ชายใหญ่พาชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์

สวัสดีครับ นี่เป็นการเขียนรีวิวสถานที่ท่องเที่ยวครั้งแรกของผม โดยจะพาทุกท่านไปเยี่ยมชม  1 ใน 2 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในจังหวัดนครราชสีมานะครับ

นั่นคือ  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์

ที่อยู่ ถนนราชดำเนิน ในเมือง เมืองนครราชสีมา นครราชสีมา 30000

เปิดทำการ 09.00 – 16.00 น. วันพุธ-วันอาทิตย์ หยุดวันจันทร์-อังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ 

ค่าเข้าชม คนไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 15 บาท นักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบไม่เสียค่าเข้าชม

ใช่ครับ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเลยก็ว่าได้ เพราะเดินจากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีไปทางทิศใต้ไม่กี่เมตรเอง และตัวอาคารที่จัดแสดงจะอยู่ในเขตของวัดสุทธจินดาครับ

บริเวณด้านหน้าทางเข้า จะเป็นหอสมุดแห่งชาติ เราต้องเดินเข้าไปอีก ก็จะเจอตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ครับ

จากที่เคยไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างๆมาแล้ว รู้สึกว่า ที่นี่จะมีพื้นที่น้อยกว่าที่อื่นครับ  เป็นตัวอาคารชั้นเดียว ผมกะขนาดเอาว่าใหญ่กว่าห้องเรียน 1 ห้องนิดหน่อยครับ

วันที่ผมไปคือ วันเสาร์ ที่นี่เงียบมากๆครับ นอกจากผมกับเพื่อนก็ไม่เห็นใครอีกเลย (เช็คอินใน Facebook ก็น้อยมาก) เราจ่ายเงินค่าเข้าชมกับคุณลุงที่นั่งอยู่หน้าทางเข้า แล้วเข้ามา จะเห็นป้ายประวัติพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) และประวัติพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ทางฝั่งซ้าย ด้านขวามือจะเป็นเคาท์เตอร์บริการกับแผ่นพับความรู้แจกฟรีครับ

ประวัติพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส)

สิ่งของที่จัดแสดง ส่วนใหญ่จะขุดพบในเขตจังหวัดนครราชสีมา และเป็นของพระมหาวีรวงศ์ประทานให้ จึงเป็นที่มาของชื่อพิพิธภัณฑ์ครับ

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา ได้มอบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่รวบรวมไว้ให้กับกรมศิลปากร เมื่อปีพุทธศักราช 2470 เพื่อศึกษา จัดแสดง และเผยแพร่มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา  พุทธศักราช 2497 กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานขึ้น ในบริวเณพื้นที่ของวัดสุทธจินดา ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และเปิดบริการให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2497

ต่อมา กรมศิลปากรได้ประกาศตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้ชื่อว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ผู้ริเริ่มก่อตั้ง  โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 178 ตอนที่ 94  เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2504 จากการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นระยะเวลากว่า 50 ปี จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2547 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ จึงได้ดำเนินการปรับปรุงการจัดการแสดงและอาคารจัดแสดง  เพื่อให้การนำเสนอข้อมูลมีความถูกต้อง ชัดเจน และมีความทันสมัยมากขึ้น โดยการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมต่างๆ ที่พบในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งสิ่งของที่ได้รับการบริจาคจากประชาชน มอบให้จัดแสดง ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี สมัยลพบุรี สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์  และศิลปะพื้นบ้าน ทั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจ ในการพัฒนาด้านประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครราชสีมา และเกิดความภาคภูมิใจในมรดกทางศิลปวัฒนธรรม อันเป็นการนำไปสู่ความร่วมมือในการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดนครราชสีมาให้ดำรงคงอยู่สืบไป

(ที่มา : บอร์ดประวัติพิพิธภัณฑ์ ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์)

 

ได้ทราบประวัติของผู้รวบรวม และประวัติของพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว คราวนี้เราจะมาดูกันนะครับ ว่ามีอะไรน่าสนใจในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้บ้าง

พระพุทธรูปและเทวรูป : องค์แรก(ซ้าย) เป็นศิลปะอยุธยา ทำจากหินทราย , องค์ที่สอง (ซ้าย) ศิลปะลพบุรีครับ

องค์ทางขวา(บนไปล่าง) เป็น ศิลปะทวารวดี พบที่อำเภอโนนไทย นครราชสีมา , พระพุทธรูปไม้ศิลปะรัตนโกสินทร์ , พระพุทธรูปศิลปะอยุธยา ครับ (เท่าที่จำได้)

จากซ้ายไปขวา : พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ > พระพุทธรูปปางมารวิชัยบุเงิน ศิลปะรัตนโกสินทร์ > พระพุทธรูปปางปาลิไลก์ ศิลปะอยุธยา

เรียงจากซ้ายไปขวา : พระพุทธรูปศิลาสมัยทวารวดี > เสาหลักเมือง จำไม่ได้ว่าเป็นของที่ไหน (น่าจะเป็นเมืองโคราชนี่แหละครับ) > พระพิฆเนศ ศิลปะลพบุรี

ประติมากรรมอื่นๆ

ข้าวของเครื่องใช้

ศิลาจารึก : (ซ้าย) ภาษาสันสกฤตเขียนด้วยอักษรปัลลวะ (ขวา) จารึกปราสาทเมืองแขก อักษรขอม

กลองมโหระทึก คราวนี้มาดูไฮไลต์ประจำพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ กันครับ

นั่นคือ พระราชอาส์นที่ประทับ นั่นเอง

พระราชอาส์นนี้เคยใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาแล้ว 3 รัชกาล เมื่อคราวเสด็จประพาสเมืองนครราชสีมา คือ

1. รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนี เสด็จมาทำพิธีเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา พ.ศ.2443

2. รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พิธีฉลองโล่ห์กองทหารม้า พ.ศ.2446

3. รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ คราวเสด็จประพาสเมืองนครราชสีมา พ.ศ.2498

พระราชอาส์นนี้ ทางจังหวัดนครราชสีมามอบให้ทางพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาเมื่อปี 2499 ครับ โดยมีรูปของในหลวงและพระราชินีอยู่บนโต๊ะด้วย

นอกจานี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ ยังมีโบราณวัตถุอีกมากมาย ที่ผมไม่ได้ถ่ายมาให้ทุกท่านดู รอให้ทุกท่านไปเยี่ยมชมนะครับ ผมเข้าไปก็ยังอึ้งเหมือนกัน ที่ตัวอาคารเล็กๆ แต่กลับมีความรู้และสิ่งของจัดแสดงให้เราได้ชื่นชมมากกว่าคิดไว้เลย หากท่านใดได้มาเที่ยวเมืองนครราชสีมา หลังจากไหว้ย่าโมแล้ว ก็สามารถมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่อยู่ใกล้ๆกันได้นะครับ 

สำหรับรีวิวการท่องเที่ยวครั้งแรกของผม ก็ขอจบการรีวิวไว้เพียงเท่านี้ ถ้ามีเวลา คงจะได้มารีวิวสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆแบบนี้อีก ขอบคุณครับ ^^

- ชายใหญ่

Facebook : ชายใหญ่ THE MEMORY

 

CAMERA : Nikon D5100 + Lens Nikon 50 mm F1.8D / Fuji Film Finepix HS35 Exr