ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
 
เกาะเทโพ เกาะสวรรค์ของคนชอบปั่นจักรยาน เกาะเทโพ จ.อุทัยธานี
    • โพสต์-1
    Ajung •  มีนาคม 22 , 2560

    มาแล้วก็ยังมาอีก

    ใช่แล้ว มาที่เกาะเทโพแห่งนี้เป็นครั้งที่สอง เพราะหลงใหลในความเรียบง่าย กับชีวิตที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ ความเป็นธรรมดานี่แหละที่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเมืองอุทัย โดยเฉพาะบนเกาะแห่งนี้ ที่พอข้ามสะพานจากฝั่งตลาดเข้ามายังเกาะ นั่นก็เหมือนก้าวเข้ามาสู่อีกโลกหนึ่ง ที่ทำให้ชีวิตเร่งรีบของผู้หญิงบอบบางคนนี้ต้องเปลี่ยนไป (บอบบางแต่เอวหนา T T) ชั่วขณะ ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง ถ้าคนๆ นึงต้องมีสถานที่ประจำไว้พักพิงกายยามเหนื่อยล้าอันดับหนึ่ง ขอตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า สถานที่นั้นของผู้หญิงเอวหนาคนนี้คือ....เกาะเทโพ นั่นน่ะเองงงงง (เสียงก้อง)

    เราเดินทางกันโดยรถยนต์ มาตามทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเซีย) แล้วมาแยกเข้าถนนหมายเลข 333 ที่จังหวัดอุทัย จากตัวเมืองอุทัย ผ่านศาลากลางจังหวัด แล้วเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานพัฒนาภาคเหนือ พอเราข้ามสะพานเข้ามาแล้วนั่นคือเราสถิตอยู่บนเกาะเทโพแล้ว ก่อนที่เราจะเข้าบ้านอิงน้ำรีสอร์ทที่ได้จองไว้ พวกเราขอแวะทานปลาแรด ของกินขึ้นชื่อของเมืองนี้ก่อน ประเดิมกันที่ร้านป้าสำราญ จากสะพานตรงไปอีก 3 กม. จะเห็นร้านป้าสำราญอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

    "ร้านป้าสำราญ" อยู่บนเกาะเทโพ จ.อุทัยธานี เป็นร้านเก่าแก่ดั้งเดิมของเกาะนี้ ร้านนี่เค้าบอกว่าปลาแรดเด็ดมาก พวกเราเลยสั่งปลาแรดทอดกรอบเหลืองทองอร่าม ตามด้วยแกงป่าปลากราย ยำเห็ดสามอย่าง และ ปลาลวก มาประเดิมหน้าท้องกันเป็นมื้อแรก

    ยำเห็ดสามอย่าง 60 บาท

     

    แกงป่าปลากราย 60 บาท

     

    ปลาลวก 70 บาท

     

    ปลาแรดทอด 200 บาท

     

    ข้าวสามจานๆ ละ 10 โค้กขวดเล็กสองขวด 30 น้ำแข็งหนึ่งกระเต๋ง 10 บาท และน้ำขวดเดียว 10 บาท รวมทั้งสิ้นมื้อนี้หมดไป 410 บาทเท่านั้น หารสามคนก็คนละร้อยกว่าบาทเอง ราคาไม่แพงแถมยังอร่อยด้วย

    ลักษณะของร้านออกแนวภูธรอย่างชัดเจน ดีตรงที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำที่หล่อเลี้ยงปากท้องของคนอุทัยมาช้านาน และป้าสำราญก็ให้การต้อนรับพวกเราเป็นอย่างดี ยิ้มแรกที่ได้รับจากคนอุทัย ทำให้ทริปนี้มีความอบอุ่นกันตั้งแต่วินาทีแรกเลยทีเดียว

    เมื่อทานกันอิ่มแล้วเราก็มุ่งหน้าสู่บ้านอิงน้ำรีสอร์ท จองไว้เป็นเรือนแพที่เล็งไว้ตั้งกะคราวที่แล้ว แต่พลาด ไม่สามารถจองได้ มาครั้งนี้ไม่พลาดแน่นอน นอนสองคืนได้นอนเรือนแพสองหลังเลยค่ะ

    บ้านอิงน้ำเป็นรีสอร์ทที่มีอยู่สองส่วน คือส่วนบนบกที่มีสระน้ำอยู่ตรงกลาง กับส่วนที่เป็นเรือนแพลอยอยู่บนแม่น้ำสะแกกรัง

    เรือนแพที่นี่มีสองหลังด้วยกัน (เป็นเรือน 50 ปี กับ 100 ปี) เรือน 50 ปีด้านขวามือเป็นห้องพัดลม ราคาคืนละ 800 ส่วนเรือน 100 ปีด้านซ้ายมือเป็นห้องแอร์ คืนละ 1500 พวกเรามาพักที่นี่สองคืนในช่วงกลางเดือน กพ. ซึ่งอากาศยังเย็นสบายอยู่มากๆ การมาที่เกาะเทโพนี่ ถ้าไม่ได้ไปเที่ยวตะลอนที่ไหน แค่นอนเล่นบนเรือนแพทั้งวัน มองดูวิถีชีวิตชาวบ้าน ได้พูดคุยกับคนท้องถิ่น แค่นี้ก็น่าจะหาความสุขบนเกาะแห่งนี้ได้ไม่ยากนัก

    และที่โดนใจฝุดๆ ของบ้านอิงน้ำคือการมีจักรยานไว้บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งมีอยู่หลายคัน แต่ต้องตรวจสภาพให้ดีก่อน เพราะมีบางคันที่พบว่ายางอ่อนหรือยางแบนก็มี

    คืนแรกในวันศุกร์ที่ 17 ก.พ. เรานอนที่เรือนแพหลัง 50 ปี ภายในห้องไม่ได้กว้างมากนัก เรามากันสามคนจึงค่อนข้างแออัดเล็กน้อย แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้อุดอู้อยู่แต่ในห้องแน่นอน

    ในส่วนของห้องน้ำ กินพื้นที่เกือบครึ่งนึงของเรือนแพเลยทีเดียว ห้องน้ำไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่นเพราะไม่สะดวกในการติดตั้ง เนื่องจากแพลอยบนน้ำอาจทำให้เกิดอันตรายได้

    กิจกรรมอีกอย่างที่น่าสนใจคือ มีเรือหลายลำไว้บริการนักท่องเที่ยวได้พายเล่นตามอัธยาศัย หรือจะโดดน้ำเล่นหน้าเรือนแพนี่ก็น่าจะสนุกดีนะ

    ที่นั่งเล่นส่วนกลางระหว่างเรือนแพทั้งสองหลัง แต่ดูเหมือนว่าไม่มีใครสนใจมาใช้เวลาตรงส่วนนี้ ต่างพอใจในการเสวนาตรงบริเวณนอกชานด้านติดกับแม่น้ำมากกว่า เพราะบรรยากาศมันดีเหลือเกิน เกินกว่าจะเยื้องกรายจากไปที่อื่นได้

    หลังจากพักเหนื่อยกันเป็นที่เรียบร้อย พอแดดเริ่มอ่อนตัวลงก็ได้เวลาสำรวจหมู่เกาะกันเสียหน่อย พาหนะที่ใช้ในการเดินทางก็ต้องเป็นจักรยานอย่างแน่นอนอยู่แล้ว แลนด์มาร์กที่พลาดไม่ได้ก็ควรเป็นวัดโบสถ์ มาเยือนเป็นครั้งที่สองก็ยังสวยงามเหมือนเดิม เพราะความสวยงามไม่ได้หนีเราไปไหน นอกจากเป็นเราเท่านั้นที่ต้องมาหาสิ่งงดงามเหล่านี้เสียเอง

    วัดอุโปสถาราม หรือวัดอุโบสถาราม หรือชาวบ้านเรียกว่า วัดโบสถ์ เดิมชื่อวัดโบสถ์มโนรมย์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง ตรงข้ามกับชุมชนซึ่งปัจจุบันคือตลาดเทศบาลเมืองอุทัยธานี ต.สะแกกรัง อ.เมือง จ.อุทัยธานี

    วัดอุโปสถาราม สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๓๒๔ วางแผนผังเป็นฐานไพทียกสูง ก่ออิฐถือปูนบนฐานตั้งพระอุโบสถขนานเสมอกับพระวิหาร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก และเจดีย์ ๓ องค์ หลากรูปแบบ สร้างเรียงไว้ทางทิศตะวันตก ด้านริมแม่น้ำ เป็นแบบอย่างของการสร้างวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปนั่ง หรือพระพุทธเจ้า ๕ องค์ เป็นประธาน มีจิตรกรรมฝาผนังเขียน เล่าเรื่องพุทธประวัติและเทพชุมนุม ตามแบบประเพณีนิยม สมัยรัชกาลที่ ๓ ส่วนพระวิหารมีพระพุทธรูปยืน ๓ องค์เป็นประธาน มีจิตรกรรมฝาผนังเขียนเล่าเรื่องพระอสีติมหาสาวก (พระภิกษุสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ รูป) อสุภกรรมฐาน ๑๐ (ซากศพในสภาพต่างๆ ซึ่งกำหนดเป็นอารมณ์กรรมฐาน ๑๐ อย่าง) พุทธประวัติ และพระมาลัย แสดงถึงคตินิยมในเรื่องพระสงฆ์พัฒนาขึ้นมาเทียบเท่าความเชื่อเรื่องนรก สวรรค์ และพระนิพพาน รายละเอียดของภาพเป็นรูปบ้านเรือน เรือกลไฟ การแต่งกายของผู้คนแบบตะวันตกที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ ๕ ไปแล้ว ส่วนผนังด้านนอก ด้านหน้าพระวิหารเขียนเป็นภาพเรื่องนมัสการรอยพระพุทธบาท สระบุรี เป็นประเพณีนิยมของประชาชนในลุ่มน้ำภาคกลาง ที่ถือปฏิบัติทุกปี สืบต่อมาจากพระราชประเพณีของพระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา

    วัดอุโปสถารามมีเนื้อที่ ๒๓ ไร่เศษ ได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๔๒๕ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๑๗๔ ลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๓๖ และประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕ ตอนพิเศษที่ ๓๗ง ลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๑ เนื้อที่ ๔ ไร่

    มณฑปแปดเหลี่ยมภายในวัดโบสถ์ สร้างต่อฐานไพทีด้านริมน้ำออกไป ใช้เป็นที่ไว้ศพและอัฐิพระครูสุนทรมุนี (จัน) อดีตเจ้าคณะจังหวัด

    แพโบสถ์น้ำ อยู่ด้านหน้าวัดโบสถ์ริมแม่น้ำ สร้างขึ้นเพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๙ เดิมเป็นแพแฝดสองหลัง มีช่อฟ้าใบระกาเหมือนอุโบสถทั่วไป หน้าบันมีป้ายวงกลมจารึกภาษาบาลี "สุ อาคต เต มหาราชา" แปลว่า มหาราชาเสด็จฯ มาดี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๙ ได้ซ่อมแซมบูรณะใหม่เป็นหลังเดียว ยกพื้นสองชั้น หลังคาทรงปั้นหยา และย้ายป้ายวงกลมมาไว้หน้าจั่วตรงกลาง ปัจจุบันแพโบสถ์น้ำหลังนี้ ชาวบ้านยังคงใช้ประโยชน์ในการประกอบพิธีทางศาสนาที่สำคัญ เช่น แต่งงาน บวชนาค งานศพ และงานบุญต่างๆ

     

    หลังจากได้ชื่นชมวัดโบสถ์จนเป็นที่พอใจในระดับนึงแล้ว ก็ได้เวลาไปหาของอร่อยกินในตลาด ซึ่งอยู่ตรงข้ามวัดโบสถ์นี่เอง โดยมีแม่น้ำสะแกกรังขวางกั้น และมีสะพานคอนกรีตที่เชื่อมทางระหว่างเกาะเทโพและตัวเมือง โดยสะพานนี้สัญจรได้เฉพาะคน จักรยาน และมอเตอร์ไซค์เท่านั้น

    วันนี้เป็นวันศุกร์ ของกินยังเยอะขนาดนี้ ต้องรอวันเสาร์ค่ะ จะมีถนนคนเดินตรอกโรงยา มีแค่วันเสาร์วันเดียว ของกิน เสื้อผ้า กิจกรรมมากมาย ทำให้ตลาดนี้มีความคึกคักมากขึ้นอีก

     

    และแล้ววันนี้ก็หมดไปอีกวันด้วยความรวดเร็ว ชีวิตแม้จะเดินช้าแค่ไหน แต่เวลาก็ไม่เคยรอใคร มืดค่ำแล้วยังไงก็ต้องรีบกลับรีสอร์ทล่ะนะ กลับมาพร้อมกับของกินมากมาย สบายละคืนนี้

    • โพสต์-2
    Ajung •  มีนาคม 23 , 2560

    ตื่นแต่เช้าเพื่อมาตามล่าตะวันขึ้น แต่พลาด

    เช้าวันเสาร์ที่ 18 ก.พ. ตั้งใจปั่นจักรยานออกไปแต่เช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อไปเก็บภาพสวยๆ แต่ออกสาย กว่าจะออกตัวก็เจ็ดโมงกว่า แต่ไม่เป็นไร ไว้แก้ตัวใหม่พรุ่งนี้อีกวัน วันนี้ขอสำรวจพื้นที่ไปก่อน ระหว่างทางปั่นก็ส่งยิ้มให้หนุ่มนักปั่นไปหลายคน ทำให้เช้านี้สดใสเป็นพิเศษ (กำเดาไหลแบบสโลว์) ปั่นมาจนถึงทางสองแพร่ง มองไปทางที่เบี่ยงซ้ายเข้าซอยเล็ก ทางไปท้องนา เป็นทางยาวมาก เหมือนจะยาวไปจนถึงถนนเส้นหลักของอีกฝั่งนึงเลย น่าสนใจนะ เลยตัดสินใจหันหัวรถไปทางซ้ายแล้วปั่นตรงไปอย่างตื่นเต้น และนั่นก็เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด เพราะมันเป็นแลนด์เสคปที่งดงามมากๆ สุดลูกหูลูกตา ท้องนาเขียวๆ อยู่รอบตัวถึง 360 องศา เรียกว่าหมุนรอบตัวเองอย่างช้าๆ เหมือนกับกำลังถ่ายทำเอ็มวีประกอบเพลงอยู่ก็ไม่ปาน แล้วที่เห็นไกลๆ นั่นก็เป็นบรรดาต้นตาลหลากหลายต้น ยืนเรียงรายเป็นระยะ แถมยังมีหมอกลงมาปกคลุมภาพวิวข้างหน้าอย่างนุ่มนวล นี่ถ้าพระอาทิตย์ยังทอแสงเป็นไข่แดงดวงกลมๆ อยู่ละก็ มันคงจะงามจนบรรยายออกมาเป็นตัวอักษรไม่ถูกเป็นแน่แท้ คิดในใจเลยว่า พรุ่งนี้เราจะต้องมาที่จุดนี้ให้ทันก่อนทุกอย่างมันจะสายเกินไปให้จงได้

    เมื่อเก็บภาพความประทับใจเรียบร้อยแล้ว เวลาประมาณเคารพธงชาติ ก็ถึงเวลาต้องกลับไปกินมื้อเช้าที่รีสอร์ทก่อนที่จะออกไปเที่ยวที่ห้วยขาแข้ง

    มื้อเช้ามีให้เลือกสองแบบคือแบบนี้ กับ แบบเป็นโจ๊กกินกะปลาท่องโก๋ เมื่ออิ่มแล้วก็เตรียมตัวออกไปเที่ยว วันนี้ตั้งใจจะไปหา สืบ นาคะเสถึยร วีรบุรุษแห่งผืนป่าห้วยขาแข้ง

    เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดอุทัยประมาณ 90 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายอุทัยธานี-หนองฉาง-ลานสัก ทางหลวงหมายเลข 3438 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 53-54 เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 15 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตด่านตรวจเขาหินแดง ซึ่งตั้งอยู่ริมห้วยทับเสลา เมื่อมาถึงจอดรถเรียบร้อยแล้ว เราก็เริ่มเดินทางเข้าสู่ห้วยขาแข้งโดยผ่านสะพานแขวนที่มีลำธารอยู่ด้านล่าง

    ลำธารน่าลงไปเดินเล่นมาก ไว้ตอนขากลับค่อยแวะมาชม

    เป้าหมายเราอยู่ที่นี่แล้ว เดินผ่านช่องแคบๆ นั้นเข้าไป มีสิ่งดีดีรอเราอยู่ และนี่คือบ้านของ สืบ ที่ดูแสนจะเรียบง่ายและธรรมดา

    ขึ้นมาบนบ้านได้พบว่ามีเพียงสองห้องเท่านั้น ห้องด้านซ้ายเป็นห้องทำงาน ส่วนด้านขวาเป็นห้องนอน

    และนี่คือภาพวาดลายเส้นของสืบ

     

    ห้องทำงานที่ยังคงสภาพเดิม

     

    สืบ จบชีวิตตัวเองในห้องนี้ด้วยปืนของเขาเองอย่างสงบ

     

    เราสามารถลงสมุดเยี่ยมตรงจุดนี้ ภายในเล่มมีคำสั่งลาของสืบด้วย ข้อความดังนี้

    "ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น"

    ลงชื่อ นายสืบ นาคะเสถียร
    31 ส.ค. 33

     

    ของของผมในห้องนี้ทั้งหมด ผมขอมอบให้สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

    สืบ นาคะเสถียร
    31 ส.ค. 33

     

    อันนี้ลายมือเค้าเอง ^ ^

     

    สืบ นาคะเสถียร เดิมชื่อว่า สืบยศ มีชื่อเล่นว่าแดง ถือกำเนิดที่ จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2492 เป็นบุตรของนายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เรียนชั้นประถมต้นที่ รร.ประจำจังหวัดปราจีนบุรี และเรียนจบมัธยมที่ รร.เซนต์หลุยส์ สืบมีพี่น้องสามคน ตนเป็นคนโต โดยมีน้องชาย และน้องสาวตามลำดับ สืบมีบุตรสาวหนึ่งคน คือ ชินรัตน์ นาคะเสถียร

    พ.ศ. 2512-2516 เข้าศึกษาในคณะวนศาสตร์ ม.เกษตร และเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตในมหาวิทยาลัย

    พ.ศ. 2516 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จาก ม.เกษตร และได้เข้าทำงานที่กองสวนสาธารณะของการเคหะแห่งชาติ

    พ.ศ. 2517 เข้าศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ ม.เกษตร จนสำเร็จการศึกษา

    พ.ศ. 2518 บรรจุเข้ารับราชการ ตำแหน่งพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่ากรมป่าไม้ ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ ร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จ.ชลบุรี ปราบปรามจับกุมผู้บุกรุกทำลายป่า

    พ.ศ. 2522 ได้รับทุนจาก British Council ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาอนุรักษ์วิทยา

    พ.ศ. 2524 เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ มีส่วนร่วมในการจัดการและประสานงาน รวมทั้งเป็นวิทยากรฝึกอบรมพนักงานพิทักษ์ป่าอีกหลายรุ่น

    พ.ศ. 2526 กลับเข้าปฏิบัติราชการประจำฝ่ายวิชาการ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้

    พ.ศ. 2529 ปฏิบัติงานในหน้าที่หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา (เชี่ยวหลาน) จ.สุราษฎร์ธานี

    พ.ศ. 2530 ปฏิบัติงานในโครงการศึกษาผลกระทบสภาพแวดล้อม เพื่อพัฒนาพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส ต่อมาได้รับคำสั่งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จ.สุราษฎร์ฯ อีก 1 ตำแหน่ง

    เป็นอาจารย์พิเศษ ประจำภาควิชาชีววิทยา ม.เกษตรฯ

    จัดเตรียมเอกสารข้อมูลทางด้านบทความและภาพถ่าย ทุ่มเทพลังกาย พลังใจ เพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติทุกรูปแบบ

    พ.ศ. 2531 กลับมาปฏิบัติราชการที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้

    พ.ศ. 2532 เข้ารับตำแหน่ง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี

    พ.ศ. 2533 จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาป่าห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวร

    เป็นวิทยากรบรรยายและร่วมอภิปรายในโอกาสและสถานที่ต่างๆ ส่วนมากเป็นหัวข้อเรื่อง "การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและปัญหาที่เกี่ยวข้อง" "การอพยพสัตว์ป่าตกค้างในเขื่อนเชี่ยวหลาน" เป็นต้น

    เขียนเอกสารโครงการเพื่อจัดการให้พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลก

    และนี่คือคำพูดของ " ชินรัตน์ นาคะเสถียร " ทายาทคนเดียวของพ่อแดง หรือสืบ นาคะเสถียร 
    .
    น้ำฝนเล่าว่า " ตอนน้ำฝนอยู่กับคุณย่า จะเห็นคุณพ่อขอยืมเงินคุณย่าบ่อยครั้งจนชิน เพราะรู้ว่าคุณพ่อไม่มีเงินไปช่วยเหลือลูกน้องเวลาทำงาน "
    .
    น้ำฝน ยอมรับการสูญเสียและภูมิใจในตัวพ่อ ที่ทำงานเพื่อสัตว์ป่าและช่วยป่าห้วยขาแข้ง ในขณะที่คุณพ่อเสียชีวิต เธออายุเพียง 13 ปี
    .
    น้ำฝนได้พบพ่อเมื่อวันที่ 29 ส.ค.33 เธอดีใจมากที่พ่อมาเยี่ยมที่ ร.ร.วันทามารีย์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ และไม่คิดว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้พูดคุยกับพ่อก่อนที่จะจากกันไปชั่วนิรันดร์

    1 กันยายน พ.ศ. 2533 

    "ชำระสะสางภาระหน้าที่รับผิดชอบ และทรัพย์สินส่วนตัวที่คั่งค้าง มอบหมายเครื่องใช้และอุปกรณ์ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่า ให้สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว"

    ....เช้าตรู่เริ่มต้นตำนานแห่งนักอนุรักษ์ สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ไทย ผู้ที่รักป่าไม้และธรรมชาติด้วย กาย วาจา และใจ....

    และนี่เป็นคำเล่าของคนใกล้ชิดของสืบ
    "วันที่ 31 ส.ค.ในวันนั้นผมยังจำได้ว่า พี่สืบก็ยังดูปกติธรรมดาเหมือนทุกวัน มาทำงานที่ออฟฟิศตามปกติ แต่จะมีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่ผิดสังเกต แกนั่งเหมือนคนที่ตกอยู่ในอารมณ์ครุ่นคิดอะไรบางอย่าง การเอาของที่ยืมจากคนอื่นมาส่งคืน ซึ่งเราก็ไม่ได้ถือหรือวิตกจริตว่านั่นคือลางบอกเหตุอะไรหรือเปล่า จนกระทั่งถึงเวลาเย็นย่ำของวันที่ 31 ทุกคนก็มาเจอกันที่ครัวสถานที่ที่เรากินอาหารกันทุกๆ วัน มีการนั่งพูดคุยกันไปเรื่อย ในเรื่องของการเมืองบ้าง สังคมโดยรวม ในที่สุดก็วกมาที่เรื่องของงาน ก็สะท้อนอะไรออกมาให้เห็นหลายๆ อย่าง หรือจะเรียกได้ว่าเป็นการระบายครั้งสุดท้ายของพี่สืบเอง ..พอถึงเวลาประมาณ 5 ทุ่มของคืนวันที่ 31 ส.ค. 2533 ก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายกันไปพักผ่อน ผมก็เดินมาที่เป็นเหมือนโรงอาหารที่เราไม่ได้ใช้งานแล้ว อยู่ในความมืด พอสักพักหนึ่งพี่สืบก็เดินตามมา ผมก็นั่งคุยกับเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง ซึ่งเขาเป็นเวรยามรักษาการณ์ในคืนนั้น พี่สืบก็เดินมา ก็ถามสารทุกข์สุขดิบของยามคนนั้น ซึ่งดูแปลกๆ เพราะอยู่กันมาตั้งนานไม่เคยถาม และขอบุหรี่สูบ อยากจะสูบบุหรี่ที่เป็นใบจาก ที่เป็นยาเส้นเหมือนคนที่บ้านป่าเขาปลูกกัน ก็นั่งคุยกัน หลังจากสอบถามอะไรเรียบร้อยแล้ว ตอนนั้นน่าจะประมาณเกือบๆ เที่ยงคืน ก็จะแยกย้ายจากกัน เจ้าหน้าที่ที่พี่สืบมาคุยด้วยเขาก็เดินไปตรวจเวรยามด้านอื่น ก็จะมีผมยืนอยู่กับพี่สืบ 2 คน พี่สืบก็บอกว่า เดี๋ยวพี่ไปละนะ ผมทำท่าว่าจะเดินไปส่ง แกก็บอก ไม่ต้องส่งหรอก แกไปได้ แล้วแกก็เดินห่างจากผมไปประมาณ 5-6 ก้าว แกก็หยุด ผมก็ยืนดูแกอยู่ แกก็หันมาและยกมือขึ้นมาโบกให้ผมเหมือนบ๊าย..บาย แล้วก็พูดออกมาคำหนึ่งว่า หม่อม..พี่ไปละนะ ผมก็บอก..ครับ หลังจากนั้นแกก็หันหน้า และเดินหายไปในความมืด หลังจากนั้น บุคคลที่ได้ยินเสียงปืนก็คือ เวรยาม เขาบอกว่าได้ยินเสียงปืนประมาณ 2 นาฬิกา ของวันที่ 1 ก.ย. แต่เป็นเสียงเบาๆ ซึ่งการได้ยินเสียงปืนในเวลาเช่นนั้น ในห้วยขาแข้งถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะจะมีเสียงปืนทุกคืนจากชาวบ้านที่เข้าไปล่าสัตว์บ้าง จากพรานที่อื่นบ้าง เวรยามคนนั้นก็ไม่ได้สนใจอะไร"

    หลังจากการเสียชีวิตของสืบ บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมป่าไม้ และผู้เกี่ยวข้องได้เปิดประชุมเพื่อหามาตรการป้องกันการบุกรุกป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดย สืบ นาคะเสถียร ได้พยายามจัดตั้งการประชุมหลายสิบครั้ง แต่ไม่มีการตอบรับจากเจ้าหน้าที่สักครั้ง จนกระทั่งการเสียชีวิตของสืบ ทำให้มีข้อกล่าวว่า "หากไม่มีเสียงปืนในคืนนั้น การประชุมดังกล่าวก็คงไม่เกิดขึ้น"

    ในที่สุด ความพยายามของสืบได้เป็นผลสำเร็จเมื่อปี พ.ศ.2534 เมื่อองค์การยูเนสโกประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งมรดกโลกในที่สุด

    ใช่..การตายของเขาไม่สูญเปล่าเลยจริงๆ

    เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๓ รัฐมนตรีคนหนึ่งได้ไปตรวจพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี ได้รับการบอกเล่าจากบริษัททำไม้ชื่อดังแห่งหนึ่งว่า มีการลักลอบตัดไม้ในห้วยขาแข้ง สืบรู้ดีว่าเป็นการกลั่นแกล้งเขา สืบถูกรัฐมนตรีผู้นั้นเรียกพบที่กรุงเทพฯ เขาเตรียมข้อมูลอย่างดี เพื่อชี้แจงว่าเป็นการทำไม้นอกเขตห้วยขาแข้ง และชาวบ้านแอบไปตัด โดยมีผู้ใหญ่จากอำเภอลานสักหนุนหลัง สืบพยายามที่จะอธิบายถึงปัญหาอันยุ่งยากที่เขาและลูกน้องต้องประสบ แต่เขาไม่มีโอกาสชี้แจง เพียงแต่ได้รับคำบอกสั้นๆ ว่า "คุณต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมอีก"

    สืบโกรธมาก และตอบกลับไปว่า "ผมทำงานหนักกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว นอกจากว่าท่านจะยืดเวลาหนึ่งวันให้ยาวไปกว่านี้ และผมไม่อาจบอกคนของผมให้ทำงานหนักกว่านี้ได้อีกแล้ว สัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเขาแทบจะไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย"

    สืบกลับออกมาด้วยความรู้สึกหนักอึ้งและถูกกดดัน เขาบอกว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำให้เขาเชื่อมั่นว่า ความพยายามแทบเป็นแทบตายของเขานั้น ไม่ได้รับการตอบสนองจากใครทั้งสิ้น เขารู้สึกสิ้นหวังกับระบบราชการ เขาไม่ได้ภูมิใจกับการเป็นข้าราชการอีกต่อไป เขารูู้ว่าเขาไม่อาจจะทำอะไรให้มากกว่านี้แล้ว 

    เขาบอกคนใกล้ชิดว่า "ทีนี้ผมแน่ใจแล้วว่า ผมกำลังต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ผมไม่อาจจะคาดหวังจากใครได้อีกต่อไป"

    ภายหลังเหตุการณ์ในวันนั้น โด่ง น้องชายของเขาสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของพี่ชายว่า 
    "ตั้งแต่วันนั้นแกเสียใจมาก ปกติเวลากลับบ้านแกจะมากินข้าวด้วยกัน แต่ระยะหลังไม่กินอะไรเลย แกซื้อมาม่าเป็นโหล สามมื้อกินแต่มาม่าเหมือนอยู่ในป่า กำลังใจไม่ค่อยมี ดูแกเครียดมาก ผอมลงไปเยอะ มีครั้งหนึ่งแกเอามีดทิ่มทะลุโต๊ะเสียงดัง แล้วบ่นว่า ทำอะไรมันไม่ได้ ก่อนตายก็พูดว่า โด่ง พี่ไม่ไหวแล้ว"

    หนึ่งอาทิตย์ก่อนเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่จับพรานล่าสัตว์ได้ของกลางจำนวนมาก มีหัวค่างหลายหัว พร้อมปลอกกระสุนที่ใช้ล่า เมื่อเจ้าหน้าที่นำซากสัตว์เหล่านี้มาที่สำนักงานเขตฯ สืบลงมาดูด้วยความเครียดสุดขีด เพราะก่อนหน้านี้ลูกน้องของเขาคนหนึ่งก็ถูกลอบยิงที่ลำห้วยขาแข้ง สืบโมโหมากถึงกับตะโกนออกไปว่า "ถ้ามึงจะยิงลูกน้องกู มึงมายิงกูดีกว่า"

    ด้วยความที่ต้องรับแรงกดดันหลายๆ ด้าน และเป็นการเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐให้ใส่ใจต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างแท้จริง สืบจึงตัดสินใจประท้วงด้วยการฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืนในห้องนอนห้องนี้

    วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2533 สืบยังคงปฏิบัติงานตามปกติ และได้เตรียมจัดการทรัพย์สินที่หยิบยืมและทรัพย์สินส่วนตัว และอุทิศเครื่องมือเครื่องใช้ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่าให้แก่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สั่งให้ตั้งศาลเคารพดวงวิญญาณเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในการรักษาป่าห้วยขาแข้ง ในช่วงหัวค่ำของสืบยังคงปฏิบัติตัวพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตามปกติดั่งเช่นเคยทำ ครั้นช่วงดึกสืบขอลากลับไปบ้านพัก โดยกลับไปเตรียมจัดการทรัพย์สินที่เหลือและได้เขียนจดหมายหกฉบับ มีเนื้อหาสั้นๆชี้แจงการฆ่าตัวตาย จนกระทั่งเช้ามืดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 มีเสียงปืนดังขึ้นจากบ้านพักของสืบหนึ่งนัด จนกระทั่งช่วงก่อนเที่ยงของวันจึงได้มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ เข้าไปดู ซึ่งก่อนหน้าเข้าใจว่าสืบไม่สบาย และเมื่อเข้าไปภายในห้องจึงพบร่างของสืบนอนตะแคงข้าง ห่มผ้าเรียบร้อย พอเข้าไปใกล้จึงได้เห็นอาวุธปืนตกอยู่ข้างๆ และเห็นบาดแผลที่ศีรษะด้านขวา ใช่!! สืบได้จบชีวิตลงแล้วอย่างสงบ

    สองสัปดาห์ต่อมา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงประชุมกำหนดมาตรการป้องกันการบุกรุกป่าห้วยขาแข้ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สืบได้พยายามขอให้ประชุมมาแล้วหลายครั้ง จึงมีผู้กล่าวว่า ถ้าไม่มีเสียงปืนในวันนั้น ก็คงไม่มีการประชุมดังกล่าว

    "เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง" เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศไทย มีพื้นที่ติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในพื้นที่จังหวัดตากและกาญจนบุรี ที่อยู่ทางทิศตะวันตก ถือเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย และเป็นผืนป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยองค์การยูเนสโกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2534 มีลักษณะเป็นผืนป่าที่มีความยาวจากเหนือจรดใต้ วัดเป็นเส้นทางตรงมากกว่า 100 กิโลเมตร มีพื้นที่กว่า 1,737,587 ไร่ แต่ได้ผนวกรวมเพิ่มขึ้นอีก 2 ครั้ง จนขยายเป็นประมาณ 1,800,000 ไร่ ในปัจจุบัน ทางเหนือติดกับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง รวมถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ในจังหวัดตากและกาญจนบุรี และทิศใต้ติดกับอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงอุทยานแห่งชาติพุเตย จังหวัดสุพรรณบุรี มีเพียงพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเท่านั้นที่อยู่ติดกับชุมชน 3 อำเภอ คือ อำเภอบ้านไร่, อำเภอลานสัก และอำเภอชุมพร จังหวัดชุมแพร

    เดิมทีเป็นผืนป่าที่ได้รับสัมปทานให้ตัดไม้ แต่กลับไม่เคยถูกบุกรุก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2508 จึงเริ่มมีการสำรวจทางวิชาการอย่างจริงจัง และได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อปี พ.ศ. 2515 เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลำดับที่ 5 ของไทย ลักษณะภูมิประเทศมีทั้งเทือกเขาและที่ราบ โดยเป็นแนวเขาของเทือกเขาถนนธงชัยและตอนเหนือของเทือกเขาตะนาวศรี มีความหลากหลายทั้งภูมิประเทศ, ภูมิอากาศ และความชื้น อันเป็นที่มาของความหลากหลายทางชีวภาพ จนกล่าวได้ว่าที่นี่มีป่าเกือบทุกประเภท ยกเว้นป่าชายเลนและป่าชายหาด หรือป่าพรุน้ำจืด เท่านั้น โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งถือเป็นพื้นที่เงาฝน เนื่องจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรที่อยู่ทิศตะวันตกเป็นพื้นที่ๆ สูงกว่าระดับน้ำทะเล ดังนั้นเมื่อฝนมาปะทะที่ด้านทิศตะวันตก รวมถึงตะวันตกเฉียงใต้ ก็จะตกที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรโดยข้ามเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งไป จึงทำให้ป่าที่นี่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ป่าดิบ แต่เป็นป่าเบญจพรรณ โดยเฉพาะป่าไผ่

    เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ยังเป็นต้นน้ำของแหล่งน้ำสำคัญ 3 สาย คือ ลำน้ำทับเสลา ซึ่งไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำทับเสลา และไหลลงสู่แม่น้ำสะแกกรังจนกระทั่งลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา, ลำน้ำห้วยขาแข้งไหลลงสู่เขื่อนศรีนครินทร์ และลำน้ำแม่กลอง–อุ้มผาง ที่ไหลจากจังหวัดกาญจนบุรีและตาก ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตไฟฟ้ารวมถึงน้ำประปาในภาคตะวันตกและกรุงเทพมหานคร

    ความหลากหลายทางชีวภาพของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของสัตว์ป่าหายากหลายชนิด บางชนิดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ เช่น สมเสร็จ, เก้งหม้อ, เลียงผา, กระทิง, วัวแดง, ควายป่า ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ทางธรรมชาติแห่งสุดท้ายแล้วในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และได้แพร่ขยายไปยังพื้นที่ป่าใกล้เคียงกันด้วย

     

    หลังจากได้ความรู้มากมายจากที่นี่แล้วเราก็ขอกลับไปพักร่างที่บ้านอิงน้ำก่อนที่จะไปเดินถนนคนเดินกันต่อในยามค่ำคืน เพื่อหาของอร่อยทานกันตามคอนเซ็ปเอวหนาของพวกเรา

     

    ตกเย็นเรามาเดินเล่นกันที่ตลาดเก่าโบราณ ตรอกโรงยา ซึ่งตั้งอยู่ตรงชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำสะแกกรัง อ.เมืองอุทัยธานี

    สมัยก่อน จ.อุทัย เป็นเมืองท่าข้าว มีชาวไทยชาวจีนล่องเรือผ่านไปมาในแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างปากน้ำโพและกรุงเทพฯ ชาวไทยและชาวจีนมักแวะมาที่ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรังเพื่อซื้อข้าวและแลกเปลี่ยนสินค้ากันอย่างต่อเนื่อง จนชาวจีนเรียกชุมชนนี้ว่า เซ็กเกี๋ยกั้ง

    การค้าขายข้าวที่ชุมชนริมแม่น้ำสะแกกรังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนที่นี่กลายมาเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากินแหล่งใหญ่ของชาวจีนอพยพที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองอุทัยธานีตั้งแต่สมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ด้วยลักษณะของชุมชนที่ขยายใหญ่ขึ้นจากการค้าขาย พื้นที่แห่งนี้จึงมีความสัมพันธ์กับคนอุทัยอย่างแน่นแฟ้น เช่น เป็นแหล่งทำมาหากินของพ่อค้าแม่ค้า เป็นศูนย์กลางร้านอาหารจีนทั้งคาว หวาน ขนมเจ้าอร่อยอยู่หลายร้าน รวมทั้งเป็นสภากาแฟที่เป็นที่ชุมนุมกันของพ่อค้าชาวจีน ชาวไทย มาพูดคุยสังสรรค์กัน อ่านหนังสือพิมพ์ หรือเล่นดนตรีร่วมกัน ช่างเป็นที่ที่สร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันเสียจริงๆ

    ตรอกโรงยา เคยเป็นสถานที่สูบฝิ่นถูกต้องตามกฎหมาย ในแต่ละวันมีชาวบ้านเข้ามาสูบฝิ่นเป็นจำนวนมาก จนทำให้เกิดมีการค้าขายอย่างคึกคัก จวบจนกระทั่งในสมัย จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ ได้มีกฎหมายออกมาให้ยกเลิกการสูบฝิ่น จึงส่งผลทำให้ตรอกโรงยาซบเซาลงเนื่องจากผู้คนที่เคยอยู่อาศัยที่นี่ได้อพยพไปอยู่ที่อื่นกันหมด

    แม้ปัจจุบันตรอกโรงยาจะไม่ได้คึกคักเหมือนเมื่อครั้งอดีต แต่ยังคงมีวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ยังคงมีการค้าขายหลงเหลืออยู่ ชาวอุทัยจึงได้ฟื้นฟูชุมชนนี้ขึ้นมาอีกครั้งด้วยการจัดให้มีถนนคนเดิน ในทุกวันเสาร์ เวลา 16.00 - 20.30 น. เพื่อปลุกสัมพันธภาพที่ดีต่อกันระหว่างชุมชนให้หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

    ความยาวของถนนคนเดินไม่ยาวมากนัก ประมาณ 100 เมตร สองข้างทางเต็มไปด้วยของขาย ของกิน เสื้อผ้า ทำให้เมืองอุทัยอันเงียบสงบดูมีความเคลื่อนไหวไปชั่วขณะ แม้เพียงเวลาสั้นๆ ที่พ่อค้าแม่ขายได้กอบโกยรายได้ และรอยยิ้มของคนเดินถนนที่มีให้แก่กันแม้แต่คนแปลกหน้า ก่อนที่ทุกอย่างจะกลับสู่ความเงียบสงบในยามค่ำคืน

    ยืนมองวัดโบสถ์จากบนสะพาน สวยงามมากด้วยการสะท้อนเงาจากวัดบนแม่น้ำสะแกกรัง ก่อนเข้ารีสอร์ทจึงขอบันทึกภาพความงามของวัดในยามค่ำคืนกันบ้าง น่าจะได้มุมขลังๆ จากวัดไม่มากก็น้อย

    แล้วเจอกันพรุ่งนี้ กับการตามล่าไข่แดงในวันรุ่งขึ้น ดูซิว่าจะตื่นทันไหม
    • โพสต์-3
    Ajung •  มีนาคม 23 , 2560

    คือตะวันแกขึ้นตัวเร็วมาก นี่ปั่นไปหาแบบไม่คิดชีวิตเลยนะ ทัน ไม่ทัน มาลุ้นกัน

    ด้วยความพะวง จึงฟื้นตัวตั้งแต่ตีห้ากว่า ลุกมาล้างหน้าแปรงฟัน ถ่ายอุนจิเป็นที่เรียบร้อย พอหกโมงครึ่งก็รีบนำจักรยานออกจากนิวาสสถานทันที และปั่นมุ่งหน้าไปยังที่เดิม ซึ่งคิดดีแล้วว่าตรงนั้นสวยสุด แต่มีความรู้สึกว่าไข่แดงกำลังสุกได้ที่ มองเห็นแต่ไกล แต่เอ..มันลอยตัวขึ้นเร็วมาก ไม่ได้การต้องเร่งสปีดให้เร็วกว่านี้ เพราะวันนี้ต้องกลับกรุงเทพฯ แล้ว ถ้าวันนี้ไม่ได้ไข่ ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้มาอีก

    มาได้ทันเส้นไข่แดง จอดรถปุ๊บหยิบกล้องหมับ แล้วกดแชะไม่ยั้ง แต่ก็ทำตัวนิ่งอยู่ในทีเพราะเกรงว่าไข่จะสั่นไหวไปเสียก่อน

    ทั้งแนวตั้งแนวนอน ไข่อยู่ริมอยู่กลาง เก็บให้หมดอย่างบ้าคลั่ง

    เริ่มลอยขึ้นมาอีกหน่อย แสงเริ่มจ้ามากขึ้น

    ขอโหมดขาวดำบ้าง ให้มันดูย้อนยุคหน่อย

     

    กล้องที่ใช้เป็น mirrorless olympus em10 เลนส์คิท 14-42 ติดมากับกล้อง เล็ก เบา คล้องคอได้สบาย ที่ได้อย่างใจคือมันจับโฟกัสได้ไวมาก กดได้ทุกช็อตที่ต้องการ ยิ่งเวลาเร่งด่วนเช่นนี้ กดรัวๆ ได้ยังกะเอ็ม 16 และแล้วภารกิจในยามเช้าก็บรรลุลุล่วงไปได้ด้วยดี พร้อมกับภาพสวยๆ กลับบ้าน เก็บไว้ดูต่างหน้าเวลาคิดถึงเกาะเทโพ สัญญากับตัวเองว่าวันหน้ามาใหม่แน่นอน และจะเจาะลึกสถานที่ให้มากกว่านี้ คิดว่าช่วงปลายฝนต้นหนาวน่าจะเป็นเวลาที่เหมาะที่สุด

    มาเที่ยวเกาะเทโพบ่อยๆ แบบนี้ เรามาทำความรู้จักกับเกาะนี้กันซักหน่อยว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน และทำไมต้องชื่อเทโพ 

    เกาะเทโพ มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม มีน้ำท่วมขังทั้งตำบล ในอดีตเกาะนี้มีลักษณะเป็นอ่าว แม่น้ำมีปลาชุกชุมมาก โดยเฉพาะปลาเทโพ จึงได้รับการเรียกขานกันว่า “ตำบลเกาะเทโพ” ต.เกาะเทโพ แยกมาจาก จ.ชัยนาท เมื่อปี 2480 ราษฎรส่วนใหญ่อพยพมาจากชัยนาท นครสวรรค์ และที่อื่นๆ

    เกาะเทโพ เดิมเป็นแหลมยื่นออกมาคั่นระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำทั้งสองสายมาบรรจบกันทางทิศใต้ของแหลม และภายหลังได้มีการขุดคลองเชื่อมทางเหนือ เพื่อให้แม่น้ำเจ้าพระยามาหนุนแม่น้ำสะแกกรังในยามหน้าแล้ง แหลมนี้จึงกลายเป็นเกาะเทโพมาจนทุกวันนี้

    เกาะเทโพเป็นเกาะที่นักปั่นจักรยานให้ความสนใจเป็นอย่างมาก การเข้ามายังเกาะเทโพเราสามารถใช้สะพานเดินข้ามมา ชาวบ้านเรียกว่า “สะพานวัดโบสถ์” เป็นสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างตลาดสดเทศบาลและวัดอุโปสถาราม ซึ่งเป็นเพียงสะพานเล็กๆ ที่คนกับมอเตอร์ไซค์ผ่านสวนทางกันได้เท่านั้น แต่ถ้าจะเดินทางด้วยรถยนต์ ต้องไปอีกทางนึง คือจากบริเวณวงเวียนวิทยุ (ใกล้ตลาดสด) ให้ไปตามถนนศรีอุทัย ขับไปประมาณ 3 กม. ผ่านสถานีตำรวจมาเล็กน้อย ให้เลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานพัฒนาภาคเหนือเพื่อข้ามไปยังเกาะเทโพ เมื่อเราข้ามสะพานมาได้แล้ว นั่นคือ.. การเริ่มต้นการเดินทางบนเกาะสวรรค์แห่งนี้

    สองข้างทางบนเกาะนี้เป็นป่าไผ่ มีการทำไร่ข้าวโพด ปลูกมะไฟ และทำนา นอกจากนี้ชาวบ้านยังทำสวนส้มโออีกด้วย มีทั้งพันธุ์มโนรมย์และขาวแตงกวา บางจุดบนเกาะเป็นแหล่งรวมสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ มากมายไปด้วยของดีประจำจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นอาหารแปรรูปจากปลา กลุ่มทำมีดจากเหล็กกล้า กลุ่มจักสานไม้ไผ่ กลุ่มธูปหอม เป็นต้น

    สำหรับนักปั่นทั้งหลาย ถ้าปั่นจนครบรอบเส้นทางจักรยานที่กำหนดไว้ รวมระยะทางปั่นบนเกาะนี้จะอยุ่ที่ 33 กม.

    แม้มาคราวนี้ จะปั่นได้ไม่ครบ 33 กม. แต่นั่นจะสำคัญอย่างไรเล่า จุดพอใจของแต่ละคนย่อมต่างกัน และความพอใจของผู้หญิงเอวหนาคนนี้คือแค่ขอยืนสูดอากาศบริสุทธิ์อยู่กลางท้องนา แค่นี้ก็ถือว่าเพียงพอมากแล้ว

    ตอนขากลับไปบ้านอิงน้ำไม่ได้กลับทางเก่า ลองเดินมาตามคันนาแล้วไปโผล่อีกฝั่งดีกว่า ผ่านทุ่งนาเขียวๆ แบบนี้ สดชื่นมากๆ จูงจักรยานไปพร้อมลมเย็นๆ ที่มาปะทะร่าง แล้วเก็บภาพไปเรื่อยๆ ช่างเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดของนักเดินทางเอวหนาคนนี้ ไม่แน่คราวหน้าอาจมีโอกาสได้มาคนเดียวบ้าง

    ดื่มด่ำกับท้องนาท้องไร่ ก็ได้เวลากลับมารับทานมื้อเช้าที่บ้านอิงน้ำที่เรือนแพแสนสุข กินไปนั่งมองแม่น้ำไป ไม่มีอะไรจะดีไปกว่านี้แล้ว

    ได้เวลาเช็คเอาท์ก่อนเที่ยงเล็กน้อย ก่อนจากเรือนแพหลังนี้ไป อดไม่ได้ที่ต้องหันหลังกลับมามองด้วยความอาลัย แม้จะอยู่มาเพียงสองคืนก็ตาม แต่เป็นสองคืนที่มีความสุข ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ แต่ก็ยังรู้สึกว่ายังมีอะไรให้ทำอีกมากมายที่เกาะแห่งนี้ ดูเหมือนจะไม่มีอะไร ก็แค่มานอน ตื่นมาก็ลุกมาปั่นจักรยาน ตกเย็นออกไปตลาดหาของกิน แล้วก็กลับมานอน ก็ถูก สิ่งที่กล่าวมาก็คือชีวิตประจำวันของคนที่นี่ แต่ในรายละเอียดปลีกย่อยมันมีอะไรมากกว่าที่เห็น นอนที่เรือนแพ มันไม่ใช่แค่นอนๆ กรนๆ แต่มันเป็นการนอนริมตลิ่งแล้วมองดูดาว แล้วนั่งเม้ากันถึงเรื่องสนุกต่างๆ พร้อมกับเสียงหัวเราะในยามค่ำคืน การปั่นจักรยาน มันไม่ใช่แค่ปั่นไปตามทาง แต่มันคือการปั่นที่มีรอยยิ้มจากคนข้างทาง ตามมาด้วยคำทักทายจากคนแปลกหน้า วิวสองข้างที่หาไม่ได้ในเมืองใหญ่ ฝูงหมาที่คอยเห่าต้อนรับเราตลอดเส้นทาง แม้กลัว แต่ในความกลัวทำให้เกิดความกล้าขึ้นมาเอง ค่ะ การปั่นทำให้ได้ความรู้สึกที่มากมาย จนเราไม่คิดว่าคนคนนึงจะรู้สึกอะไรได้หลายอย่างพร้อมกันในเวลาเดียวกันนี้ได้

     

    แต่การเดินทางย่อมมีการสิ้นสุด เพื่อกลับไปตั้งหลัก และเพื่อจะกลับมาอีกครั้ง แม้จะกลับมาที่เดิม ประสบการณ์จะต่อเติมเพิ่มความฝันเราไปไม่สิ้นสุดค่ะพี่น้อง แล้วเจอกันใหม่ทริปหน้า เร็วๆ นี้ บัย

     

    ติดตามชีวิต กิน เที่ยว ได้ที่เพจเฟสบุค - ลากแตะไปแชะฝัน

    สามารถสอบถามเรื่องการเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอด 24 ชม. ค่ะ

    • โพสต์-4
    Ajung •  มีนาคม 23 , 2560

    ค่าใช้จ่ายในการเดินทางครั้งนี้

    วางกองกลางคนละ 1000 (รวมค่ากิน ค่าน้ำมัน และทุกสิ่งอย่าง)

    เรือนแพคืนแรก 800 เสริม 200 / เรือนแพคืนที่สอง 1500 เสริม 200 รวมเป็น 2700 หารสามคนๆ ละ 900 บาท

    สรุปที่คนละ 1900 นอกนั้นมีจ่ายจุกจิกนิดหน่อยของใครของมันก็ตีไปคนละ 2000 โดยประมาณค่ะ

    • โพสต์-5
    Ajung •  มีนาคม 28, 2560