ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
 
เด่นช้างนอน พิชิตยอด 1,700 เมตร | ณ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อ.ปัว จ.น่าน เด่นช้างนอน จ.น่าน
    • โพสต์-1
    Namee •  ธันวาคม 25 , 2564

    ช้างนอนเราไม่นอน พิชิตยอด 1,700 เมตร

    พิชิตยอด 1,700 เมตร ณ เด่นช้างนอน | วันที่ 19 - 21 พฤศจิกายน 2564
    [ทริป 3 วัน 2 คืน]

     

    การพิชิตยอด 1,700 เมตร อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับใครหลาย ๆ คน
     อยากออกไปพิชิตยอดเขาที่ไหนก็ได้สักที่...? เลือกไว้หลายที่เลยแต่จบที่ "เด่นช้างนอน"

     

    "เด่นช้างนอน" ตั้งอยู่ที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว จังหวัดน่าน มีระดับความสูงอยู่ที่ 1,980 เมตร จุดสูงสุดของเด่นข้างนอน คือ ยอด 1,650 เมตร และยอด 1,700 เมตร โดยระยะเวลาและระยะทางสำหรับการเดินเท้าเข้าป่าเพื่อไปพิชิตยอด พิชิตความโหด ใช้เวลาในการเดินป่า 3 วัน 2 คืน และระยะทางสำหรับการเดินเท้าทั้งหมดประมาณ 18 กิโลเมตร

    จุดไฮไลท์ก่อนถึง "สันคมมีด"

     

    ตั้งแต่เข้าโหมดโควิดร่างกายฟิตมาก แต่นอกจากที่ร่างกายฟิตแล้วเสื้อผ้าก็ฟิตด้วยเช่นกัน เพื่อน ๆ เป็นกันรึเปล่า...? ถ้าให้พูดถึงเด่นช้างนอน จริง ๆ เป็นทริปที่วางแผนไปตั้งแต่ปี 2563 แต่โดนเทแบบกระทันหันเลยทำให้ซ้ำใจต้องเซไปภูเข้แทน ปีนี้มีโอกาสแล้วก็ขอจัดสักหน่อย ถึงแม้ค่าใช้จ่ายปีนี้จะแอบแร๊ง! มาก แรงเป็นสองเท่าของปีที่แล้ว แต่ทำไงได้ใจมันไปแล้วอ่ะ และด้วยสถานการณ์ทุกอย่างคือมันเป็นอะไรที่ไม่แน่นอน! เราจึงเลือกที่จะไปและขอบันทึกความโหดของเส้นทางผ่านรีวิว ผ่านภาพถ่ายทุก ๆ ภาพนี้เพื่อเป็นความทรงจำว่าครั้งหนึ่งเราเคยไปพิชิตเด่นช้างนอนแล้ว ป่ะ! ออกเดินทางกัน...

    ณ จุดรวมตัวฝายน้ำย่าง หน่วยส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2

     

    **ข้อแนะนำและการเตรียมความพร้อมก่อนขึ้นเด่นช้างนอน**

    1. เนื่องจากเส้นทางท่องเที่ยว ศึกษาธรรมชาติเด่นช้างนอนนั้น มีระยะทางตลอดทั้งทริปประมาณ 18 กิโลเมตร มีทางขึ้นที่ชันอย่างต่อเนื่อง ทางลงนั้นก็ลาดลงยาว ๆ ไป บางช่วงทางแคบเป็นสันคมมีดหรือไต่บันไดไม้ ต้องเดินด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก
    2. นอกจากเรื่องเส้นทางที่ชันแล้ว ระหว่างทางเดินและบนเด่นช้างนอน ยังมีทาก แมลง บุ้งคัน ตัวคุ่น เห็บหมูป่า เห็บลม ยกมากันเป็นกองทัพเตรียมซอฟเฟล แป้งกันเห็บหมาไว้ให้พร้อม ควรแต่งกายที่ปิดมิดชิดจะช่วยป้องกันได้ในระดับหนึ่ง ถุงกันทากจำเป็นมาก ยอดเขามีทากทั้งปี (แต่ปีนี้ที่ขึ้นไปยังไม่เจอสักตัวสงสัยแล้วแต่ดวงมั้ง)
    3. นักศึกษาธรรมชาติต้องมีการเตรียมตัวและร่างกายให้พร้อมในการเดินเท้าระยะไกล วางแผนการจัดสัมภาระ อุปกรณ์ต่าง ๆ เท่าที่จำเป็น เผื่อน้ำหนักสำหรับแบกอาหารและน้ำดื่มส่วนตัวระหว่างทาง
    4. ฤดูฝน เสื้อผ้าของใช้ส่วนตัวทุกอย่างต้องใส่ถุงพลาสติกรัดหนังยางให้แน่นเพื่อกันน้ำ อาจจะเจอฝนเป็นบางช่วง หรือไม่ก็อาจเจอฝนตกทั้งวันทั้งคืน หรือถ้าเข้าช่วงฤดูหนาวก็หมดห่วงเรื่องฝนกันได้เลย
    5. ใครที่ใช้บริการลูกหาบแบกสัมภาระให้ ควรมีเป้ใบเล็กไว้ใส่ข้าวกล่องและน้ำไว้ดื่มระหว่างทาง รวมทั้งของส่วนตัว
    6. เด่นช้างนอน ไม่มีห้องน้ำ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ บนยอด 1,980 ไม่มีวิว ใครที่ได้ขึ้นคือไปถ่ายรูปกับป้าย
    7. แคมป์วันแรกไม่มีน้ำต้องเตรียมน้ำเผื่อกินสองวัน ส่วนแคมป์สองมีธารน้ำ สามารถนอนปลาทู นอนเต็นท์ นอนเปลได้หมด

     

    **ข้อจำกัดในเข้าศึกษาธรรมชาติ**
    1. จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าศึกษาธรรมชาติ จำนวนไม่เกิน 30 คนต่อรอบสัปดาห์
    2. ต้องโทรสอบถามวันว่างและจองล่วงหน้า
    3. จองได้ไม่เกิน 10 คน/กลุ่ม
    4. เจ้าหน้าที่ 2 คน ดูแลนักท่องเที่ยวไม่เกิน 10 คน/กลุ่ม
    5.ไม่อนุญาตให้เปิดเพลงเสียงดังระหว่างเดินเท้า เพื่อไม่ให้สัตว์ในป่าตื่นกลัว (ได้รับการแจ้งเตือนมาก่อนขึ้น)

     

    **เงื่อนไขการเข้าสถานที่ท่องเที่ยว**
    1. ผู้ที่มาท่องเที่ยวต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ครบโดรสเเล้วเท่านั้น คือ 2 เข็ม ยี่ห้อ ตามข้อกำหนดของภาครัฐ พร้อมแนบหลักฐานมาแสดง
    2. นักท่องเที่ยวทุกคนต้องมีผลตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR, Rapid antigen test หรือ Rapid antibody test จากสถาพยาบาล โดยมีผลเป็นลบ (ไม่พบเชื้อโควิด) ระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง (จำนวน 3 วัน)

    หมายเหตุ : ปีนี้อาจมีเงื่อนไขและขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยากนิดหนึ่งในการเข้าพื้นที่ก็ด้วยสถานการณ์โควิด-19 อะนะ ส่วนปีหน้านั้นก็เฝ้าดูสถานการณ์กันต่อไปค่ะ

     

    ***ขั้นตอนและรายละเอียดในการจอง***
    1. โทรสอบถามวันว่างและจองได้ที่ 095-679-5478 ตั้งแต่เวลา 20.00 น. - 22.00 น. ของทุกวันตั้งแต่ 09/11/2 - 01/02/65
    2. ส่งข้อมูลพร้อมหลักฐานยืนยันการจอง ตามรายละเอียดดังนี้
            - ชื่อ.............. นามสกุล..................... (ผู้จอง)
            - จำนวนของสมาชิกกลุ่ม...........คน
              (ไม่เกิน10คน/กลุ่ม)
            - จองวันที่................................ 
              เช่น *** (จองวันที่ 14-16/11/2564) ตาม  รอบวัน ศ, ส, อ หรือวันหยุดพ่วงในแต่ละเดือน
            - จำนวนลูกหาบที่ต้องการ.......................คน
    3. โอนค่ามัดจำการจอง 2,000 บาท ได้ที่  ( บัญชีธนาคาร กสิกรไทย /ชื่อบัญชี นายณัฐณรงค์ ไชยกันทะ /เลขที่บัญชี 320-2-75178-3 )
    4. ส่งข้อมูลในข้อ 2. พร้อมรูปถ่ายหน้าบัตรประชาชนของสมาชิกในทีมทุกคน/ และหลักฐานการโอนมัดจำการจอง ได้ทาง Inbox ของเพจ และรอตอบรับจากทางเพจ FP : คนไต่เด่นช้างนอน อีกครั้งเพื่อยืนยัน
    5. หากทราบผลจองสำเร็จแล้ว ให้ดาวน์โหลดเอกสาร พร้อมกรอกข้อมูลและแนบสำเนาบัตรประชาชนของสมาชิกในกลุ่มทุกคนมายืนในวันมาด้วย (ตามลิงค์ Link……………………….)
    ***หมายเหตุ กรณียกเลิก ขออนุญาติไม่คืนเงินค่ามัดจำทุกกรณี
    https://www.facebook.com/109539660928615/posts/367943355088243/?d=n

     

    **ขั้นตอนและเอกสารที่ต้องเตรียมมายื่นในวันขึ้นเด่นช้างนอน**
    ***เอกสารที่ต้องนำมายื่นในวันขึ้นเด่นช้างนอน

    1. ใบลงทะเบียนกลุ่ม (ตัวแทนกลุ่ม)
    2. แบบคำร้องขออนุญาติ (ทุกคน)
    3. สำเนาบัตรประชาชนพร้อมเซ้นรับรอง (ทุกคน)
    4. เอกสารรับรองผลตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี 1. RT-PCR, 2. Rapid antigen test (ATK) หรือ 3. Rapid antibody test จากสถานพยาบาล, หรือตรวจโดยบุคลากรทางการเเพทย์ (ทุกคน)
    5. สำเนาเอกสารยืนยันฉีดวัคซีนครบโดรส คือตั้งแต่ 2 เข็มขึ้นไป (ทุกคน)
    ***ดาวน์โหลดเอกสาร ได้ที่ https://files.fm/u/7z747njbx

     

    >> วันแรกทุกคนจะมารวมตัวกันที่ ฝายน้ำย่าง หน่วยส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 และจะมีเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติดอยภูคา มาตรวจเช็คเอกสารของแต่ละกลุ่ม พร้อมชี้แจงรายละเอียดและเส้นทางการเดินเท้า และข้อควรระวังต่าง ๆ สำหรับการเดินป่าและค้างแรม

    ณ จุดที่ลงทะเบียนกับทางอุทยาน

     

    **เรื่องความโหดของเด่นช้างนอน**
    1. ระยะทาง >> เป็นเส้นทางเดินเท้าระยะไกลประมาณ 7-8 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 6-7 ชั่วโมง แล้วแต่กำลังขา 
    2. ระยะเวลาสำหรับตั้งแคมป์ >> 3 วัน 2 คืน ถ้าแบบ 2 วัน 1 คืน ก็ได้นะพักแค่แคมป์แรกแค่คืนเดียว เช้าอีกวันก็ขึ้นไปชมวิวบนยอด เสร็จแล้วก็เดินกลับมาเก็บของที่แคมป์แล้วรีบลงเขาเลยถึงน้ำตกศิลาเพชร ประมาณ 5 โมงเกือบ 6 โมงเย็น แต่มันจะเหนื่อยและโหดไปหน่อย เอาที่สะดวกและไหวกันนะจ๊ะ
    3. ระดับความสูง >> แคปม์ 1 มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,650 เมตร และยอดเด่นข้างนอน 1,700 เมตร
    4. ระดับความชัน >> ระดับความชัดยกให้เลย 4 ดาว++ ชันอะไรจริงจังขนาดนั้น คนที่เคย ๆ ไปกันเขาบอกว่าเหมือนเนินมรณะเพราะชันตลอดทั้งเส้นทาง บอกไปอาจจะไม่เชื่อแต่ก็ไม่ได้อยากให้เชื่อนะ แค่อยากให้ไปลองวัดระดับความชัดความโหดกันเอง ตั้งแต่ออกทริปกลับมาไม่เคยปวดขาหนักเท่าทริปนี้ อ่อๆ ลืมบอกแบกเป้กันเองเบาๆ 15 โล 
    5. ลักษณะเส้นทางการเดิน >> เส้นทางเดินเท้าทางราบมีน้อย ส่วนใหญ่เป็นทางชันมากถึงมากที่สุดเดินขึ้นไต่ยอดเขาไปประมาณ 3 ถึง 4 ยอด ยอดสุดท้ายระยะทางแค่ 500 เมตร ดูเหมือนจะเดินใกล้ถึงแต่ก็ไม่ถึงสักที 
    6. ค่าใช้จ่าย >> เป็นทริปเดินป่าที่มีค่าใช้จ่ายค่อยข้างราคาแร๊งแรง ค่าใช้จ่ายแพงมาก ๆ แรงกว่าปีที่แล้วเป็นเท่าตัว ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตามแต่ก็เลือกที่จะไปแล้วก็ต้องยอมแบกรับในเรื่องของค่าใช้จ่ายกันไป

    ปล. อยากขอให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยให้ความยืดหยุ่นในเรื่องราคาหน่อย ขอความตรงกลางระหว่างทุกกลุ่ม อยากให้ปรับลดลงมาเท่าเดิมไม่ให้กระทบทั้งวิสาหกิจชุมชน อุทยาน และนักท่องเที่ยว

    ที่นี่มีพื้นที่กว้างขวางให้ได้จับจองจัดเตรียมสัมภาระกันแบบสบาย ๆ

     

    **รายละเอียดทริปเด่นช้างนอน 3 วัน 2 คืน**
    19 พฤศจิกายน 2564 | เดินป่าวันลอยกระทง... พาร่างกายไปฟิตพิชิตโควิด!

    ------------------------------

     

    Day 1 : วันแรกพวกเราออกเดินเท้าจาก "น้ำตกศิลาเพชร" ประมาณ 10.00 โมง ระยะทางประมาณ 8 กิโล เดินขึ้นอย่างเดียวเลยจร้าจนถึงที่พักคืนแรก ซึ่งก็คือแคมป์ 1 นั้นเอง อยู่ที่ระดับความสูง 1,650 เมตร จากระดับน้ำทะเล โดยปกติจะใช้เวลาในการเดินเท้าอยู่ที่ประมาณ 5 - 6 ชั่วโมง ระยะเวลาในการเดินขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและประสบการณ์ของแต่ละคนตามที่กล่าว ๆ กันไว้

    กลุ่มของพวกเรา (กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ในกลุ่มจะมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย)

     

    จุดสตาร์ทของการออกเดินเท้า

     

    >> ในช่วงของการเริ่มออกเดินเท้า เดินไปสักพักใหญ่ระยะทางก็ไม่ถึงกับไกลมากจะเจอตาน้ำเล็ก ๆ จุดนี้สามารถกรอกน้ำไว้กินได้ หรือจะรอไปเติมจุดที่ 2 ก็ได้ครึ่งทางพอดี มีโอกาสเติมก็เติมกันไปเถอะ เชื่อว่าระหว่างทางที่เดินน้ำที่เตรียมไว้กินข้างบนอาจจะหมดก่อน 555++

     

    >> เป็นวันที่เดินเหนื่อยแบบสุด ๆ เดินขึ้นอย่างเดียวเลย จะชันอะไรกันขนาดนั้น ชันไม่บันยะบันยัง ชันกันแบบว่าตอนขึ้นโคตรเหนื่อย โคตรโหด โคตรหนัก (หนักเป้ที่แบก) ขาลงเตรียมเข่าพังกันได้เลยจร้า ถ้าขึ้นชันก็ลงชันแน่นอน! ฟันธง

    สต๊าฟพี่ตู่ผู้ไม่หวั่นแม้วันนั้นจะโดนตะคริวเล่นงาน (นับถือใจแบกเอง 30 กว่าโล)

     

    >> "ใกล้ถึงแล้ว" ฮึ! ไม่ใช่ประโยคบอกเล่า แต่เป็นประโยคยอดฮิตที่บรรดาลูกหาบใช้หลอก เฮ้ย! ไม่ใช่ ๆ ใช้ให้กำลังใจนักเดินป่าทั้งหลาย ที่กำลังโดนความเหนื่อยครอบงำและกำลังจะหมดกำลังใจในการเดินต่อ ตอนเราเหนื่อย เราก็อยากโยนทุกอย่างรอบ ๆ ตัวทิ้ง แต่พอไปถึงจุดหมายปลายทาง และได้เห็นสิ่งที่เฝ้ารอที่ปราถนาจะได้เจอ ความเหนื่อย ณ ตอนนั้นหายไปหมดโดยไม่รู้ตัว แต่พอเราหลุดพ้นจากความสวยงามของป่าเขาเราก็จะกลับมาเหนื่อยเหมือนเดิม 555++

     

    >> จุดเติมน้ำที่ 2 ระยะทางเดินไปกลับรวมประมาณ 2 กิโล เดินไปเองไม่ได้นะบอกเลยว่าหลงทางแน่นอน! ต้องมีคนนำทางพาไปเอา ไอ้เราก็นึกว่าใกล้ที่ไหนได้เดินเลาะสันเขาไปไกลเลย แถมต้องเดินลงไปถึงตีนเขาอีกตะหาก แค่เดินเส้นทางที่ต้องเดินก็เหนื่อยจะแย่อยู่แล้ว ถ้ารู้ว่าจุดเติมน้ำที่ 2 เดินไกลขนาดนี้คงไม่ตัดสินใจไปแต่แรกล่ะ 555++ ณ จุดเติมน้ำนี้ถ้าใครไม่อยากแวะเติมจะมีจุดเติมน้ำจุดสุดท้ายก่อนถึงแคมป์ ก็จะมีป้ายบอกไว้ล่ะว่าเป็นจุดเติมน้ำ แต่ขอบอกไว้เลยว่าระยะไกลไม่ต่างกับจุด 2 พวกเราลองมากันทั้ง 2 จุดละ ไม่เชื่อก็ลองเดินลงไปดูละกันเน้ออออ!

    ครึ่งทางของความเหนื่อย จุดเติมน้ำที่ 2 

     

    >> ระหว่างการเดินเท้าเราก็จะพบกับความสวยงามของเหล่าธรรมชาติ

     

    >> ถึงแว๊วววว! จุดพักแคมป์ 1 เดินมาถึงประมาณ 4 โมงกว่า ๆ จุดพักแคมป์มีให้เลือกตั้งแคมป์กัน 3 จุด เป็นบริเวณแบบลานกว้างเวิ้งด้านล่าง 1 จุด และบริเวณสันเขา 2 จุด (ยังไม่ได้ถาง 1 จุดเพราะเป็นช่วงพึ่งเปิดเขา) พวกเราเลือกลานกว้างเวิ้งด้านล่าง กลัวเจอลมแรงไม่อยากนอนแบบโต้ลมเต็นท์สะพือทั้งคืน เดินมาเหนื่อยมากแล้วอยากนอนหลับแบบสบาย ๆ ณ จุด ๆ นี้ ก็สรรหาพื้นที่ตั้งเต็นท์กันได้ตามสบายใครมาถึงก่อนได้เลือกก่อน คริคริ

    ระยะทางที่ใช้นากาวัดจากระดับ 340 เมตร ดันขึ้น 1,650 เมตร

     

    สภาพ! ไหวมั้ย...

     

    ณ ต่อไปนี้อาจเป็นช่วงเวลาที่ไม่ได้มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำคัญ
    ข้ามการอ่านช่วงนี้ไปกันได้เลยนะจ๊ะ ดูแค่รูปพอเนอะ!

     

    >> ช่วงเวลาที่ชอบที่สุดคือช่วงกินข้าวเย็น ชอบเวลาที่ได้นั่งคุยกัน แซวกัน ได้นั่งเมาส์กับเพื่อน ๆ พี่ ๆ ในกลุ่ม มันเป็นความรู้สึกผ่อนคลายร่างกายและความรู้สึกที่สุดแล้ว หลังจากที่พวกเราต้องเดินแบกเป้ แบกน้ำ แบกของกินกันเอง แบกทุก ๆ อย่าง ตามกำลังของร่างกายแต่ละคนจะแบกกันไหว พอได้โยนเป้ทิ้งจากหลังแล้วเหมือนได้เป็นไทยอย่างไงไม่รู้ 555++ เอ๊ะ! หรือรู้สึกไปเองคนเดียว...

    อาหารบ้าน ๆ ที่รสชาติไม่ธรรมดา อาหารที่มีแต่เรื่องราวของพวกเรา
    ฝีมือเชฟพี่ตู่ และพี่ลูกหาบ

     

    สุ่มรอบกองไฟนั่งเมาส์กับพี่ ๆ คนนำทาง และพี่ลูกหาบ

     

    >> วันนี้วันลอยกระทงแต่พวกเรานั้นอยู่ในป่า ปีนี้โชคดีไม่ต้องไปลอยกระทงคนเดียว 555++ เพราะพวกเราลอยกระทงทิพย์กัน ลอยกันไปตามจิตนาการ... เป็นคืนที่ไม่รู้สึกเหงานะ เพราะกลุ่มเรามีกิจกรรมทำกันเยอะ เล่นพุไฟ จิบน้ำปานะ นั่งเมาส์ หนุกหนานดีชอบ ๆ แถมอากาศแบบเย็นสบาย ๆ ไม่หนาวเลย ชิลดีเราชอบ! ชอบที่มันเป็นช่วงเวลาที่ได้มูฟออนออกจากวงจรความรู้สึกเดิม ๆ ที่น่าเบื่อ #โควิดเป็นเหตุสังเกตุได้

    รักนะทุกคน

     

    >> ปีนี้ของเดือนพฤศจิกายนอากาศบนยอดเขาที่ จ.น่าน คือไม่หนาวเลยแค่เย็น ๆ แต่น้ำค้างแรง ตอนกลางคืนคิดว่าฝนตก  แถมคืนแรกเป็นคืนที่หนักหน่วงนอนปวดตัว เมื่อยตัวมาก! เจอกันพรุ่งนี้เช้า

    ราตรีสวัสดิ์นะทุกคน...

    • โพสต์-2
    Namee •  ธันวาคม 25 , 2564

    20 พฤศจิกายน 2564 | สวัสดีเช้าวันเสาร์! วันที่ไม่เหงาเพราะเรามีเขาอยู่เคียงข้าง...

    -----------------------------------------------

     

    Day 2 : วันที่สอง กลุ่มอื่น ๆ อาจตื่นมาตอนเช้าเพื่อชมวิว กินข้าว เก็บของ เก็บเต็นท์ และเดินเท้าออกจากที่พักแคมป์ 1 เพื่อเดินไต่สันเขาไปชมวิวยอด 1,700 และไปต่อแคมป์ 2 ส่วนกลุ่มเรานั้นเลือกพักแรมที่แคมป์ 1 ทั้ง 2 คืนเลย ด้วยที่ว่าขึ้นได้แค่ยอด 1,700 เท่านั้นเพราะทางอุทยานไม่อนุญาตให้ขึ้นยอด 1,980 เลยเลือกที่จะเดินแบบชิล ๆ ไปชมวิวบนยอดเด่นช้างนอน โดยแบบไม่ต้องแบกเป้แบกเป๋าให้หนักกายให้เมื่อยขา ด้วยระยะทางที่เดินไปถึงยอด 1,700 เมตร ประมาณ 1.5 กิโล วิวระหว่างเส้นทางไต่เขาคือสวยมาก เป็นจุดไฮไลท์ของที่นี่ แต่ก็ค่อยข้างอันตรายเพราะเป็นเหวลึกทั้งสองฝั่งซ้ายขวา ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่สำหรับใครที่ไปแคมป์ 2 จากจุดนี้เดินลงมาแคมป์ที่ 2 ริมลำธาร ระยะทางประมาณ 2.5 กิโล ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง (มีน้ำตกให้อาบให้กินด้วยนะ)

    >> กู๊ดมอนิ่งทุกคน เช้านี้ไม่เจอแสงเท่าไร เจอแต่หมอกขาว ๆ วันนี้ไม่ต้องเก็บเป้ เก็บเต็นท์ คือดีแท้ เพราะคืนที่สองเราเลือกที่จะพักกันที่เดิม กลับเส้นทางเดิม

     

    >> วันนี้เราจะออกเดินไปยอด 1,700 กันแบบสบาย ๆ เดินกันแบบตัวปลิว ออกเดินเท้าไปพิชิตยอดกันตอน 9 โมง ป่ะ! ไปแอ่วยอดกัน

    พี่เอก และลุงเวียน จะเป็นคนนำทางให้กับทุกคน ส่วนคนเสื้อผ้านั้นพี่สวิงสายกระตุ้น

     

     

    >> นี้แค่พึ่ง 1,665 เมตร เดี๋ยวไปร้อง Wow! กันต่อดีกว่า...

     

    >> ส่วนมุมนี้คือถ่ายย้อนกลับไปเส้นทางที่เดินผ่านขึ้นมา

                     

    จุดไฮไลท์ >> เส้นทาง "สันคมมีด" เป็นจุดที่เสียวสุดและสวยมาก เป็นจุดไฮไลท์ของที่นี่ซึ่งต้องเดินไต่สันเขาไปเรื่อย ๆ เหลียวมองซ้ายก็เหว เหลียวมองขวาก็เหว ในช่วงเส้นสันคมมีดจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลในแต่ละจุด ที่นี่เรียกได้ว่าเป็น "สันวัดใจ" อีกหนึ่งที่เลย เป็นการเดินผ่านจุดไฮไลท์เพื่อไปยังจุดชมวิวยอด 1,700 เมตร ดูวิวมุมสูงของ "เด่นช้างนอน" แต่ยังไม่ใช่จุดสูงสุดของที่นี่ เพราะจุดสูงสุด คือยอด 1,980 เมตร ซึ่งทริปนี้เราไม่ได้ขึ้นไปพิชิตเพราะทางอุทยานไม่อนุญาต  

     

    >> ผ่านจุดอันตรายกันไปแล้ว ไปดันกันต่อยาว ๆ เพื่อขึ้นดูวิวเด่นช้างนอนมุมสูง และไปนั่งกินข้าวที่ยอด 1,700 เมตร

     

    >> ชอบมุมสูง ณ จุด ๆ นี้มาก พอมองย้อนกลับช่วงที่ยังมีหมอกอยู่คือรู้สึกคุ้มค่า และไม่เสียแรงเปล่าจริง ๆ ที่ทนเหนื่อยแบกสังขารขึ้นมาถึงตรงนี้ได้

    ยู้ฮู! อายุก็แค่เพียงตัวเลขนะยู

     

    >> ณ จุดนี้ คือจุดบริเวณยอด 1,700 ลานฮอลล์ สามารถมองวิวเด่นช้างนอนมุมสูงได้อย่างดีงาม และหันหลังกลับไปสามารถมองวิวยอด 1,980 ได้ด้วยเช่นกัน เห็นแต่ยอดนะ (ยอด 1,980 ไม่มีวิว ถ้าขึ้นไปคือถ่ายรูปกับป้ายเฉย ๆ แล้วจะขึ้นไปทำไม! เพื่อคำว่าพิชิตเหรอ... เอาที่ขาสะดวกละกัน)

     

    >> พวกเรามานั่งกินข้าวกันบนยอด 1,700 และเสด็จกลับกันตอนบ่ายโมงกว่า เกรงใจพี่เอกและลุงเวียน (คนนำทาง) ที่ต้องรอพวกเราอยู่ตรงสันคมมีด

     

    >> มาดูวิวฝั่งยอด 1,980 กัน สวยไม่แพ้ฝั่ง 1,600 เลยนะ เมฆปังมาก และวิวช่วงขากลับคือขนาดบ่ายแล้วนะหมอกก็ยังปังอยู่เช่นกัน

    >> บรรยากาศช่วงขากลับช่วงบ่ายกว่าๆ ถึงแดดจะร้อนจะวิวก็ยังคงสวยงามอยู่

     

    >> กลับมาถึงแคมป์ประมาณบ่าย 2 โมงกว่า ชิลกันตามอัธยาศัย ตามอัตภาพ มีเวลาได้นั่งเมาส์ นั่งจิบกาแฟ จิบน้ำปานะ เตรียมอาหารเย็นกันแบบสบาย ๆ ทริปนี้ทุกคนเตรียมอาหารส่วนตัวหามากันเอง พอได้เวลากินข้าวทุกคนก็จะเอาของที่แบกกันมา มาแบ่งกันกิน มันคือช่วงเวลาอเมริกันแชร์ที่แท้ทรู!

    >> ณ จุดพักแคมป์ สำหรับวันที่ 2 พี่ลูกหาบไปกรอกน้ำมาให้ทำกับข้าวกับดื่ม เพราะเราพักกันที่แคมป์เดิมไม่ได้เดินทาง บวกกับที่กรอกน้ำไกลเพราะต้องเดินย้อนกลับไปเอา ก็ต้องใช้น้ำกันอย่างเห็นคุณค่าและประหยัดที่สุดเท่าที่จะทำได้ (วันที่สองถ้าไม่ได้เดินทางไปแคมป์ 2 ต่อและไม่ได้เตรียมน้ำในวันแรกมาเยอะ ก็อาจอดน้ำตายได้ 55++ หยอก ๆ)

     

    >> ขอราตรีสวัสดิ์ก่อนนะทุกคน... ด้วยบรรยากาศยามเย็น คืนนั้นนอนดึกแถมนอนหลับสบายเพราะไม่ได้เดินกันเหนื่อยมาก

     

    • โพสต์-3
    Namee •  ธันวาคม 27 , 2564

    21 พฤศจิกายน 2564 | ขาขึ้นคือชั้นชัน ขาลงคือโคตรชัน! เหมือนได้เล่นสไลด์... 

    ----------------------------------------------- 

     

    Day 3 : วันที่สาม เดินเท้าออกเดินจากแคมป์ 1 เวลา 8.50 น ถึงน้ำตกศิลาเพชรประมาณ 11.15 น. ระยะทาง ประมาณ 5 กิโล ใช้เวลาประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง แต่พวกเราใช้เวลาไปประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า ๆ มีเวลาได้เล่นน้ำตกกันอย่างจุใจเลยจร้าาา

    >> วันที่สามเป็นวันที่ชิลที่สุดแล้วเพราะไม่ต้องรีบตื่นเช้า ไม่ต้องรีบลุกไปดูพระอาทิตย์ขึ้น เพราะเมฆหมอกบังหมด มาแค่ให้เห็นแบบแว๊บบ ๆ พร้อมกับแสงเหลืองทองที่รำไรทะลุหมอกออกมาให้ได้เห็นกัน แต่ถือว่าเป็นบรรยากาศที่สวยไปอีกแบบหนึ่งให้ความรู้สึกถึงความอบอุ่นในยามเช้าได้ดีมาก ๆ

     

    >> ด้วยที่ว่าพักแค้มป์เดิม จุดชมวิวพระอาทิตย์ก็จุดเดิม การดำเนินชีวิตของวันนั้นเลยไม่ต้องเร่งรีบ ทุกคนก็ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ตามสภาพของร่างกาย 555++ สต๊าฟพี่ตู่นัดรวมตัว 9 โมงเช้าออกเดินเท้า แต่ความพร้อมของทุกคนมาพร้อมกันตั้งแต่ 8 โมงครึ่ง เก็บของพร้อม ร่างกายพร้อม มีอย่างเดียวที่ไม่พร้อม ขาไม่พร้อมจะออกเดิน...

    แม่เจ้าถ่ายมาเพราะนึกว่าดอกกล้วยไม้ มารู้ทีหลังมันคือ ดอกหมามุ่ย ฮึๆ

     

    ณ จุดทางออกป่า กว่าจะมาถึงจุด ๆ นี้ คือเดินบ่นกันมาตลอดทางเหมือนจะถึงแต่ไม่ถึงซะที

     

    ​>> ปิดทริปด้วย "น้ำตกศิลาเพชร" ถ้าใครไม่ได้ลงเล่นถือว่าพลาดมาก น้ำเย็นสบายช่วยผ่อนคลายร่างกายและกล้ามเนื้อขาได้เยอะเลย ซึ่งดีกว่าต้องไปอาบน้ำในห้องน้ำอ่ะ

     

    **อุปกรณ์ที่จำเป็น**
    - กระเป๋าเป้ใส่สัมภาระ
    - ถุงเท้า ถุงกันทาก รองเท้าแตะ รองเท้าผ้าใบ (รองเท้าเดินป่าควรเป็นแบบสวม)
    - ถุงนอน เต็นท์ ฟลายชีท กราวด์ชีท และอุปกรณ์การนอนต่าง ๆ
    - ไม้เท้า Trekking Pole
    - ชุดกันหนาว ชุดเดินป่าเน้นแห้งไว เป็นชุดแต่งกายที่มิดชิดเพื่อช่วยป้องกันแมลงต่าง ๆ
    - ยาประจำตัว ยารักษาโรค ยากันยุง และยาอื่น ๆ
    - อุปกรณ์กันแดด อุปกรณ์กันหนาว (เน้นเฉพาะที่จำเป็น)
    - เสื้อกันฝน (ตามฤดูกาลและช่วงเดือนที่เดินทาง)
    - ไฟฉาย จาน ช้อน แก้วน้ำส่วนตัว
    - ถุงขยะ (เอาอะไรขึ้นไปควรเก็บลงมาให้หมด)
    - น้ำ ขนม มาม่า อาหารแห้ง (เตรียมไปกันเองเอาเท่าที่แบกไหว)

     

    **รายละเอียดทริปเบื้องต้น**
    ***ค่าใช้จ่ายทริป คนละ 3,900 บาท***

    อัตราค่าบริการทริปรวม
    - ค่าคนนำทาง 2 คน / 10,000 บาท / นักท่องเที่ยว 1 ทีม ไม่เกิน 10 คน (ในส่วนนี้ ไม่รวมค่าลูกหาบ ค่าอาหาร หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ)
    - ค่าธรรมเนียมเข้าพักแรมในเขตอุทยาน 100 บาท/ต่อคน
    - ค่าจัดการขยะ 100 บาท/ต่อคน
    - ค่าลูกหาบ 1 คน/ ค่าใช้จ่าย 3,600 บาท/ระยะเวลา 3 วัน (แบกน้ำหนักไม่เกิน 15 กิโลกรัม *หากน้ำหนักเกินคิดกิโลกรัมละ 100 บาท หรือตามตกลง) หรือกิโลละ 240 บาท
    - ค่ารถตู้ปรับอากาศ VIP
    - ค่าประกันอุบัติเหตุ
    ทริปนี้ไม่รวมน้ำดื่มและอาหารทุกมื้อ สต๊าฟจะเตรียมเตากับแก๊สและหม้อต้มขึ้นไป สมาชิกสามารถนำอาหารที่ต้องการปรุงมาปรุงได้ที่แคมป์กลาง

     

    ***ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 800 บาท***
    ****สิ่งที่ต้องเตรียมไปเอง
    - ค่าอาหาร 8 มื้อ และน้ำดื่ม / 500 บาท
    - ค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่น ๆ / 300 บาท
    - ค่าลูกหาบแบกสัมภาระส่วนตัว (ไม่ได้จ้างแบก)

     

    **ทุกภาพถ่ายอาจไม่ได้มีความหมายหรือมีมูลค่า แต่มันคือความทรงจำของมิตรภาพและการเดินทาง 
    ขอขอบคุณผู้นำทางพี่เอก ลุงเวียน ลุงสหวิง พี่เวย์ รวมถึงลูกหาบทุก ๆ คน และที่ขาดไม่ได้สต๊าฟพี่ตู่และเพื่อน ๆ พี่ ๆ ทุกคนที่ออกทริปไปรวมทุกข์รวมสุข ไปลำบากด้วยกัน
    ขอบคุณเสียงเราะและมิตรภาพที่สวยงาม
    ขออภัยหากมีข้อมูลส่วนใดผิดพลาดไป

    เครติดภาพ : รวมมิตรกล้องแก๊งเดินป่า

     

    By : Namee Be Bear
    Fanpage : www.facebook.com/KanXengStudio
    เข้าศึกษาธรรมชาติดูข้อมูลเพิ่มที่เพจ : คนไต่เด่นช้างนอน
    อยากออกทริปต้องไปกับเพจ : Platapien ปลาตะเพียร

    #เที่ยวให้มีความสุขและสนุกกับสิ่งที่ทำ #เที่ยวแบบจอยทริป
    #เด่นช้างนอน #อุทยานแห่งชาติดอยภูคา #น่าน #thetrippacker