"ณ น่านถึงเมืองแป้" คู่มือการท่องเที่ยวฤดูฝน

บทบันทึกการเดินทางฉบับนี้จะกล่าวถึงสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดน่านและแพร่ยามเมื่อวสันตฤดูกำลังจะพาดผ่าน
มนต์เสน่ห์แห่งสายฝนที่จะทำให้ความเขียวขจีกลับมาอีกครั้งและฤดูกาลท่องเที่ยวกำลังจะเริ่มต้นขึ้น...
.
อีกหนึ่งพื้นที่การเดินทางใแบบฉบับของผม ม่วงมหากาฬLIFE FOR TRAVELhttps://www.facebook.com/PEESAT.PANTIP/
น่านฟ้าเมืองน่านยามนี้เริ่มเข้าสู่ความเขียวขจี
สายน้ำสีแดงประหนึ่งสัญญาณบ่งบอกว่าสายฝนกำลังเริ่มต้นทำงาน
พร้อมๆ กับความสุขที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นของผู้มาเยือนจากแดนไกล
การเดินทางในครั้งนี้อาจจะแตกต่างออกไปจากทุกครั้ง
เพียงเพราะอยากลองสัมผัสกับบรรยากาศบางอย่างมากกว่าสถานที่ท่องเที่ยว
ผมใช้การเดินทางโดยรถเมล์สีแดงเพื่อไปยังอำเภอปัว โดยขึ้นที่บริเวณหน้าสนามบิน
ระยะทางราว 60 กิโลเมตร ราคา 50 บาท แต่ใช้เวลาเดินทางร่วม 2 ชั่วโมง
อาจจะดูว่าล่าช้า แต่กลับรู้สึกตื่นเต้นและสนุกอย่างบอกไม่ถูก
เมืองปัวอำเภอเล็กๆ ที่โอบล้อมไปด้วยขุนเขา
สัมผัสแรกก็รับรู้ได้ถึงความชุ่มฉ่ำและความเขียวขจีของขุนเขา
ผมหารถ มอเตอร์ไซด์เช่าจากตัวเมืองปัวในราคาวันละ 300 บาท
เพื่อขับท่องเที่ยวภายในอำเภอ ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งไม่ไกลกันนัก
รวมถึงการขับไปยังอำเภอบ่อเกลือซึ่งห่างออกไปราว 50 กิโลเมตร
แผนที่ของที่พักในปัวซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแนวโฮมสเตย์ติดทุ่งนา
ซึ่งมีอยู่หลายแห่งพอสมควร แต่จะยกเอาที่โดดเด่นมาซัก 3 แห่งให้ได้เลือกพักกัน 
“โฮมสเตย์ตานงค์” มีชื่อเสียงโด่งดังลำดับต้นๆ ของอำเภอปัว
ด้วยความเรียบง่าย สบายๆ ท่ามกลางทุ่งนาที่โอบล้อมไปด้วยขุนเขา
หลายคนจึงต้องการมาพักที่นี่เมื่อมาเยี่ยมเยือนอำเภอปัว
“โฮมสเตย์ไออุ่นวิว” ที่พักเล็กๆ แต่กลับอบอุ่นสมกับชื่อ
ด้วยราคาที่แสนจะถูกเพียงคืนละ 400 บาท นี่คงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ใช้ได้ทีเดียว 
“โฮมสเตย์ตูบนา” น้องใหม่ไฟแรงที่ดูว่าจะสวยงามกว่าทุกที่
แต่ราคาก็ค่อนข้างสูงพอสมควรเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ
มุมสวยงามของโฮมสเตย์ตูบนาที่มองออกไปเห็นทุ่งนากว้างไกล
ความเรียบง่าย ความสงบ ที่อบอวนรอบตัวเราท่ามกลางขุนเขา 
แม้จะกำลังเพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝนแต่นาข้าวของที่อำเภอปัวก็เขียวขจี
ส่วนใหญ่จะเป็นการทำนาข้าวเหนียว ในหนึ่งปีสามารถปลูกได้หลายๆ ครั้ง 
มนต์สเน่ห์อีกหนึ่งอย่างที่อยากให้มาสัมผัสคงเป็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่
หาดูได้จากตลาดประจำหมู่บ้าน ที่นี่มีการค้าขายกันในตอนเย็น
สินค้าก็จะออกไปในแนวพื้นบ้าน บางอย่างก็ไม่เคยรู้จักเลยด้วยซ้ำ
จากตัวเมืองผมเริ่มต้นขี่มอเตอร์ไซด์ท่องเที่ยวตามแผนที่ 
สถานที่แรกคือ “วัดภูเก็ต” ได้ยินชื่ออาจนึกว่าอยู่ภาคใต้
แต่ที่นี่คือจังหวัดน่าน จุดเด่นของวัดภูเก็ตก็ต้องวิวทิวทัศน์ที่มองออกไปจากวัด
เราจะเห็นความสวยงามของขุนเขาและผืนนาเขียวขจีที่จะสวยงามที่สุดในราวเดือนกันยายน
จากวัดภูเก็ตไม่ไกลกันมากนักริมทางหลักเป็นที่ตั้งของ “กาแฟบ้านไทลื้อ”
เอกลักษณ์ที่โดดเด่นและน่าหลงใหลคือการอนุรักษ์ความเป็นไทลื้อโบราณเอาไว้ได้อย่างงดงาม 
บรรยากาศโดยรอบของ “ร้านกาแฟบ้านไทลื้อ” ที่งดงามไปด้วยขุนเขาน้อยใหญ่
ยิ่งถ้าเป็นในช่วงฤดูทำนาจะยิ่งสวยงาม เต็มไปด้วยความเขียวขจีรอบร้านกาแฟ
บริเวณใกล้ๆ กันกับร้านกาแฟยังเป็นที่ตั้งของร้าน “ลำดวนผ้าทอ”
ด้วยความประณีตและอนุรักษ์เอาไว้ซึ่งวิธีผลิตในแบบดั้งเดิม
รวมไปถึงราคาที่ค่อนข้างถูกเอามากๆ จึงมีนักท่องเที่ยวมาแวะเวียนหาซื้อสินค้ากันอย่างไม่ขาดสาย
ถัดออกมาอีกไม่ไกลเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเมืองปัว
“ฟาร์มเห็ดบ้านหัวน้ำ” มุมสงบร่มรื่นที่รายล้อมไปด้วยความเขียวขจี
ที่นี่จะมีร้านอาหาร มีเมนูเพื่อสุขภาพที่ทำมาจากเห็ดหลากหลายชนิดที่ปลูกภายในฟาร์ม
รวมไปถึงยังมีที่พักสวยๆ ที่อิงแอบแนบไปกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว
ไม่ไกลจากฟาร์มเห็ดบ้านหัวน้ำ เป็นที่ตั้งของสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งนั่นคือ
“วังศิลาแลง” ซึ่งห่างออกไปราว 400 เมตร สามารถเดินเท้าไปได้เลย
“วังศิลาแลง” ได้รับการขนานนามให้เป็นแกรนด์แคนยอนเมืองปัว 
มีลักษณะเป็นธารน้ำไหลผ่านซอกหินผาที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ดูสวยงามแปลกตาดีพอสมควร
เส้นทางจากอำเภอปัวไปยังอำเภอบ่อเกลือ
ในวันนี้เขียวขจีไปด้วยต้นไม้ มีสายหมอกจางๆ คลอเคลียขุนเขา
นี่คือเส้นทางที่สวยที่สุดและน่าหลงใหลที่สุดอีกแห่งหนึ่ง 
เส้นทางสายนี้ไม่ค่อยมีรถสัญจรไปมามากนัก
ส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านที่ขับมอเตอร์ไซด์ผ่านไปมา
จุดเด่นของการขับมอเตอร์ไซด์ท่องเที่ยวคือความคล่องตัว
สามารถจอดแอบได้ตลอดเวลาเพื่อสัมผัสกับบรรยากาศ
ถนนลอยฟ้าที่ในวันนี้ยังคงความสวยงามและต้นไม้เริ่มเขียวขจี 
ในยามเช้าจะมีชาวบ้านเดินไปมาเพื่อเริ่มต้นออกไปทำเกษตรกรรม
ภาพของสายหมอกโอบกอดขุนเขาคงเห็นจนชินตาแทบทุกวันสำหรับชาวบ้าน
แต่สำหรับผมยังคงรู้สึกตื่นเต้นอยู่เสมอ 
ระหว่างทางถ้าเรามองลงไปในความสูง
จะเห็นหมู่บ้านเล็กๆ เป็นระยะๆ
“อุทยานแห่งชาติดอยภูคา” แม้ยังไม่ได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มตัว
แค่ก็อบอวนไปด้วยสายหมอกและความเขียวขจีตลอดเส้นทางบนความสูง
เลยจากที่ทำการอุทยานออกไปไม่ไกลริมทางหลักจะเป็นที่ตั้งของ “ลานดูดาว”
ลานโล่งสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะมากางเต็นท์ค้างแรม ถัดจากลานดูดาวจะเป็นที่ตั้งของ “ตำหนักเจ้าหลวงภูคา”
จุดนี้ยังเป็นที่ตั้งของต้นชมพูภูคาซึ่งจะออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์อีกด้วย
ถัดจากตำหนักเจ้าหลวงภูคาออกมาไม่ไกลจะเป็นที่ตั้งของ “จุดชมวิว1715”
ในวันนี้สายหมอกปกคลุมจนมองแทบจะไม่เห็นอะไรเลย แต่ถ้าเป็นวันที่ฟ้าสดใสเราจะมองลงไปเห็นทิวเขาสลับซับซ้อนสวยงาม
จุดนี้สามารถกางเต็นท์ค้างแรมได้ มีห้องน้ำสะดวก มีของขายในฤดูหนาว ระยะทางราว 50 กิโลเมตรจากอำเภอปัวมาถึงอำเภอบ่อเกลือ
มีเรื่องราวความสวยงามของธรรมชาติให้เราได้สัมผัสในแบบที่น่าหลงใหล“บ่อเกลือ” ในวันนี้ยังคงความเป็นธรรมชาติ เงียบสงบ
ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากหลายครั้งที่ได้มาเยือน 
เมืองในหุบเขาที่ยังคงความเป็นอยู่ในแบบดั้งเดิม
ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรม
บ่อเกลือเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝน ขุนเขาที่โอบล้อมหมู่บ้านจะเขียวขจี
มีลำธารไหลผ่านภายในหมู่บ้าน ร่มรื่นเย็นสบาย เหมาะสำหรับการพักผ่อนอย่างยิ่งถัดจากตัวอำเภอบ่อเกลือออกมาไม่กี่กิโลเมตรไปทางเส้นทางสู่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
เป็นที่ตั้งของ “อุทยานแห่งชาติขุนน่าน” อุทยานที่เงียบสงบอีกแห่งหนึ่ง
จุดเด่นสำหรับที่นี่คือการเที่ยวชมน้ำตกต่างๆ รวมไปถึงชมทะเลหมอกในยามเช้าถัดจาดอุทยานแห่งชาติขุนน่านจะเป็นที่ตั้งของ “หมู่บ้านสะปัน” หมู่บ้านที่สงบร่มรื่นอีกแห่งหนึ่ง
 ตามเส้นทางเลียบริมน้ำสายนี้เราจะพบเห็นหมู่บ้านได้เป็นระยะๆผมย้อนกลับทางเดิมเพื่อมายังตัวเมืองน่าน โดยหาเช่ารถยนต์ที่สนามบิน
ราคาก็ตกวันละ 840 บาท หาเช่าได้ตามบูชต่างๆ บริเวณในสนามบิน
นี่เป็นแผนที่ท่องเที่ยวในตัวเมืองน่าน จุดเด่นก็คงต้องเป็นวัดต่างๆ ที่สวยงาม “วัดพระธาตุเขาน้อย” เมื่อมาเยี่ยมเยือนเมืองน่านก็ไม่ควรพลาดที่จะขึ้นมาสักการะกราบไหว้ขอพร
องค์พระธาตุเป็นศิลปะพม่าผสมล้านนา มีพระพุทธรูปปางประทานพรงามสง่าเป็นจุดเด่น
สร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ ในตัวเมืองยังคงความสงบสวยงาม บ้านเรือนแบบโบราณยังมีให้เห็น
รถสัญจรไปมาไม่ค่อยเยอะ เหมาะกับการปั่นจักรยานท่องเที่ยวตามวัดต่างๆ ที่อยู่ไม่ไกลกันนัก
“วัดมิ่งเมือง” เป็นที่ประดิษฐานของเสาหลักเมืองจังหวัดน่าน
ลักษณะเด่นของวัดมิ่งเมืองคือ ลายปูนปั้นที่ผนังด้านนอกของพระอุโบสถ
มีความสวยงามวิจิตรบรรจงมาก เป็นฝีมือตระกูลช่างเชียงแสน
ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวเมืองน่าน 
“วัดภูมินทร์” ตั้งอยู่ที่บ้านภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ใกล้กับพิพิธภัณฑสถาน-แห่งชาติน่าน เดิมชื่อ "วัดพรหมมินทร์" เป็นศิลปะในแบบล้านนาโบราณสวยงาม ฝาผนังเป็นภาพเขียนที่แสดงถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของยุคตามพงศาวดารเมืองน่าน  วัดภูมินทร์สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2139 โดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครองเมืองน่านในสมัยนั้น ได้สร้างขึ้นหลังจากที่ครองนครน่านได้ราว 6 ปี มีปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือว่าเดิมชื่อ "วัดพรหมมินทร์" ซึ่งเป็นชื่อของเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ผู้สร้างวัด แต่ตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมเป็นวัดภูมินทร์ดังกล่าวภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดภูมินทร์ที่โดดเด่นคือภาพ “กระซิบรักบันลือโลกของปู่ม่านย่าม่าน”
ซึ่งเป็นคำเรียกชายหญิงชาวไทลื้อในสมัยโบราณกระซิบสนทนากัน ถือได้ว่าเป็นภาพเขียนที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งเลยทีเดียวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน”  เดิมเป็นที่ประทับของเจ้าผู้ครองนครน่าน เรียกว่า "หอคำ" ภายในจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุต่างๆ ประวัติศาสตร์และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพื้นเมืองภาคเหนือชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ด้านหน้าของพิพิธภัณฑสถานน่านจะเป็นที่ตั้งของ “ซุ้มลีลาวดี” ที่สวยงาม อีกหนึ่งไฮไลท์ของการมาเมืองน่านตรงข้ามกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านจะเป็นที่ตั้งของ “วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร”
เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน นับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ ตัวเจดีย์ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 รอบเจดีย์มีรูปปั้นช้างปูนปั้น เพียงครึ่งตัวประดับอยู่โดยรอบ“วัดหัวข่วง” ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายมือของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน มีลักษณะศิลปกรรมแบบท้องถิ่นล้านนา วัดนี้ไม่ปรากฏว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด มีเพียงหลักฐานว่าได้รับการบูรณะในราว พ.ศ. 2425 โดยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าเมืองน่าน ซึ่งต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2533 กรมศิลปากรได้ส่งเจ้าหน้าที่มาบูรณะเจดีย์วัดหัวข่วงและได้ประกาศเป็นโบราณสถานของชาติต่อไป
วัดศรีพันต้น” ตั้งอยู่ที่ถนนเจ้าฟ้า ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขตเทศบาลเมืองน่าน สร้างโดยพญาพันต้นเจ้าผู้ครองนครน่านแห่งราชวงศ์ภูคา ภายในวัดมีวิหารที่สวยงามตั้งเด่นเป็นสง่ามีสีทองระยิบระยับ เป็นอีกวัดหนึ่งในจังหวัดน่านที่มีจิตรกรรมปูนปั้นที่สวยงามโดยเฉพาะพญานาคเจ็ดเศียรเฝ้าบันได ภายในวิหารมีการเขียนภาพลายเส้นประวัติของพระพุทธเจ้าและประวัติการกำเนิดเมืองน่าน ที่ดูสวยงามและทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง“ร้านขนมหวานป้านิ่ม” ตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับวัดศรีพันต้น เมนูของร้านมีอย่างมากมายให้ได้เลือกทาน ไม่ว่าจะเป็นบัวลอยไข่หวาน ไอศกรีมกะทิสด ข้าวเหนียวเปียก เต้าส่วน รวมมิตรน้ำแข็งไส เป็นต้น ด้วยความที่เปิดขายกันมาอย่างยาวนาน รสชาติและคุณภาพที่ดีอย่างสม่ำเสมอ จึงมีลูกค้าแวะเวียนมาอุดหนุนกันอย่างไม่ขาดสาย “วัดหัวเวียงใต้” เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นโดยชาวพม่า จึงถอดแบบศิลปะพม่าออกมาอย่างชัดเจน
ตัวกำแพงวัดมีอายุกว่า 160 ปี มีรูปพญานาค 2 ตัว เลื้อยอยู่บนกำแพง ดูสวยงามแปลกตาดีทีเดียว“วัดกู่คำ” ตั้งอยู่ใกล้สี่แยกสวนศรีเมือง บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองน่าน มีประวัติอันยาวนานเริ่มจากประมาณ พ.ศ. 2410 นายฮ้อยพก่าคำปุก ชาวไทยใหญ่เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ได้อพยพมาทำมาหากินในเขตจังหวัดน่าน โดยมีอาชีพรับสัมปทานป่าไม้ ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า "นายฮ้อยไม้" นายฮ้อยพก่าคำปุก ได้แต่งงานกับแม่ศรีคำ ซึ่งเป็นคนเมืองน่านในสมัยนั้น
พ.ศ. 2464 นายฮ้อยพก่าคำปุกและแม่ศรีคำ มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้บริจาคทรัพย์ก่อสร้างวัดกู่คำขึ้นมา ศิลปะจึงออกมาในแนวพม่าจนถึงปัจจุบัน “วัดสวนตาล” สร้างขึ้นโดยพระนางปทุมมาวดีชายาของพญาภูเข็ง เจ้าผู้ครองนครน่านเมื่อราว พ.ศ.1955 เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองน่านด้านทิศเหนือบริเวณที่เป็นสวนตาลหลวง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัด  ภายในวัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทรงทิพย์ พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยองค์ใหญ่ ทุกปีใหม่ช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ ชาวน่านจะจัดงานนมัสการและสรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระพี่นางเธอกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ฯ ประทานน้ำสรงเป็นประจำทุกปี “วัดไผ่เหลือง” เดิมทีเป็นวัดร้างมานานกว่า 200 ปี ไม่มีสิ่งก่อสร้างหลงเหลือมีเพียงกองอิฐศิลาแลงขนาดใหญ่ที่เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าเคยเป็นวัดและมีชาวบ้านเช่าทำนาอยู่แต่ก็ได้หยุดทำนามานานจนเป็นพื้นที่รกร้างเต็มไปด้วยหญ้าคา ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน  2530 พระปลัดอดุลย์ ฐิตสจฺ พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์และญาติโยมแห่งตำบลบางม่วง พายเรือมาพบวัดแห่งนี้เข้า จึงได้หารือกันเพื่อรื้อฟื้นวัดแห่งนี้ให้กลับมาเป็นวัดดังเดิมจนถึงปัจจุบันถนนสายโรแมนติก1148 ในฤดูฝน ที่เริ่มจากท่าวังผาไปยังสองแควจนถึงเชียงคำ
เป็นเส้นทางที่สวยงามล้อมรอบไปด้วยภูเขาสูงน่าท่องเที่ยวอีกเส้นทางหนึ่งโซนน่านใต้ในฤดูฝนก็สวยงามไม่แพ้ที่อื่นๆ  “ดอยเสมอดาว” ที่ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งในสัญลักษณ์เมื่อมาน่านให้ต้องนึกถึง
สายหมอกยังคงคอยต้อนรับผู้มาเยือนอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลไหนๆ “สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน” สวรรค์ของการชมดอกนางพญาเสือโคร่งในช่วงต้นปี
หากแต่ที่นี่ยังสามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี
ด้วยระดับความสูงและอากาศที่เย็นสบายรายล้อมไปด้วยดอกไม้หลากสีสัน “อุทยานแห่งชาติขุนสถาน” อีกหนึ่งดินแดนที่สวยงามในโซนน่านใต้
ด้วยระดับความสูงกว่า 1400 เมตร รายล้อมไปด้วยเทือกเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อน
และมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี นี่คงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกเมื่อมาเยี่ยมเยือนน่าน “เสาดินนาน้อย” ประติมากรรมที่ธรรมชาติรังสรรค์ในรูปแบบเดียวกับแพะเมืองผี จ.แพร่ หรือละลุ จ.สระแก้ว “หมู่บ้านประมงปากนาย” อ.นาน้อย จ.น่าน  แค่ชื่อหมู่บ้านก็บ่งบอกถึงอาชีพได้เป็นอย่างดี
มาเที่ยวที่นี่ก็ต้องนอนแพ ทานปลาน้ำจืดและชมดวงอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าสะท้อนสายน้ำเป็นสีทอง
จุดเด่นอีกอย่างคือความเงียบสงบ แพจำนวนมากจอดเรียงรายเหนือน่านน้ำที่นิ่งสงบ
เราสามารถนำรถขึ้นแพข้ามไปยังฝั่งน้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ได้ จากน่านผมใช้เส้นทางหลักไปยังเมืองแพร่ ตามแผนที่ครับ“แพร่” ถ้านึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวก็คงนึกยากอยู่เหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว
“แพร่” มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ได้น้อยไปกว่าเมืองน่านเลย
“พระธาตุอินทร์แขวน” สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาลึกพอสมควร
นอกจากความเงียบสงบ สวยงามแล้ว เส้นทางไปยังพระธาตุอินทร์แขวนยังสวยงามรายล้อมไปด้วยขุนเขาน้อยใหญ่ ใกล้ๆ กับพระธาตุอินทร์แขวนเป็นที่ตั้งของ “น้ำตกแม่แคม”
น้ำตกสายเล็กๆ ที่มีน้ำตลอดทั้งปี เดินเท้าเข้าไปไม่ไกลและค่อนข้างจะร่มรื่นหนึ่งในสถานที่ที่ไม่ควรพลาดในการมากราบไหว้ขอพรก็คงต้องเป็นที่นี่ “พระธาตุช่อแฮ”
วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ องค์พระธาตุช่อแฮเป็นเจดีย์ศิลปะเชียงแสนแบบแปดเหลี่ยม ทุกปีจะมีประเพณีการไหว้พระธาตุช่อแฮเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างช้านาน เป็นที่นับถือ เคารพศรัทธาของชาวเมืองแพร่เป็นอย่างยิ่งจากพระธาตุช่อแฮเดินทางออกไปอีกราว 2 กิโลเมตรเป็นที่ตั้งของ ”พระธาตุจอมแจ้ง”
พระธาตุจอมแจ้งตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ องค์พระธาตุมีรูปทรงคล้ายกันกับพระธาตุช่อแฮ เป็นเจดีย์ทรงพุ่มศิลปะผสมระหว่างสุโขทัยกับศิลปะเวียงโกศัย เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุพระหัตถ์ซ้ายของพระพุทธเจ้า “พระธาตุดอยเล็ง” เป็นปูชนียสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดแพร่ อยู่คู่กับพระธาตุช่อแฮและพระธาตุจอมแจ้งมายาวนาน แม้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างว่าเกิดขึ้นเมื่อใด แต่จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในอดีตที่โยงเรื่องราวของทั้งสามพระธาตุได้อย่างต่อเนื่องกัน โดยเล่าว่าครั้งหนึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ที่ดอยลูกหนึ่งซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของดอยธชัคคะบรรพต ครั้นเสด็จมาถึงก็จวนแจ้งหรือใกล้สว่างแล้ว ซึ่งปัจจุบันก็คือพระธาตุจอมแจ้ง หลังจากนั้นได้เสด็จมาทางทิศเหนือถึงธชัคคะบรรพตแล้วได้ประทับอยู่ที่นั่น ระหว่างนั้นมีขุนลัวะอ้ายก้อมเป็นผู้อุปฎฐากซึ่งได้มอบพระเกศาธาตุ นั่นก็คือพระธาตุช่อแฮในปัจจุบัน ต่อจากนั้นได้เสด็จขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และประทับอยู่ดอยลูกหนึ่งที่สูงกว่าดอยลูกอื่นในเมืองโกศัยซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทับแลดู ที่ภาษาเหนือเรียกกันว่า “เล็งผ่อ” และนี่เองได้กลายเป็นที่มาของชื่อดอยเล็งในปัจจุบัน “พระธาตุดอยเล็ง” แห่งนี้ได้รับการบูรณะมาอย่างต่อเนื่องและเมื่อถึงเดือน 4 ซึ่งตรงกับช่วงงานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง พระธาตุดอยเล็งแห่งนี้ก็จะมีการจัดงานประเพณีขึ้นดอยเล็งในช่วงเดียวกัน โดยเปิดให้ประชาชนเดินทางขึ้นมาสักการะเพื่อระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมๆ กับชมวิวอันงดงามของจังหวัดแพร่จากด้านบน มุมมองจากพระธาตุดอยเล็งที่มองลงมาเห็นบ้านเรือน รวมไปถึงองค์พระธาตุช่อแฮดูสวยงามดีทีเดียว เมื่อนึกถึงเมืองแพร่ก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองแพร่นั่นก็คือ "ม่อฮ้อม" เสื้อผ้าพื้นเมืองที่บ้านทุ่งโฮ้ง รวมไปถึงถนนสาย “ม่อฮ้อม” ที่มีร้านขายอยู่หลายร้านยาวกว่า 4 กิโลเมตร เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของการมาเมืองแพร่ที่ไม่ควรพลาด 

สุดท้ายต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านบันทึกการเดินทางในชุดนี้ แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไป สวัสดีครับ
อีกหนึ่งพื้นที่การเดินทางใแบบฉบับของผม ม่วงมหากาฬLIFE FOR TRAVEL https://www.facebook.com/PEESAT.PANTIP/