ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
 
ครั้งที่สามกับเมืองพระชนกจักรี อุทัยธานี ที่ฉันคิดถึง แม่น้ำสะแกกัง อุทัยธานี
    • โพสต์-1
    Ajung •  กุมภาพันธ์ 16 , 2562

    มาครั้งที่สามแต่ปักหมุดที่เปลี่ยนแปลง

    มาอุทัยครั้งแรกปี 59 ครั้งนั้นเน้นวัด ครั้งที่สองปี 60 เน้นนอกเมือง ห้วยขาแข้ง และมาครั้งนี้เน้น วัด เดินสำรวจเมือง กินทุกร้านที่เขาว่าดี และปั่นจักรยานไปทุกที่บนเกาะเทโพ เป็นครั้งที่ครบถ้วนมากกว่าครั้งอื่นๆ แต่ถ้าหากจะมีครั้งต่อไปก็คงมีเรื่องราวใหม่ไม่ซ้ำเดิม เพราะมีอีกหลายร้านที่อยากกิน อีกหลายที่ที่อยากไป เป็นเมืองเล็กๆ ที่คนน้อย รถน้อย แต่วงเวียนเยอะ เลยต้องเที่ยววนไปในเมืองพระชนกจักรี อุทัยธานีที่คิดถึง

    การเดินทางเริ่มจากขึ้นรถ กรุงเทพฯ คลองลาน ที่ขนส่งรังสิต ในราคา 261 บาท เลือกที่นั่ง A1 หน้าสุดริมหน้าต่าง แต่มีนางหนึ่งนั่ง A1 มาจากหมอชิต พอรถมาถึงขนส่งรังสิต จริงๆ นางต้องเขยิบมานั่ง A2 ถึงจะถูกต้องแต่ปรากฎว่านางไม่ยอม เพราะนางอยากนั่งริมหน้าต่าง ชมวิวทิวทัศน์ ในเมื่อบอกกันตรงๆ ก็นั่งไป เราเห็นถึงความมุ่งมั่นของนางในการอยากนั่งริมหน้าต่างมากขนาดนั้นก็ไม่ว่ากัน เราไม่ซีเรียส ขอให้รถคันนี้พาเราไปอุทัยก็พอใจแล้วอะนะ

    มาถึง บขส อุทัย ตอนเที่ยงพอดีเป๊ะ ก่อนลงจากรถก็ร่ำลาส่งยิ้มให้กับนางผู้ชอบนั่งริมหน้าต่าง ขอบคุณที่ปลุกให้ตื่น ไม่งั้นอาจเลยป้าย ขอบคุณที่ทำให้รู้จักการเสียสละและแบ่งปัน หลังจากลงจากรถ ยังไม่ทันได้ งง ก็มีสามล้ออาสามาบริการ เราก็ไม่คิดไรมาก ว่าจ้างให้ไปส่งที่ "บ้านจงรัก" หมุดแรกของทริปนี้เลย ในราคา 30 บาท

    บ้านจงรัก เป็นหมุดแรกของทริปอุทัยธานี เป็นร้านที่น่าคบหา นอกจากได้กินไอติมและเครื่องดื่มเย็นๆ แล้ว ยังได้ชมพิพิธภัณฑ์ที่อยู่บนชั้นสองของบ้านด้วย ไม่ได้แค่ชมๆ แชะๆ เท่านั้นนะ ยังได้ความรู้เกี่ยวกับคำพังเพยของไทย และการสร้างบ้านแบบภูมิปัญญาจากเจ้าของบ้านอีกด้วย จากการซักถามและคุยกับ คุณศิลป์ชัย เทศนา ผู้พาชม พิพิธภัณฑ์บ้านคุณตา หลวงเพชรสงคราม เพลิดเพลินเกินไปหน่อย เลยทำให้ลืมจ่ายเงินค่าเครื่องดื่มกับไอศกรีมไปซะสนิทเลย ส่วนน้องฟิล์ม - ญานิศา เทศนา ลูกสาวคุณศิลป์ชัย ก็ลืมเก็บตังค์ด้วยเหมือนกัน สรุปคือต้องโอนตังค์ให้ฟิล์มทางโมบายแบ๊งกิ้งในราคา 60 บาท

    บ้านจงรัก เป็นร้านกาแฟกึ่งพิพิธภัณฑ์ ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ร้านอยู่ริมถนนศรีอุทัย ตรงข้ามโรงเรียนอุทัยวิทยาลัย เป็นบ้านไม้ที่ต่อเติมเป็นร้านกาแฟ โดยนำของสะสมตั้งแต่บรรพบุรุษ รุ่นปู่ย่าตายาย  รวมทั้งของเล่นเก่าๆ ของคุณจงรัก ภรรยาของคุณศิลป์ชัย มาตกแต่งร้านในสไตล์บ้านของเล่น ที่ดูเหมือนจะน่าสนใจกว่าเมนูขนมภายในร้านเสียอีก แต่การสั่งเครื่องดื่มซักหนึ่งแก้วถือเป็นการตั้งหลักที่ดีอย่างหนึ่ง ก่อนที่จะเดินสำรวจเรื่องราวอันดีงามของบ้านหลังนี้..

    ที่ร้านจำหน่ายเครื่องดื่ม ชา กาแฟ น้ำสมุนไพรโฮมเมดสูตรโบราณ และยังมีโปสการ์ด ของที่ระลึกจากจังหวัดอุทัยจำหน่ายด้วย  ชั้น 2 จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ชมฟรี พิพิธภัณฑ์บ้านคุณตาหลวงเพชรสงคราม อยู่บนชั้น 2 ของบ้านจงรัก เป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล ตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษทุกท่าน ใช้ชื่อคุณตาหลวงเพชรสงครามเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่หลวงเพชรสงคราม (เผือก รัตนวราหะ) ยกกระบัตร (อัยการ) แห่งเมืองอุทัยธานี ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นตาทวดของคนในบ้านจงรัก พิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่เล็กๆ ที่รวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องไม้เครื่องมือประกอบอาชีพของบรรพบุรุษ คงบรรยากาศแบบดั้งเดิมเอาไว้เพื่อย้อนความทรงจำกลับไปยังวันวานอีกครั้ง โดยแบ่งเป็นห้องนั่งเล่น โต๊ะทำงาน ห้องนอน และยังมีเรือนไทยทางด้านหลังให้ชมอีก ซึ่งเป็นเรือนที่พ่อแม่และคุณศิลป์ชัยเคยอาศัยอยู่ คุณศิลป์ชัยบอกว่าพ่อแม่ของเขาได้ฝังรกของเขาไว้ที่ใต้บันไดบ้าน เพื่อให้เขาได้ตั้งรกรากอยู่ที่บ้านหลังนี้ และไม่จากไปไหน ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ คำโบราณที่เราๆ เคยได้ยินกันว่า "ตั้งรกราก" นั้นก็มาจากความหมายดังที่กล่าวมานี้แหละ รก ก็คือรกเด็กนั่นเอง คือมีการตัดรกของเด็กแรกคลอด แล้วนำไปฝังไว้ภายในบริเวณบ้าน อาจเป็นใต้ถุนบ้าน หรือใต้บันไดบ้าน ซึ่งเป็นความเชื่อของคนไทยโบราณว่าเด็กคนนั้นจะมีความผูกพันธ์กับบ้านเกิด รักบ้าน ห่วงบ้าน จนไม่อยากจากไปไหน เหมือนกับคุณศิลป์ชัย ที่อยู่ดูแลบ้านหลังนี้มาเนิ่นนาน บ้านจงรัก เปิดเฉพาะวันเสาร์ - อาทิตย์ - จันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 7.30 - 17.00 น.

    พิพิธภัณฑ์ก็เช่นกัน แต่เปิดเวลา 9.00 น. ชมฟรีจ้ะ

    จากบ้านจงรัก เดินไปตามถนนศรีอุทัย แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนณรงค์วิถี ด้วยระยะทางเพียง 200 เมตร ก็มาถึงร้านหนังสือกาลครั้งหนึ่ง เนื่องจากไม่ใช่คนอ่านหนังสือจึงแวะมาถ่ายรูปเท่านั้น เรามาอุทัยนี่ไม่ได้มาคนเดียวนะ นัดเพื่อนที่มาจากลำปางด้วยอีกสองคน ระหว่างที่เพื่อนยังมาไม่ถึงอุทัย เราก็เลยมีความคิดว่าจะไปนั่งรอเพื่อนที่ร้าน "มุมสะแก" ซึ่งอยู่ตรงตีนสะพานวัดโบสถ์ จากร้านกาลครั้งหนึ่ง เราเดินกลับไปที่ถนนศรีอุทัย เดินตรงไปยังห้าแยกวิทยุ แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนท่าช้าง เดินตรงไปอีกหน่อยก็ถึงร้านมุมสะแก ด้วยระยะทางเพียง 350 เมตรเท่านั้น มุมสะแก ร้านกาแฟริมแม่น้ำสะแกกรัง เป็นอาคารทรงแปดเหลี่ยม สองชั้น ตั้งอยู่ตรงตีนสะพานวัดโบสถ์ อยู่บริเวณตลาด อ.เมืองอุทัยธานี เมนูที่ร้านเป็นอาหารแนวฮาลาล มีทั้งอาหารจานเดียว อาหารทานเล่น และที่ต้องสั่ง แบบว่าห้ามพลาดคือ โรตีแป้งมาเลย์ เป็นแป้งกรอบราดนม โรยน้ำตาล รสชาติไม่หวานมาก  แต่ถ้าอยากกินข้าว แนะนำ กะเพราปลาแรดราดข้าว อร่อยมาก ข้าวร้านนี้เม็ดร่วนๆ เลย ที่สำคัญ ทุกเมนูใช้น้ำมันรำข้าว ไม่มีคลอเรสเตอรอล และปลอดผงชูรส ทั้งหมดนี้สั่งมากินคนเดียว แต่กินหมดนะ ค่าเสียหายอยู่ที่ 175 บาท อิ่มมากเลย ร้านนี้เปิดทุกวัน 7.00-18.00 น. หลังจากนั้นเราก็ไปเดินย่อยที่วัดโบสถ์ซึ่งอยู่ทางฝั่งตรงข้าม โดยเดินข้ามสะพานนี้ไป ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม เรือนแพหลังเดิม และแม่น้ำสะแกกรังสายเดิม ไม่นานนักเพื่อนทั้งสองก็มาถึง เราเดินสำรวจวัดโบสถ์กันก่อนที่จะไปยังที่พัก จากวัดโบสถ์ เราเดินไปยัง "บ้านอิงน้ำรีสอร์ท" ด้วยระยะทางหนึ่งกิโลเมตร ครั้งนี้เราเลือกพักที่บ้านอิงน้ำ ในคืนแรกของทริป เลือกนอนบนเรือนแพ ที่นี่มีเรือนแพสองหลัง เราจองสองหลังเลย นอนสองคนหลังนึง นอนคนเดียวอีกหลังนึง ราคาอยู่ที่หลังจะพันเดียวในวันอาทิตย์ถึงพฤหัส แต่ถ้าใครนอนศุกร์เสาร์ ราคาจะอยู่ที่ 1200 ซึ่งก็ยังถูกอยู่ดี ภายในห้องติดแอร์ มีทีวี ตู้เย็น พัดลม ไดเป่าผม และห้องน้ำในตัว หลังนึงนอนได้สองคน มีเรือคายัคให้พายเล่นด้วย พร้อมเสื้อชูชีพ ส่วนด้านบนของรีสอร์ทก็มีห้องพักอีกหลายแบบ สำหรับสองท่านอยู่ที่ 800-1200 แต่ถ้ามาเป็นครอบครัวก็ 3000-3500 มีสระว่ายน้ำ มีที่จอดรถ และมีจักรยานปั่นฟรี หลังจากเช็คอินแล้วเรียบร้อย เราก็พายเรือเล่น ว่ายน้ำเล่น เย็นๆ ก็ออกไปปั่นจักรยานระยะสั้น กิจกรรมค่อนข้างเยอะ ยังไม่จบ ตบท้ายด้วยการไปตระเวณกินในตัวเมือง และเดินเล่นยามค่ำคืนก่อนที่วันแรกจะจบลงอย่างรวดเร็ว
    • โพสต์-2
    Ajung •  กุมภาพันธ์ 17 , 2562

    เมื่อหนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบลำดวน (ภาพจากเพจ : ลากแตะไปแชะฝัน)

    เข้าสู่วันที่สองของทริปอุทัย ออกปั่นจักรยานแต่เช้า เป้าหมายคือ the sun house ร้านกาแฟไร่สุดท้าย ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านอิงน้ำ 4 โลกว่า บรรยากาศเช้าวันนั้นดูขุ่นมัว เมื่อคืนนอนๆ อยู่ก็ได้ยินเสียงฟ้าร้อง จึงคาดว่าเช้านี้ไม่น่าจะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นสวยๆ เป็นแน่แท้ ซึ่งก็เป็นไปตามคาด แต่วิวข้างทางก็ยังสวยอยู่ดี

    พวกเรามาถึงร้านไร่สุดท้ายในเวลาเจ็ดโมงเช้า ซึ่งต้องปั่นมาถึงถนนใหญ่ ผ่านสวนน้ำเฉลิมพระเกียรติ และปั่นยาวไปอีกโลนึง

    เจ็ดโมงนี่ร้านยังไม่เปิดเลย ลองโทรเข้าร้านถามว่าร้านเปิดกี่โมง เขาบอกแปดโมง เลยอ้อนวอนขอเข้าไปนั่งรอในร้านก่อน และคุณพี่ใจดีสุดๆ ออกมาเปิดประตูต้อนรับด้วยตัวเอง พวกเราจึงรีบเข็นจักรยานเข้าไปจอดภายในร้าน บริเวณด้านในน่ารักดีนะ ลักษณะร้านเป็นบ้านดินสีขาวอยู่ริมทุ่งนา เสียดายที่นาเกี่ยวไปแล้ว แต่ยังมีสวนมัลเบอรี่ที่สามารถเด็ดกินสดๆ ได้จากในสวน ระหว่างรอเวลาแปดโมง พวกเราก็เดินเล่นถ่ายรูปไปพลางก่อน ซึ่งมันก็ไม่นานเกินรอ เพราะที่นี่มีมุมถ่ายรูปเยอะ เดินสำรวจสวนมัลเบอรี่ซึ่งมีอยู่หลายแถว สำรวจที่พักซึ่งที่นี่ก็มีที่พักอยู่หลายห้อง หลายหลัง เผลอแป๊บเดียว กาแฟที่สั่งไว้ก็พร้อมเสิร์ฟแล้ว

    ไร่สุดท้าย เป็นร้านกาแฟที่ตั้งอยู่บนเกาะเทโพ อ.เมืองอุทัยฯ บรรยากาศดีตรงที่ติดริมท้องนา จุดขายของที่นี่อยู่ตรงที่มีสวนมัลเบอรี่เป็นซุ้มอุโมงค์ เมื่อคุณเดินไปในดงมัลเบอรี่คุณจะได้เห็นผลมัลเบอรี่อยู่มากมาย สามารถเด็ดกินได้สดๆ เลย

    สำหรับที่พัก ที่นี่มีห้องพักสำหรับสองท่าน ราคาอยู่ที่ 1200 และถ้ามากันหลายคนก็มีบ้านเป็นหลัง หลังละ 4000 นอนได้ 7 คน ราคานี้ถือว่าไม่แพงเลยนะ

    ไร่สุดท้าย เปิดบริการทุกวัน 8:00 - 16:00 อาจเลทไปถึง 17:00 แล้วแต่สถานการณ์

    หลังจากนั้นเราก็ปั่นกลับรีสอร์ท แต่ปั่นกลับอีกทางซึ่งทางนั้นเราจะได้ผ่านสะพานแขวนด้วย ซึ่งเป็นสะพานที่นักเดินทางไม่ควรพลาด อันซีนนะ สะพานแขวนที่ซ่อนตัวอยู่ในป่า ที่จะพาเราข้ามไปยังจุดหมาย

    ระหว่างทางจากสะพานแขวนกว่าจะไปถึงบ้านอิงน้ำ พวกเราต้องเจอกับพายุฝนอย่างหนัก ทำให้เปียกกันถ้วนหน้า เป็นสี่กิโลกว่าที่สาหัสเอามากๆ นอกจากฝ่าฝนแล้ว พวกเรายังต้องฝ่าด่านหมาหมู่อีกด้วย แต่สุดท้ายพวกเราก็ปั่นกลับมาถึงบ้านอิงน้ำอย่างปลอดภัย นับว่าเป็นการปั่นจักรยานที่ยาวไกล ไปกลับก็ราวๆ เก้าโลเห็นจะได้ สนุกดีค่ะ

    พอกลับมาที่พักฝนยังคงตกต่อเนื่อง จากที่วางแผนว่าจะไปห้วยขาแข้ง วัดถ้ำเขาวง และหุบป่าตาด ต้องฝันสลายเพราะเวลาไม่เพียงพอ กว่าฝนจะหยุดตกก็เกือบเที่ยงละ เลยต้องปรับแผนใหม่ คือต้องเที่ยวแบบใกล้ๆ ตัวเมือง แว้บเดียวที่คิดได้ก็คือไปวัดท่าซุง กับวัดสังกัส ได้แค่นั้นแหละ หลังจากเช็คเอาท์ออกจากบ้านอิงน้ำแล้วก็เข้ามาในตัวเมือง หามื้อเที่ยงกินก่อน ร้านที่หมั้นหมายไว้ว่าอยากกินคือ ก๋วยเตี๋ยวเจ๊เน้ย เห็นเขาว่าเส้นบะหมี่ร้านนี้น่ะเจ๋งมาก

    "ก๋วยเตี๋ยวเจ๊เน้ย" เป็นร้านที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง หลังจากกินไปชามนึงมันโคตรโดนใจและติดลิ้นเป็นอย่างมาก เป็นร้านที่ทำเส้นบะหมี่เอง เป็นเส้นที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนในชีวิตนี้ มันเป็นเส้นตรงๆ สีเหลืองเข้ม ยาว นุ่มมาก เส้นไม่ติดกัน มันนุ่มลื่น รสชาติกลมกล่อมกำลังดี ภายในชามบะหมี่เขาปรุงมาให้เสร็จ คือไม่ต้องปรุงอะไรอีกแล้ว ตะเกียบคีบแล้วซูดเข้าปาก อร่อยได้เลย ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนดั่งขึ้นสวรรค์ทั้งเป็นเลยค่ะท่านผู้อ่าน 

    ก๋วยเตี๋ยวเจ๊เน้ย เป็นร้านบะหมี่สูตรโบราณ ต้นตำรับกว่า 80 ปีจากรุ่นอากง เจ๊เน้ยได้ทำการสืบทอดมาจนเป็นรุ่นที่สามแล้ว นับเป็นของดีของเด่นย่านตลาดเทศบาลเมืองอุทัยธานี

    เส้นบะหมี่ของเจ๊ทำสดใหม่ทุกวัน จุดเด่นของบะหมี่อยู่ที่การลวก ที่ต้องลวกให้สุกถึงสองรอบถึงจะเหนียวนุ่มอร่อยพอดี และการปรุงรสเส้นบะหมี่ เจ๊เน้ยจะนำหม้อมาปรุงรสก่อน โดยใส่น้ำปลา น้ำส้มสายชู น้ำมันเจียว พริกป่น น้ำตาล และใส่บะหมี่ลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน ก็จะได้รสชาติบะหมี่ที่จัดจ้านครบรส อร่อย รสชาติกำลังพอดีตามแบบฉบับของคนอุทัยแท้ๆ
    .................................................................
    เมนูแนะนำ : บะหมี่แห้งหมูแดง / กระเพาะปลา

    ก๋วยเตี๋ยวเจ๊เน้ย ตั้งอยู่บน ถ.ท่าช้าง ต.อุทัยใหม่ อ.เมืองอุทัยธานี เยื้องศาลเจ้าพ่อหลักเมือง (ปุงเถ่ากง) และใกล้กับร้านมุมสะแกที่อยู่ตรงเชิงสะพานวัดโบสถ์

    ร้านเปิด 11.00 - 15.30 น.
    เบอร์ติดต่อ 093-2327282

    หลังจากโซ้ยบะหมี่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราก็มองหารถเหมาเที่ยวเอาดาบหน้า ใช้เวลาไม่นานเท่าไหร่เราก็ค้นพบรถสกายแล็บจอดอยู่อีกฟากฝั่งของถนนโดยบังเอิญ เราตกลงกับรถเหมาว่าเราจะไปแค่วัดท่าซุง วัดสังกัส และมื้อค่ำที่ร้านอาหารบ้านนอกริมนา ส่วนราคาเหมานั้นลุงชายเจ้าของรถเหมาบอกว่าแล้วแต่เราจะให้ พวกเราจึงตัดสินใจกันว่าราคา 600 น่าจะเป็นราคาที่เหมาะสม แต่ก่อนอื่นให้ลุงแกไปส่งพวกเราที่ "เรือนอยู่ อู่ไท" บ้านพักสำหรับพวกเราในคืนที่สอง

    เรือนอยู่ อู่ไท เป็นบ้านพักแห่งใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก เป็นเรือนไม้สองชั้น สามารถจอดรถหน้าบ้านได้หนึ่งคัน บ้านตั้งอยู่ที่ถนนศรีน้ำซึม ซอย 1 ใกล้ๆ กับสวน ๒๐๐ ปี 

    บริเวณชั้นล่างของตัวบ้านมีเพียงเก้าอี้หวายสี่ตัว และห้องน้ำห้องเล็กหนึ่งห้อง

    ส่วนชั้นสองมีห้องน้ำห้องใหญ่ ตามด้วยห้องโถง และห้องนอนอยู่ด้านใน

    ภายในห้องนอนได้ถูกจัดวางให้นอนได้สามคน โดยเพิ่มที่นอนเสริมอีกหนึ่งที่ ภายในห้องมีแอร์ ทีวี ระเบียงด้านนอก มีตู้เย็นอยู่ตรงโถงด้านนอก รวมๆ แล้วถือว่าเป็นบ้านพักที่กว้างขวาง สะอาด เดินสบาย ราคาไม่แพง สำหรับสามคนราคาอยู่ที่ 1,250 บาทเท่านั้นเอง

    หลังจากเก็บของเรียบร้อยแล้วเราก็เริ่มออกเที่ยว งานนี้เที่ยววัดอย่างเดียวเลย เริ่มจากวัดธรรมโฆษก หรือ วัดโรงโค ตั้งอยู่บน ถ.ศรีอุทัย ใกล้ตลาดเทศบาล เป็นวัดที่สร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการเมืองอุทัยธานี และเคยเป็นลานประหารนักโทษมาก่อน

    ประตูวิหารเป็นไม้จำหลักลายดอกไม้ทาสีแดงงดงามมาก

    และนี่คือศพหลวงพ่ออั้น อภิปาโล พระเกจิดังแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง ท่านมรณภาพด้วยโรคหลอดเลือดสมองใหญ่ตีบตัน ยังความเศร้าโศกให้กับชาวอุทัยธานีเป็นอย่างมาก

    จากวัดโรงโค เราไปต่อที่วัดท่าซุง ซึ่งเป็นวัดที่กินอาณาเขตกว้างขวางเทียบเท่าเมืองๆ นึงเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะวิหารหรือมณฑปล้วนแล้วแต่แยกกันอยู่คนละอาคาร คนละสถานที่เลย เรียกว่าครั้งนี้มาวัดท่าซุงได้เกือบครบทุกจุดแต่ก็ยังไม่ครบอยู่ดี เริ่มจุดแรกที่ "มณฑปพระศรีอาริย์"

    มณฑปพระศรีอริยเมตไตรย เป็นสิ่งก่อสร้างอยู่ในกลุ่มบริเวณวิหารสมเด็จองค์ปฐม ตัวมณฑปประดับกระจก มี ๒ ชั้น ชั้นบนประดิษฐานรูปหล่อพระศรีอาริยเมตไตรย (หรือพระนามในฐานะพระโพธิสัตว์ชั้นดุสิต พระเดชพระคุณหลวงพ่อเรียกว่า “ท่านปรีชาทรงธรรม”) ประทับยืนทรงเครื่องเทวดา พระหัตถ์ซ้ายทรงจักร พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ ปิดทองคำเปลวและแผ่นเงิน

    มณฑปพระศรีอริยเมตไตรย วันธรรมดาเปิดเป็นสองช่วงคือ 9.00 - 10.30 / 13.00 - 16.00 น.

    ส่วนวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการเปิดต่อเนื่อง 9.00 - 16.00 น.

    สถานีต่อไปคือ "วิหารสมเด็จองค์ปฐม"

    สมเด็จองค์ปฐม หมายถึง พระพุทธเจ้าพระองค์แรก ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ หลวงพ่อฤาษีลิงดำได้ทำสมาธิกรรมฐาน และได้เกิดเหตุการณ์ปาฎิหาริย์ขึ้นคือ ปรากฎองค์พระพุทธเจ้ายืนพนมมือหันหน้าเข้าหากันทั้งสองด้าน เว้นตรงกลางไว้ หลังจากนั้นได้มีพระพุทธเจ้าองค์ปฐมเดินมาตรงกลาง จนกระทั่งท่านเดินมาถึงหลวงพ่อ ท่านก็ได้กล่าวว่า "ต่อไปนี้ ถ้าจะสอนธรรมะให้บอกฉันก่อน แล้วฉันจะให้สอนตามที่ฉันต้องการ"

    วันหนึ่งหลวงพ่อได้เจริญกรรมฐานและขออาราธนาเพื่อพบสมเด็จองค์ปฐม ท่านก็มาปรากฎกายให้เห็น ท่านบอกว่าให้ปั้นอย่างนี้ก็แล้วกัน แล้วท่านก็นั่งทำภาพให้ดู เป็นเหมือนพระพุทธรูปปั้นแล้วก็มีเรือนแก้วเป็นพระพุทธชินราช ท่านมาแสดงแบบนั้นอยู่ถึงสามวันติด หลวงพ่อจึงสั่งให้นายประเสริฐ แก้วมณี ปั้นรูปขี้ผึ้งขึ้น บอกลักษณะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ในที่สุดเมื่อทำการปั้นเสร็จเรียบร้อย ช่างเอามาให้ดูก็เหมือนกับรูปที่ท่านแสดงจริงๆ ในส่วนของสถานที่สร้างองค์มณฑปสมเด็จองค์ปฐม หลวงพ่อก็ได้นิมิตจากสมเด็จองค์ปฐมให้สร้างในสถานที่ปรากฎในปัจจุบันนี้ เพราะพื้นที่แห่งนี้มีพระบรมสารีริกธาตุสำคัญอยู่ และได้มีพิธีหล่อสมเด็จองค์ปฐมในวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๕ โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา เป็นประธานจับสายสิญจน์ในการหล่อ

    วิหารสมเด็จองค์ปฐม วันธรรมดาเปิดเป็นสองช่วงคือ 9.00 - 10.30 / 13.00 - 16.00 น. 

    ส่วนวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการเปิดต่อเนื่อง 9.00 - 16.00 น.

    สถานีต่อไปคือ หอพระไตรปิฎก หลวงพ่อเงิน ไหลมาเทมา

    ลักษณะเป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร สูง 30 ศอก ที่มาของชื่อหลวงพ่อเงินไหลมาเทมา มาจากพลังศรัทธาของญาติโยมทั้งหลายที่ช่วยบริจาคในการสร้างพระยืน 30 ศอก

    เวลาเปิดปิด ถ้าเป็นจันทร์ถึงศุกร์ เปิดเป็นสองช่วงคือ 9.00 - 11.00 / 12.30 - 16.00 น. 

    ส่วนวันเสาร์ อาทิตย์ เปิดต่อเนื่อง 9.00 - 16.30 น.

    สถานีต่อไปคือ ปราสาททองคำ (กาญจนาภิเษก)

    ปราสาททองคำเริ่มสร้างเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๓๖ ที่มาของคำว่าปราสาททองคำนั้นสืบเนื่องจากปี พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นปีที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์ครบ ๕๐ ปี ท่านเจ้าอาวาสจึงนำการสร้าง "ปราสาททองคำ" ขึ้นถวายเป็นพระราชกุศล และทางสำนักพระราชวังได้ให้ชื่อปราสาททองคำใหม่ว่า "ปราสาททองกาญจนาภิเษก"

    ปราสาททองคำ ก่อสร้างด้วยการก่ออิฐฉาบปูน ประดับลวดลายไทยปิดทองคำเปลวติดกระจก ใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ญาติโยมถวาย

    ผู้ที่ออกแบบสร้างปราสาททองคำแห่งนี้คือ พระสามารถ ซึ่งมีความชำนาญด้านศิลปลายไทย นอกจากออกแบบแล้วท่านยังทำหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างตลอดจนการตกแต่งต่างๆ อีกด้วย

    ปราสาททองคำถูกออกแบบให้มีถึงสามชั้น มียอดทั้งหมด 37 ยอด เป็นยอดเท่าๆ กัน 36 ยอด ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ และยอดตรงกลางเป็นยอดใหญ่หนึ่งยอด

    สถานีต่อไป วิหารแก้วร้อยเมตร

    วิหารแก้วร้อยเมตร เป็นวิหารสำคัญที่หลวงพ่อฤๅษีลิงดำสร้างไว้ก่อนมรณภาพ รวมทั้งยังเป็นที่รักษาสังขารร่างของหลวงพ่อที่ไม่เน่าเปื่อยในโลงแก้ว ภายในสร้างด้วยโมเสกสีขาวใสดูเหมือนแก้ววาววับ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปจำลอง พระพุทธชินราช ซึ่งเป็นพระประทานในวิหารอีกด้วย วิหารแก้วเปิดให้ชมในช่วงเช้า 9.00 - 11.45 น .และ ช่วงบ่าย 14.00 - 16.00 น.

    และสถานีสุดท้ายของวัดท่าซุง คือ ท่าเทียบเรือแพปลาวัดท่าซุง

    ที่นี่นอกจากสามารถให้อาหารปลาได้แล้วยังมีบริการล่องเรืออีกด้วย แต่ไม่ได้ล่องหรอกนะ แค่มานั่งชมวิวเล่นๆ มองปลาตัวใหญ่ๆ และนกพิราบเดินเล่น

    จนเวลาเกือบๆ บ่ายสี่โมงเย็นก็ได้เวลาย้ายร่างไปยังวัดสังกัสรัตนคีรี ที่ตั้งอยู่ตรงเชิงเขาสะแกกรัง

    วัดอยู่สุดถนนท่าช้าง ในเขตเทศบาลเมืองอุทัยธานี เป็นวัดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ในเรื่องประเพณีตักบาตรเทโว ที่จัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ถือเป็นประเพณีสำคัญของจังหวัดอุทัยธานี ในวันดังกล่าวจะมีพระสงฆ์กว่า 500 รูป เดินลงมาตามบันได 449 ขั้น จากมณฑปบนยอดเขาสะแกกรังสู่ลานวัดสังกัสรัตนคีรีเบื้องล่าง เพื่อมารับบิณฑบาตร 

    ภายในวัดสังกัสรัตนคีรี ยังประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง "พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์" พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยที่มีพุทธลักษณะงดงาม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพญาลิไท มีอายุประมาณ 600 - 700 ปี ที่ได้อัญเชิญมาจากสุโขทัย เดิมทีประดิษฐานอยู่เบื้องหน้าพระประธานในวิหารวัดขวิด ริมแม่น้ำสะแกกรังฝั่งตะวันตก ครั้นเมื่อเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เดินทางมาตรวจเยี่ยมวัดและเห็นพระพุทธรูป จึงโปรดให้อัญเชิญหลวงพ่อพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ มาประดิษฐานที่วัดสังกัสรัตนคีรี และได้มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุภายในพระเศียรของหลวงพ่อ

    หลังจากจบทัวร์วัดแล้ว ทั้งร้อนทั้งเหนื่อย รู้สึกหิวมาก อยากกินปลาแรดขึ้นมาทันใด เลยเสิร์ธหาร้านนั่งกินดีดีสักร้านแบบเร่งด่วน ในที่สุดเราก็ตกลงกันว่าเราจะไปที่ร้านอาหาร "บ้านนอกริมนา" ซึ่งอยู่นอกเมืองไปหน่อย คือไปทาง อ.หนองขาหย่าง ร้านบรรยากาศดีมากเพราะติดริมทุ่งนา แต่เนื่องจากความหิวที่รุนแรงเราจึงมิได้สนใจสิ่งรอบข้างเท่าไหร่ เมื่อได้โต๊ะนั่งแล้วเราก็รีบสั่งอาหารทันที

    รอไม่นาน อาหารที่สั่งไว้ก็ทยอยมาเสิร์ฟ ที่มาก่อนเพื่อนเลยคือปลาแรดทอดน้ำปลา น่ากินมากๆ จานนี้ 280 เท่านั้น ไม่แพงเลย

    ต้มแซบซี่โครงอ่อน 180

    เห็ดรวมผัดกุ้ง 90 บาท

    อร่อยทุกจานเลย ทั้งหมดนี้ค่าเสียหายอยู่ที่ 645 บาท รวมข้าวเปล่า น้ำเปล่า น้ำแข็ง และข้าวผัดปูให้ลุงชายเจ้าของรถเหมา ให้แกไว้กินที่บ้านด้วย

    ร้านเปิดทำการเวลา 10:30 - 22:00 น. โทรมาจองโต๊ะก่อนได้นะที่ 087 200 4998

    • โพสต์-3
    Ajung •  กุมภาพันธ์ 18 , 2562

    สัมผัสวิถีชาวอุทัยที่ตลาดลานสะแกกรัง

    ตื่นแต่เช้าตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง เพื่อเดินจากบ้านพัก เรือนอยู่อู่ไท ไปยังตลาดเช้าที่ลานสะแกกรัง โดยเดินออกจาก ศรีน้ำซึม ซอย 1 ผ่านสวน 200 ปี เข้าถนนณรงค์วิถี แล้วตรงไปยังห้าแยกวิทยุ เดินเข้าสู่ถนนท่าช้าง นั่นก็คือจุดเริ่มต้นของตลาดเช้า ชีวิตได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้งในเช้าที่แสนสดใส ทุกชีวิตดำเนินไปตามวิถีทางของแต่ละคน

    เดินมายาวไกลก็มาสะดุดที่ร้านนี้ เกิดอยากกินปลาแรดขึ้นมาอีกแระ ซื้อเลยหนึ่งตัว 160 บาทเอง น้ำจิ้มเขารสเด็ดตามป้ายบอกจริงๆ อาคารบ้านเรือนที่นี่ ชาวบ้านพร้อมใจกันทาสีด้วยสีม่วง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ์แด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา กิจกรรมอีกอย่างที่นักท่องเที่ยวมาถึงตลาดนี้แล้ว ไม่ควรพลาดคือ การตักบาตรทางน้ำ โดยจะมีเจ้าอาวาสแห่งวัดโบสถ์ นั่งเรือมาจากวัดเพื่อมายังแพท่าน้ำลานสะแกกรัง เพื่อให้ชาวบ้านได้ทำบุญตักบาตรกัน ซึ่งกิจกรรมนี้มีทุกวันตอนเช้า เวลา 7.00 น. เมื่อตักบาตรกันครบทุกคนแล้วก็มีการถ่ายภาพหมู่ไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งสามารถชมภาพอย่างละเอียดได้จากเฟซบุ๊ก กลุ่มสาธารณที่ชื่อว่า "อุทัยธานีที่รัก" กลุ่มนี้มีการลงเรื่องราว ภาพชีวิตประจำวันของคนอุทัยให้เราได้ชมทุกวันเลยล่ะ ทำให้เรารู้ข่าวคราว ความเป็นไปของเมืองอุทัยได้ตลอดเวลาที่เราเข้าเฟซบุ๊ก และนี่คือวิวดีดีที่ตลาดลานสะแกกรังในเวลาเช้า ช่างสวยงามสุดบรรยาย

    จากนั้นได้เวลาหาร้านอร่อยสำหรับมื้อเช้า ร้านที่เล็งไว้เป็นข้าวมันไก่ร้านดังในย่านนี้คือ "โกตี๋ข้าวมันไก่" ตั้งอยู่ตรงถนนท่าช้าง ตรงข้ามกับตรอกโรงยา

    แน่นอนมาร้านนี้ก็ต้องสั่งข้าวมันไก่จานนึง และเพื่อความแตกต่าง เลยสั่งข้าวหมูแดงหมูกรอบอีกจานนึง ตามด้วยต้มจืดเยื่อไผ่ อันนี้ของโปรดเลย ชอบมาก ราคาร้านนี้ไม่แพง ข้าวมันไก่ และข้าวหมูแดง ธรรมดา 35 พิเศษ 45 ส่วนต้มจืดเยื่อไผ่ราคาอยู่ที่ 50 บาท อร่อยใช้ได้เลย ร้านเปิดทุกวัน ตั้งแต่ 6.00 - 14.30 น. เสร็จจากร้านนี้ เรายังคงไปต่อกันที่ร้านต่อไป ซึ่งไม่ไกลกันนัก เดินถัดไปอีกเพียงไม่กี่ก้าวเอง เราแวะกินกาแฟกันที่ร้านป้าทอง เป็นร้านกาแฟโบราณที่บรรยากาศออกแนวสภากาแฟ เป็นที่สังสรรค์พบปะพูดคุยของชาวบ้านย่านนี้ เรามาทำความรู้จักป้าทองกันเสียหน่อยดีกว่า ว่าแกเป็นใคร มาจากไหน แล้วทำไมมาขายกาแฟอยู่ตรงนี้ 

    ป้าทอง เดิมเป็นคนบ้านนอก ไม่รู้จักมักคุ้นกับชีวิตในเมือง ขายของไม่เป็น ชงกาแฟก็ไม่เป็น ก็ได้แป๊ะขด (เจ้าของกิจการส่งน้ำแข็ง) ยกอุปกรณ์ขายกาแฟทั้งหมดให้แก่ป้าทอง พร้อมกับสอนชงเพียงเล็กน้อย จากนั้นก็ปล่อยให้ป้าทองทดลอง ชง ชิม อยู่เป็นนานจนได้รสขาติของ ชา กาแฟ ที่เข้มข้น กลมกล่อม หอมหวาน อันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น

    หลังจากได้ลองชิมกาแฟร้อนไปแก้วนึง รู้สึกได้ถึงความเข้มข้น ส่วนราคานั้นทำให้ตกใจนิดหน่อย ถ้าเป็นที่กรุงเทพฯ อย่างต่ำก็แก้วละ 35 หรือ 40 แต่ร้านป้าทองนี่แก้วละ 10 บาท ส่วนกาแฟเย็นก็ 10 บาทเหมือนกัน มันถูกจนตะลึงไปเลยสามสิบวิ ส่วนไข่ลวกที่สั่งมานั้นเสิร์ฟมาเป็นแก้ว ในแก้วมีไข่ลวกถึงสองใบ ราคาอยู่ที่ 15 บาท รวมๆ แล้วค่าเสียหายทั้งหมดเพียงแค่ 35 บาทเท่านั้นเอง ประทับใจมากกับร้านนี้ ป้าทองใจดีมาก ดูแกมีความสุขกับการขายกาแฟ ชีวิตที่เรียบง่ายแต่กลายเป็นสิ่งที่น่าอิจฉาสำหรับคนกรุงอย่างเรา และแล้วก็หมดเวลาสำหรับชีวิต slow life ในอุทัยแห่งนี้ ไม่รู้ว่าจะได้มาเมืองนี้อีกหรือเปล่า อยากมาอีกนะ มาได้เรื่อยๆ ล่ะ เพราะยังมีอีกหลายเส้นทางที่ยังไปไม่ถึง เวลาแค่สองคืนสามวันมันอาจจะน้อยเกินไป แม้จะเป็นเมืองเล็กๆ แต่ของกินแสนอร่อยนั้นมากมายเหลือเกิน ไม่สามารถจะเก็บได้หมด การมาเยือนอุทัยครั้งนี้ถือได้ว่าครบถ้วนกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเรื่องกิน การได้ปั่นจักรยานไปทั่วเกาะ การเดินสำรวจเมืองทุกตรอกซอกซอยจนทำให้รู้ว่าที่นี่หมาจรจัดเยอะมากและดุร้ายเสียด้วย อันนี้ต้องพึงระวังให้จงดีสำหรับนักท่องเที่ยวเดินเท้า พวกเราเช็คเอาท์จากที่พักประมาณสิบเอ็ดโมงกว่า โทรให้ลุงชายเจ้าของรถสกายแลป มารับพวกเราแล้วไปส่งที่ขนส่ง

    พวกเรานั่งรอตรงชานชลา พอเวลาเที่ยงครึ่ง ก็ได้เวลาที่เพื่อนสองคนต้องขึ้นรถไปก่อน ทั้งสองต้องนั่งรถไปลงนครสวรรค์ก่อนแล้วจึงนั่งรถไปลงลำปางอีกที ส่วนเรานั่งรอรถขนส่ง 999 อยู่คนเดียว ก็รออยู่เป็นนาน ในตั๋วบอกเวลา 12.30 แต่รอจนบ่ายโมงกว่าละรถก็ยังไม่มาซักที ก็เลยเดินไปที่บริษัทซึ่งอยู่ตรงข้ามชานชลาแค่นิดเดียว ปรากฎว่ารถน่ะมันไปแล้ว รถน่ะไม่ได้เข้าไปจอดตรงชานชลาแต่มันจอดตรงหน้าบริษัท เอ๊า ไม่รู้จริงๆ นะเนี่ย ปกติเราก็ว่ารถมันต้องมาจอดตรงชานชลาไม่ใช่เหรอ คิดไม่ถึงจริงๆ ว่าเราจะตกรถ เพราะตอนซื้อตั๋วเขาก็ไม่ได้แจ้งว่ารถจอดตรงไหน เพราะเราแน่ใจว่ารถทัวร์มันต้องจอดรับคนที่ชานชลา เบอร์โทรก็ให้ไปนะตอนซื้อตั๋ว ทำไมไม่โทรตามเราซักหน่อย เราก็นั่งรออยู่ตรงชานชลาแค่นี้เอง เอาไงล่ะทีนี้ ดีที่มีรถตู้เข้ากรุงเทพฯ สรุปคือซื้อตั๋วรถตู้ในราคา 160 รอไม่นานคนเต็มรถก็ออกเลย โล่งอกไปทีที่ได้มีรถกลับบ้าน แหม่.. นึกว่าจะจบสวยๆ ซักหน่อย

    สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณชาวอุทัยทุกคน ที่ให้การต้อนรับคนแปลกหน้าอย่างเรา แม้หนทางจะมีอุปสรรคบ้างแต่มันก็ผ่านไปด้วยดี สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะดีหรือร้าย ไม่ได้ทำให้รู้สึกแย่ แต่มันคือเรื่องราวที่ให้ได้จดจำกันไปในแต่ละทริปการเดินทาง มีความสนุก สุขทุกครั้งที่เดินทางนะ มันสนุกตั้งแต่จองที่พัก หาที่เที่ยวจากหน้าจอแล้วล่ะ ยิ่งตอนได้ลงสนามจริงแล้วเดินไปตามเส้นที่กำหนดไว้ มันทำให้ได้ใช้ชีวิต ชีวิตที่เราเป็นผู้ออกแบบเอง แบบที่ชอบ ที่ต้องการ ไปตามฝันเลย

    และทริปหน้าจะไปไหนต่อ ติดตามเราได้ที่เพจ : ลากแตะไปแชะฝัน (เพจเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน)