ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
 
เสน่ห์ป่าฝน มนต์ขลังที่ซ่อนเร้น ... เขาหลวงสุโขทัย ... เขาหลวง-สุโขทัย (Khao Luang-Sukhothai) จ.สุโขทัย
    • โพสต์-1
    KRISADA •  สิงหาคม 17 , 2560

    Day 1 : 4 สิงหาคม 2560

       แม้ว่าจะเปียก จะลื่น จะแฉะ แต่ว่าป่าหน้าฝนก็เปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์ที่น่าค้นหา ... " เสน่ห์ป่าฝน มนต์ขลังที่ซ่อนเร้น " รีวิวประสบการณ์การเดินขึ้นสู่ยอดเขา ณ พิกัดที่ : 16°53'48.9"N 99°38'51.4"E ที่ความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ความชันอยู่ที่ 45° - 60° ตลอดระยะทางประมาณ 3.7 กิโลเมตร กับสภาพอากาศปริมาณของฝนที่ 40% สัมภาระที่แบกขึ้นเองประมาณ 14 กิโลกรัม กับเวลาที่ใช้ไปประมาณ 4 ชั่วโมง แลกกับค่าที่พักราคา 70 บาท เพื่อตามหา “ทะเลหมอก”

       ที่นั่นก็คือ “เขาหลวงสุโขทัย” ของอุทยานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย    ทริปนี้เริ่มต้นในคืนวันที่ 3 สิงหาคมที่หมอชิต ผมใช้การเดินทางโดยรถโดยสารปรับอากาศของ “วินทัวร์” เที่ยว (VIP) 22.30 น. ปลายทาง บขส. สุโขทัย ในราคา 361 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชม.

     

       พอถึงก็ประมาณ 05.30 น. ก็จัดการตัวเองที่ห้องน้ำของ บขส. แล้วเหมารถออกมาไปยังที่ทำการอุทยานแห่งชาติรามคำแหงต่อ

       โดยได้รถเก๋งของ “ลุงเท่ง” เหมาในราคา 200 บาทต่อเที่ยว สำหรับผมแล้วไม่แพงเลยครับ กับการบริการของลุง ลุงแกบริการดีมากเลยครับ พาไปแวะตลาดตอนเช้าในตัวเมืองและร้าน 7-11 ให้เราได้เตรียมอาหารกับของใช้ที่ยังขาด ตามที่เราต้องการ ก่อนที่จะต้องเดินทางขึ้นเขา

     

       ซึ่งหลาย ๆ คน คงจะรู้แล้วว่าข้างบนเขาหลวงนั้นจะมีร้านค้าเล็ก ๆ ของอุทยานฯ ขายพวกมาม่า น้ำอัดลม และขนม ในราคาที่ชาร์จอยู่แล้วแน่นอน  ซึ่งโดยส่วนตัวผมก็จะเน้นประหยัดโดยถือคติที่ว่า “กินเพื่ออยู่” จึงจัดเตรียมอาหารการกินขึ้นไปเอง อันดับแรกคือ น้ำดื่ม เอาขวดใหญ่ไปก็เพียง 1 ขวดก็พอ สำหรับคนที่คิดว่าจะไม่พอ ไม่ต้องห่วงนะครับ เพราะมีตาน้ำธรรมชาติให้เติมได้เรื่อย ๆ ระหว่างทางที่เดิน ส่วนบนยอดก็ทั้งน้ำฝน และตาน้ำธรรมชาติ ให้เติมอีก ส่วนอาหารสำหรับมื้อเที่ยงเป็นอาหารง่าย ๆ ข้าวเหนียวนึ่งหมู 2 อย่างแล้วห่อด้วยใบตอง ราคา 20 บาท / มื้อเย็นเป็นมาม่าคัพ + ไส้กรอก (เวฟมาแล้วเรียบร้อย) / และมื้อเช้าขนมปัง + กาแฟดำ (มื้อเย็น ,มื้อเช้า กับน้ำดื่มขวดใหญ่ ผมซื้อจาก 7-11) ของครบก็เดินทางครับ

       นั่งรถของ “ลุงเท่ง” มาไม่นานก็ถึงทางเข้าอุทยานฯ โดยเราจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเข้าอุทยาน 40 บาท/คน จ่ายค่าผ่านทางเสร็จ ลุงเท่งก็พาผมมาส่งที่ในตัวอุทยานฯ แล้วก็นัดแนะให้มารับผมอีกในวันลงจากเขา (ต้องบอกว่าคุ้มครับเพราะวันที่ลงมานั้น ฝนตกอย่างหนัก ถ้าไม่ได้รถลุงเท่ง เปียกแน่ ๆ เพราะผมต้องกลับเข้าไปนอนในเมืองอีกคืน) หลังจากร่ำลาลุงเท่งเสร็จ ก็ไปกินมื้อเช้าง่ายๆ ที่ร้านค้าด้านล่างของอุทยานฯ พร้อมกับจัดของสัมภาระ (อาหาร) ที่ซื้อมาให้เรียบร้อยอีกครั้ง ก่อนจะไปลงชื่อ,ติดต่อ จนท. ก่อนที่เริ่มเดินทางจริง ๆ ซักที

     

        ส่วนถ้าใครจะจ้างลูกหาบที่อุทยานฯ ก็มีนะครับ โดยติดต่อเองได้เลยหรือจะให้ทาง จนท. ติดต่อให้ก็ได้ และอีกอย่างครับที่นี่ มีบริการให้เช่าเต็นท์, ถุงนอน, แผ่นปูรอง และผ้าห่ม ติดต่อ จนท. แล้วนำใบเสร็จไปยื่นต่อ จนท. ด้านบนได้เลยครับ การปล่อยให้ขึ้นเขาหลวงฯ นั้น ที่นี่เปิดให้ขึ้นได้ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไปนะครับ    ส่วนผมรอบนี้อย่างที่บอกไปในตอนต้น ก็แบกของเองหมด โดยสัมภาระที่แบกขึ้นเองในครั้งนี้ประมาณ 14 กิโลกรัม เอาละครับ เวลาตอนนี้ก็เริ่มจะสายมากแล้ว ... R u Ready?    เริ่มต้นการเดินทาง.. ปากทางเข้ามาด้านขวามือมีศาลให้เคารพสักการะ ส่วนตัวก็ไม่ลืมที่จะแวะกราบพระขอพรให้คุ้มครองทุก ๆ คนตลอดการเดินทางครั้งนี้ ตรงทางที่เราจะเดินไป จะมีไม้ค้ำยันมากมาย เตรียมไว้ให้เราหยิบ กรุณาถือไปเถอะครับ แม้ว่าคุณจะแข็งแกร่งแค่ไหนก็ตาม แต่มันจะช่วยคุณในช่วงที่ชันได้มาก
       โดยการเดินทางครั้งนี้จะมีพิกัดย่อย ๆ หลายพิกัด แต่ผมขอเลือกหลัก ๆ คือ ประดู่งาม - มออีหก - จุดชมวิว - น้ำดิบผามะหาด - ไทรงาม - ปล่องนางนาค ซึ่งมีพิกัดย่อย ๆ อีก ตามรูป    ทางเดินประมาณ 200 เมตรแรก เป็นทางราบเรียบ ๆ เดินง่ายๆ นอกนั้นคือ “ชัน” โดยเริ่มไต่ระดับไปเรื่อย ๆ ทางเดินส่วนใหญ่เป็นดิน ปนก้อนหินภูเขาตะปุ่มตะป่ำ พร้อมข้างทางที่มีต้นใหญ่มากมาย ๆ ดูแล้วร่มรื่น ให้ความสบายใจ (รึเปล่า? ฮ่า ๆ)    เริ่มเดินไม่นาน ก็จะพบจุดนั่งพักไปเรื่อย ๆ โดนจะมีแคร่ไม้ไว้ให้นั่งห้อยขา และถังน้ำดื่ม (เป็นถังน้ำที่จนท.ต่อท่อมาจากด้านบน สะอาดแน่นอน น้ำเย็นชื่นใจ ดื่มได้ครับ) เพราะด้วยความที่เป็นทางชันตลอด ๆ จึงไม่ค่อยมีทางราบให้ยืนหรือนั่งพักสบาย ๆ จึงแนะนำให้พักตลอดที่เจอจุดพัก แต่อย่าพักนานจนเกินไป เพราะขาอาจตายได้ และยุงเยอะมาก (แนะนำให้เอายาพ่นไล่ยุงมาด้วยนะครับ) อีกอย่างคอยจิบ ๆ น้ำดื่มไปด้วยนะครับ    โดยสภาพทางจะค่อย ๆ ชันขึ้นทีละนิดทีละนิด ขั้นบันไดธรรมชาติจากหิน ดิน และรากไม้ สลับกันไป มีแต่ขึ้นกับขึ้น ทางราบมีบ้างเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะขึ้นมากกว่า เดินกันไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องรีบ อย่างที่บอกเหนื่อยก็หยุดพัก แต่อย่านาน ขามันตายและยุงเยอะ บอกแล้วนะ !!! ตลอดทางเดินมีจุดพัก แรกๆ ก็ดี หลังๆ เหมือนจะเริ่มท้อ เพราะสองสามร้อยเมตรของที่นี่ ก็เดินกันหืดขึ้นคอเลยทีเดียว ถึงจะสั้น ๆ แต่ชันไปตลอดทาง...   เดินมาพักใหญ่ ก็เจอกับ จุดที่พักชมวิว ซึ่งเป็นจุดพักผ่อน จุดเดียวที่มองเห็นวิวทิวทัศน์ด้านล่าง ถ้าเรามาถึงจุดนี้เท่ากับว่าเรามาได้ครึ่งทางแล้วนะครับ ผมจึงแวะพักที่นี่อยู่พักใหญ่   หนทางยังอีกยาวไกล ต้องไปกันต่อครับ ซึ่งหลังจากจุดชมวิว ทางก็จะชันขึ้นอย่างโหด และโหดไปเรื่อย ๆ จังหวะนี้ไม่มีอารมณ์จะหยิบกล้องมาถ่ายอะไรแล้วครับ แค่พาตัวเองไต่ระดับความชันขึ้นไปเรื่อย ๆ ให้ถึงที่หมายได้ ก็พอครับ เดินแบบหืดขึ้นคอไปเรื่อย ๆ ผ่านจุดต่างๆ แบบไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ดูเท่าที่ควร ซึ่งมีทั้ง น้ำดิบผามะหาด (จุดเติมน้ำจุดสุดท้าย และคือ “ต้นน้ำ” เราใช้เติมใช้ลูบหน้ากันละครับ) เป็นต้น รู้สึกตัวอีกทีเลยต้องเชคดูเวลาก็ปาเข้าไปเที่ยงครึ่งมาแล้ว จึงตั้งใจว่าจะแวะที่ “ไทรงาม” เพื่อกินข้าวเที่ยง อันที่จริงไม่มีความหิวเลยครับ หลังจากกินข้าวเที่ยงไปได้นิดเดียว ก็นั่งพักกันสักพักใหญ่ บอกไว้เลยครับว่า ถ้าเราถึงไทรงามแล้ว ก็ใกล้จะถึงความจริงแล้วครับ    ยังคงเดินต่อไปเรื่อย ๆ พอที่จะรู้สึกว่า ยิ่งใกล้จะถึง "หมอก" ก็เริ่มค่อย ๆ ออกมาต้อนรับการเดินทางครั้งนี้    และแล้วก็ถึงช่วงสุดท้าย จะเป็นเส้นทางเดินชิว ๆ ที่ลดระดับความลาดชันลงบ้าง จนในที่สุด ก็โผล่มาให้เห็น “หลังคาสังกะสี” ของที่ทำการฯ แต่... บททดสอบความอึดในด่านสุดท้ายคือ "มอตะคริว" บันไดเซ็ทสุดท้าย ที่ดูแล้วมีความชันน่าจะพอ ๆ กับเส้นทางจาก จุดชมวิว มายัง น้ำดิบผามะหาด เลยทีเดียว ถึงแม้ระยะทางจะสั้นกว่ามาก แต่จากเส้นทางที่เราผ่านมามันสามารถส่งผลให้ เราเกิดอาการตะคริวได้ ช่วงนี้แนะนำให้ไม่ต้องรีบเดินนะครับ เพราะส่วนตัวคิดว่า ที่หลาย ๆ คนเป็นตะคริวกัน คงเพราะต้องการเร่งให้ถึงด้านบนเร็วเกินไป และสุดท้ายแสงสว่าง ก็ ปรากฏอยู่เบื้องหน้า ถึงแล้วครับ

       พอถึงด้านบน ฝนเริ่มตกหนักเลยครับ ถือเป็นโชคดีที่ไม่ตกในการเดินขึ้น เลยได้นั่งพักให้หายเหนื่อยไปพร้อมกับรอให้ฝนหยุด จะได้หาทำเลเตรียมกางเต็นท์ ในใจคือดีใจครับ เพราะอะไรนะหรอ คือ “ฝนตก” สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือ “หมอก” ไง ฮ่า ๆ ... และการขึ้นมาครั้งนี้ มีผู้ที่ขึ้นมาพิชิตเพียงแค่ 12 คนเท่านั้น

       บริเวณรอบ ๆ ด้านบนจะมีลานกางเต้นท์ มีม้านั่งยาว จัดวางไว้โดยรอบ ส่วนพื้นที่ตรงกลางไว้สำหรับจุดไฟ (รอบกองไฟ) ได้ครับ ส่วนเต้นท์ หากกลางคืนฝนตกหนักสามารถยกเต้นท์หลบเข้าไปใต้หลังคาได้ และมีศาลาให้ได้นั่งพักกัน ซึ่งผมเลือกบริเวณใกล้ ๆ ศาลาเป็นจุดกางเต็นท์ เพื่อจะได้ที่นั่งสำหรับนั่งเล่น กับชมวิวเวลากินข้าว ที่สำคัญตรงศาลามีไฟให้ความสว่าง และปลั๊กไฟ ให้ด้วยนะครับ แต่ไฟจะมาตอน 1 ทุ่มถึง 4 ทุ่ม เท่านั้น ส่วนห้องน้ำก็แยกชายหญิง อย่างชัดเจน ค่อนข้างสะอาด ที่สำคัญน้ำเย็นมากครับ (ส่วนใครที่ติดต่อเช่าเต็นท์และอุปกรณ์เครื่องนอนไว้ตั้งแต่ด้านล่าง ก็นำใบเสร็จที่ติดตัวมา ยื่นแสดงต่อ จนท. ด้านบนได้เลย)    หลังจากกางเต็นท์และเก็บสัมภาระเรียบร้อยแล้ว ก็รอเวลาเพื่อไปชมพระอาทติย์ตก สิ่งหนึ่งที่คิดมาตลอดในการเดินทางครั้งนี้คือ “จะเจอหมอกไหม” และแล้วคำตอบก็คือ เวลาประมาณ 16.50 น. ณ จุดที่กางเต็นท์นะครับ มันคือความรู้สึกที่ ฟินสุดๆ ควันขาวไปหมด

       หลังจากยืนฟินอยู่ที่ลานกางเต็นท์อยู่พักนึง ก็เลยสะพายกล้องออกไปจุดชมวิวพระอาทิตย์ตก ซึ่งแน่นอนไม่ต้องลุ้นหรอกครับ ไม่เห็นแน่นอน ส่วนตัวแล้ว ผมไม่เสียใจเลยสักนิด เพราะการเดินทางครั้งนี้มีแค่ “ทะเลหมอก” เท่านั้น ด้านบนเราสามารถเดินชมเขาแต่ละลูกได้ เส้นทางไม่ไกลกันมากนัก เดินเป็นวงกลมแล้วกลับมาจุดเดิมได้ โดยบริเวณลานกางเต็นท์นั้น ยังไม่ใช่ จุดสูงสุดของเขาหลวงนะครับ จึงถือว่า ยังไม่พิชิตความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล

       อย่างที่บอกไปด้านบนเราสามารถเดินชมเขา โดยเดินเป็นวงกลมแล้วกลับมาจุดเดิม แล้วแต่เราจะเริ่มเดินทางไหนเอง ซึ่งด้านบนจะมีจุดต่างๆ ดังนี้ เขาเจดีย์ - เขาภูกา - เขาแม่ย่า - ผาชมปรง - ผานารายณ์ โดยไฮไลต์ที่หลายๆ คนขึ้นไปชมกัน ง่าย ๆ ก็คือ ไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ “ผานารายณ์” กับ ไปดูพระอาทิตย์ตกที่ “ขาแม่ย่า” ส่วนจุดอื่นถ้ามีเวลาก็ไปเดินสำรวจได้เลยครับ อยากบอกว่าจัดสรรเวลาให้ดี ก็เดินครบได้ครับ ไหนก็ขึ้นกันมาแล้ว จะได้ไม่ต้องมาเก็บซ้ำอีก ฮ่า ๆ

      ส่วนเย็นนี้ ผมเริ่มวนทางขวาครับ คือ เดินขึ้นไปที่ ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ เพื่อไป “ผาชมปรง” ก่อนเลย เพราะอย่างที่บอก “หมอก” มันอลังการมาก ไม่เห็นแน่ๆ พระอาทิตย์ตก เดินที่นี่ไม่ต้องกลัวหลงนะครับ เพราะมีป้ายบอกทาง อีกทั้งอย่างที่บอก ทางมันเป็นวงกลมครับ  เดินตามป้ายมาก็ถึงครับ “ผาชมปรง” ช่วงเวลาที่ผมไปนั้น จุดนี้ มีลมแรงมาก นั้นเพราะจุดนี้เป็นช่องลมพอดี จึงแนะนำว่า “ไม่ควรบ้าระห่ำ” ยืนตรงหินใกล้หน้าผาจนเกินไป เพราะ ลมมันแรงมาก อาจเกิดอันตรายได้เลย จึงฝากเตือนให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ

       หลังจากนั้นก็เดินจะเดินต่อ โดยตั้งใจว่าจะไป “เขาแม่ย่า” แต่ด้วยเวลาที่เหมือนจะเริ่มมืดกับไม่ได้นำไฟฉายมาด้วย ประกอบกับทางที่ต้องเดินต่อไปนั่น ต้องเดินลงเข้าไปในป่า คิดแล้ว ถ้าไปต่อคงเดินกลับที่พักมืดแน่ๆ ถึงต้องเปลี่ยนแผน กลับไปอาบน้ำ กินข้าวเย็น พักผ่อนก่อนดีกว่า จึงเดินย้อนกลับมาทางเดิมเพื่อกลับที่พัก

       มาถึงที่พัก แนะนำว่า ให้นั่งพักสักครู่ก่อน แล้วค่อยไปอาบน้ำ เพราะน้ำที่นี่เย็นมาก ร่างกายเราอาจจะปรับตัวไม่ทัน เดี๋ยวจะไม่สบายเอาได้นะครับ นั่งพักพอได้ ผมก็เดินถือไฟฉาย ไปอาบน้ำ ต้องบอกว่า “มืด” จริงครับ ใครกลัวก็รอตอน 1 ทุ่มครับ เพราะจะมีไฟฟ้า แต่ผมไม่ไหว ยื่งนานจะยิ่งหนาว หลังจากอาบน้ำเสร็จ ก็มาเตรียมอาหารเย็นพร้อมกับที่นั่งกินข้าว พร้อมชมวิวระดับ 5 ดาว ฮ่าๆ โดยอาหารเย็นมื้อนี้ อาหารญี่ปุ่นราคาถูก “มาม่าคัพ” ที่ได้รับความอนุเคราะห์น้ำร้อน จากพี่จนท. ที่ต้มไว้ให้ กับไส้กรอก 7-11 ที่จัดเตรียมไว้

      ช่วงเวลานี้ครับ ผมไม่ได้จับโทรศัพท์เลย (อาจเพราะเครือข่ายที่ผมใช้ไม่มีสัญญาณเลย ฮ่า ๆ) เวลาผมไปเที่ยวนั่น ผมมักจะชอบนั่งคิดอะไรหลาย ๆ อย่าง ไปพร้อมกับจดบันทึกเรื่องราวระหว่างทางที่เราพบเจอมา เพราะ “จุดหมายมันไม่ได้สำคัญเท่ากับรายละเอียดระหว่างทาง” ทั้งได้นั่งคุยกับมิตรภาพข้างบนกับคนที่เราไม่รู้จัก แต่มาเจอกันเพราะเรามีเป้าหมายเหมือนกัน หนึ่งในนั่นคือ “พี่ติ๊ก” จนท. ที่ประจำอยู่ด้านบน ผมก็คุยซับเพเหละไปเรื่อย ได้ความรู้หลาย ๆ อย่างจากพี่เขา ไปพร้อมกับฝนที่ตกมาในค่ำคืนนั้น ผมคุยกับพี่เขาจนได้ลาภ เพราะอะไรนะหรอครับ ผมไปชวนคุยเรื่องอาหาร พี่ติ๊กเลย บอกว่า พรุ่งนี้เช้าจะ “ยำปลากระป๋องสูตรพิเศษ” ให้กินในมื้อเช้า ฮ่าๆ เห็นไหมครับได้ลาภจริงๆ คุยสักพักยังไม่ถึง 4 ทุ่มเลย ผมต้องขออนุญาตลาพี่เขา เข้านอนก่อน เพราะพรุ่งนี้ตั้งใจไปชมพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งแน่นอน ไม่เห็นอีกแน่ ๆ เพราะฝนตกแบบนี้ ส่วนตัวอย่างที่บอกผมไม่แคร์อยู่แล้ว ฮ่า ๆ “ทะเลหมอก” อลังการมาก็พอแล้ว  ... ค่ำคืนนี้อากาศกำลังเย็น แต่ไม่หนาว ฝันดีครับ

     

    • โพสต์-2
    KRISADA •  สิงหาคม 18 , 2560

    Day 2 : 5 สิงหาคม 2560

       ตัดมาที่เช้าอีกวัน โดยตั้งใจไว้แล้วว่า เวลา 5.30 น. จะตื่นเพื่อไปชมพระอาทิตย์ขึ้นหรือไม่ ที่ “ผานารายณ์” ฟ้าเริ่มสว่างแล้วนะครับเวลานี้ แล้วก็เริ่มเดินไปพร้อมกับอากาศบาง ๆ หมอกเคลื่อนตัวช้า ๆ  แล้วก็เดินขึ้นมาถึงยอดผา ที่มีสมาชิกผู้เดินทางขึ้นมาก่อนแล้ว นั่งเผ้ารอ ไข่แดง , ไข่เค็ม ตามที่อยากเรียก แต่.. ฟ้าที่ปิดไม่มาก หมอกลงเล็กน้อย  จึงไร้วี่แววที่จะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้น เห็นแต่แสงลาง ๆ แต่ก็ได้วิวเบื้องล่างแทน ผมอยู่ที่นี่อยู่พักนึง ก่อนเดินลงมาที่พักเพื่อกินข้าวเช้า ก่อนจะไปเก็บ พิกัดต่าง ๆ ที่เหลือ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “การพิชิตความสูง”

       เดินลงมาถึงจุดที่พัก ก็เจอ “พี่ติ๊ก” เรียกพร้อมบอกว่า “ยำปลากระป๋อง” เสร็จแล้วกินได้เลย ฮ่า ๆ ลาภปากจริง ๆ ไม่ได้ฝันนะครับ ,, มื้อเช้าเลยได้กินเมนูพิเศษจาก “พี่ติ๊ก” ต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ ที่สำคัญ “อร่อยจริง” ,,, อีกทั้งยังต้มน้ำร้อน ให้ไว้ “ชงกาแฟ” กินอีก ต้องบอกว่า พี่เขาใจดีสุด ๆ ทริปนี้เจอแต่คนใจดี

       หลังจากกินข้าวเสร็จ ล้างจานคืนให้พี่ติ๊กเรียบร้อย ก็จัดของเตรียมไปพิชิตจุดต่าง ๆ บนยอดเขากัน
       คราวนี้ผมเริ่มเดินอีกทางครับ โดยวนทางซ้าย โดยจะไปที่ เขาเจดีย์ - เขาภูกา - เขาแม่ย่า - ผาชมปรง อีกครั้ง ช่วงระหว่างทางที่เดินไปนั้น เจอแต่หมอกที่เริ่มเคลื่อนเข้ามา ไหลมาตามกระแสลม หมอกกระจายฟุ้ง ๆ มีมาเป็นระยะ ๆ หมอกไหลยามเช้า มองยังไงก็ไม่เบื่อ

        และแล้วก็ถึง “เขาแม่ย่า”​ ที่มีความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล จุดที่สูงที่สุดของ “เขาหลวงสุโขทัย” บรรลุเป้าหมายการพิชิตครั้งนี้อย่างสมบูรณ์ ... นิดนึงครับ เส้นทางสู่ยอดเขาพระแม่ย่านั้น ถ้าเดินมาจากเขาเจดีย์ จะเจอทางแยกออกด้านซ้าย (มีป้ายบอกทาง) ผ่านเข้าไปในป่าดิบเขาช่วงระยะหนึ่ง ก่อนที่จะโผล่ออกพบทุ่งหญ้าเพื่อที่จะขึ้นสู่ "ยอดเขาภูกา" แล้วก็ต้องเดินย้อนกลับทางเดิม เพื่อมา “เขาแม่ย่า” นะครับ

       ในช่วงของการเดินเก็บพิกัดต่าง ๆ นั้น บางช่วงจะมีหมอกไหลตามแรงลม เข้ามาปะทะตัวเรา และทุกสิ่งบนนั้นเป็นระยะ ๆ หนาบ้าง จางบ้าง ลมจะพัดหมอกไหลมาหาเรา แบบเห็นจะ ๆ ว่ามันไหลมา แล้วก็ไหลไป ผมก็ได้แต่ดื่มด่ำกับภาพที่เห็นอยู่เบื้องหน้า เพื่อได้สัมผัสกับลมและสายหมอกที่เย็นสบายอย่างเต็มที่ รู้แล้วว่า... “ทำไมหลาย ๆ คนจึงชอบหมอก”

        วันนี้หลังจากเก็บเอาทิวทัศน์ บรรยากาศที่ยิ่งใหญ่และสวยงามกันมาจนเต็มหัวใจ ทั้งภาพถ่าย ภาพวิดีโอ ตลอดด้วยการมองและจดจำ เป็นการปิดทริป “เสน่ห์ป่าฝน มนต์ขลังที่ซ่อนเร้น เขาหลวงสุโขทัย” กับ 2 วัน 1 คืน  อย่างงดงาม และครบทุกรสชาติมาก

       นี่แหละครับคือ... " ชัยชนะของนักผจญภัย "

       เที่ยงครึ่งพอได้ หลังจากจัดการเก็บของเรียบร้อย ผมก็พร้อมกล่าวคำ “ลา” กับมิตรสหาย พร้อมทั้งยอดเขาหลวงแห่งนี้ เส้นทางเดินลงซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกันกับทางขึ้นแต่ต่างกันที่วันนี้ เราใช้เวลาน้อยกว่าเดิมมาก แต่ก็ยังมีความเหนื่อยอยู่ ฮ่า ๆ แต่กลับกันที่มีคณะเดินทางชุดใหม่ ที่ขึ้นมาพิชิตยอดเขาแห่งนี้ หลายคณะเลยทีเดียว (เพราะขาขึ้นผมเจอแค่ 2 คนที่เดินลง) แต่นั่นแหละครับ ผมจะได้กล่าวคำทักทาย พร้อมกับคำว่า “สู้ ๆ ..อีกนิดเดียวครับ” ที่มาพร้อมกับรอยยิ้มของคนที่กำลังเดินไปหา “เขา” เหมือนครั้งที่ผมเดินขึ้นไป   พอลงมาถึงก็รีบเดินไปนั่งพักที่ร้านค้าสวัสดิการเลย ก่อนที่จะชำเรืองมองไปบนเขาหลวงที่เราเพิ่งเดินผ่านมาแล้ว คราวนี้ เราต้องอำลาเขาหลวงแล้วจริง ๆ เสน่ห์ของป่าหน้าฝนคือ ความเขียว และกลิ่นหอมของดิน สำหรับผม แค่ได้เดินออกมาจากห้องสี่เหลี่ยมแล้วเห็นแค่นี้ ก็มีความสุขแล้ว    ใครชอบแนวผจญภัย ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ออกกำลังกายด้วย และได้ไปเห็นอะไรใหม่ๆ ขอเชิญครับ สุดท้ายอยากบอกว่า “รูปภาพมันเอามาฝากกันได้ แต่ประสบการณ์มันต้องออกไปเจอด้วยตนเอง” ลองมาสัมผัสรีวิวของตัวคุณเองกันเถอะ ... ขอบคุณที่อดทนอ่านรีวิวบ้าน ๆ กันนะครับ

    สรุปค่าใช้จ่าย (คิดเฉพาะช่วงเวลาที่ "เขาหลวง")

    • ค่ารถโดยสาร (ไปกลับ) กรุงเทพฯ - สุโขทัย 722 บาท
    • ค่าแท็กซี่ (ไปกลับอุทยานฯ) 400 บาท
    • ค่าอาหารกับน้ำ 142 บาท
    • ค่าเข้าอุทยานฯ  40 บาท
    • ค่าพื้นที่กางเต็นท์ 30 บาท

    รวมค่าใช้จ่ายช่วงแรก 1,334 บาท

    • ค่าห้องพัก 625 บาท
    • ค่าอาหารกับน้ำ 140 บาท
    • ค่ารถตุ๊กๆ ไป บขส. สุโขทัย 30 บาท

    รวมทั้งหมด 2,129 บาท

    ปล. อันที่จริงแล้วผมเข้าไปนอนในตัวเมืองสุโขทัยอีก 1 คืน แต่อย่างที่บอกครับ ฝนตกอย่างหนัก คือแบบหนักจริงๆ ตั้งใจจะไปเดิน “ถนนคนเดิน” เพราะใกล้กับที่พัก ผมพักที่ “Nakorn De Sukhothai Hip Hotel” แต่ถ้าจำไม่ผิด ตกเกือบทั้งคืน จนวันกลับก็ตกหนัก เปียกมาจนถึง บขส. เลยทีเดียว แล้วต้องขอขอบคุณ รีวิวของผู้เดินทางท่านอื่น ๆ ที่เคยขึ้นไปสัมผัสบรรยากาศบน "เขาหลวงสุโขทัย" แล้วมาถ่ายทอดให้ผมได้อ่าน