Search and share travel destinations and experiences in Thailand Sign up Log in
 
รถไฟนำเที่ยวขบวนพิเศษ "รถไฟลอยน้ำ - เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์" เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (Pa Sak Chonlasit Dam) จ.ลพบุรี
    • Posts-1
    theTripPacker •  January 16 , 2019

    รถไฟนำเที่ยวขบวนพิเศษอีกหนึ่งเส้นทางที่ขึ้นชื่อว่าจองยากมากถึงมากที่สุดเส้นทางหนึ่ง นั่นก็คือ "รถไฟลอยน้ำ เที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์" เป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางรถไฟแบบ ไปเช้า-เย็นกลับ ที่เปิดรอบนำเที่ยวแค่วันเสาร์ และอาทิตย์ ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน - มกราคมของทุกปี นั่นแปลว่ามีทั้งหมดแค่ประมาณ 20 รอบ/ปีเท่านั้น จากประสบการณ์ปีที่แล้วซึ่งเราชะล่าใจไปหน่อยทำให้ได้แค่ดูรูปคนอื่นแล้วทำตาปริบ ๆ มาปีนี้เราตั้งตารอคอย และโทรจองตั้งแต่ช่วง 2-3 วันแรกที่เปิดให้จอง สรุปว่า...เที่ยวที่เร็วที่สุด และยังว่างอยู่ ก็เป็นรอบที่ 15 กันเลยทีเดียว มาถึงขนาดนี้แล้วก็เอาเป็นว่ามาช้ายังดีกว่าไม่มา หรือถ้าใครมาไม่ทันจริง ๆ ก็ดูรีวิวปีนี้ แล้วเตรียมตัวไปเที่ยวปีหน้าก็แล้วกันนะครับ

    ก่อนที่เราจะเริ่มเดินทางนั้น แปลว่าเราต้องมีตั๋วอยู่ในมือซะก่อน สำหรับการจอง ทริปรถไฟลอยน้ำ-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เราต้องรอประกาศจากการรถไฟไทยให้ดี ซึ่งมักจะประกาศในช่วงปลายเดือนตุลาคม โดยจะมีตารางของรอบนำเที่ยวแต่ละรอบ ระบุวันเดินทาง สถานีจอด จุดลงเที่ยว และระยะเวลาการเดินทาง ทั้งเที่ยวไป และเที่ยวกลับไว้อย่างชัดเจนเข้าใจง่าย โดยสามารถเข้าไปเช็คข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.railway.co.th หลังจากนั้นเราก็โทรสำรองที่นั่งที่ เบอร์ 1690 หรือใครสะดวกไปซื้อที่สถานีก็ได้เลยครับมีจำหน่ายทุกสถานีรถไฟทั่วประเทศ โดยต้องจองล่วงหน้า 5 วันขึ้นไป โดยราคาตั๋วจะอยู่ที่ 290 บาท* สำหรับรถนั่งชั้น 3 ธรรมดา และ 490 บาท* สำหรับรถนั่งชั้น 3 ปรับอากาศ (ราคานี้จุดขึ้นรถเริ่มที่สถานีกรุงเทพ) พอได้ตั๋วมาแล้ว เราก็ออกเดินทางกันเลย!!

    *อัพเดตราคา ประจำปี 2563
     

    ขบวนรถไฟนำเที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขบวนที่ 921 เริ่มต้นจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) รถออกเวลา 7:10 น. แนะนำให้มาถึงก่อนเวลาอย่างน้อย 30 นาที โดยเฉพาะใครที่นำรถมาเองอยากให้เผื่อเวลาในการหาที่จอดรถด้วย มาถึงแล้วก็อย่าลืมเช็คตารางเวลา และชานชาลาให้ดีอีกครั้ง ตั๋วที่อยู่ในมือสามารถใช้ขึ้นรถได้เลย ขึ้นคันที่แสดงในตั๋ว และนั่งตามที่นั่งที่ระบุไว้ได้เลยครับ

    ได้ที่นั่งเรียบร้อยแล้วก็เตรียมตั๋วทั้งเที่ยวไป และเที่ยวกลับไว้ก่อนเพราะเดี๋ยวจะมีนายสถานีขึ้นมาตรวจตั๋วโดยสาร และก็ทำการเจาะตั๋วอันเป็นเอกลักษณ์ของการรถไฟไทย นอกจากนี้จะมีเจ้าหน้าที่เดินแจกเอกสารท่องเที่ยวทริปรถไฟลอยน้ำ - เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งจะระบุสถานีจอดต่าง ๆ, เวลาที่ไปถึง และระยะเวลาจอดแวะพัก รวมไปถึงด้านหลังจะบอกถึงไฮไลท์จุดท่องเที่ยว และกิจกรรมที่ไม่ควรพลาดตลอดการท่องเที่ยวอีกด้วย

    7:10 น. เสียงหวูดดัง การเดินทางก็ได้เริ่มต้นขึ้น เราเดินทางออกจากสถานีกรุงเทพ ผ่านสถานีสามเสน ชุมทางบางซื่อ บางเขน หลักสี่ ดอนเมือง รังสิต ชมบรรยากาศยามเช้าตรู่ของเมืองกรุงฯ และวิถีชีวิตของชุมชนสองข้างทางรถไฟ ยังมีผู้คนอยู่อีกจำนวนหนึ่งที่ยังใช้รถไฟเป็นการเดินทางหลักไม่ว่าจะไปต่างจังหวัด หรือแม้กระทั่งเดินทางไปทำงานในกรุงเทพฯ เองก็ตาม และเมื่อออกจากเขตกรุงเทพฯเราก็จะรู้ได้ทันทีเพราะบรรยากาศตึกสูงที่เราคุ้นตา ค่อยลดระดับลงมาเป็นบ้านเรือนของชาวบ้าน สลับกับทุ่งนา สวน และแปลงเพาะปลูก และทุกอย่างเบื้องหน้าถูกฉาบไปด้วยแสงสีทองของพระอาทิตย์ยามเช้า นับเป็นภาพที่สวยงาม และสะกดเรามากจริง ๆ

    ความครึกครื้นเริ่มต้นที่สถานีอยุธยา หลังรถไฟจอดรับผู้โดยสารเพิ่ม ก็จะมีพ่อค้าแม่ขาย ทยอยกันมาจำหน่ายทั้งเครื่องดื่ม ของคาวหวาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาหารแบบทานง่าย  ๆ อย่างข้าวเหนียวไก่ย่าง หมูปิ้ง หมูทอด ลูกชิ้นปิ้ง และของเด็ดประจำจังหวัด รวมไปถึงสินค้า OTOP ด้วย อย่างเช่น โรตีสายไหม กระจับ เป็นต้น บอกเลยว่านาทีนี้ผสมกับฟิลลิ่งนี้ทำให้ทุกอย่างน่าซื้อน่าทานไปหมด ยิ่งมากันหลาย ๆ คน ซื้อหลาย ๆ อย่าง แบ่งกันทาน พูดคุยกันไป รับลมชมวิวไปบรรยากาศแบบนี้บอกเลยว่าหาได้ยากมากในเมืองหลวง

    จากสถานีอยุธยา ต่อมาจะผ่านสระบุรี ชุมทางแก่งคอย แก่งเสือเต้น และขบวนรถจะผ่านเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ไปก่อน เพื่อที่พาเราไป จุดชมวิวรถไฟลอยน้ำ ก่อนที่จะถึงจุดพักจะมีเจ้าหน้าที่นำเที่ยวเดินมาอธิบายทีละตู้ โดยจะเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทาง จุดจอดพัก และไฮไลท์ รวมไปถึงข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ ทั้งนี้เราควรให้ความร่วมมือ และปฏิบัติตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยแก่ตัวเอง และเพื่อนร่วมทริป โดยขบวนรถจะหยุดพักที่นี่ราว 30 นาที เพื่อให้เราลงไปชมวิว และถ่ายภาพ ภาพรถไฟที่อยู่บนสะพาน และด้านล่างไปผืนน้ำกว้างใหญ่ของเขื่อนฯ นับเป็นภาพที่สวยงามแปลกตา และหาชมได้ยาก คนอาจจะเยอะไปหน่อย แต่ก็ต้องใจกว้างเข้าไว้ ใคร ๆ ก็อยากถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก ๆ ก็อาศัยใจเขาใจเรา แบ่ง ๆ กันชม แบ่ง ๆ กันถ่ายนะครับ ทริปนี้จะได้สนุกเต็มที่ไม่ต้องมานั่งหงุดหงิดให้เสียบรรยากาศเที่ยว

    ด้านล่างจะมีเจ้าหน้าที่ทีมช่วยเหลือคอยขับเรือยาง และเจ็ทสกี วนรอบ ๆ บริเวณที่รถไฟจอด เผื่อว่าหากเกิดเหตุฉุกเฉิน มีคนพลัดตก หรือสิ่งของหล่นลงไปจะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงที แถมก่อนกลับยังไม่ลืมโบกมืออำลาส่งนักท่องเที่ยวบนขบวนอีกด้วย นับเป็นความใส่ใจ และการเสียสละเวลาที่ทำให้เราประทับใจจริง ๆ ครับ

    สถานีต่อมาคือสถานีโคกสลุง ซึ่งสถานีนี้จะเป็นสถานีสุดทาง จุดนี้รถจะจอดพัก 30 นาที เพื่อรอเปลี่ยนหัวรถลาก และให้เราได้ลงไปช็อปปิ้งสินค้าพื้นบ้าน อาหาร และพืชผักผลไม้ท้องถิ่น ที่จำหน่ายโดยชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนเขื่อนฯ แห่งนี้ เลือกซื้อกันได้ราคาไม่แพง ชาวบ้านก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ทำหน้าที่เจ้าบ้านคอยต้อนรับผู้มาเยือนอย่างเป็นมิตร

    เมื่อครบเวลาแล้วหัวรถลากจะพาขบวนเราย้อนกลับไปทางเดิมเพื่อไปยังเขื่อนฯ โดย เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ถือเป็นเขื่อนดินกักเก็บน้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 เพื่อป้องกันการเกิดน้ำท่วมในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักในฤดูน้ำหลาก และขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดลพบุรี เราจะมีเวลาท่องเที่ยวในจุดนี้ ราว 3-4 ชั่วโมง ซึ่งมีกิจกรรมให้เราทำมากมาย ทั้งนั่งรถลากจูงชมวิวสันเขื่อน (ผู้ใหญ่ 30 บาท / เด็ก 10 บาท) ไปไหว้หลวงปู่ใหญ่ป่าสัก ที่บริเวณท้ายเขื่อนฯ ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดสระบุรี มีสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ รวมไปถึงหอคอยชมวิว แต่น่าเสียดายที่ช่วงนี้หอคอยชมวิวปิดให้บริการ แต่เราก็สามารถไปนั่งชมวิวเขื่อน รับลมเอื่อย ๆ พร้อมสั่งอาหารมาทานได้ หรือจะให้อาหารปลาเพลิน ๆ ก็ได้เหมือนกัน ส่วนถ้าใครอยากเที่ยวให้ทั่วในเวลาจำกัดก็สามารถเช่ารถกอล์ฟขับได้ครับ (ค่าเช่า 350 บาท / ชั่วโมง)

    ** ในภาพระบุค่าตั๋วเด็กฟรี เนื่องจากเราไปตรงกับวันเด็กแห่งชาติ

    เวลาแห่งความสุขผ่านไปอย่างรวดเร็วเผลอแป๊บเดียวก็ใกล้ได้เวลากลับแล้ว แนะนำให้เผื่อเวลาเดินไปขึ้นรถไฟซักหน่อย เพราะจุดจอดค่อนข้างไกล โดยรถไฟจะออกจากสถานีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เวลา 15:30 น. และย้อนกลับไปทางเดิม จอดทุก ๆ สถานีเดิม จนไปถึงที่จุดหมายปลายทางคือสถานีกรุงเทพฯ ประมาณ 1 ทุ่ม ถือเป็นการจบทริปไปเช้า - เย็นกลับของรถไฟนำเที่ยวขบวนพิเศษ รถไฟลอยน้ำ - เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อย่างสมบูรณ์ และประทับใจเราไม่น้อยเลยทีเดียว

    สำหรับคนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวด้วยรถไฟน่าจะเข้าใจดีว่านอกจากเราจะสามารถเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวอันเป็นจุดหมายปลายทางของเราได้เกือบจะทุกจังหวัดในประเทศไทยแล้วนั้น ระหว่างทางเรายังจะได้ประสบการณ์การเดินทางมากมายที่ต้องบอกเลยว่าต้องเดินทางด้วยรถไฟเท่านั้นถึงจะได้สัมผัส และในครั้งนี้ กับ รถไฟนำเที่ยวขบวนพิเศษ รถไฟลอยน้ำ - เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เราก็ได้รับความสุข และประสบการณ์มากมาย และแม้ว่าทริปนี้จะจบลง แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่ทริปท่องเที่ยวทางรถไฟในเส้นทางอื่น ๆ ต่อไปอีกแน่นอน
    • Posts-2
    theTripPacker •  January 16, 2019

    Editor's Comment

    • Strong point:
    • นักท่องเที่ยวจะได้ชมความงดงามของทัศนียภาพระหว่างทาง และบริเวณเขื่อน รวมไปถึงไฮไลท์ที่จุดจอดรถไฟลอยน้ำ ซึ่งเป็นจุดที่สวยงาม และน่าตื่นเต้นไม่น้อยเลย
    • Weak point:
    • การใช้บริการห้องน้ำบนรถไฟยังไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร และแม้จะมีห้องน้ำให้บริการในบางจุดจอดพักแต่ก็ถือว่ายังมีไม่เพียงพอต่อจำนวนคนที่ต้องการใช้บริการ ในช่วงกลางวันอากาศค่อนข้างร้อนมาก แนะนำให้พกครีมกันแดด ร่ม หมวก และอุปกรณ์กันแดดไปด้วย โดยเฉพาะผู้โดยสารที่นั่งชั้น 3 ธรรมดา (พัดลม)
    • Conclusion:
    • ทริปท่องเที่ยวทางรถไฟ เส้นทางรถไฟลอยน้ำ - เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ นับเป็นทริปแบบไปเช้า - เย็นกลับ ที่น่าประทับใจ ค่าใช้จ่ายไม่แพง เมื่อเทียบกับประสบการณ์ที่ได้รับ สามารถเที่ยวได้ทั้งครอบครัว นอกจากนั้นยังเป็นทริปที่เราจะได้มีโอกาสเห็นความสวยงาม และเสน่ห์ของรถไฟไทย และสถานที่ท่องเที่ยวตามแนวเส้นทางรถไฟที่น่าสนใจอีกมากมาย
    Score
    • Posts-3
    theTripPacker •  January 16 , 2019

    ข้อมูลทั่วไป

    รถไฟนำเที่ยวขบวนพิเศษ รถไฟลอยน้ำ - เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (การรถไฟแห่งประเทศไทย)

    ช่วงเวลา : เปิดบริการนำเที่ยวช่วงเดือนพฤศจิกายน - มกราคม ของทุกปี

    ค่าบริการ : 270 บาท สำหรับรถนั่งชั้น 3 ธรรมดา  / 470 บาท สำหรับรถนั่งชั้น 3 ปรับอากาศ (ราคานี้จุดขึ้นรถเริ่มที่สถานีกรุงเทพ)

    Website : http://www.railway.co.th

    Facebook : ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

    เบอร์โทรศัพท์ : 1690

    • Posts-4
    theTripPacker •  January 16, 2019
    • Posts-5
    theTripPacker •  January 16, 2019