Search and share travel destinations and experiences in Thailand Sign up Log in
 
วัดสังกัสรัตนคีรี สักการะพระพุทธมงคลลือเลื่อง ชมเมืองบนยอดเขาสะแกกรัง วัดสังกัสรัตนคีรี (Wat Sangkat Rattana Khiri) จ.อุทัยธานี
    • Posts-1
    theTripPacker •  December 13 , 2013

    วัดสังกัสรัตนคีรี สักการะพระพุทธมงคลลือเลื่อง ชมเมืองบนยอดเขาสะแกกรัง

    เมื่อมีโอกาสได้ไปเที่ยวต่างจังหวัดแล้ว ชาวพุทธอย่างเราก็ไม่ควรพลาดการเข้าวัดเข้าวาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดสักหน่อย อย่างเช่นครั้งนี้ที่เราได้มาเยือนจังหวัดอุทัยธานี เมืองเก่าแก่ที่มี “วัดสังกัสรัตนคีรี” เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองมาแต่ช้านาน ซึ่งนับว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในจังหวัดเลยก็ว่าได้ พอรู้อย่างนี้แล้ว เราจะยอมพลาดการเข้าวัดสังกัสรัตนคีรีแห่งนี้ไปได้อย่างไร

    “วัดสังกัสรัตนคีรี” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2443 ตั้งอยู่บนยอดเขาสะแกกรัง ที่ชาวอุทัยฯ ให้ความเคารพและศรัทธาเป็นอย่างมาก พื้นที่วัดมีทั้งส่วนที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นราบและส่วนที่อยู่บนยอดเขาสะแกกรัง ซึ่งเราสามารถเลือกเดินพิสูจน์แรงศรัทธาผ่านบันได 449 ขั้นขึ้นไปสู่ยอดเขา หรือจะเลือกพึ่งพายานพาหนะแทนสองเท้าคู่ใจก็ได้ เช้านี้เราเลือกที่จะขึ้นไปชมวิวเมืองอุทัยฯ จากบนยอดเขาสะแกกรังกันซะก่อน ซึ่งยอดเขาแห่งนี้นับเป็นจุดที่สูงที่สุดของตัวเมืองอุทัยธานี ทำให้เราสามารถเห็นทิวทัศน์บ้านเรือนด้านล่างไปไกลจนสุดสายตา แถมบริเวณนี้เรายังสามารถมานั่งชมพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้าและรอดูพระอาทิตย์ตกในยามเย็นได้ด้วยเช่นกัน ยิ่งในช่วงค่ำคืนภาพบ้านเรือนด้านล่างก็จะเต็มไปด้วยแสงไฟระยิบระยับอย่างกับมีดาวบนพื้นดินเลยทีเดียว นอกจากการขึ้นมาชื่นชมทัศนียภาพสวยๆ และรับลมเย็นๆ ยามเช้าแล้ว สิ่งแรกที่ไม่ควรพลาดเลยก็คือ การไปสักการะ“พระบรมรูปสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ” พระชนกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นรูปหล่อขนาดสองเท่าขององค์จริง จากนั้นก็ได้เวลาเดินสำรวจรอบๆ วัดสังกัสรัตนคีรีบนยอดเขาสะแกกรังกันแล้ว

    พื้นที่บริเวณบนยอดเขาสะแกกรังนี้ ชาวอุทัยถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีศาสนสถานสำคัญอยู่หลายอย่าง เมื่อมาถึงบนยอดเขาแล้วเราก็ต้องไปสักการะรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายใน “สิริมหามายากุฏาคาร” มณฑปทรงไทยสวยงามที่ตั้งอยู่ตรงสุดปลายบันไดบนยอดเขา รอบรอยพระพุทธบาทจำลองมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ทั้งสี่ทิศ โดยรอยพระพุทธบาทจำลองนี้ได้ถูกย้ายมาจากวัดจันทาราม เมื่อเยี่ยมชมภายในมณฑปแล้ว อย่าลืมไปตี “ระฆัง 100 ปี” ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัญรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2443 ที่บริเวณด้านหน้ามณฑปด้วย อุตส่าห์ได้ขึ้นมาถึงยอดเขาสะแกกรังแล้วทั้งที ถ้าใครพลาดโอกาสตีระฆังไปก็คงเหมือนกับมาไม่ถึงเมืองอุทัยอย่างไรอย่างนั้นเลยทีเดียว นอกจากนี้ภายในบริเวณบนยอดเขาของวัดสังกัสรัตนคีรียังมี“วิหารพระโพธิสัตว์กวนอิม” วิหารทรงจีนที่ภายในประดิษฐานเทพเจ้าจีนไว้หลายองค์ และ “ศาลารัชมังคลาภิเษก” ที่ซึ่งรวบรวมพระพุทธรูปในยุคต่างๆ ไว้ให้เราได้สักการะในคราเดียว รวมถึงพระพุทธรูปปางประทานพร และพระสังกัจจยนะที่ประดิษฐานอยู่บริเวณลานกลางแจ้งด้วย

    • Posts-2
    theTripPacker •  December 13, 2013
    • Posts-3
    theTripPacker •  December 13 , 2013

    จากบนยอดเขาสะแกกรังเราลงมายังบริเวณวัดสังกัสรัตนคีรีด้านล่างเพื่อสักการะ “หลวงพ่อพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์” พระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของชาวอุทัย ซึ่งสันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นในสมัยพญาลิไท มีอายุประมาณ 600-700 ปีมาแล้ว และถูกอัญเชิญมาจากสุโขทัย พุทธลักษณะจึงงดงามตามอย่างศิลปะสุโขทัย ด้วยเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยสีเหลืองทองอร่าม ประดิษฐานเป็นพระประธาน ท่ามกลางความวิจิตรงดงามของลดลายไทยที่ประดับด้วยกระจกสีบนผนังของวิหาร ถึงแม้ว่าจะเป็นวันธรรมดาแต่ว่าบรรยากาศภายในวัดก็ไม่ได้เงียบเหงาแต่อย่างใด คงเป็นเพราะว่ามีนักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนเดินทางมาสักการะขอพรกับหลวงพ่อพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์อย่างไม่ขาดสายนั่นเอง

    หากใครมีโอกาสมาเที่ยวยังจังหวัดอุทัยธานีแล้วทั้งที ก็อย่าลืมแวะเวียนมาเที่ยวชมและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดสังกัสรัตนคีรีกันด้วยนะครับ เพราะนอกจากจะได้ชมวิวสวยๆ ของเมืองอุทัยจากบนยอดเขาสะแกกรังแล้ว ยังได้อิ่มบุญสบายกายใจกันถ้วนหน้าอีกด้วย ไม่อย่างนั้นแล้วคงเรียกว่ายังมาไม่ถึงจังหวัดอุทัยธานีนะครับ

    • Posts-4
    theTripPacker •  December 13 , 2013

    Note

    - วัดสังกัสรัตนคีรี นับเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวอุทัยธานี และเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ ที่นับว่าเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองอุทัยฯ เช่นเดียวกัน

    - วัดสังกัสรัตนคีรีจะจัดงานตักบาตรเทโวขึ้นในทุกแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งจะเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญกับชาวบ้านในจังหวัดอุทัยธานี เป็นอย่างมาก

    • Posts-5
    theTripPacker •  December 13, 2013

    Editor's Comment

    • Strong point:
    • “วัดสังกัสรัตนคีรี” เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนยอดเขาสะแกกรัง ทำให้เราสามารถดูทิวทัศน์อันงดงามของเมืองอุทัยได้จากที่นี่ อีกทั้งบนยอดเขายังมีพระบรมรูปสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถซึ่งเป็นที่มาของชื่อเมืองพระชนกจักรีนั่นเอง นอกจากนี้ภายในวัดยังประดิษฐาน “หลวงพ่อพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์” พระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองอุทัยธานี ซึ่งหากใครไม่ได้แวะมากราบไหว้ก็เหมือนดั่งมาไม่ถึง
    • Weak point:
    • ในบางส่วนของวัดไม่ได้รับการดูแลที่ดีเท่าที่ควร ทำให้อาจดูทรุดโทรมไปบ้างเล็กน้อย และการให้ข้อมูลต่างๆ ภายในวัดยังค่อนข้างน้อย เราจึงควรศึกษาข้อมูลของวัดให้ดีก่อนที่จะไปเยี่ยมชม
    • Conclusion:
    • “วัดสังกัสรัตนคีรี” เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองที่มีความสำคัญต่อชาวเมืองอุทัยธานีเป็นอย่างมาก อาจเรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านเลยก็ว่าได้ หากใครมีโอกาสได้มาเยือนจังหวัดอุทัยธานีแล้ว เราก็ไม่ควรที่จะพลาดการเยี่ยมชมสักครั้ง
    Score
    • Posts-6
    theTripPacker •  December 13 , 2013

    ข้อมูลทั่วไป

    ที่อยู่ : บ้านน้ำซึม อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี

    GPS : 15.380067, 100.016367

    เบอร์ติดต่อ : 0 5651 2916, 0 5652 0826

    เวลาทำการ : 6.00 – 20.00 น. ของทุกวัน

    ค่าธรรมเนียม : ไม่เสียค่าธรรมเนียม

    ช่วงเวลาแนะนำ : 6.00 น. (พระอาทิตย์ขึ้น), 18.00 – 20.00 น. (พระอาทิตย์ตกและชมแสงไฟของบ้านเรือนในเมืองอุทัยฯ)

    ไฮไลท์ : สักการะหลวงพ่อพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นพระคู่เมืองอุทัยธานี และพระบรมรูปสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ ที่ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาสะแกกรัง

    กิจกรรม : ชมทิวทัศน์บนเขาสะแกกรังและกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ภายในวัด

    • Posts-7
    theTripPacker •  December 13 , 2013

    วิธีการเดินทาง

    จากบริเวณวงเวียนวิทยุ(ใกล้ตลาดสด) ให้ไปตามถนนท่าช้าง มุ่งหน้าไปทางโรงเรียนพุทธมงคลวิทยา จะเห็นทางเข้าวัดสังกัสรัตนคีรี อยู่ด้านหน้าซึ่งเป็นบริเวณวัดในส่วนเชิงเขาสะแกกรัง

    สำหรับเส้นทางรถขึ้นยอดเขาสะแกกรัง ให้ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 333 มุ่งหน้าไปทางสนามกีฬาจังหวัด และเลี้ยวขวาตามป้ายบอกเส้นทางขึ้นวัดบริเวณข้างสนามกีฬาจังหวัดนั่นเอง


    • Posts-8
    theTripPacker •  December 13, 2013
    • Posts-9
    theTripPacker •  December 18, 2013