฯ มีเส้นทางเดินป่าระยะไกล และยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ภายในอุทยานฯ อีกด้วย

 

"ศาลาทรงแปดเหลี่ยม" ถือเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ เพื่อให้นั่งพักผ่อนหย่อนใจ พร้อมกับฟังเสียงของเจ้าถิ่นที่จะคอยส่งเสียงเจื้อยแจ้วมาเป็นระยะ และเจ้าถิ่นที่ว่านั้น ก็คือ "เขียดว้าก" หรือ "หมาน้ำ" ที่อาศัยอยู่กับต้นบากงบริเวณรอบๆ บึง ซึ่งบอกได้เลยว่าใครมาที่นี่แล้วไม่ได้ยินเสียงของเขียดว้ากถือว่ามาไม่ถึงทะเลบัน

 

หน้าตาของเขียดว้ากกกกก . .

 

 

น้ำตกปาหนัน ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอตวนกาหลง จังหวัดสตูล อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติกัวกาหมิง และเขตอนุรักษ์ป่าโตนงาช้าง น้ำตกปาหนันยังเป็นที่ตั้งของโรงผลิตไฟฟ้าแรงดันน้ำขนาดเล็กของจังหวัดสตูลอีกด้วย

การเดินทาง : ใช้เส้นทางถนนยนตรการกำธร สาย 42(สตูล- หาดใหญ่) ไปทางทิศตะวันออกบริเวณหน้าโรงเรียนบ้านทุ่งนุ้ย มิตรภาพที่ 42 ประมาณ 7 กิโลเมตร เส้นทางคมนาคมเป็นถนนลาดยางตลอดสายบริเวณน้ำตกตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล

ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวสตูลจะมานั่งพักผ่อน เล่นน้ำให้คลายร้อน เพราะจะมีน้ำไหลตลอด สามารถมาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี และมีแอ่งน้ำที่สามารถลงเล่นน้ำได้ด้วย . .

 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สตูล (คฤหาสน์กูเด็น) ตั้งอยู่ที่ถนนสตูลธานี ซอย 5 ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูลอาคารคฤหาสน์กูเด็น สร้างขึ้นโดยพระยาภูมินารถภักดี หรือ "ตวนกู บาฮารุดดิน บินตำมะหงง" เจ้าเมืองสตูล อาคารหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เมื่อครั้งมาเยือนเมืองสตูล แต่พระองค์มิได้ประทับแรมที่อาคารหลังนี้ ต่อมาจึงไว้ใช้สำหรับว่าราชการ และสำหรับรับแขกบ้านแขกเมืองเมื่อมาสตูล และต่อมาอาคารหลังนี้ได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมืองสตูล เป็นที่เก็บรวบรวมข้อมูล และจัดแสดงประวัติศาสตร์ของเมืองตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตชาวสตูล

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูล เปิดทำการทุกวันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา 09.00 - 16.00 น.

ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ต่างชาติ 30 บาท

 

แบบจำลองตัวอาคารคฤหาสน์กูเด็น

 

บริเวณชั้นหนึ่งของตัวอาคารจะจัดแสดงเรื่องราวภูมิหลังของเมืองสตูล และจำลองวิถีชีวิตชาวสตูลในอดีต

 

ปั้นหม้อ-เผาหม้อแบบโบราณที่บ้านย่านซื่อ  

 

ส่วนบริเวณชั้น 2 จะมีห้องบ้านเจ้าเมืองสตูล และจัดแสดงห้องชุดรับแขก

 

นอกจากนี้ยังมีจัดแสดงแบบบ้านจำลองของชาวบ้านสตูล มีห้องนอน ห้องครัว และข้าวของเครื่องใช้โบราณต่างๆ ในอดีตไว้ให้ชม


 

สันหลงมังกรตันหยงโป ตั้งอยู่ที่ตำบลตันหยงโป อำเภอเมืองสตูล โดยที่จังหวัดสตูลจะพบ "สันหลังมังกร" หรือ "ทะเลแหวก" ถึง 7 แห่ง แต่ที่ตันหยงโป จะเป็นมังกรตัวที่ใหญ่ที่สุดในสตูล . .

การไปชมสันหลังมังกร ตันหยงโป ต้องนั่งเรือไปยังกลางทะเล สามารถติดต่อกับทางชุมชนบากันเคย ซึ่งจะมีไกด์ท้องถิ่นพานั่งเรือไป ราคา 2,000 บาท เรือจะสามารถนั่งได้ประมาณ 10 คน ไกด์จะพาไปเที่ยวที่อื่นๆ อีก 3 ที่ คือ เกาะหินเหล็ก สันหลังมังกร และหาดทรายดำ

ชุมชนบากันเคย โทร. 082 434 4295 หรือ 087 477 9793


จากท่าเรือนั่งเรือมาประมาณ 15 - 20 นาที จะถึง "เกาะหินเหล็ก"

 

ไกด์พาเราเดินไปชมยังจุดต่างๆ บนเกาะ และเล่าเรื่องราว ความหมายแต่ละจุดให้ฟัง โดยบริเวณนี้ไกด์บอกกับเราว่า . . นี่คือรอยเท้าคนในสมัยก่อน (น่าจะเป็นรอยเท้ายักษ์)

 

และหลายๆ ที่บนเกาะจะมีหินจำนวนมากที่มีลักษณะคล้ายกับเหล็ก ซึ่งด้วยระยะเวลาที่ยาวนานหินเหล่านี้จึงกลายเป็นเหล็ก จนเป็นที่มาของชื่อ "เกาะหินเหล็ก"

 

บริเวณนี้มีลักษณะหินที่นูนขึ้นมา มีรูปร่างคล้ายตัวอักษร ที่อ่านว่า "อัลลอฮฺ" 

 

บนเกาะหินเหล็กยังมีจุดชมวิว ซึ่งสามารถชมวิวได้ 360 องศา มองเห็นน้ำทะเลสีฟ้าครามที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา แถมบนนี้ยังมีลมทะเลพัดมาทำให้รู้สึกเย็นสบายอีกด้วย

 

และบริเวณจุดชมวิว ถูกเรียกว่า "ผานางคอย" ซึ่งมีตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาถึงเรื่องราวของหญิงสาวที่นั่งรอคอยคนรักกลับมา . .

 

ที่นี่ยังมีสันหลังมังกรเล็กๆ เป็นเนินทรายที่โผล่พ้นน้ำทะเลขึ้นมา หรือที่เรียกว่า "ทะเลแหวก" แต่จะมีขนาดที่เล็กซึ่งเวลานี้เป็นช่วงที่น้ำกำลังเริ่มลดลงแล้ว

 

จากเกาะหินเหล็กนั่งเรือประมาณ 10 - 20 นาที ก็ถึงบริเวณสันหลังมังกร ตันหยงโปแล้ว . .

เนินทรายที่ทอดตัวยาวกลางทะเล จะโผล่ให้เห็นในช่วงที่น้ำลด มีลักษณะคดเคี้ยวและยาวประมาณกว่า 4 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างเกาะหัวมันและเกาะสามในตันหยงโป บนเนินทรายมีเปลือกหอยเล็กๆ มากมายที่ทับถมกันอยู่ยิ่งเวลาที่แสงแดดตกกระทบยิ่งคล้ายกับเกล็ดของมังกร และนี่จึงเป็นที่มาของชื่อ "สันหลังมังกร" หรือที่หลายๆ คนคุ้นเคยกับชื่อ "ทะเลแหวก" ซึ่งที่นี่เป็นสันหลังมังกรที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสตูล . .

 

บนเนินทรายนอกจากจะมีเปลือกหอยต่างๆ แล้ว เรายังเจอ "พี่เสฉวน" ขี้อาย

 

เราเดินถ่ายรูปกันที่สันหลังมังกรไม่นาน แสงอาทิตย์ก็เริ่มเปลี่ยนสี เป็นแสงสีส้มยามเย็น และตะวันก็กำลังจะลาลับขอบฟ้า ค่อยๆ เลื่อนต่ำลงจมหายลงไปในทะเล . .

 

เช้าวันต่อมา เรามีนัดไป "ปราสาทหินพันยอด(เกาะเขาใหญ่)" 
เราติดต่อกับทางท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก ในทริปเกาะเขาใหญ่ ปราสาทหินพันยอด เป็นโปรแกรมทริปแบบครึ่งวัน ซึ่งราคาจะอยู่ที่ 800 บาท/คน และถ้าเป็นโปรแกรมทั้งวัน ราคา 1,500 บาท/คน

ติดต่อได้ที่เบอร์ 081 542 0071

 

จากท่าเรือนั่งมาประมาณ 30 นาที เราพบกับมังกรอีกตัวของสตูล เนินทรายที่โผล่พ้นกลางทะเลของที่นี่จะมีลักษณะเป็นเกลียวคลื่นบนพื้นทราย คล้ายกับเกล็ดบนสันหลังมังกร และตัวเนินทรายจะไม่มีเปลือกหอยเหมือนกับที่ตันหยงโป

 

จากสันหลังมังกร นั่งเรือกันต่ออีกประมาณ 15 - 20 นาที ถึงที่อ่าวหินงาม2 บริเวณนี้ไกด์จะให้เราฝึกพายเรือเพื่อเตรียมความพร้อมในการพายเรือสำหรับลอดช่องหิน เข้าไปชมความงามของปราสาทหินพันยอดกัน

 

พอเริ่มคุ้นชินกับการพายเรือ ก็พร้อมลุยที่จะพากันพายไปยังปราสาทหินพันยอด ระหว่างทางจะเจอเกาะเล็กเกาะน้อย มีลอดช่องหินบ้าง ส่วนพี่ไกด์เองก็จะพายเรือขนาบข้างเราไปเรื่อยๆ และจะคอยบอกตรงไหนน้ำแรงจะไม่ให้พายเข้าไปใกล้จุดนั้น

 

และแล้วเราก็พายมาถึงทางเข้าปราสาทหินพันยอดแล้ว ต้องค่อยๆ พายเรือลอดช่องหินบริเวณนี้เข้าไป

 

 

ปราสาทหินพันยอด เกาะเขาใหญ่ ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู อยู่ในการดูแลของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา

การเข้าไปชมปราสาทหินพันยอดต้องรอเวลาที่น้ำลด เพราะต้องลอดช่องหินเข้าไป ปราสาทหินพันยอดแห่งนี้เกิดจากการกัดเซาะหินของน้ำฝน จนกลายเป็นแท่งหินแหลมที่มีรูปร่างแปลกตาสวยงาม อีกทั้งพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ธรณีวิทยาที่เพิ่งได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลกจากยูเนสโกไปอย่างเป็นทางการ เพราะมีการพบฟอสซิลที่มีอายุมากกว่า 480 ล้านปี


ช่วงที่เราไปเป็นช่วงที่น้ำกำลังลด น้ำทะเลจะอยู่ประมาณช่วงประมาณเอว และน้ำจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนเผยให้เห็นพื้นทรายเบื้องล่าง คาดว่าน่าจะประมาณช่วงบ่ายสามน้ำคงจะลดจนเห็นพื้นทรายทั้งหมด

 

หมดเวลาสนุกแล้ว . .

 

 

ถ้ำเล-สเตโกดอน อยู่ที่หมู่บ้านคีรีวง ตำบลทุ่งหว้า ถ้ำแห่งนี้ถูกพบฟอสซิลจำนวนมาก โดยเฉพาะฟอสซิลของช้างสเตโกดอน(ช้างแมมมอธดึกดำบรรพ์) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อถ้ำแห่งนี้ และการค้นพบซากฟอสซิลของช้างสเตโกดอนนี้นำมาถึงการสำรวจถ้ำและค้นพบซากฟอสซิลอื่นๆ ทั้งฟอสซิลซากพืช และฟอสซิลซากดึกดำบรรพ์ และยังเป็นพื้นที่ทางธรณีวิทยาที่เพิ่งได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลกจากยูเนสโกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ที่ผ่านมาอีกด้วย . .

ถ้ำเลสเตโกดอน มีความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร จึงได้ขึ้นชื่อว่าเป็นถ้ำลอดที่ยาวที่สุดในประเทศไทย จะมีน้ำไหลตลอดและลอดทะลุไปถึงทะเล ซึ่งระหว่างปากถ้ำเลฯ จะเชื่อมกับป่าชายเลนก่อนที่จะออกสู่ทะเล และบริเวณทางออกตรงปากถ้ำจะมีลักษณะคล้ายกับรูป "หัวใจ" จนกลายเป็นคอนเซ็ปต์ของการลอดถ้ำแห่งนี้ที่ว่า "ตามหาหัวใจที่ปลายอุโมงค์"

หากต้องการนั่งเรือลอดถ้ำเลสเตโกดอน จะมีค่าบริการคนละ 300 บาท อย่างต่ำ 8 คน ต่อหนึ่งกลุ่ม ถ้าหากไม่ถึง 8 คน จะคิดราคาเหมา 2,400 บาท (สามารถรวมกับกลุ่มอื่นได้)

ติดต่อได้ที่ อบต.ทุ่งหว้า โทร. 084 858 5100

 

การเข้าไปในถ้ำต้องนั่งเรือเข้าไป โดยจะมีเจ้าหน้าที่พายเรือให้ ในเรือ 1 ลำ สามารถนั่งได้ 2 คน รวมเจ้าหน้าที่เป็น 3 คน มีไฟฉายและชูชีพให้ พร้อมกับหมวกเพื่อความปลอดภัยขณะล่องเรือ และจะใช้เวลาในการล่องเรือชมถ้ำประมาณ 2 ชั่วโมง

 

ภายในถ้ำจะมืด โล่ง และค่อนข้างเงียบมาก ซึ่งแทบจะได้ยินเสียงลมหายใจของตัวเอง ที่สำคัญภายในถ้ำแห่งนี้อากาศสามารถถ่ายเทได้ดี ทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็นอับ และเจอหินงอกหินย้อยมีทั้งขนาดใหญ่ขนาดเล็ก ทรงแปลกตามากมายที่ห้อยย้อยลงมาจากเพดานหรือเป็นแท่งตั้งจากพื้น บ้างก็รูปทรงเหมือนสัตว์ต่างๆ แล้วแต่จินตนาการของแต่ละคนเลย ซึ่งหินงอกหินย้อยบางก้อนมีสีเหลือง สีขาวแตกต่างกันออกไป และบางก้อนก็มีประกายแวววาวคล้ายมีกากเพชรเกาะอยู่ ตลอดเส้นทางที่เรานั่งเรือจะมีพี่ไกด์ค่อยเล่าและอธิบายเรื่องราวภายในถ้ำให้ฟัง . .

 

"ม่านน้ำตก" จะพบหลายที่ภายในถ้ำ ซึ่งบริเวณนี้จะพบตรงผนังถ้ำ จะมีรอยแยกเล็กๆ ให้น้ำซึมผ่านพอตกตะกอนกลายเป็นหินย้อยที่มีรูปร่างเหมือนน้ำตกไหลออกมาจากผนังถ้ำ

 

หินย้อยบริเวณนี้มีลักษณะเรียวเล็กเรียงติดกันบนเพดานถ้ำย้อยลงมาเป็นจำนวนมาก เรียกว่า "ลานพิรุณ" หรือ "หินย้อยหลอดกาแฟ" พบหลายที่ในภายในถ้ำ

 

บรรยากาศภายในถ้ำ. .

 

เรานั่งเรือมาเรื่อยๆ ระหว่างทางที่ล่องเรือเราเจอหินย้อยขนาดใหญ่ มีสีเหลืองส้ม อยู่บริเวณตรงกลางถ้ำมี รูปร่างคล้ายหัวใจ

 

ก่อนถึงปากถ้ำจะมีโพรงขึ้นไปด้านบน พอให้มีแสงส่องลอดผ่านลงมา บริเวณนี้เรียกว่า "หน้าต่าง" ของถ้ำ

 

พบซาก "ฟอสซิลปลาหมึก" บริเวณก่อนถึงทางออกของปากถ้ำ

 

เราใช้เวลาล่องเรือภายในถ้ำประมาณ 2 ชั่วโมง ก็เดินทางมาถึง "หัวใจที่ปลายอุโมงค์"

 

หลังออกจากถ้ำมา เราต้องนั่งเรือหางยาวกันต่อเพื่อจะไปที่ท่าเรือและขึ้นรถกลับ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ระหว่างทางจะผ่านแนวป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์สองฝากฝั่ง

 

 

น้ำตกวังสายทอง อยู่ริมถนนสายทุ่งนางแก้ว-วังสายทอหมู่ที่ 10 ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู ห่างจากเขตเทศบาลตำบลกำแพงประมาณ 28 กิโลเมตร


น้ำตกวังสายทอง เป็นน้ำตกหินปูน สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ลักษณะน้ำตกเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันลงมา บริเวณพื้นน้ำตกเป็นพื้นดินหินปนทราย ทำให้บริเวณก้อนหินไม่เกิดตะไคร่น้ำจับ สามารถเดินข้ามไปมาได้สะดวก ไม่ลื่น และบริเวณโดยรอบยังเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ที่ให้ความร่มรื่นและเย็นสบายเหาะแก่การพักผ่อน 

บริเวณน้ำตกสายวังทองยังมีบริการล่องแก่ง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่สำหรับล่องแก่งอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามกับทางเข้าน้ำตกสายวังทองให้ติดต่อสอบถามสำหรับล่องแก่ง

 

ถ้ำภูผาเพชร อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด หมู่ที่ 9 ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล เป็นถ้ำที่มีขนาดใหญเป็นอันดับต้นๆ ของไทยและยังติดอันดับต้นๆ ของโลก(ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีนักวิชาการออกมาฟันธงแน่นอนถึงขนาดของถ้ำว่าอยู่ในอันดับที่เท่าไหร่..?? บ้างก็บอก อันดับ1 ของไทย และอันดับ 3 ของโลก) มีเนื้อที่ภายในถ้ำกว่า 50 ไร่ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ทางธรณีวิทยาที่เพิ่งได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลกจากยูเนสโกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา

ในอดีตถ้ำภูผาเพชรเคยเป็นแหล่งพักพิงของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ มีการค้นพบหลักฐานกระดูกมนุษย์โบราณ ส่วนกะโหลกศีรษะ เศษภาชนะดินเผาเคลือบลายเชือกทาบ และกระดูกสัตว์ต่างๆ ซึ่งถ้ำภูผาเพชรถูกค้นพบโดยพระธุดงค์ชื่อว่า "หลวงตาแผลง" และชื่อเดิมของถ้ำภูผาเพชร คือ “ถ้ำลอด, ถ้ำยาว หรือถ้ำเพชร” เนื่องจากถ้ำมีความยาว มีลักษณะคดเคี้ยว และภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย ที่เมื่อกระทบกับแสงไฟ ผนังถ้ำจะมีประกายแวววาวเหมือนเพชร จึงเป็นที่มาของชื่อ “ถ้ำเพชร"

และก่อนที่จะถึงทางเข้าถ้ำจะต้องเสียเหงื่อกันนิดหน่อย เพราะต้องเดินขึ้นบันไดกว่า 300 ขั้น ประมาณ 50 เมตรได้ ส่วนภายในถ้ำจะโล่งกว้าง และอากาศถ่ายเทได้ดี แต่ค่อนข้างจะมืดมีไฟให้ไม่มีกี่จุด จำเป็นต้องมีไฟฉายเข้าไปด้วย (ก่อนเดินขึ้นไปมีจุดให้เช่าไฟฉาย ราคา 20 บาท)

ถ้ำภูผาเพชร เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30 น. – 15.30 น. โดยมีค่าเข้าชม คนละ 30 บาท


การเข้าไปชมต้องมีเจ้าหน้านำ ซึ่งจะมีไกด์ท้องถิ่นอยู่บริเวณหน้าถ้ำ ค่าบริการคนละ 50 บาท


ทางเข้า-ออก ของถ้ำภูผาเพชร เป็นช่องที่เล็กมาก เรียกว่าทางเข้าขนาดพอดีตัว แต่ข้างในถ้ำกลับมีขนาดที่ใหญ่และกว้างขวาง 

 

ทางเดินภายในถ้ำจะมีสะพานไม้ให้สำหรับเดินชม เดินสำรวจหินงอกหินย้อยซึ่งมีทั้งแบบตายและแบบเป็น มีรูปร่าง และลักษณะที่แตกต่างกันมีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดที่ใหญ่มาก และบริเวณนี้เรียกว่า “ซุ้มประตูวัง”

 

บริเวณนี้ถูกเรียกว่า “ห้องม่านเพชร” ลักษณะจะคล้ายซุ้มประตู และเมื่อกระทบกับแสงไฟจะเกิดประกายแวววาวเหมือนมีกากเพชรเกาะอยู่

 

บริเวณนี้เรียกว่า "ห้องปะการัง" หรืออาจจะมองว่าคล้ายกับ “ป๊อปคอร์น”

 

ตรงนี้มีรูปร่างคล้ายกับ “แมงกะพรุน” และเวลาที่โดนแสงไฟจะมีประกายแวววาวคล้ายกับมีกากเพชรเกาะอยู่

 

เมื่อเดินมาถึงตรงกลางถ้ำจะพบกับห้องโถงขนาดใหญ่ มี "โดมศิลาเพชร" ที่ตั้งเด่นหราอยู่ ลักษณะโดมมีสีส้มอ่อนๆ เป็นโดมที่มีน้ำไหลออกมาตลอด และเมื่อกระทบแสงไฟจะมีประกายแวววาว บริเวณนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น "หัวใจ" ของถ้ำนั่นเอง

 

ข้างๆ โดมศิลาเพชรจะมีแท่นเสาหินปูน มองเห็นเงาด้านบนคล้ายกับ “เจ้าแม่กวนอิม"

 

ด้านบนของโดมศิลาเพชร ซึ่งมีบันไดให้เดิน จะเจอหินงอกที่มีลักษณะสีทอง มองดูจะคล้ายกับเส้นผมที่ยาวสลวยบนศีรษะของผู้หญิง หรือจะคล้ายกับ “สิงโตเมอร์ไลออน”

ภายในถ้ำจะมีสะพานไม้ไปตลอดทางเดินไปจนถึงลานแสงมรกต มีแสงไฟจากตะเกียงคอยแสงสว่างนำทางเป็นบางจุดเท่านั้น

ระหว่างทางที่เดินไปยังลานแสงมรกต เจ้าหน้าที่ส่องไฟให้เห็นรูปภาพบนก้อนหินที่อยู่ด้านบน เห็นเป็นภาพของ “ในหลวงรัชกาลที่ ๙” ลักษณะกำลังถือแผนที่อยู่ในพระหัตถ์

 

เมื่อเดินมาจนสุดทางของสะพานไม้ จะพบกับ “ลานแสงมรกต” เป็นจุดไฮเลท์ของถ้ำภูผาเพชร บริเวณนี้เป็นจุดเดียวภายในถ้ำที่มีช่องทำให้แสงสามารถลอดส่องผ่านลงมาได้ และช่วงเวลาบ่ายแก่ๆ เป็นช่วงที่แสงจากดวงอาทิตย์จะลงมาทำมุมกับหินรูปพญาครุฑ ทำให้เกิดแสงสีเขียวสวยๆ บริเวณนี้ (ภาพนี้เราถ่ายช่วงเวลาประมาณเที่ยงๆ ทำให้แสงที่ส่องลงมาน้อย)

 

ถัดจากลานแสงมรกต ทางด้านซ้ายมือมีทางเดินให้เข้าไปด้านใน ทางเดินจะมีลักษณะเป็นปุ่มกลมๆ นูนขึ้นมาไปตลอดทางเดินไปให้ความรู้สึกเหมือนนวดเท้าหลังจากที่เดินกันมานาน

 

และด้านในสุดบริเวณนี้เป็นจุดที่มืดมากที่สุดของถ้ำ และตรงผนังถ้ำจะมีรอยเป็นสันนูนโดยรอบ ซึ่งเกิดจากถูกน้ำท่วมขังภายในห้องเป็นเวลานาน ทำให้เกิดตะกอนหินปูนจับตัวกัน คล้ายกับหลังของพญานาคจึงเป็นที่มาของชื่อ “ห้องพญานาค”

 

และนี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดสตูล จริงๆ แล้วจังหวัดสตูลยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ อีกมากมาย ที่รอให้ทุกคนได้ไปสัมผัส ไปท่องเที่ยว และนี่คงเป็นการยืนยันได้ว่าสตูลไม่ได้มีแค่ทะเล สตูลไม่ได้ไปยากอย่างที่คิด และสตูลไม่ได้มีเพียงแค่หลีเป๊ะเท่านั้น แล้วอย่าลืมมาตามรอยเที่ยวเมืองสตูลกันนะ^^

 

และที่สำคัญอย่าลืมกันว่าเมื่อมีพื้นที่ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น "อุทยานธรณีโลก" แล้ว . .

" . . หวังว่าทุกคนจะช่วยกันดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติเหล่านีี้ให้คงอยู่ รู้จักและเข้าใจให้มากกว่ากว่าคำว่า "ท่องเที่ยว" ซึ่งมันไม่ใช่แค่คนในพื้นที่ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้นที่จะช่วยกันดูแล แต่นั้นหมายถึงทุกๆ คน และก็ไม่ได้หมายถึงแค่พื้นที่พิเศษเหล่านี้แค่นั้น แต่หมายถึงทุกๆ พื้นที่เลยต่างหาก . ."